โครงการส่งเสริมการเรียนการสอนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการ

Introduction:

มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นฝ่ายเลขานุการและคณะทำงานของมูลนิธิฯ ริเริ่มการดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนการสอนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการ ในปี พ.ศ.2561  โดยจัดอบรมการใช้งานบอร์ด KidBright ซึ่งเป็นบอร์ดสมองกลฝังตัว ผลงานวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  ให้กับครูและนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหวจากโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนพิการที่อยู่ในการดูแลของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ จำนวน 10 โรงเรียน

ได้แก่ โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนนทบุรี โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดสงขลา โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดอุดรธานี โรงเรียนโสตศึกษาปานเลิศ จังหวัดลพบุรี โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ โรงเรียนศรีสังวาลย์ของมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ และโรงเรียนศรีสังวาลย์ขอนแก่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียนให้มีการคิดเชิงระบบ การคิดเชิงวิเคราะห์และการคิดเชิงสร้างสรรค์ ขยายโอกาสให้ครูและนักเรียนมีบอร์ด KidBright ใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนทางด้านวิทยาการคำนวณ ส่งเสริมให้เกิดการศึกษาค้นคว้า ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และการใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ กระตุ้นให้นักเรียนเป็นนักประดิษฐ์ มีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นซึ่งกันและกัน สร้างพื้นฐานความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ให้กับนักเรียน เพื่อมุ่งสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่ผ่านมานักเรียนพิการโดยเฉพาะนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินจะมีความยากลำบากในการเข้าใจการเขียนโค้ดที่ต้องใช้ภาษาที่ยุ่งยาก เนื่องจากนักเรียนมีปัญหาในการอ่านและเขียนภาษาไทย และเป็นกลุ่มที่ใช้ภาษามือเป็นหลัก ดังนั้นการส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งด้วยบอรด์ KidBright ซึ่งมีการออกแบบโปรแกรมควบคุมการสั่งงานบอร์ด KidBright ด้วยชุดคำสั่งแบบบล็อก เพียงลากบล็อกคำสั่งมาวางต่อ ๆ กัน ก็สามารถแสดงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นบนบอร์ด KidBright ได้ทันที ทำให้นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินสามารถเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น เกิดความเข้าใจจากภาพที่เห็นและสามารถต่อยอดที่จะไปเขียนโค้ดด้วยคำสั่งอื่นต่อไปได้และยังสามารถจัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวเพื่อแก้ไขปัญหาโจทย์ทางวิทยาศาสตร์ได้

ผลการดำเนินงาน
คณะครูของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้นำความรู้และแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโค้ดดิ้งด้วยบอร์ด KidBright ไปขยายผลในการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนที่โรงเรียน และมีขบวนการในการสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้ นักเรียนสามารถพัฒนาความรู้ต่อยอดไปสู่การจัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวันของตนเองได้ โดยได้ร่วมส่งผลงานโครงการสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวเข้าร่วมประกวดในงาน “Show & Share: สิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว” ภายใต้มลูนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ และ สวทช. รวมทั้งในเวทีงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีผลงานโครงงานของนักเรียนพิการได้รับรางวัลชนะเลิศและรางวัลระดับเหรียญทอง แต่ผลที่มีคุณค่าไม่น้อยไปกว่ารางวัลที่ได้รับและสามารถสะท้อนความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้โดยใช้การเขียนโปรแกรมด้วยบอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright สำหรับนักเรียนพิการคือ นักเรียนมีการพัฒนากระบวนการคิดและการทำงานอย่างชัดเจน มีความมั่นใจและมีพลังในการเรียนรู้มากขึ้น กล้าแสดงออกในการร่วมกิจกรรมกับนักเรียนปกติจากประสบการณ์ความสำเร็จในการทำงานที่เกิดจากแนวคิดและฝีมือของตนเอง มีความภาคภูมิใจในฐานะที่เป็นบุคคลที่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ สื่อและสภาพแวดล้อมที่จัดให้สามารถเข้าถึงได้เป็นพิเศษ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้และพัฒนาชีวิตของตนเองได้

การขยายผลการดำเนินงาน
กองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. เห็นความสำคัญของการส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการ จึงสนับสนุนงบประมาณให้ สวทช. ดำเนินการจัดอบรมขยายผลการส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการด้วยบอร์ด KidBright ให้แก่ครูและนักเรียนจากโรงเรียนโสตศึกษาและโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหวทั่วประเทศ จำนวน 26 โรงเรียน รวมโรงเรียนนำร่องของมูลนิธิฯ 10 โรงเรียน โดยเนคเทค สวทช. สนับสนุนบอร์ด KidBright ให้แก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการขยายผล จำนวน 50 บอร์ดต่อโรงเรียน โดยนำหลักสูตรและกิจกรรมที่ดำเนินงานกับโรงเรียนนำร่องของมูลนิธิฯ มาใช้ในการอบรมให้ความรู้ตั้งแต่การใช้งานบอร์ด KidBright ขั้นพื้นฐาน จนถึงการจัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว เป็นการสร้างโอกาสและความเท่าเทียมทางการศึกษาให้กับนักเรียนกลุ่มนี้ในประเทศไทย

เอกสารประกอบการบรรยาย

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

นางสาวอลิสา สุวรรณรัตน์ (นักวิชาการอาวุโส)
นางสาวกัญรินทร์ ละอองกุลพลวัต (ผู้ประสานงาน) 
ฝ่ายสำนักงานประสานโครงการพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี 
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

นิทรรศการอื่นๆ :