Archive for category Press conference

กระทรวงวิทย์ ฯ ร่วมมือ กลาโหม นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนใต้

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว. กระทรวงวิทยาศาสตร์ นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตอบโจทย์ภาครัฐและเอกชนในการช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยร่วมมือกับกระทรวงกลาโหม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้  ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ  พร้อมจัดโชว์ผลงานให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านความมั่นคง  โดยมี รองนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธาน  

 

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช  รมว.กระทรวงวิทย์ ฯ กล่าวว่า “ปัจจุบันเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยยังเป็นปัญหาต่อเนื่องและนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น  ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างช่วยกันหาวิธีแก้ไขเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้มีชีวิตปกติสุข ซึ่งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เล็งเห็นปัญหาตรงนี้และคิดว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีน่าจะมีส่วนช่วยได้ จึงนำเครื่องตัดสัญญาณรบกวนโทรศัพท์มือถือขนาด 3.0 วัตต์ รุ่น 3.0 หรือ T-Box 3.0   ซึ่งเป็นผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคง และได้รับการยอมรับจากหน่วยงานด้านความมั่นคงและผู้บริหารประเทศ มีการนำไปใช้งานได้จริงในภารกิจด้านความมั่นคงของประเทศ  ได้รับการวิจัยและพัฒนาโดย หน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมไร้สายและความมั่นคง  เนคเทค  สวทช. ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม ดำเนินการส่งมอบเครื่องตัดสัญญาณ ฯ จำนวน 88 เครื่อง ให้กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร นำไปใช้ในภารกิจรักษาความมั่นคงของประเทศในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย”

คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า “การดำเนินงานในปัจจุบัน โปรแกรมเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงได้ให้การสนับสนุน งานวิจัยและพัฒนาเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์มือถือและเครื่องควบคุมระยะไกลด้วยความถี่วิทยุ รุ่น 4 งานวิจัยและพัฒนาระบบบรอดแบนด์ไร้สายสำหรับกิจการเพื่อความมั่นคง การพัฒนาเกราะสำหรับกิจการด้านความมั่นคง และ การดำเนินงานของศูนย์ประสานงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ หรือ ThaiCERT ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นตัวแทนหนึ่งเดียวของประเทศไทยในเวทีระดับนานาชาติด้านเทคโนโลยีความมั่นคงสารสนเทศ นอกจากนั้น โปรแกรมฯ กำลังมีแผนงานให้การสนับสนุน งานวิจัยและพัฒนาเครื่องรบกวนสัญญาณวิทยุสื่อสาร และระบบติดตามกำลังพลผ่านวิทยุสื่อสารโทรคมนาคมทางการทหาร ที่สำคัญคือเป็นการพึ่งพาเทคโนโลยีและการผลิตภายในประเทศที่สามารถตอบสนองการใช้งานในการแก้ไขปัญหาและลดค่าใช้จ่ายในด้านงบประมาณที่จะต้องใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ”

            สำหรับการบันทึกลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.)  และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)  ในครั้งนี้เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในด้านความมั่นคง ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยุทโธปกรณ์ เพื่อนำมาใช้สำหรับด้านความมั่นคงทางทหาร  และการให้ความร่วมมือกับ กอ.รมน.ภาค 4 สน. และ ศอ.บต. ในการจัดทำแผนงานโครงการเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยส่งเสริมและสนับสนุนการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้กรอบนโยบายเสริมสร้างสันติสุข  ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ ลดรายจ่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่  รวมทั้งสร้างความตระหนักและพัฒนาการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เยาวชนในพื้นที่เพื่อให้เป็นสังคมฐานความรู้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานด้านความมั่นคงและการพัฒนาของประเทศต่อไป

สวทช.ต่อยอดงานวิจัยพันธุกรรมมนุษย์ในเอเชีย หวังเป็นประโยชน์ ต่อการศึกษาโรคทางพันธุกรรมและการรักษาโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำในอนาคต

เรื่อง    สวทช.ต่อยอดงานวิจัยพันธุกรรมมนุษย์ในเอเชีย หวังเป็นประโยชน์ ต่อการศึกษาโรคทางพันธุกรรมและการรักษาโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำในอนาคต

เรียน    บรรณาธิการข่าว

 

            สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานแถลงข่าว “ความสำเร็จของนักวิจัยไทย ในโครงการวิจัยนานาชาติ เรื่องพันธุกรรมมนุษย์ในเอเชีย” (Mapping Human Fenetic Diversity in Asia)  ที่ศึกษาถึงที่มาของประชากรในภูมิภาค จากข้อมูลทางพันธุกรรมของมนุษย์ร่วมกับข้อมูลของแหล่งที่อยู่อาศัย และข้อมูลทางภาษาศาสตร์ของประชากรในแต่ละเชื้อชาติ โดย สวทช. พร้อมที่จะนำความรู้ดังกล่าวไปต่อยอด ในการศึกษาโรคทางพันธุกรรม และการรักษาโรคชนิดใหม่ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ งานวิจัยดังกล่าวยังได้รับการติดพิมพ์ในวารสาร Science

            ทั้งนี้งานดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธี ในวันที่ 11 ธันวาคม 2552 เวลา 15.00-16.00 น. ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

โดยสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณโกเมศ, คุณสรินยา, คุณกัญรินทร์และคุณปริเยศ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โทรศัพท์ 02-6448150-89  ต่อ 217,237,712,212  หรือ 081-6681064,  081-9886614, 084-5290006 และ 084-9100850

สวทช./ก.วิทย์ฯ วิจัยค้นพบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและภูมิคุ้มกันของระบบประสาท สนองนโยบาย WHO ให้โรคพิษสุนัขบ้า หมดไปจากโลกในปี 2020

            วันที่ 25 พฤศจิกายน  2552  ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขทางอณูชีววิทยาและภูมิคุ้มกันของระบบประสาท พร้อมฉีดวัคซีนทำหมันสุนัข เพื่อสนองตอบนโยบายในการกำจัดให้โรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากโลกภายในปี 2563 

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า ที่ยังคงเกิดขึ้นในประเทศไทย หลายๆหน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ ที่ได้มีส่วนร่วมในการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ที่มุ่งดำเนินการให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากทุกประเทศในปี ค.ศ. 2020 หรือในปี 2563”   คุณหญิงกัลยา กล่าวอีกว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญในการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ไปใช้ในการควบคุม และป้องกันโรคต่างๆ  โดยเฉพาะ สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของกระทรวงฯ ก็ได้มีกลุ่มงานที่คอยให้การสนับสนุน และพัฒนางานวิจัยทางการแพทย์  ซึ่งมีทั้งการพัฒนาวิธีในการตรวจวินิจฉัยโรค การศึกษากลไกการเกิดโรค รวมทั้งวิธีในการป้องกัน และรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ปลอดภัยจากโรคภัยที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

ด้านรศ.นพ.ประสิทธิ์  ผลิตผลการพิมพ์  ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  กล่าวว่า “ โรคพิษสุนัขบ้า เป็นหนึ่งในโรคที่ยังคงพบในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยเป็นประจำทุกปี ถึงแม้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า จะมีจำนวนไม่มากนัก (10-15 รายต่อปี) แต่ผู้ที่ได้รับเชื้อ และไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจะเข้าไปทำลายสมอง  ไม่มีหนทางใดรักษาได้ ทำให้เสียชีวิตทุกราย นอกจากนี้ในแต่ละปี มีผู้ที่ถูกสุนัขกัด และต้องฉีดวัคซีนป้องกัน ปีละกว่า 3 แสนราย ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายหลายร้อยล้านบาทต่อปี    และเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่าได้เกิดการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าขึ้นอีกในจังหวัดกาญจนบุรี ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตในปีนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 22 ราย ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว ซึ่งมีผู้เสียชีวิตทั้งปีเป็นจำนวนเพียง 9 ราย ในฐานะหน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  สวทช.  ได้สนับสนุนการทำวิจัย เพื่อนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาช่วยในการแก้ปัญหาทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง เช่น การให้ทุนสนับสนุนกลุ่มนักวิจัยอาชีพ  เพื่อการศึกษาโรคพิษสุนัขบ้าทางอณูชีววิทยา และภูมิคุ้มกันของระบบประสาทในการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า และศึกษาพยาธิกำเนิดของโรค  ด้วยความมุ่งมั่น และทุ่มเทอย่างหนัก จนทำให้ประเทศไทยได้มีองค์ความรู้ทางด้านโรคพิษสุนัขบ้า ไม่ว่าจะเป็นกลไกการเกิดโรคในสัตว์ และในคน การตรวจวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็ว และการรักษาโรค รวมไปถึงวิธีการในการควบคุมการเกิดโรคพิษสุนัขบ้า”

 สำหรับการทำหมันสุนัขเป็นแนวทางหนึ่งแก้ปัญหาจำนวนประชากรสุนัขที่มีมากจนเกินไป และยังช่วยในการควบคุมพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของสุนัขในช่วงฤดูผสมพันธุ์ วิธีการเดิมในการควบคุมการให้กำเนิดลูกสุนัขจากตัวสุนัขตัวพ่อคือการผ่าตัดทำหมัน  ปัจจุบันมีทางเลือกใหม่คือการใช้ยาฉีดที่เป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์ในการทำให้สุนัขเพศผู้เป็นหมัน เรียกว่า Neutersol (นิวเตอร์ซอล) ใช้ได้ในสุนัขเพศผู้ที่มีอายุระหว่าง 3 ถึง 10 เดือน  ด้วยปริมาณที่เหมาะสมกับขนาดของอัณฑะ มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดในระดับ A+ คือ สุนัขร้อยละ 99.6 เป็นหมันหลังจากถูกฉีดยาภายในเวลา 60 วัน  แต่ยานี้ไม่สามารถฆ่าตัวอสุจิที่อยู่ในตัวสุนัขและระดับฮอร์โมนเพศผู้ testosterone ไม่ได้ถูกยับยั้งโดยสิ้นเชิงในสุนัขทุกตัว   สำหรับข้อดีของการใช้ยาฉีดคือ ช่วยหลีกเลี่ยงความยุ่งยากที่เกิดจากการผ่าตัด ช่วยหลีกเลี่ยงสิ่งที่สุนัขไม่ชอบได้แก่ การวางยาสลบ การพักฟื้นดูอาการหลังผ่าตัด ช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากการผ่าตัดเช่น การเสียเลือด เป็นต้น   แต่ผลข้างเคียงของการใช้ยาย่อมเกิดขึ้นได้เหมือนกับการใช้ยาทุกชนิด  อาการลูกอัณฑะบวมเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นหลังการฉีด สุนัขบางตัวอาจมีอาการเจ็บปวดในระยะเวลาสั้นๆ (1-3 วัน) และอาจพบการอาเจียน อาการข้างเคียงอื่นๆ ที่พบได้เช่น อาจขบกัดหรือเลียถุงอัณฑะ พบอาการบวมของเนื้อเยื่อรอบๆ มีการระคายเคืองของผิวหนัง พบการติดเชื้อได้แต่เป็นส่วนน้อย   อาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นพบได้น้อยมาก  การทำหมันสุนัขด้วยการฉีดยานับเป็นเรื่องใหม่แต่อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในหลายสถานการณ์ แต่เป็นข้อดีสำหรับสถานกักกันสุนัขที่ต้องทำหมันสุนัขจำนวนมากในเวลาสั้น

ฉีดวัคซีนทำหมันสุนัข   ซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่คิดค้นวิธีการทำหมันสุนัข โดยการฉีดสารละลาย Zinc Gluconate เข้าในอัณฑะสุนัข ซึ่งเป็นวิธีการที่สะดวก ปลอดภัย และใช้เวลาอย่างรวดเร็ว หลังจากการทำหมัน พบว่า จะไม่พบอสุจิ จากการตรวจน้ำเชื้อ หลังจากการทำหมันประมาณ 30 วัน และผลจากการตรวจเนื้อเยื่อ พบว่าอัณฑะไม่ผลิตอสุจิ ตั้งแต่ 3 สัปดาห์ หลังจากการทำหมัน และให้ผลโดยสมบูรณ์ใน 8 สัปดาห์

โรคพิษสุนัขบ้า จะหมดไปจากประเทศไทยได้หรือไม่

“ โรคพิษสุนัขบ้า จะหมดไปจากประเทศไทยได้หรือไม่ ? ”

           เป็นที่ทราบกันดีว่า ในปัจจุบันเราต้องเผชิญกับโรคต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคอุบัติใหม่ต่างๆ เช่น โรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก และโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 รวมไปถึงโรคต่างๆที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำในทุกๆปี และยังไม่สามารถกำจัดให้หมดไปได้ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย วัณโรค เป็นต้น โรคพิษสุนัขบ้า เป็นหนึ่งในโรคที่ยังคงพบในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยเป็นประจำทุกปี ถึงแม้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า จะมีจำนวนไม่มากนัก (10-15 รายต่อปี) แต่ผู้ที่ได้รับเชื้อ และไม่ได้รับการรักษา โดยการฉีดวัคซีนป้องกัน เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจะขึ้นไปทำลายสมอง ไม่มีหนทางใดรักษาได้ ทำให้เสียชีวิตทุกราย นอกจากนี้ในแต่ละปี มีผู้ที่ถูกสุนัขกัด และต้องฉีดวัคซีนป้องกัน ปีละกว่า 3 แสนราย ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลายร้อยล้านบาทต่อปี    

          และเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่าได้เกิดการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าขึ้นอีกในจังหวัดกาญจนบุรี ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตในปีนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 22 ราย ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว ซึ่งมีผู้เสียชีวิตทั้งปีเป็นจำนวน 9 ราย ในฐานะหน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สวทช. ได้สนับสนุนการทำวิจัย เพื่อนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาช่วยในการแก้ปัญหาทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง โดย การให้ทุนสนับสนุนกลุ่มนักวิจัยอาชีพ  เพื่อทำการศึกษาโรคพิษสุนัขบ้าทางอณูชีววิทยา และภูมิคุ้มกันของระบบประสาทในการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า

            ดังนี้ สวทช. กระทรวงวิทย์ ฯ จึงขอเรียนเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมทำข่าว ผลงานวิจัยที่ได้ศึกษาค้นคว้า เรื่อง “ โรคพิษสุนัขบ้า “ จะหมดไปจากประเทศไทยได้หรือไม่ ในวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 เวลา 11.00 – 12.00 น. ถ. โถงกระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ ชั้น 1 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมกันนี้ ภายในงาน จะมีการสาธิตและการให้บริการประชาชนทำหมันสุนัขด้วยผลงานวิจัยรูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องผ่าตัดโดยสามารถทำหมันสุนัขเสร็จภายใน 5 นาที สามารถติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสรินยา , คุณกัญรินทร์และคุณปริเยศ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทรศัพท์ 02-6448150-89 ต่อ 237,217,712, 212

สวทช./ก.วิทย์ฯ ร่วมทุนเอกชนจัดตั้งโรงงานผลิตเชื้อจุลินทรีย์ และอาหารเสริมชีวภาพ

เรื่อง     สวทช./ก.วิทย์ฯ ร่วมทุนเอกชนจัดตั้งโรงงานผลิตเชื้อจุลินทรีย์ และอาหารเสริมชีวภาพ ขึ้นแห่งแรกในประเทศ  หวังทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ

 

เรียน    บรรณาธิการข่าว

 

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมลงทุนกับเอกชนในกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์ และกลุ่มนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  จัดตั้งโรงงานผลิตเชื้อจุลินทรีย์และอาหารสัตว์หมักชีวภาพในระดับอุตสาหกรรม (Fermentation Plant) ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ในนามบริษัท เอส พี เอ็ม ไซเอ็นซ จำกัด (SPM SCIENCE) ซึ่งเป็นการผลิตเชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้ผลิตอาหารเสริมชีวภาพ ที่เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์สำหรับการผลิตเนื้อสัตว์ปลอดสารพิษ เพื่อทดแทนการนำเข้าเชื้อจุลินทรีย์จากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพง และเพื่อเป็นโครงการนำร่องที่สามารถนำไปประยุกต์สู่การวิจัยการผลิตเชื้อจุลินทรีย์ และพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ในอุตสาหกรรมอื่นๆ

           

ในวันศุกร์ที่   20   พฤศจิกายน    2552   เวลา   12.00  น.   ณ   ห้องโถง   ชั้น  1 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี             การนี้ คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี     ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีด้วย   

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาส่งผู้สื่อข่าวเข้าร่วมทำข่าว/รายงานพิเศษ ในวันและเวลาดังกล่าวด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง  โดยสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณโกเมศ, คุณสรินยา, คุณกัญรินทร์และคุณปริเยศ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โทรศัพท์ 02-6448150-89  ต่อ 217,237,212,712  หรือ 081-6681064,  081-9886614, 084-5290006  และ 084-9100850

สวทช./ก.วิทย์ฯ ร่วมมือ สกว. ทำวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรม

เรื่อง     สวทช./ก.วิทย์ฯ  ร่วมมือ  สกว.  ทำวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  อย่าง

เป็นรูปธรรม หวังนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์  อาทิ สาหร่ายฟื้นฟูสภาพดิน,สปเรย์กำจัดไร้ฝุ่น ฯลฯ

เรียน    บรรณาธิการข่าว

 

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดพิธีลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ  รวมถึงการจัดหาและสนับสนุนทรัพยากรบุคลากรและ นำผลงานการวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์  และสาธารณะประโยชน์ พร้อมแสดงผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่นำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ต่างๆ มากมาย อาทิ  สาหร่ายฟื้นฟูสภาพดิน และสเปรย์กำจัดไร้ฝุ่น เป็นต้น

 
               ทั้งนี้ งานดังกล่าว จัดให้มีขึ้น ในวันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2552 เวลา  10.00 น. ณ ห้องอยุธยา  โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ   การนี้ รศ. ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  และ ศ.ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)ร่วมเป็นประธานในพิธีดังกล่าวด้วย

 

  จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาส่งผู้สื่อข่าวเข้าร่วมทำข่าว/รายงานพิเศษ ในวันและเวลาดังกล่าวด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง  โดยสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณโกเมศ, คุณสรินยา, คุณกัญรินทร์และคุณปริเยศ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โทรศัพท์ 02-6448150-89  ต่อ 217,237,212,712  หรือ 081-6681064,  081-9886614, 084-5290006  และ 084-9100850

พิธีลงนามและแถลงข่าว โครงการความร่วมมือทางธุรกิจการดำเนินโครงการตู้รับชำระ ดอกเบี้ยและเพิ่มวงเงิน (Qbic) และโครงการ Digital Content

เรื่อง                       เชิญร่วมงาน “พิธีลงนามและแถลงข่าว โครงการความร่วมมือทางธุรกิจการดำเนินโครงการตู้รับชำระดอกเบี้ย และเพิ่มวงเงิน (Qbic) และโครงการ Digital Content”

เรียน                       บรรณาธิการข่าว หัวหน้าข่าว และสื่อมวลชน

สิ่งที่ส่งมาด้วย      กำหนดการแถลงข่าว

 

                โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ บริษัท โมลีคิว (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอเซนเทค (ประเทศไทย) จำกัด จะจัดงาน “พิธีลงนามและแถลงข่าว โครงการความร่วมมือทางธุรกิจการดำเนินโครงการตู้รับชำระดอกเบี้ยและเพิ่มวงเงิน (Qbic) และโครงการ Digital Content”

 

                โดยพิธีลงนามและแถลงข่าวดังกล่าว เป็นหนึ่งในความสำเร็จของการสนับสนุนโครงการพัฒนาต้นแบบตู้อัตโนมัติรับฝากดอกเบี้ยและเพิ่มวงเงินกู้ยืมทองรูปพรรณของร้านทอง (Qbic) โดย บริษัท โมลีคิว (ประเทศไทย) จำกัด และโครงการการประชาสัมพันธ์ข้อมูลองค์กรด้วยสื่อดิจิตอล (Digital Content)โดย บริษัท เอเซนเทค (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตู้ดังกล่าวนี้สามารถรับชำระเงิน ตรวจนับ และทอนเงินค่าดอกเบี้ยทองรูปพรรณได้สะดวกขึ้น ทั้งนี้ โครงการทั้งสองได้รับการสนับสนุนเงินทุนและที่ปรึกษาทางเทคนิคจากโครงการ iTAPทำให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ  รวมทั้งสร้างให้เกิดความร่วมมือในหมู่ภาคเอกชนในการร่วมลงทุนเพื่อผลิตออกสู่ตลาด ซึ่งถือเป็นการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง

             ดังนั้น ในฐานะที่ท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี จึงใคร่ขอเรียนเชิญท่านร่วมงานพิธีลงนามและแถลงข่าวโครงการดังกล่าว โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติร่วมแสดงความยินดี ในวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน 2552 เวลา 13.30-15.45 น. ณ ห้องโถง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถนนพระรามหก  กรุงเทพฯ  โดยมีรายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมานี้                                                                        

                                                                                                ขอแสดงความนับถือ

                                                             งานประชาสัมพันธ์  ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC)

 

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่  งานประชาสัมพันธ์  ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) โทร. 0-2564-7000 ต่อ 1476-8

                คุณวีระวุฒิ (ไต๋) โทร. 081-614-4465 , คุณชนานันท์ (ดี) โทร. 081-639-6122   หรือ pr@tmc.nstda.or.th

สวทช./ก.วิทย์ เสนอมิติใหม่ของการเรียนรู้วิทย์ ด้วยกิจกรรมสนุกคิดกลวิทยาศาสตร์ เร่งปลูกฝังปัญญาเยาว์ ก่อนก้าวสู่นักวิทยาศาสตร์ในอนาคต

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2552  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำเสนอมิติใหม่ของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีผ่านกิจกรรม “กลวิทยาศาสตร์” ให้เด็กๆ ได้ทดลองและเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างสนุกสนานสมวัย เพื่อตอบโจทย์ธรรมชาติของเด็กที่มีความอยากรู้อยากเห็น ช่างสังเกตและคอยซักถามเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่พบเจอ และบางครั้งก็เป็นคำถามที่ยากกว่าที่ผู้ใหญ่จะให้คำตอบได้  และบางครั้งผู้ใหญ่บางคนไม่เข้าใจในธรรมชาติความเป็นนักวิทยาศาสตร์ตัวน้อยๆของเด็ก จึงปิดกั้นโอกาสทางการเรียนรู้โดยการไม่ให้ความสนใจกับคำถามและการค้นพบแบบเด็กๆ หรือไม่ได้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่จะส่งเสริมและต่อยอดทักษะและแนวคิดที่ถูกต้องให้กับเด็กอย่างเหมาะสม ซึ่งนั่นทำให้การพัฒนาทักษะของเด็กต้องขาดตอนไปอย่างน่าเสียดาย 

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  กล่าวสนับสนุนว่า “เมื่อเอ่ยถึงวิชาวิทยาศาสตร์แล้ว หลายๆ คน โดยเฉพาะเด็กๆ มักจะมองว่าวิทยาศาสตร์เป็นเหมือนยาขม  น่าเบื่อหน่ายไม่อยากเรียน   ซึ่งตรงนี้ สวทช.กระทรวงวิทย์ฯ จึงได้นำเสนอมิติใหม่ของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีผ่านกิจกรรมซึ่งเรียกว่า กลวิทยาศาสตร์  ให้เด็กๆได้ทดลองและเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างสนุกสนานสมวัย  เพื่อปูพื้นฐานตลอดจนกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น ทำให้ฐานของประชาชนคนไทยที่มีความรู้ความเข้าใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคตมีมากขึ้น  นอกจากนี้   กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทช. เองก็มีโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน  โครงการสร้างปัญญาวิทย์ ผลิตนักเทคโน ฯลฯ ตลอดจนบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร  ซึ่งมีกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้เป็นกิจกรรมที่เราจัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างและบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ที่มีอัจฉริยภาพอย่างเด่นชัดของประเทศไทย  ซึ่งขณะนี้มีตัวเลขกลุ่มเด็กและเยาวชนเหล่านี้อยู่จำนวนหนึ่ง แต่ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯเล็งเห็นว่าจะต้องทำเพิ่มขึ้นคือ การขยายฐานความสนใจใฝ่เรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นเด็กกลุ่มใหญ่ของประเทศให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนเด็กและเยาวชนที่มีความสนใจและมาเข้าร่วมกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้นและสม่ำเสมอ ให้ได้รับการกระตุ้นจนสามารถดึงเข้ามาสู่ฐานการบ่มเพาะในขั้นสูงขึ้นต่อไป  และคาดหวังว่าจะเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ขยายวงกว้างมากขึ้น  เป็นการสร้างเด็กและเยาวชนให้ตระหนักและมีกระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพตนเองและประเทศชาติต่อไปในอนาคต ซึ่งสื่อมวลชนนับเป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะช่วยสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น ทำยังไงจะสร้างเด็กและเยาวชนไทยให้สนใจวิทยาศาสตร์และอยากไปเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ฯกันเยอะๆ เหมือนไปเข้าบ้าน AF อันนี้ สื่อมวลชนจะสามารถช่วยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้มาก ต้องทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่ามาร่วมกิจกรรมวิทยาศาสตร์แล้วเท่ เราต้องสร้างตรงนี้ให้เกิดให้ได้”

                ด้านแพทย์หญิงศันสนีย์ ฉัตรคุปต์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและการเรียนรู้ของเด็ก  กล่าวว่า “ธรรมชาติของเด็กในช่วงปฐมวัย โดยเฉพาะช่วง 3-6 ขวบ จะเป็นช่วงที่สมองอยากจะเรียนรู้ เป็นช่วงที่อยากรู้อยากเห็น หากได้รับการส่งเสริมเด็กก็จะพัฒนาไปเป็นคนที่เฉลียวฉลาด มีความรู้ มีทักษะต่างๆ ซึ่งความอยากรู้อยากเห็น ช่างสังเกต ช่างสงสัย ช่างซักถาม คือคุณลักษณะหนึ่งของทักษะทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาคน ในการพัฒนาชาติ การส่งเสริมการให้ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ในวัยนี้ จะต้องนำเสนอในรูปแบบที่เหมาะกับวัย เช่น กิจกรรมที่ให้เด็กได้เรียนรู้ ได้ทดลองเอง หรือนำเสนอในรูปแบบที่เด็กชอบ สนุกสนาน เป็นการเล่น เช่นมายากล ซึ่งถ้ามีภาพ เสียง หรือการ์ตูนประกอบด้วย ก็จะดึงดูดความสนใจของเด็กๆ และตามด้วยการอธิบายอย่างง่ายๆ ด้วยวิทยาศาสตร์ของสิ่งใกล้ตัว ก็จะเป็นการเริ่มให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งส่งเสริมทักษะทางวิทยาศาสตร์ด้วย เป็นการปลูกฝังให้เด็กสนใจวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้นยังพัฒนาสมองในด้านอื่น ไปพร้อมๆ กัน เช่น ทักษะการคิด การวิเคราะห์ การสังเกต ความเป็นเหตุเป็นผล”

สวทช./กระทรวงวิทย์ฯ ขอเชิญชวนให้นำสุนัขมาเข้ารับบริการฉีควัคซีนพิษสุนัขบ้า

สวทช./กระทรวงวิทย์ฯ ขอเชิญชวนให้นำสุนัขมาเข้ารับบริการฉีควัคซีนพิษสุนัขบ้า และทำหมันด้วยวิธีใหม่ไม่ต้องผ่าตัด (ฟรี) ซี่งเป็นความสำเร็จของนักวิจัยไทย  ในวันพุธ ที่ 25 พ.ย.52 เวลา 11.00 น. ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถนนโยธี กรุงเทพฯ สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ สวทช. โทร.0 2644 8150 ต่อ 712,212,218 และ 213 (รับจำนวนจำกัด)

สวทช./ก.วิทย์ เสนอมิติใหม่การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านกลวิทยาศาสตร์ ให้เด็กได้ทดลองและเรียนรู้อย่างสนุก สมวัย

เรื่อง     สวทช./ก.วิทย์ เสนอมิติใหม่การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านกลวิทยาศาสตร์ ให้เด็กได้ทดลองและเรียนรู้อย่างสนุก สมวัย

 

เรียน    บรรณาธิการข่าว

 

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  นำเสนอรูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแนวใหม่ผ่านกิจกรรม “สนุกคิดกลวิทยาศาสตร์” เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และได้ทดลองวิทยาศาสตร์อย่างสนุกสนาน สมวัย  ซึ่งแท้จริงแล้ววิทยาศาสตร์ คือ ความพยายามของมนุษย์ที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจกับสิ่งรอบตัวตั้งแต่แรกเกิด  เห็นได้จากธรรมชาติของเด็กที่มีความอยากรู้อยากเห็น ช่างสังเกตและคอยซักถามสิ่งต่างๆ ที่พบเจอ และบางครั้งก็เป็นคำถามที่ยากเกินกว่าที่ผู้ใหญ่จะตอบได้

 

ดังนั้นเพื่อเป็นเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้อย่างกว้างไกลและสมวัย สวทช./กระทรวงวิทย์  โดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  พร้อมด้วยแพทย์หญิงศันสนีย์ ฉัตรคุปต์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและการเรียนรู้ของเด็ก ร่วมเสวนาด้วย ซึ่งภายในงานพบกับกิจกรรมเสริมสร้างความรู้และความสนุกมากมาย เช่น  ลูกโป่งพองได้เองในไมโครเวฟ  เสกน้ำเปลี่ยนสีได้ดั่งใจนึก  สัตว์ประหลาดเต้นระบำจากแป้งข้าวโพด  ไข่ลอยน้ำ อาบน้ำให้ใบบัว  หมากฝรั่งกับช๊อคโกแลต  ฯลฯ  ในวันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน 2552 เวลา 13.00 น. ณ ห้องโถง ชั้น 1 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาส่งผู้สื่อข่าวเข้าร่วมทำข่าว/รายงานพิเศษ ในวันและเวลาดังกล่าวด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง  โดยสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณโกเมศ, คุณสรินยา, คุณกัญรินทร์และคุณปริเยศ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โทรศัพท์ 02-6448150-89  ต่อ 217,237,212,712  หรือ 081-6681064,  081-9886614, 084-5290006  และ 084-9100850