โครงการสมุนไพรรักษ์น้ำ Herbs for Healthy Water

Introduction:

เริ่มดำเนินการในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยได้ดำเนินการวิจัยเป็นเวลา 2 ปี การดำเนินโครงการประกอบด้วย การกำหนดจุดแหล่งต้นน้ำชุมชนบ้านเทพภูเงิน การจัดประชุมความร่วมมือและออกแบบแผนการดำเนินงานร่วมกับชาวบ้านและหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง การคัดเลือกเกษตรกรต้นแบบ การจัดอบรมระดับท้องถิ่นเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและความอุดมสมบูรณ์ของดิน การแนะแนวทางการปลูกขมิ้นชันในแปลงยางพารา การออกแบบการปลูกขมิ้นชันระหว่างร่องแปลงยางพารา การทำวิจัยต้นแบบในการปลูกขมิ้นชันในสภาพแสงน้อย การเก็บข้อมูลการเจริญเติบโตและปริมาณสารสำคัญในขมิ้นชัน (Curcumin)

 

ตลอดจนการรวมกลุ่มเกษตรกรจัดอบรมการแปรรูปสมุนไพร และรณรงค์ความตระหนักในพิษภัยของการใช้เคมีเกษตร โดยทำการเก็บข้อมูลสารเจือปน ในดิน น้ำ และผลผลิตของชุมชน นอกจากนี้ โครงการ ฯ ยังได้ดำเนินการจัดตั้งกลุ่ม Young Smart Scientist ในโรงเรียน ตชด.บ้านเทพภูเงิน เพื่อการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับสุขอนามัยพื้นฐาน แนะแนวทางการทำการวิจัยแบบมีส่วนร่วมพร้อมกับการสอนด้วยสื่อดิจิตอล ส่งเสริมการปลูกและแปรรูปสมุนไพรด้วยโครงงานวิทย์ในโรงเรียน รณรงค์ความตระหนักในพิษภัยของการใช้เคมีเกษตร และการจัดตั้งกลุ่มเยาวชนและผู้ปลูกสมุนไพรรักษ์สิ่งแวดล้อม

 

ผลกระทบ/ประโยชน์ที่ได้รับ
ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการ ฯ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้

  1. ด้านเศรษฐกิจ สมาชิกสามารถสร้างรายได้จากการขายสมุนไพรขมิ้นชัน และสินค้าแปรรูปสมุนไพรท้องถิ่น เช่น ลูกประคบสมุนไพร ขมิ้นชันอบแห้ง ขมิ้นชันบด ยาหม่อง สบู่สมุนไพร เป็นต้น ไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อคนต่อปี และสามารถลดรายจ่ายจากการซื้อสารเคมีต่าง ๆ มาใช้ในการเกษตรไม่น้อยกว่า 10,000 บาทต่อคนต่อปี 
  2. ด้านสังคม เกิดการรวมกลุ่มสมาชิกร่วมภายในชุมชน เกิดปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มเครือข่าย มีการตัดสินใจร่วมกันโดยยึดหลักเหตุผลและคุณธรรม ทำกิจกรรมร่วมกัน ได้ผลลัพธ์เกิดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจำนวน 2 กลุ่ม ส่วนกลุ่มนักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ในระบบการศึกษาผ่านโครงงานวิทยาศาสตร์ กระบวนการทำเกษตรแบบปลอดภัย นักเรียนมีการลงปฏิบัติจริงในแปลงเกษตรของโรงเรียนและแปลงเกษตรต้นน้ำ นักเรียนสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในครอบครัวและในชีวิตประจำวันได้อย่างประสิทธิภาพ 
  3. ด้านสิ่งแวดล้อม คนในชุมชนตระหนักเห็นคุณค่าของแหล่งน้ำใช้อุปโภคบริโภค ร่วมกลุ่มกันรณรงค์ลดการใช้สารเคมีในชุมชน เกิดกิจกรรมการปลูกจิตสำนึก และมองเห็นคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศแหล่งต้นน้ำของชุมชนบ้านเทพภูเงิน และชุมชนใกล้เคียง ร่วมกันทำเกษตรปลอดภัยหรือเกษตรอินทรีย์ จำนวน 15 คน จำนวนพื้นที่ไม่น้อยกว่า 40-50 ไร่ ส่งผลให้ลดการบุกรุกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกยางพารา
  4. ด้านวัฒนธรรม เกิดการสร้างวัฒนธรรมของกลุ่มด้วยการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในชุมชนและในโรงเรียน สร้างกระบวนการเรียนรู้ลดการใช้สารเคมีในสวนยางพารา แปลงเกษตร หันมาทำเกษตรปลอดภัยหรือเกษตรอินทรีย์

 

การประชุมวางแผนแบบบูรณาการ

โครงการวิทยาศาสตร์

การรณรงค์ลดการใช้สารเคมี

การแปรรูปสมุนไพรขมิ้นชันอบแห้ง

ผลิตภัณฑ์แปรรูปสมุนไพร

 

แผนในอนาคต
จากผลสัมฤทธิ์การดำเนินโครงการฯ เกิดผลกระทบอย่างชัดเจนต่อชุมชนบ้านเทพภูเงิน และชุมชนใกล้เคียง ตลอดจนนักเรียนและครูของโรงเรียน ตชด.บ้านเทพภูเงิน ชุมชนได้ต่อยอดและขยายผลการดำเนินงานของโครงการ ฯ เพื่อให้เกิดการพัฒนาของชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ให้เข้ามามีบทบาทในการเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ชุมชน และการส่งเสริมเพื่อยกระดับวิสาหกิจชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรด้วยนาโนเทคโนโลยี มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ทักษะการสกัด การแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตลอดจนการนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด

 

เอกสารประกอบการบรรยาย

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

ดร.ประเดิม วาณิชชานันท์ (นักวิจัย)
นายปรัชญา สลีหล้า (ผู้ประสานโครงการฯ/ทีมวิจัย)
ทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร (APFT)
กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบูรณาการ (ACBG)
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (BIOTEC)

นิทรรศการอื่นๆ :