โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ

Introduction:

โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ (Sirindhorn Science Home Field Hospital for People with Disabilities) คือโรงพยาบาลสนามสำหรับคนพิการแห่งแรกของประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งยังเป็นต้นแบบของโรงพยาบาลสนามแห่งอื่นๆ ในประเทศไทย

 

เกิดขึ้นจากการบูรณาการความร่วมมือและความความเชี่ยวชาญของ 3 กระทรวง ผ่าน 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

 

 

เป้าหมายและการดำเนินงาน 
การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ มีเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงการรักษาและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนพิการและครอบครัว รวมถึงช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔ มีศักยภาพรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่เป็นคนพิการและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้จำนวน ๑๒๐ เตียง แบ่งเป็นห้อง ๔ เตียง จำนวน ๕๐ ห้อง และห้อง ๒ เตียง จำนวน ๑๒ ห้อง ทั้งนี้ได้ดำเนินการและยุติภารกิจ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔ รวมระยะเวลาดำเนินงาน ๔ เดือน มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจำนวนทั้งสิ้น ๖๕๐ คน ได้รับการรักษาจนหายป่วยกลับบ้าน ๕๙๐ คน และส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ๖๐ คน โดยเป็นผู้ป่วยอายุน้อยที่สุดมีอายุ ๒ เดือน และอายุมากที่สุด ๙๐ ปี

พระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้ รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา เป็นผู้แทนพระองค์มอบเงินพระราชทานจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าอาหารสำหรับคนพิการที่ติดโควิด-19 และเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ อีกทั้งยังได้พระราชทานอาหารแก่ผู้ป่วยและพระราชทานกำลังใจแก่บุคลากรในการปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มความสามารถตลอดระยะเวลาดำเนินงานโรงพยาบาลสนามฯ

 

 

เทคโนโลยีและนวัตกกรรมที่ใช้ในโรงพยาบาลสนามฯ
สวทช. และหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. ได้ร่วมกันนำผลงานนวัตกรรม ๑๑ ผลงาน เข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยและสนับสนุนการทำงานของทีมบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ได้แก่

เทคโนโลยีลดการแพร่กระจายเชื้อโรคโควิด-19

  • MagikTuch ระบบปุ่มกดลิฟต์ไร้สัมผัส
  • PETE เปลปกป้อง เปลความดันลบเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
  • เครื่องฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวีซี (Girm Zaber UV-C Sterilizer)

 

อุปกรณ์ป้องกันและลดการแพร่กระจายเชื้อโรคโควิด-19

  • หน้ากากอนามัย n-Breeze
  • หน้ากากอนามัย Safie Plus
  • nSphere หมวกแรงดันลบสำหรับผู้ติดเชื้อ
  • nSphere หมวกแรงดันบวกสำหรับบุคลากรทางการแพทย์

 

เทคโนโลยีการตรวจคัดกรอง วินิจฉัย และอำนวยความสะดวก

  • ระบบติดตามสุขภาพผู้ป่วยทางไกลสำหรับโรงพยาบาลสนาม (AMED Telehealth)
  • เครื่องเอกซ์เรย์ดิจิทัลแบบเคลื่อนที่ได้ (BodiiRay M)
  • ระบบบริการล่ามทางไกลสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน TTRS 
  • รถส่งของบังคับทางไกล “อารี” และ “ปิ่นโต 2”

เอกสารประกอบการบรรยาย

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

นิทรรศการอื่นๆ :