Archive for category Press release

สวทช อัดแคมเปญต่อเนื่อง เสิร์ฟเทคโนโลยีที่น่าสนใจให้นักลงทุน

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำทีมนักวิจัย คัดสรรผลงานเด่นทพร้อมทำเป็นธุรกิจ เปิดให้นักลงทุนช็อปปิ้ง ในงาน “NSTDA Investors’ Day ธุรกิจเทคโนโลยี ของดีสำหรับนักลงทุน” หวังให้วิทยาศาสตร์สามารถต่อยอดกับภาคอุตสาหกรรม และนำไปสู่การสร้างผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและสังคม

 

16 กันยายน 2553 ณ ห้องบอลลูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติ สิริกิตต์ ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “ธุรกิจเทคโนโลยี ของดีสำหรับนักลงทุน ”หรือ NSTDA Investors’ Day ซึ่งเป็นกิจกรรมประจำปีของ สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยจัดขึ้นในปีนี้เป็นปีแรก เพื่อเสนอผลงานวิจัยและเทคโนโลยีของ สวทช. ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่ามีศักยภาพสูงในการลงทุนผลิตเป็นสินค้าหรือให้บริการ เพื่อให้กลุ่มนักลงทุนเป้าหมายได้มีโอกาสเข้าถึงหรือเลือกซื้อผลงานวิจัยและเทคโนโลยีดังกล่าว รวมทั้งให้ความเห็นต่อการนำผลงานวิจัยที่จัดแสดงไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

      ดร.วีระชัย  วีระเมธีกุล   รมว.วท. กล่าวถึงรายละเอียดว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้กลายเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมาก เนื่องจาก วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานของการสร้างองค์ความรู้อันนำไปสู่การเป็นนวัตกรรมที่สามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ  แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าปราศจากการเชื่อมโยงงานวิจัยของภาครัฐให้เข้ากับการใช้ประโยชน์จากภาคเอกชน  เพื่อให้ผลงานวิจัยจากภาครัฐสามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับภาคเอกชนอย่างแท้จริงและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศแนวทางหรือกลยุทธ์ของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยมีหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การวิจัยเชิงรุก กลไกการสนับสนุนภาคเอกชน หรือ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้าน การวิจัยเชิงรุก และความร่วมมือในการต่อยอดเชิงพาณิชย์  จะเป็นความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ Public-Private Partnership (PPP) เป็นสิ่งที่สำคัญโดยเริ่มตั้งแต่การร่วมวิจัยและพัฒนา ที่มีการกำหนดโจทย์ที่ใช้ในการทำวิจัยร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือการต่อยอดผลงานวิจัยภาครัฐเพื่อใช้ในเชิง

                ทั้งนี้ ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล ได้กล่าวโดยสรุปว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสร้างสรรค์ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่จะเป็นพื้นฐานในการสร้างนวัตกรรมทั้งในผลิตภัณฑ์และบริการให้กับภาคอุตสาหกรรม ถึงแม้ว่าภาครัฐจะมีบทบาทที่สำคัญในการทำวิจัยและพัฒนาหรือสร้างมาตรการสนับสนุนภาคเอกชนให้ทำวิจัยและพัฒนา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือผลงานวิจัยเหล่านั้นจะไม่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมเลยถ้าปราศจากความร่วมมือจากภาคเอกชนในการนำผลงานวิจัยนั้นไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง จึงอยากเห็นงาน NSTDA investors Day เกิดขึ้นแบบนี้ทุกปี

 

        ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ  (สวทช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงาน NSTDA Investors’ Day ในปี 2553 นี้ ภายใต้Theme ของงานในปีนี้ คือ “ธุรกิจเทคโนโลยี ของดีสำหรับนักลงทุน” มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นเวทีหรือช่องทางเลือกอีกช่องทางหนึ่งที่เชื่อมโยงวงการอุตสาหกรรม การลงทุนและการเงิน เข้ากับวงการวิทยาศาสตร์ อันจะสามารถกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีที่สร้างผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและสังคมอย่างชัดเจน  โดยเป็นช่องทางของนักลงทุนในการเข้าถึงผลงานที่น่าสนใจและมีศักยภาพในการลงทุนจาก สวทช. กระทรวงวิทย์ รวมทั้ง เป็นการเปิดโอกาสให้นักวิจัยของ สวทช. ได้นำเสนอผลงานที่มีศักยภาพสำหรับการลงทุนต่อนักลงทุน เป็นเวทีให้นักวิจัยได้แสดงความสามารถในการนำเสนอผลงานต่อนักธุรกิจ และมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนทราบถึงความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการทำวิจัยและพัฒนาผลงานอื่นๆ ต่อไป  โดยผลงานเด่นในงานนี้ ได้แก่

·        ระบบหมุนเวียนน้ำแบบปิดสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำ (AquaRASD)  เป็นระบบหมุนเวียนน้ำแบบปิดที่ช่วยให้ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำในบ่อบ่อย

·        เม็ดมวลเบาสังเคราะห์ (G-Rock) ที่เมื่อนำไปผสมที่คอนกรีตแล้วจะช่วยให้คอนกรีตมีน้ำหนักเบาขึ้น แต่ยังคงความเข็งแรงเท่าเดิม ทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง

·        ระบบจำลองใบหน้าหลังจัดฟันและวางแผนการจัดฟัน (CephSmile V2) ซึ่งพัฒนาต่อยอดเป็น version 2 เพื่อเตรียมพร้อมให้บริการในรูปแบบ web service

·        น้ำยานาโนสำหรับผ้าไหม (Easy Silk Care) เพื่อทำให้ผ้าไหมมีผิวสัมผัส นุ่ม ลื่น และลดการยับ

·        ชุดตรวจโรคแพ้ยาในสุนัข (K9 Diagnostic Kit-MDR1) ที่สามารถตรวจหายีนในการแพ้ยาสุนัขได้ในเวลาอันรวดเร็ว ภายใน 90 นาที และไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่มีราคาแพง

        นอกจากนี้ยังเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยและพัฒนาของหน่วยงานพันธมิตร หรือของบริษัทที่ สวทช.กระทรวงวิทย์ ร่วมลงทุน   ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการ Commercialization cycle ของ สวทช. ที่นักวิจัยจะได้รับโจทย์หรือข้อคิดเห็นจากเอกชนตั้งแต่การเริ่มต้นพัฒนาวิจัย ไปจนถึงโอกาสในการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้กระบวนการดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยจะสามารถลดปัญหางานวิจัยที่พัฒนาขึ้นมาแล้วแต่ไม่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน  โดยหวังว่าการจัดงาน NSTDA Investors’ Day นี้จะเป็นช่องทางให้นักวิจัย นักธุรกิจ รวมถึงผู้ที่สนใจทั่วไป มาพบปะเจรจาธุรกิจ เพื่อให้ผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถออกไปสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้ธุรกิจเทคโนโลยีประสบความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อเร่งการแข่งขันในระดับสากล

 

        ในงานนี้ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้มีการบรรยายเรื่อง 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับวงการธุรกิจแห่งโลกอนาคต (10 Technologies to Watch) โดยกล่าวถึง Converging Technologies  ที่มีการหลอมรวมของเทคโนโลยีในสี่สาขาหลัก ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศ (information technology) เทคโนโลยีทางชีวภาพ (biotechnology) นาโนเทคโนโลยี (nanotechnology) และ ศาสตร์ของการรับรู้ (cognitive science) ซึ่งจะพลิกโฉมหน้าของวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทศวรรษนี้ ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของโลก จากนั้น ดร.ทวีศักดิ์ได้กล่าวถึงเทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของภาคเอกชน อันเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เช่น รถพลังงานไฟฟ้า พลังงานจากเซลล์สาหร่าย เซลล์แสงอาทิตย์ดัดได้ อิเล็กทรอนิกส์พิมพ์ได้ วัสดุอัจฉริยะ เส้นใยสังเคราะห์ผสม หุ่นยนต์จักรกลบริการ  และ Internet of Things โดยการบรรยายนี้ได้มีการกล่าวถึงเทคโนโลยีที่สามารถช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต เช่น น้ำพุแห่งชีวิต และ เภสัชพันธุศาสตร์ ซึ่งช่วยให้มวลมนุษยชาติมีอายุยืนยาวและมีสุขภาพที่ดีขึ้น ที่เรียกว่า Ten  Technology to watch ดังนี้

 

  1. Internet of Things
  2. หุ่นยนต์จักรกลบริการ
  3. เส้นใยสังเคราะห์ผสม
  4. วัสดุอัจฉริยะ
  5. อิเล็กทรอนิกส์พิมพ์ได้
  6. เซลล์แสงอาทิตย์ดัดได้
  7. พลังงานจากสาหร่าย
  8. รถพลังงานไฟฟ้า
  9. เภสัชพันธุศาสตร์
  10. น้ำพุแห่งชีวิต

ผู้ส่งข่าว                    ลัดดา หงส์ลดารมภ์  ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์

                                สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

โทรศัพท์                   026448150-89  ต่อ 217,212,712

การส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : จากหิ้งสู่ห้าง

[singlepic id=232 w=320 h=240 float=]

วันที่ 31 สิงหาคม 2553 ณ อาคารรัฐสภา 3 นายพ้อง ชีวานันท์ ประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงาน “การส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : จากหิ้งสู่ห้าง” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  (สวทช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของประเทศไทยทราบถึงปัญหา อุปสรรค ในการนำงานวิจัยที่ทำโดยภาครัฐและเอกชนไปสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อร่วมกันหาทางออก และวิธีการแก้ไขอย่างบูรณาการ ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาทั้งภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงเงื่อนไขและมาตรการสนับสนุนที่หน่วยงานวิจัยภาครัฐและเอกชนต้องการ โดยผลสรุปจากเวทีดังกล่าวนี้จะมีการรวบรวมข้อเสนอแนะและความเห็นจากการสัมมนา เสนอต่อรัฐบาลให้ใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลัก ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป โดยนายพ้องเปิดเผยในรายละเอียดว่า

 

                   “ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ กล่าวคือจะช่วยเพิ่มความมั่งคั่งและความอยู่ดีกินดีของประชาชน และเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก

                   ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญนี้ และได้ตั้งหน่วยงานวิจัยและพัฒนางานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นมาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งหน่วยงานค้นคว้าวิจัยที่อยู่ในสถาบันอุดมศึกษา และมีสถิติแสดงถึงการตีพิมพ์งานวิจัยที่ทำสำเร็จแล้วในวารสาร เป็นจำนวนมากกว่าหมื่นเรื่องในรอบสิบปีที่ผ่านมา แต่ไม่มีสถิติแสดงว่าจำนวนงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารต่างๆ นับหมื่นเรื่อง มีจำนวนเท่าใดที่ถูกนำไปใช้เป็นประโยชน์

                   แม้ว่าประเทศไทยจะได้ลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นเวลานาน แต่ผลการจัดอันดับในเวทีโลกปี ๒๕๕๑ พบว่า ความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศไทยจัดอยู่เพียงอันดับที่ ๔๖ จาก ๑๓๔ ประเทศ และความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีเป็นอันดับที่ ๔๓ จาก ๕๕ ประเทศ และประเทศไทยยังไม่มีธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยตนเองอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นการที่จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น จะต้องเพิ่มทั้งปัจจัยด้านการลงทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการนำงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่เชิงพาณิชย์

                   ตามรายงานของดัชนีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ปี ๒๕๕๑ ประเทศไทยขาดดุลการค้าสินค้าเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี ๒๕๓๙-๒๕๔๘ เฉลี่ย ๗๐,๐๐๐-๘๐,๐๐๐ ล้านบาท/ปี และนอกจากนั้นในปี ๒๕๕๐ ประเทศไทยขาดดุลการชำระเงินทางเทคโนโลยี ๑๓๒,๖๘๙ ล้านบาท และขาดดุลค่าธรรมเนียมใบอนุญาต (Licensing fees & Loyalty fees) ประมาณ ๗๕,๐๐๐ ล้านบาท อีกทั้งรายได้ของการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีและค่าบริการทางเทคโนโลยี ที่เกิดจากธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มาจากการวิจัยและพัฒนาของเอกชนไทยนั้นยังมีสัดส่วนที่ต่ำ

                   จึงเห็นสมควรพิจารณาจัดสัมมนาเพื่อทราบถึงปัญหา อุปสรรค ทางออก และวิธีการแก้ไขอย่างบูรณาการ ในวันศุกร์ ที่ 3 กันยายน 2553 เวลา 08.00-16.30 น. ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยานศาสตร์ประเทศไทย ปทุมธานี โดยมี นายพ้อง ชีวานันท์ ประธานคณะกรรมธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน ร่วมอภิปราย  “เรื่องนโยบายส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์”  และอีกหนึ่งหัวข้อ“เงื่อนไขและมาตรการเชิงรุกในการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่ธุรกิจในเชิงพาณิชย์” กับผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับชั้นนำของประเทศ อาทิ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผอ.สวทช.,ศาสตราจารย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และคุณกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อนำข้อเสนอแนะตลอดจนมาตรการสนับสนุนที่รัฐควรจะดำเนินการที่ได้จากการสัมมนา มากำหนดทิศทางการวิจัยของประเทศ และสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน ให้เกิดการลงทุนในงานค้นคว้าวิจัย และนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติในทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

                   ทั้งนี้ผลสรุปและข้อเสนอแนะและความเห็นในการแก้ไขปัญหา ทางออก วิธีการแก้ไขอย่างบูรณาการ เงื่อนไขและมาตรการสนับสนุน จากการประชุมสัมมนาดังกล่าวจะมีการเสนอต่อรัฐบาลเพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี  และนวัตกรรม ให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลัก ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

 

ผู้ส่งข่าว ลัดดา หงส์ลดารมภ์

โฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สวทช. เตรียมจัดงาน “NSTDA Investors’ Day ของดีสำหรับนักลงทุน” คัดสรรผลงานวิจัยเด่นให้นักลงทุนพัฒนาการตลาดหวังให้วิทยาศาสตร์สามารถเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม และนำไปสู่การสร้างผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและสังคม

 [singlepic id=217 w=320 h=240 float=]     

30 สิงหาคม 2553 ณ ห้องกมลฤดี โรงแรมสยามซิตี้ ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในงานแถลงข่าว “ ของดีสำหรับนักลงทุน ”หรือ NSTDA Investors’ Day ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 16 กันยายน 2553 ศกนี้ เป็นกิจกรรมประจำปีของ สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อเสนอผลงานวิจัยและเทคโนโลยีของ สวทช. ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่ามีศักยภาพสูงในการลงทุนผลิตเป็นสินค้าหรือให้บริการ เพื่อให้กลุ่มนักลงทุนเป้าหมายได้มีโอกาสเข้าถึงหรือเลือกซื้อผลงานวิจัยและเทคโนโลยีดังกล่าว รวมทั้งให้ความเห็นต่อการนำผลงานวิจัยที่จัดแสดงไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

[singlepic id=220 w=320 h=240 float=]

ดร.วีระชัย  วีระเมธีกุล   รมว.วท. กล่าวถึงรายละเอียดว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากจะมีบทบาทในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาวงการวิทยาศาตร์ในประเทศแล้ว ปัจจุบัน ยังตั้งมั่นว่าจะนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของนักวิทยาศาสตร์ไทย มาพัฒนา  และประยุกต์ให้เกิดการสร้างผลงานที่ผลิตเป็นสินค้าหรือบริการจำหน่ายในเชิงรูปธรรมยิ่งขึ้น จึงพร้อมที่จะสนับสนุนให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช.  ในการจัดงาน “ NSTDA Investors’ Day ของดีสำหรับนักลงทุน ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงวงการอุตสาหกรรม การลงทุน การเงิน เข้ากับวงการวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิดการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยี โดยในงานจะเป็นการเสนอผลงานวิจัยและเทคโนโลยีของ สวทช. ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่ามีศักยภาพสูงในการลงทุนผลิตเป็นสินค้าหรือให้บริการ เพื่อให้กลุ่มนักลงทุนเป้าหมายได้มีโอกาสเข้าถึงหรือเลือกซื้อผลงานวิจัยและเทคโนโลยีดังกล่าว รวมทั้งให้ความเห็นต่อการนำผลงานวิจัยที่จัดแสดงไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งถือว่าเป็นมิติใหม่ในกระบวนการ Commercialization cycle ของ สวทช.ที่จะได้รับโจทย์จากเอกชนตั้งแต่การเริ่มต้นพัฒนาวิจัย ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญในการลดปัญหางานวิจัยที่ทำเสร็จแล้วต้องไปกองอยู่บนหิ้ง เนื่องจากไม่มีผู้มารับถ่ายทอดไปผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไป

[singlepic id=223 w=320 h=240 float=]

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ  (สวทช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจเทคโนโลยีนั้น ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ ในประเทศ ที่จะช่วยให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้สามารถเจริญเติบโตได้ จากเหตุผลข้างต้น สวทช. จึงได้จัดงาน NSTDA Investors’ Day โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นเวทีหรือช่องทางเลือกอีกช่องทางหนึ่งที่เชื่อมโยงวงการอุตสาหกรรม การลงทุนและการเงิน เข้ากับวงการวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิดการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีที่สร้างผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและสังคมอย่างชัดเจน  และให้เป็นช่องทางของนักลงทุนในการเข้าถึงผลงานวิจัยที่น่าสนใจและมีศักยภาพในการลงทุนจาก สวทช. อีกทั้ง ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักวิจัยของ สวทช. ได้นำเสนอผลงานวิจัยต่อนักลงทุน และมีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็น ตลอดจนทราบถึงความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการทำวิจัยและพัฒนาต่อไปผลิตผลงานวิจัยต่อไป รวมทั้งเพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยและพัฒนาของ สวทช. ที่พัฒนาจนพร้อมที่จะเปิดให้มีการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนผลงานวิจัยและพัฒนา รวมถึงบริการของบริษัทเอกชนที่เป็นหน่วยงานพันธมิตรหรือเป็นหน่วยงานที่ สวทช. มีส่วนร่วมลงทุน

[singlepic id=226 w=320 h=240 float=]

                สำหรับในปีนี้ ซึ่งเป็นการจัดงานในครั้งแรกนั้น งาน NSTDA Investors’ Day 2010 จะจัดขึ้น ในวันพฤหัสฯ ที่ 16 กันยายน 2553 ระหว่างเวลา 12.00-16.30 น. ณ ห้องบอลลูม เอ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  โดยมีธีมหลักในการจัดงานในปีนี้ คือ “ธุรกิจเทคโนโลยี ของดีสำหรับนักลงทุน” โดยในงานฯ จะแบ่งการจัดงานออกเป็น 2 ส่วน คือ

1.       การบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “อนาคตของวิทยาศาสตร์ไทยในอีก 10 ปี ข้างหน้า”   “10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจ”   และการเสวนาให้ความรู้ ในหัวข้อ “ก้าวไกลกับธุรกิจเทคโนโลยี ด้วยตลาดทุนไทย”

2.       นิทรรศการ จะแบ่งเป็น โซนนิทรรศการแสดงผลงาน โซน one-on-one และเจรจาธุรกิจแบบตัวต่อตัว (one-on-one)  และโซนแสดงบริการของบริษัทที่เป็นพันธมิตรของ สวทช.    สำหรับผลงานวิจัยและพัฒนา 5 ผลงานเด่นที่มีศักยภาพพร้อมลงทุน ที่จะนำมาแสดงในงานในปีนี้ อาทิ

·        ระบบหมุนเวียนน้ำแบบปิดสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำ (AquaRASD)  เป็นระบบหมุนเวียนน้ำแบบปิดที่ช่วยให้ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำในบ่อบ่อย

·        เม็ดมวลเบาสังเคราะห์ (G-Rock) ที่เมื่อนำไปผสมที่คอนกรีตแล้วจะช่วยให้คอนกรีตมีน้ำหนักเบาขึ้น แต่ยังคงความเข็งแรงเท่าเดิม ทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง

·        ระบบจำลองใบหน้าหลังจัดฟันและวางแผนการจัดฟัน (CephSmile V2) ซึ่งพัฒนาต่อยอดเป็น version 2 เพื่อเตรียมพร้อมให้บริการในรูปแบบ web service

·        น้ำยานาโนสำหรับผ้าไหม (Easy Silk Care) เพื่อทำให้ผ้าไหมมีผิวสัมผัส นุ่ม ลื่น และลดการยับ

·        ชุดตรวจโรคแพ้ยาในสุนัข (K9 Diagnostic Kit-MDR1) ที่สามารถตรวจหายีนในการแพ้ยาสุนัขได้ในเวลาอันรวดเร็ว ภายใน 90 นาที และไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่มีราคาแพง

[singlepic id=229 w=320 h=240 float=]

นอกจากผลงานเด่นที่มีศักยภาพพร้อมลงทุนแล้ว ในโซนนิทรรศการ ยังจัดแสดงผลงานวิจัยที่พร้อมให้ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ กว่า 20 ผลงานจากศูนย์แห่งชาติทั้ง 4ศูนย์ โดยได้จัดแสดงผลงาน ภายใต้ 3 หัวข้อหลัก คือ Better Food  Better Living และ Better Energy สำหรับผลงานที่จะจัดแสดง เช่น สูตรนาโนกำจัดสิว  เซนเซอร์ตรวจวัดและแจ้งเตือนความร้อนในรถยนต์ (Thermal Alarm) ชุดตรวจโรคพืชแบบรวดเร็ว และฟิลม์ยืดอายุผลไม้สดอัจฉริยะ  เป็นต้น ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวฯ

 

 

ผู้ส่งข่าว               ลัดดา หงส์ลดารมภ์  

ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

ศวท./สวทช. ร่วม 6 มหาวิทยาลัยชั้นนำ สร้างเครือข่ายความร่วมมือการจัดการห้องสมุดด้วยซอฟแวร์แวร์โอเพนซอร์สและฟรีแวร์สายพันธุ์ไทย ช่วยประหยัดงบร่วมล้านบาท

ศวท./สวทช. ร่วม 6 มหาวิทยาลัยชั้นนำ สร้างเครือข่ายความร่วมมือการจัดการห้องสมุดด้วยซอฟแวร์แวร์โอเพนซอร์สและฟรีแวร์สายพันธุ์ไทย ช่วยประหยัดงบร่วมล้านบาท

 

26 สิงหาคม 2553 ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย      ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีประชุมวิชาการเครือข่ายความร่วมมือโอเพนซอร์สเพื่อพัฒนาระบบคลังความรู้ระบบเปิด เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้โอเพนซอร์สและฟรีแวร์ ซอฟต์แวร์ของคนไทย โดยเน้นในเรื่องของโปรแกรมห้องสมุด การจัดการสารสนเทศผ่านห้องสมุด ให้กับ 6 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ อันได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,มหาวิทยาลียเชียงใหม่,มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผอ. สวทช. กล่าวว่า ศูนย์บริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ ศวท./สวทช. มีภารกิจที่ในการศึกษาเทคโนโลยี โดยเฉพาะการบริหารจัดการ การบริการทรัพยากรสารสนเทศ ห้องสมุด และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเด็นการประยุกต์ใช้งาน การศึกษา การวิเคราะห์ และการถ่ายทอดความรู้ออกสู่สาธารณะและเครือข่ายทั้งในมิติของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ การสื่อสาร ข้อมูล/สารสนเทศ เครือข่ายความร่วมมือและอื่นๆ เพื่อให้การดำเนินการข้างต้น เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างเครือข่ายความร่วมมืออย่างแท้จริง ถือว่าเป็นมิติใหม่ของวงการห้องสมุดและศูนย์สารสนเทศ ที่มีการร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ซึ่งไม่เป็นเพียงหน่วยงานที่ไม่ใช่ห้องสมุดโดยตรง แต่กลับเป็นหน่วยงานเชิงวิจัยและพัฒนาและเผ็นผู้ใช้ เหมือนเช่น ศวท. จึงทำให้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ  ได้ง่ายและตรงกับวัตถุประสงค์ของการทำงานและการเรียนการสอน และในทางกลับกัน สวทช. ก็ได้รับความร่วมมือในการรับข้อมูลต่างๆ ที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นระบบต่างๆ ของสวทช.ต่อไปได้

 ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมสัมมนาดังกล่าว จึงมุ่งเน้นเนื้อหาไปที่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือและพัฒนาระบบคลังความรู้ระบบเปิด (Open Access to Knowledge) เพื่อเพิ่มช่องทางบริการความรู้ให้กว้างขึ้น และได้มาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ ทั้งนี้เนื้อหาจะครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาเว็บไซต์ บริการความรู้ที่สนับสนุนบรรณานุกรมแบบอัตโนมัติ การใช้งานบรรณานุกรมจากแหล่งความรู้ต่างๆ การพัฒนาคลังความรู้สถาบันที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีที่กระทำได้ง่ายบนกรอบ Open Source Software & OAI-PMH ที่เป็นซอฟต์แวร์ของคนไทยเอง ซึ่งถ้าหน่วยงานตามมหาวิทยาลัยหันมาใช้โปรแกรมโอเพนซอร์สและฟรีแวร์ จะทำให้ประหยัดงบประมาณในการจัดการหาโปรแกรมจากต่างประเทศมากกว่าปีละร่วมล้านบาท

ผู้ส่งข่าว            

นางลัดดา  หงส์ลดารมภ์

ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

โทรศัพท์             026448150-89  ต่อ 217,212,712

นาโนเทคโนโลยี ส่ง มุ้งฆ่ายุง กำจัดยุง ป้องกันพาหะของโรคมาลาเรีย

[singlepic id=208 w=320 h=240 float=]         

ในช่วงฤดูฝน ขณะนี้ ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วม ภัยต่างๆ ต้องทำให้ระมัดระวังในเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะภัยเงียบที่เกิดจากยุงที่เป็นพาหะของโรคมาลาเรียและไข้เลือดออก นอกจากจะเป็นปัญหาสาธารณะสุข ของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นปัญหาสาธารณาสุขทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยในเขตร้อนชื้นและก่อให้เกิดความกังวลต่อผู้ปกครองเวลาเด็กมีไข้ และทำอันตรายกับชีวิตของคน  ปัจจุบันโรคดังกล่าวมีการระบาดเพิ่มมากขึ้นในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

[singlepic id=211 w=320 h=240 float=]

ข้อมูลทั่วไปจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เรื่องการระบาดของมาลาเรีย พบว่า มาลาเรีย เป็นหนึ่งในโรคที่คร่าชีวิตมนุษย์มากที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา และด้อยพัฒนา ประชากรกว่า 2 พันล้านคน (40% ของประชากรโลก) อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งมีกว่า 90 ประเทศ ในปี 1992 มีการรายงานอาการเจ็บป่วยจากมาลาเรียกว่า 300-500 ล้านคน โดยเฉลี่ยทุกปี มาลาเรียคร่าชีวิต 1.5-2.7 ล้านคน ซึ่งส่วนมากอาศัยอยู๋ในทวีปแอฟริกา สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคมาลาเรียประมาณ 39,209 คนต่อปี (ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์, วันที่ 11 ก.ย. 2552)  โดยมากพบแทบชายแดนพม่า และชายแดนเขมร ในไทยพบมากที่สุด ตามลำดับ ได้แก่ ตาก  ยะลา กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน ชุมพร นราธิวาส ศรีสะเกษ จันทบุรี สุรินทร์ และประจวบคีรีขันธ์  นอกจากโรคมาลาเรีย ยุงยังเป็นพาหะสำคัญของโรคไข้เลือดออก โรคเท้าช้าง โรคไข้สมองอักเสบ โรคไข้เหลือง  ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำว่า “มุ้ง” ยังเป็นอุปกรณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันยุงได้

[singlepic id=214 w=320 h=240 float=]

             สำหรับการป้องกันและควบคุมโรคมาลาเรียและไข้เลือดออกที่ผ่านมาคือการควบคุมการแพร่กระจายของยุงลาย โดยการ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น กะละมัง ยาง กระป๋อง , หาฝาปิดภาชนะ โอ่ง ถังน้ำ สำหรับในแหล่งน้ำสาธารณะอาจจะเลี้ยงปลาเพื่อกินลูกน้ำ หรือใส่สารเคมีเพื่อฆ่าลูกน้ำ อย่างไรก็ตาม การป้องกันดังกล่าว สามารถช่วยได้ระดับหนึ่ง ในพื้นที่ที่เหมาะสมในวิธีที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่อาจจะใช้ไม่ได้ในพื้นที่แบบเปิด  

 

ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  กล่าวว่า ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้น  ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ ได้สร้างผลงานวิจัย มุ้งฆ่ายุง เป็นเครื่องมือสำคัญในการการป้องกันโรคที่เกิดจากยุง เช่น  ,โรคมาลาเรีย ,ไข้เลือดออก , โรคเท้าช้าง ,โรคไข้สมองอักเสบ , ไข้เหลือง โดย มุ้งฆ่ายุง โดยได้ใช้กระบวนการทางเทคโนโลยีในการใช้สารสำคัญที่ใช้ในมุ้งฆ่ายุง เป็นสารสังเคราะห์ ที่พบในพืชและเป็นสารที่องค์กรอนามัยโลก ( WHO ) แนะนำให้ใช้ได้ โดยสารกลุ่มดังกล่าว มีกลไกการทำงานซึมผ่าน ยุงที่ปลายขา ซึ่งมีความไวต่อสารต่อสารกลุ่มนี้เป็นพิเศษ มีผลต่อระบบประสาทของยุงทำให้ยุงตายโดยได้โดยเร็ว ดังนั้น จึงนำสารดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการนาโนเทคโนโลยีในการผลิตมุ้งฆ่ายุง ด้วยนวัตกรรมการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ทั้งแบบเส้นใยเดี่ยว (  monocomponent ) และเส้นใยผสม ( bi – component ) ทำให้สามารถผสมสาร ให้ฝังอยู่ในเม็ดพลาสติก ก่อนฉีดออกมาเป็นเส้นใย ซึ่งจะทำให้เส้นใยดังกล่าวมีคุณสมบัติที่ถาวร และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ อื่น ๆ  ในการฆ่าเชื้อ จากการเติมอนุภาคนาโน Silver ลงไปในเส้นใยได้อีกด้วย ซึ่งผลงานวิจัย มุ้งฆ่ายุง จะช่วยให้คนไทย ได้รับการป้องกันและกำจัดยุง ที่นำโรคมาลาเรีย ได้อย่างมีประสิทธิภาพและ ทำให้คนไทยป่วยจากโรคดังกล่าวน้อยลง

             อีกทั้งผลงานวิจัยได้ต่อยอดเชิงพาณิชย์ สู่ภาคอุตสาหกรรม  โดยมุ่งเน้นงานวิจัยที่เป็นรูปธรรมลงสู่ผู้ใช้ได้จริง ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในการส่งออกมุ้ง โดยมีการส่งออกมากกว่า 1.1 ล้านหลังต่อปี ( แต่ส่วนใหญ่เป็นมุ้งทั่วไปที่ไม่ได้มีการเคลือบสารกำจัดยุง ) ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า สำหรับมุ้งฆ่ายุง จะเพิ่มมูลค่าการผลิตมุ้ง ต่างจากของเดิม ดังเช่น กระทรวงสาธารณะสุขได้สั่งซื้อมุ้งฆ่ายุง 200 ,000 – 250 , 000 หลังต่อปี โดยมีมูลค่าประมาณ 125,000 ,000 บาท  ซึ่งคุณสมบัติมุ้งฆ่ายุงสามารถใช้และซักได้ไม่ต่ำกว่า 30 ครั้ง และนำเทคโนโลยีดังกล่าว ประยุกต์ในการสร้างสรรค์ผลิตผลงาน ผลิตภัณฑ์ด้านสิ่งทอสู่ภาคอุตสาหกรรม อาทิ ผ้าม่านกันยุงใช้ในโรงแรม  , เสื้อ , สายรัดข้อมือ และ ตัดชุดเครื่องแบบ ทหาร , ตำรวจชายแดน เพื่อป้องกันการเจ็บไข้ได้ป่วยของทหารและเจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติงานในพื้นที่เสี่ยง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจและเลิกเกรงกลัวการติดเชื้อมาลาเรีย หรือไข้เลือดออกจากยุงประเทศไทย

 

 

ผู้ส่งข่าว   :     ลัดดา หงส์ลดารมภ์

ผู้อำนวยการ ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สวทช.ร่วมกับภาคีเครือข่ายการ์ตูน จัดเสวนา การ์ตูนสร้างคนสร้างชาติ เพื่อเสริมสร้างจินตนาการแก่เยาวชนผ่านตัวการ์ตูนไซไฟ

          เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2553  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานภาคี  ร่วมจัดงานเสวนา “การ์ตูนสร้างคนสร้างชาติ”  ที่ S-Club ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์

            ดร.กฤษฎ์ชัย  สมสมาน หัวหน้าโครงการ “ประกวดการ์ตูนไซไฟไทย ก้าวไกลสู่สากล ครั้งที่ 2” กล่าวว่า การ์ตูนเป็นสื่อกลางยอดนิยมสำหรับเด็กๆ ทั่วโลก และมีส่วนเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย หากได้อ่านการ์ตูนที่เหมาะกับวัยนั้นๆ ในขณะที่นิยายวิทยาศาสตร์ (Science Fiction) หรือ “ไซไฟ (Sci Fi)” หรือที่เรียกย่อสั้นลงไปอีกว่า SF นั้น มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างจินตนาการในหมู่เยาวชนในประเทศที่พัฒนาแล้ว การ์ตูนไซไฟเป็นที่นิยมชมชอบของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และสามารถพัฒนาเป็นเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมแบบหนึ่ง โดยในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ตลาดของการ์ตูน (เฉพาะที่พิมพ์เป็นเล่ม ไม่รวมภาพยนตร์) นั้น มีมูลค่าสูงถึงราว 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี โดยในจำนวนนี้เป็นการ์ตูนสไตล์อเมริกันกว่า 70% ส่วนที่เหลือนั้นเป็นการ์ตูนสไตล์ญี่ปุ่นที่เรียกกันว่า “มังงะ (Manga)” สำหรับภาพยนตร์ไซไฟนั้น สามารถทำเงินได้สูงถึงกว่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในระหว่างปี ค.ศ.1995–2010 ซึ่งคิดเป็นราว 10% ของรายรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์โดยรวมเลยทีเดียว นอกจากนี้ จากการสัมภาษณ์บุคคลสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั่วโลกนั้น ปรากฏตรงกันว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้หันมาสนใจศึกษาเรื่องทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น ส่วนใหญ่แล้วหากไม่ใช่เป็นเพราะเห็นตัวอย่างครูวิทยาศาสตร์ที่น่าชื่นชม ก็จะเป็นเพราะได้ซึมซับเรื่องราวด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆมาตั้งแต่ตอนเป็นเยาวชนนี่เอง
            สำหรับการเสวนาในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการการ์ตูนของไทยมาร่วมเสวนา คือ คุณตั้ม วิศุทธิ์  พรนิมิตร  นักเขียนการ์ตูนชื่อดัง ที่มีผลงานตีพิมพ์ไปถึงประเทศญี่ปุน  คุณคิม จงสถิตย์วัฒนา  ผู้ผลิตและจำหน่ายการ์ตูนลำดับต้น ๆ ของเมืองไทย และ รศ.ถิรนันท์  อนวัชศิริวงศ์  นักวิจัยงานการ์ตูน ที่มีประสบการณ์สูง

สวทช.และหน่วยงานภาคีต่างๆ ล้วนเล็งเห็นตรงกันถึงความสำคัญของการใช้การ์ตูนไซไฟ เป็นตัวกลางในการสอดแทรกความรู้ เสริมสร้างจินตนาการ และกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น อันเป็นพื้นฐานสำคัญส่วนหนึ่งสำหรับเยาวชนที่จะได้หันมาสนใจเรื่องทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการพัฒนาความเข้มแข็งของเยาวชนของชาติ และช่วยสร้างสังคมฐานความรู้ (Knowledge Based Society) และสังคมสร้างสรรค์ (Creative Society) ต่อไป ด้วยเหตุนี้ สวทช. และหน่วยงานภาคีจึงได้สนับสนุนให้มีการประกวดการ์ตูนไซไฟไทย ก้าวไกลสู่สากลครั้งที่ 2 ขึ้น ต่อเนื่องกับที่ได้ประสบความสำเร็จในการจัดการประกวดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีที่ผ่านมา โดยคาดหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นแรงผลักดันให้เยาวชนไทยที่สนใจทางด้านนี้ ได้มีการพัฒนาฝีมือผ่านการประกวดและเข้าค่ายอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ จนทำให้สามารถสร้างสรรค์การ์ตูนไซไฟได้อย่างมีคุณภาพเท่าเทียมกับนักวาดการ์ตูนมืออาชีพในระดับสากลต่อไป

ทั้งนี้สำหรับนักเรียนหรือนักศึกษาที่สนใจโครงการ “ประกวดการ์ตูนไซไฟไทยก้าวไกลสู่สากล ครั้งที่ 2” ในหัวข้อเรื่อง “ประเทศไทย พ.ศ. 2600 สามารถติดตามรายละเอียดโครงการฯ และการส่งผลงานเข้าประกวดได้ที่เว็บไซต์ http://www.nstda.or.th/scificomic หรือสอบถามทางโทรศัพท์ 02-564-7000 ต่อ 1177, 1179  และทางอีเมล์ paritat@nstda.or.th

 

 

ผู้ส่งข่าว   :     ลัดดา หงส์ลดารมภ์

ผู้อำนวยการ ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สวทช. ผลักดันเทคโนโลยีเส้นใยเพื่อพัฒนาผลิตเส้นใยและสิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษ ให้กับภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในประเทศไทย

ดร. ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  กล่าวว่า สวทช. ร่วมกับสถาบันอุตสาหกรรมสิ่งทอ, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งทอ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยสิ่งทอไต้หวัน  จัดงาน FIBER INNOVATION เพื่อเป็นเวทีสำหรับการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญของใต้หวัน, ผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการของไทย ในการใช้เทคโนโลยีเส้นใยเพื่อพัฒนาผลิตเส้นใยและสิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษ  สำหรับการผลิตเชิงพาณิชย์ที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอของประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้และการจ้างงานในประเทศไทย การพัฒนาให้อุตสาหกรรมนี้มีความยั่งยืนจึงเป็นสิ่งจำเป็นซึ่งทั้งนี้ต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ อย่าง รวมทั้งงานวิจัยและนวัตกรรม ในส่วนของการสร้างงานวิจัยและเทคโนโลยีด้านเส้นใย ทาง สวทช. ได้มีโครงการสนับสนุนและผลักดันการสร้างเทคโนโลยีเส้นใยสององค์ประกอบ (bicomponent fibers) ขึ้นในประเทศ ภายใต้การเห็นชอบของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาผลิตเส้นใยและสิ่งทอที่มีสมบัติพิเศษและหลากหลายได้  และเนื่องจากสถาบันวิจัยสิ่งทอไต้หวัน (Taiwan Textile Research Institute) มีความเชี่ยวชาญทางด้านงานวิจัยและการสร้างนวัตกรรมด้านสิ่งทอที่เชื่อมโยงสู่การผลิตเชิงพาณิชย์  และมีความร่วมมือด้านงานวิจัยกันเป็นเวลานาน  จึงได้ใช้เวทีนี้เพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะกระตุ้นให้อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยเกิดความสนใจในการสร้างนวัตกรรมโดยใช้เทคโนโลยีเส้นใย และใช้เป็นเวทีเชื่อมโยงระหว่างงานวิจัย นวัตกรรม และกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในการสนับสนุนการสร้างความคิดสร้างสรรค์ในผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพื่อการแข่งขันในระดับสากล

สวทช. นำเห็ด ภาคใต้ เรียนรู้ระบบนิเวศของประเทศไทย

[singlepic id=202 w=320 h=240 float=]

จากที่ ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล  รมว.วิทย์ฯ มีนโยบาย   สนับสนุนการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชนมากขึ้น โดยเน้นกิจกรรมที่สนุก เพื่อดึงความสนใจของเด็กทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านกิจกรรมบ่มความคิดสร้างปัญญาให้กับเด็กไทย เพิ่มเติมความรู้จากที่เรียนในห้องเรียน , ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการนำ ว และ ท ลงสู่ชุมชน เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและผลิตภาพภาคการผลิต รวมถึงยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและคุณภาพบริการทางสังคม  และส่งเสริมและสนับสนุนการนำ ว และ ท ไปเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเน้นการวิจัยเชิงประยุกต์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์บริการ ฯลฯ

[singlepic id=205 w=320 h=240 float=]

ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ รักษาการรองผู้อำนวยการ  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ได้ดำเนินงานสนองตอบนโยบายของ รมว.วิทย์ฯร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และมูลนิธิสวิตา จัดการเรียนรู้ ก้าวแรกสู่การเป็นนักอนุกรมวิธานเห็ด โดยต้องการส่งเสริมให้ครูและอาจารย์ได้รู้จักบูรณาการความรู้วิทยาศาสตร์ ระบบนิเวศและชุมชนโดยใช้เห็ดในธรรมชาติเป็นตัวแทนกิจกรรม ซึ่งผู้เข้าร่วมจะเสมือนเป็นนักอนุกรมวิธาน ( การจัดหมวดหมู่ของเห็ด )  โดยสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการสอนทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ตลอดจนขยายผลองค์ความรู้ ที่ได้พัฒนาเป็นอาชีพ รวมทั้งนำความรู้ที่ได้เชื่อมโยงกับระบบนิเวศและชุมชนให้เห็นคุณค่าและตระหนักถึงประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ   นอกจากนี้ ความรู้ที่ได้จากกิจกรรมนี้ได้ถูกนำไปขยายผลเป็นบทเรียน E-learning เพื่อเปิดสอนให้แก่คณะครู และผู้ที่สนใจต่อไป

ทั้งนี้ได้กล่าวเสริมว่า  ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงประเทศหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์  ตลอดจนจุลินทรีย์ที่หลากหลาย และยังมีลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในระบบนิเวศ  แต่เนื่องด้วยสภาวการณ์ปัจจุบันทำให้โลกมีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้อัตราการสูญพันธุ์และเปลี่ยนแปลงของชนิดพันธุ์เป็นไปด้วยความรวดเร็ว นอกจากนี้ความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติค่อนข้างจำกัดเฉพาะกลุ่มของนักวิทยาศาสตร์ในสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่ทันต่อการเรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ให้ทันต่อสภาพการณ์

            โดยเห็ดในธรรมชาติถือได้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่สำคัญของระบบนิเวศของประเทศไทย เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดคุณภาพความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า เห็ด มีหน้าที่สำคัญในระบบนิเวศน์ เสมือนเทศบาลของธรรมชาติ ทำหน้าที่  ย่อยสลายซากอินทรียวัตถุ สามารถใช้เป็นสีย้อมธรรมชาติ , หรือใช้ในการแพทย์ , อุตสาหกรรม  และยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชน จากการวิจัยพบว่า ชุมชนมีการพึ่งพิงเห็ดในธรรมชาติเพื่อการบริโภคถึงร้อยละ 84  แต่เนื่องจากปัจจุบันการศึกษาอนุกรมวิธานเห็ดรา หรือผู้ที่มีความชำนาญในการจัดจำแนกชนิดเห็ดมีอยู่น้อยมาก ประกอบกับข้อมูลบ่งชี้คุณลักษณะของเห็ดแต่ละชนิดมีอยู่อย่างจำกัดและมีการกระจายของข้อมูลอย่างไม่ทั่วถึง ชุมชนยังไม่มีความรู้เรื่องเห็ดดีเท่าที่ควรทำให้เรื่องของการเก็บเห็ดพิษมารับประทานเกิดขึ้นตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เสมอ

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา โดยการสนับสนุนจากกิจกรรมพัฒนาศูนย์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STKC) สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  จัดทำโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่นักอนุกรมวิธานเห็ดวิทยารุ่นใหม่เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างความตระหนักให้กับกลุ่มครูและนักเรียน ตลอดจนบุคลากรทั่วไปในการเป็นนักอนุกรมวิธานเรื่องเห็ดเบื้องต้น หรือ สามารถจัดจำแนกชนิดของเห็ดเบื้องต้น และเป็นการขยายผลองค์ความรู้ที่ได้จัดทำเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยง่าย  เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ เห็นคุณค่าและตระหนักถึงคุณประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนเป็นการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทราบถึงบริการของหน่วยงานที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการอบรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 70  คน ได้แก่ ครูในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ได้แก่   ยะลา  นราธิวาส  ปัตตานี  เข้าร่วมอบรม จำนวน 50 คน จาก 20 โรงเรียน อาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา  จำนวน  15  คน  เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษาบรมราชินีนาถ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา  จำนวน 5 คน โดยมีกิจกรรมทั้งการอบรม สัมมนา งานอนุกรมวิธานเห็ดเบื้องต้น อาทิมีการค้นหากับการเก็บรวบรวม , การบรรยายกับการจำแนก ,การกำหนดชื่อกับการพิสูจน์ , การเก็บรักษาและการดูแล , การอนุรักษ์ , และศึกษาเรื่องเห็ดพิษ  เป็นต้น ฯลฯ

 

ผู้ส่งข่าว   :     ลัดดา หงส์ลดารมภ์

ผู้อำนวยการ ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์

ก.วิทย์ ฯ มอบนโยบายให้ สวทช. เร่งวิจัยผลงานเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

[singlepic id=199 w=320 h=240 float=]

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการแก้ปัญหาวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่อุตสาหกรรม ( Green Thailand )โดยเป็นโครงการความร่วมมือ ระหว่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงอุตสาหกรรม  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  และสมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนนาดา   โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี  เป็นประธาน   มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกภาคส่วน ร่วมมือและช่วยกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษในเขตพื้นที่อุตสาหกรรม

[singlepic id=196 w=320 h=240 float=]

ในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   โดย ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล  รมว.ก.วิทย์ ฯ ได้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและมอบหมายให้หน่วยงานภายใต้สังกัด ก.วิทย์ฯ ช่วยกันเร่งหามาตรการแก้ไข ในทุกรูปแบบ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการ แบ่งปันและแลกเปลี่ยนข้อมูล สนับสนุนทรัพยากรและบุคลากร  รวมถึงการพัฒนางานวิจัย หรือแม้แต่การจัดกิจกรรม เพื่อให้เกิดความร่วมระหว่างหน่วยงาน   ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษต่างๆ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เป็นมาตรการเร่งด่วน

[singlepic id=193 w=320 h=240 float=]

ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รับหน้าที่ดำเนินการ หาวิธีการและวิจัยพัฒนางานต่างๆ ทุกรูปแบบ ที่สามารถนำมาช่วยแก้ไข  ฟื้นฟู หรือเยียวยาสภาพสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษได้   โดยสวทช.ได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว  จึงเกิดโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานโครงการสมองไหลกลับ (สวทช.) และ ATPAC ( สมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนนาดา ) ในการดำเนินการทำวิจัยและพัฒนาในทุกรูปแบบต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและมลพิษ  เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา ฟื้นฟู หรือเยียวยาสภาพสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ   โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมต่างๆ  ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนโดยรอบ  ให้กลับมามีสภาพปกติได้ดั่งเดิมต่อไป

 

ผู้ส่งข่าว   :     ลัดดา หงส์ลดารมภ์

ผู้อำนวยการ ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับการทูลเกล้าฯถวายรางวัลผู้นำการจัดการเทคโนโลยีหรือ Leadership in Technology Management Award (LTM Award)

[singlepic id=190 w=320 h=240 float=]

วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา   สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำ Prof. Dr. Dundar F. Kocaoglu, President & CEOจาก (Portland International Conference on Management of Engineering and Technology) หรือ PICMET เข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลผู้นำการจัดการเทคโนโลยีหรือ Leadership in Technology Management Award  ( LTM Award ) ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และการบริหารงานตามหลักการบริหารจัดการเทคโนโลยี  โดยในปีนี้ คณะกรรมการจัดงาน ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล LTM Award แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยเห็นว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในด้านที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์เทคโนโลยี และการบูรณาการเทคโนโลยีหลากหลายสาขาเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาชนบทและผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะในด้านการศึกษา อาหารและโภชนาการ การแพทย์และสุขภาพ  มาโดยตลอด ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนและราษฎรในชนบทห่างไกล รวมทั้งผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าวเป็นรางวัลที่จัดขึ้นโดย(Portland International Conference on Management of Engineering and Technology) หรือPICMET ซึ่งเริ่มมีขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 โดยจะมอบเป็นเกียรติแก่บุคคลที่เป็นผู้นำในด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยีตั้งแต่การสร้างวิสัยทัศน์ การจัดการกลยุทธ์และการกำหนดทิศทางตลอดจนขับดันเพื่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติเพื่อให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ โดยรางวัลดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 หมวดคือ ผู้นำเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรม, ภาคการศึกษา และภาครัฐบาล จำนวนผู้ที่ได้รับรางวัลจนถึงปัจจุบันมีทั้งสิ้น 24 ราย

อนึ่ง ระหว่างวันที่ 18-22 กรกฎาคม 2553สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับ Portland International Center for Management of Engineering and Technology (PICMET), Portland State University ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ PICMET’10 Conference ภายใต้หัวข้อ “Technology Management for Global Economic Growth”   ณ โรงแรมฮิลตัน ภูเก็ต อคาเดีย รีสอร์ท แอนด์สปา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์การบริหารจัดการเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ แก่ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งประกอบด้วยผู้บริหาร นักวิชาการ นักวิจัย คณาจารย์ และนิสิตนักศึกษา จากทั้งภาครัฐและอุตสาหกรรม ทั้งในและต่างประเทศ อันจะนำไปสู่การสร้างความรู้พื้นฐานสำหรับการนำไปพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป

 

 

ผู้ส่งข่าว             ลัดดา หงส์ลดารมภ์

ผู้อำนวยการ ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)