การควบคุมเพลี้ยไฟพริกด้วยสารชีวภัณฑ์เชื้อรา Purpureocillium lilacinum

เพลี้ยไฟพริกเป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญของพริกแล้ว ยังทำลายพืชเศรษฐกิจอื่นๆ และเป็นพาหะของเชื้อไวรัสโรคพืช เช่น ไวรัสโรคใบหงิกในพริก ไวรัสโรคไหม้ถั่วลิสง ไวรัสใบจุดด่างพัดถั่วลิสง ปัจจุบันได้มีการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟพริกโดยใช้วิธีที่หลากหลาย ได้แก่ วิธีกล วิธีเขตกรรม ชีววิธีโดยการใช้แมลงศัตรูธรรมชาติ และการใช้สารเคมี ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กำจัดเพลี้ยไฟพริกอย่างได้ผล แต่มีผลเสียที่จะตามมา คือ อันตรายของสารพิษที่มีต่อผู้ใช้และผู้บริโภค และการตกค้างสะสมของสารพิษในห่วงโซ่อาหาร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

จากเอกสารที่มีมาก่อนข้างต้น ได้มีการศึกษาค้นหาเชื้อราแมลงควบคุมเพลี้ยไฟพริกเพื่อใช้ทดแทนสารเคมีกำจัดแมลง เช่น เชื้อรา B. bassiana และ M. anisopliae ซึ่งมีศักยภาพในการควบคุมแมลงตระกูลเพลี้ย หรือเป็นแมลงในอันดับ Hemiptera แต่ปัจจุบันยังไม่มีการนำเชื้อราดังกล่าวไปใช้ควบคุมเพลี้ยไฟพริกอย่างจริงจัง และยังไม่พบว่ามีการใช้เชื้อรา Purpureociliium lilacinum เป็นสารชีวภัณฑ์กำจัดเพลี้ยไฟพริก ดังนั้นเพื่อให้สามารถใช้เชื้อราแมลงในการควบคุมประชากรเพลี้ยไฟพริกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทีมวิจัยจึงได้พัฒนากระบวนการใช้สารชีวภัณฑ์ควบคุมเพลี้ยไฟพริกด้วยการผสมผสานความรู้เกี่ยวกับเชื้อราจากรายงานที่ผ่านมาเข้ากับหลักการจากความรู้ด้านพฤติกรรมของแมลง

คุณสมบัติและจุดเด่นของเทคโนโลยี

  • กระบวนการควบคุมเพลี้ยไฟพริกนี้จะใช้สารชีวภัณฑ์ในรูปของสารแขวนลอยของสปอร์ที่ได้จากเชื้อ Purpureocillium lilacinus โดยฉีดพ่นให้ทั่วโดยเฉพาะบริเวณยอด ดอก และใบบริเวณใต้ใบและบนใบ สปอร์เชื้อรานี้จะสามารถควบคุมเพลี้ยไฟได้มากกว่า 90% (ทดสอบในระดับโรงเรือน)
  • กระบวนการควบคุมเพลี้ยไฟพริกนี้ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการกำจัดแมลงศัตรูพืชด้วยชีววิธี ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อทั้งมนุษย์ พืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และถือได้ว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมประชากรเพลี้ยไฟพริกเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ ที่เคยมีรายงานมา

สถานภาพทรัพย์สินทางปัญญา

  • สิทธิบัตรเลขที่ 14130  เรื่อง กระบวนการควบคุมเพลี้ยไฟพริกด้วยสารชีวภัณฑ์

สถานภาพของผลงานวิจัย 

  • ต้นแบบระดับห้องปฏิบัติการได้ถูกทดสอบในสภาวะจำลอง

ความร่วมมือที่เสาะหา
เอกชนที่ร่วมวิจัยการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชื้อราเพื่อการใช้งานจริงและรับถ่ายทอดเพื่อการจำหน่าย

นักวิจัย
น.ส.จีรภา ปัญญาศิริ
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

รูปที่ 1 รูปแบบผลิตภัณฑ์เชื้อรา Purpureocillium lilacinum TBRC10638 ชนิดเม็ด

รูปที่ 2 การฉีดพ่นเชื้อรา Purpureocillium lilacinum TBRC10638 ในแปลงทดสอบ

รูปที่ 3 เพลี้ยไฟพริก (Scirtothrips dorsalis) และซากที่ถูกเชื้อรา Purpureocillium lilacinum TBRC10638 เข้าทำลาย

เอกสารประกอบการบรรยาย

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

รัชวรรณ ฐานัตถวงศ์เจริญ
สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

นิทรรศการอื่นๆ :