Archive for category Press release

ดร.วีระชัยฯ รมว.วท. สั่ง สวทช.ปรับกลยุทธ์ เน้นนำงานวิจัย รองรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตสู่สังคม พร้อมเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจเต็มกำลัง

[singlepic id=184 w=320 h=240 float=]

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 สวทช.ได้จัดการประชุมคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) ครั้งที่ 4/2553 ขึ้น ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร สวทช. ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โดยมี ดร.วีระชัย  วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในที่ประชุม

[singlepic id=187 w=320 h=240 float=]

สรุปสาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้ต้อนรับ ดร.ทวีศักดิ์  กออนันตกูล ซึ่งเริ่มปฏิบัติงานวันแรกในฐานะผู้อำนวยการ สวทช. และมีมติเห็นชอบให้ สวทช.ปรับโครงสร้างองค์กรและระบบการทำงาน เพื่อตอบสนองนโยบายการทำงานของรัฐมนตรีที่ต้องการให้เน้นการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างสังคมให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพ

การปรับโครงสร้างครั้งนี้ สวทช.จะมุ่งเน้นการทำงานในลักษณะการเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำกับภาคการผลิต ทั้งในด้านการวิจัย พัฒนา การปรับปรุงกระบวนการผลิต สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อให้ภาคการผลิตเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงพัฒนา โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น นอกจากนี้ จะเน้นการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงไปสู่ภาคชุมชนและชนบท เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

คณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ คือ กรรมการที่กำกับดูแลนโยบาย และ การทำงานของ สวทช. ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่ข้าราชการ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประธาน

ผู้ส่งข่าว : ลัดดา  หงส์ลดารมภ์

ภาพ : อนุศิษฏ์  มูลทองชุน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระเกียรติให้ดำรงตำแหน่งวุฒิสภากิติมศักดิ์ (สภาสูง) ของมูลนิธิผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา

เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายนนี้ ณ หอประชุมอินเซลฮัลเล เมืองลินเดา ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระเกียรติให้ดำรงตำแหน่งวุฒิสภากิติมศักดิ์ (สภาสูง) ของมูลนิธิผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา ในพิธีเปิดการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองลินเดา ระหว่างวันที่ ๒๗ มิถุนายน ถึง ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ยังความปลาบปลื้มแก่พสกนิกรชาวไทยเป็นล้นพ้น การถวายตำแหน่งในวุฒิสภากิติมศักดิ์ครั้งนี้ เนื่องจากทรงได้ทำคุณประโยชน์มากมายทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ผลักดันเชื่อมโยงให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ได้ก้าวสู่เวทีวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีระดับสากล เพื่อถ่ายทอดความรู้และสามารถนำมาต่อยอดในงานด้านวิทยาศาสตร์ในอนาคต การที่มูลนิธิผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดาถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องจากเห็นว่า พระองค์ทรงทำคุณประโยชน์อย่างเด่นชัดแก่การประชุมที่ลินเดาและแก่มูลนิธิผู้ได้รับรางวัลโนบลฯ นอกเหนือจากทรงเสียสละและทุ่มเทให้กับงานทางด้านวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งทรงมีผลงานอย่างเด่นชัดและน่าชื่นชมซึ่งสามารถสรุปด้วยคำกล่าวเพียงสามคำคือ การศึกษา (Education) ความเชื่อมโยง (Communication) และทรงทำให้เกิดการบูรณาการ (Integration)

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับการยกย่องและชื่นชมอย่างมากในประเทศไทย โดยเฉพาะการทรงงานเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ทรงเป็นตัวอย่างที่ดีในการบูรณาการกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ทั้งในประเทศไทยเองและต่างประเทศ ทรงใช้ความรู้และพระปรีชาสามารถอย่างเต็มพระกำลัง ไม่ใช่เพื่อพระองค์เอง แต่เพื่อทำให้เกิดการศึกษาและวิจัยค้นคว้าที่ก้าวหน้า ทรงประยุกต์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางแก่สังคม เหนืออื่นใด ทางเมืองลินเดาได้ขอบพระทัยที่ทรงเสียสละเวลาเพื่อสนับสนุนกิจกรรมหรือพันธกิจด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ของเมืองลินเดา โดยทรงสนับสนุนเชื่อมโยงและชักนำให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จากประเทศไทยได้เข้ามาร่วมการประชุมที่จัดขึ้นทุกปี และยังทรงผลักดันและสนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จากประเทศไทย ได้เข้าสู่วงการวิทยาศาสตร์ระดับสากล มีการแลกเปลี่ยนความรู้และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

จากนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสขอบคุณแก่มูลนิธิฯ ความว่า ทรงรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งและขอรับเกียรตินี้ไว้ด้วยความยินดี การค้นพบทางวิทยาศาสตร์นั้นได้ทำให้มนุษย์มีการกินอยู่ที่ดีขึ้น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยังทำให้เกิดความก้าวหน้าทางด้านนวัตกรรม และวิทยาศาสตร์ยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญด้านสุขภาพ สาธารณสุขและยา ทำให้มนุษย์เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างผาสุกยืนยาว และมีสุขภาพที่ดี

อย่างไรก็ดีเราต้องพยายามผลักดันให้วิทยาศาสตร์มีประโยชน์แก่ประชากรโลกอย่างทั่วถึง ต้องพยายามช่วยกันยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาสในสังคมโลกโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่าง ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เชื้อชาติและศาสนา

“ปัญหาที่ท้าทายในของโลกเราในปัจจุบันเราต้องมุ่งมั่นที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาของโลกไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาวะโลกร้อน การขาดแคลนพลังงาน การจัดการทรัพยากรน้ำ ความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหาร โรคที่อุบัติขึ้นมาใหม่ และสังคมของผู้สูงวัยในอนาคต ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจที่การประชุมที่ลินเดา ได้หยิบยกปัญหาและความท้ายทายดังกล่าวให้นักวิทยาศาสตร์ได้ช่วยกันรับผิดชอบเพื่อพัฒนาสังคมโลก ให้เป็นสังคมยั่งยืน และในการประขุมครั้งนี้ควรจะทำให้วิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งเดียว และมีความยั่งยืนในโลก”

อนึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นผู้สนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของไทยได้เข้าร่วมประชุมกับบรรดานักวิทยาศาสตร์โลกที่ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา ๓ ปีแล้ว โดยทรงเป็นผู้คัดเลือกนักวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นตัวแทนจากประเทศไทยให้มาร่วมการประชุมด้วยพระองค์เอง นับเป็นน้ำพระราชหฤทัยงดงามและเปี่ยมด้วยพระเมตตาอย่างยิ่ง สำหรับในปี ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นปีสำคัญเพราะมีการจัดประชุมพร้อมกันใน ๓ สาขา ได้แก่ เคมี ฟิสิกส์และการแพทย์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงคัดเลือกตัวแทนนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จากเมืองไทยให้เดินทางมาร่วมประชุมทั้งสิ้น ๕ คน ได้แก่ ๑. นายสุธีรักษ์ ฤกษ์ดี ๒. นางสาวนิธิวดี ไทยเจริญ ๓. นายสิขริณญ์ อุปะละ ๔.นายสุรเชษฐ หลิมกำเนิด ๕. นายฉัตรชัย เหมือนประสาท

สำหรับการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา เริ่มจัดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๔ โดยมูลนิธิผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลกับเยาวชนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่รวมทั้งนักวิจัยจากทั่วโลก โดยการประชุมจะมีช่วงระหว่างปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม โดยจัดขึ้นทุกปีจนถึงปัจจุบัน หมุนเวียนไปตามสาขาได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี และสรีรวิทยาหรือแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ.๒๕๔๘ ที่ผ่านมาเป็นปีไอน์สไตน์ ซึ่งทางมูลนิธิได้จัดการประชุมขึ้นพร้อมกันทั้ง ๓ สาขา ส่วนปี พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นปีแรกที่ประเทศไทยส่งนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมในสาขาฟิสิกส์

การที่สมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงสนับสนุนและพระราชทานโอกาสแก่เยาวชนไทยในการเข้าร่วมประชุมระดับนานาชาติ ทรงเคยมีพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า เพราะทรงอ่านพบเกี่ยวกับรายละเอียดงานประชุมนี้และทรงเห็นว่ามีเยาวชนจากนานาประเทศเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก รวมทั้งตัวแทนจากเพื่อนบ้านเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย จีน แต่ไม่เคยมีเยาวชนไทย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ สวทช.. ดำเนินการประสานงานจนกระทั่งสามารถจัดส่งตัวแทนจากประเทศไทยเข้าร่วมประชุมดังกล่าว

ดูข้อมูลเพิ่มเติม http://www.lindau-nobel.org/

ดร.วีระชัย รมว.วท เร่งเครื่อง ผลักดันชุมพร เป็นเมืองไบโอเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก แห่งแรกของประเทศ ให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณ 53

วันที่ 23 มิถุนายน 2553 ณ ศูนย์บริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและดาราศาสตร์ โครงการพระราชดำริพื้นที่หนองใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะผู้บริหารและหน่วยงานภายใต้สังกัด ตรวจพื้นที่เพื่อดูความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการนำร่องจังหวัดชุมพรด้านไบโอเทคโนโลยีพร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการโครงการพระราชดำริหนองใหญ่
ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้กำหนดให้โครงการนำร่องจังหวัดชุมพรด้านไบโอเทคโนโลยี เป็นแผนงานหนึ่งที่จะดำเนินการ ในปีงบประมาณ 2553 ซึ่งจะเน้นการนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ ไปพัฒนาจังหวัดชุมพรให้เป็นเมืองไบโอเทคโนโลยี โดยประยุกต์ให้สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน และเพื่อให้เป็นต้นแบบของการดำเนินการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเชิงพื้นที่ (Area Based) ต่อไป
สำหรับการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปพัฒนาจังหวัดชุมพร มีวัตถุประสงค์ เพื่อ (1) สร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่เกินจากความต้องการของตลาด (2)พัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้า ผลิตภัณฑ์ และบริการ (3) พัฒนาสินค้าและบริการของจังหวัดชุมพรสู่มาตรฐานสากล และ(4) เพื่อพัฒนาชุมชน กลุ่มผู้ประกอบการให้ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในภาคการผลิต
ดร.วีระชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับความต้องการสนับสนุนเทคโนโลยีด้านการเกษตรและการแปรรูปโดยเร่งด่วนนั้น เรื่องขอรับการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบสกัดน้ำมันปาล์มแบบไม่ใช้ไอน้ำขนาด 1 ตัน ได้มอบหมายให้ สวทช. รับไปดำเนินการถ่ายทอด ซึ่งมีความสำเร็จจากโรงงานผลิตไปโอดีเซลล์สำหรับชุมชนแบบครบวงจรเฉลิมพระเกียรติ 60 ปี ที่จังหวัดสระบุรีเป็นต้นแบบ ส่วนการผลิตไบโอดีเซลจะใช้เทคโนโลยีแผงโซล่าร์หรือเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อการผลิตไบโอดีเซล มาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิต เป็นระบบผลิตๆไฟฟ้าและน้ำร้อน โดยไฟฟ้าจะนำไปใช้กับเครื่องผลิตไบโอดีเซล ส่วนน้ำร้อนจะนำไปใช้อุ่นถังปฏิกิริยาการผลิตไบโอดีเซล เป็นต้น รวมไปถึงการสนับสนุนชุดทดสอบไบโอดีเซลล์แบบง่ายเพื่อใช้ทดสอบมาตรฐานของน้ำมันที่ผลิตได้ในชุมชนด้วย
นอกจากนั้น ยังมีมาตรการสนับสนุนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น การแปรรูปมังคุดให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น ผลิตภัณฑ์มังคุดแช่เยือกแข็งแบบแยกชิ้น ผลิตภัณฑ์เนื้อมังคุดในน้ำเชื่อมบรรจุกระป๋อง และผลิตภัณฑ์มังคุดกึ่งแห้ง ฯลฯ โดยมอบหมายให้ สวทช. ประสานงานความร่วมมือกับสมาคมชาวสวนมังคุดในการสร้างโรงงานผลิตให้มีมาตรฐานสากล ทั้งนี้ สวทช.จะให้คำปรึกษา และส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าช่วยเหลือด้านกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ส่วนในเรื่องของการลดการใช้พลังงานของเตาอบยางแผ่นรมควันนั้น ในขณะนี้ สวทช.ได้ประสานงานเครือข่ายโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (iTAP) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อนำผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา แก่บริษัทที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงเตาอบที่มีอยู่ให้ประหยัดพลังงานมากขึ้นและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ดร.วีระชัยฯ รมว.วท กล่าว.

วิทย์ไขได้ : ปันน้ำใจ ร้านค้าไทย พ้นวิกฤติ เนคเทค/กระทรวงวิทย์ ร่วมตลาดดอทคอม เปิดหน้าร้านออนไลน์ ช่วยเหลือร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม พร้อมเปิดพื้นที่ในกระทรวงฯ กว่า 300 ร้าน เพื่อจำหน่ายสินค้าฟรี!

[singlepic id=179 w=320 h=240 float=] 

        26 พฤษภาคม 2553 ณ ห้องโถง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดให้มีงานแถลงข่าว โครงการ “วิทย์ไขได้ : ปันน้ำใจ ร้านค้าไทย พ้นวิกฤติ” เป็นมาตรการช่วยเหลือร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงการชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการห้างร้านได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองเป็นจำนวนมาก  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติหรือเนคเทค  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมกับ บริษัท ตลาดดอทคอม จำกัด ผู้นำด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Commerce ของไทย ดำเนินโครงการวิทย์ไขได้ : ปันน้ำใจ ร้านค้าไทย พ้นวิกฤติ เพื่อร่วมเยียวยาผู้ประกอบการห้างร้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเปิดอบรมและสอนการทำธุรกิจออนไลน์ จากผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจออนไลน์  สำหรับทุกคนที่สนใจโดยไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์หรือพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่องกับระบบ e-Commerce ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางในการจำหน่ายสินค้าผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่ทำได้ทุกที่ทุกเวลา   สามารถเข้าถึงนักท่องหรือนักช็อปทางอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนก็สามารถเลือกซื้อได้ตามต้องการ

[singlepic id=180 w=320 h=240 float=]

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า โครงการ “วิทย์ไขได้ : ปันน้ำใจ ร้านค้าไทย พ้นวิกฤติ” ถือว่าเป็นโครงการตามดำริของท่านนายกรัฐมนตรีที่ให้ทุกกระทรวงช่วยกันเร่งหามาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง และถือว่าเป็นโครงการในลักษณะบูรณาการความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน คือ  เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมไทย ให้กลับสู่ภาวะปกติ  และบรรเทาความบอบช้ำของผู้ประกอบการร้านค้า ให้ได้มากที่สุด และเร็วที่สุดด้วย ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก เนคเทค/ สวทช. และบริษัทตลาดดอทคอม จำกัด  โดย เนคเทค อคาเดมี (NECTEC Academy)  และตลาดดอทคอม  จะเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการก่อนเข้าสู่ e-Commerce  โดยจัดฝึกอบรมพื้นฐานด้าน e-Marketing และ e-Commerce ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งตลาดดอทคอมจะยกเว้นค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ เป็นเวลา 12 เดือน เริ่มประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2553 นี้  โดยตั้งเป้าหมายจำนวนผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 120 ห้างร้าน และคาดหวังว่าจะสร้างกระแสเงินหมุนเวียนได้เฉลี่ยกว่า 150,000 บาทต่อ 1 ห้างร้าน ในระยะเวลา 3 เดือน 

[singlepic id=178 w=320 h=240 float=]

คุณหญิงกัลยาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการจัดกิจกรรมโครงการวิทย์ไขได้: ปันน้ำใจ ร้านค้าไทย พ้นวิกฤติ แล้ว กระทรวงวิทย์ฯยังจัดสรรพื้นที่บริเวณหน้ากระทรวงฯ กว่า 300 ร้านค้าเพื่อรองรับการจำหน่ายสินค้า โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น  พร้อมกันนี้ยังมีโครงต่อเนื่อง ลงพื้นที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือแก่ชุมนุมที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ดังกล่าวในเร็วๆ นี้อีกด้วย

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า โครงการ “วิทย์ไขได้: ปันน้ำใจ ร้านค้าไทย พ้นวิกฤต”  เนคเทค/สวทช. มีนโยบาย คือเน้นการพัฒนาบุคลากรและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเป็นกลไกในการแก้โจทย์ปัญหาของประเทศ ณ เวลานี้ ดังนั้น สวทช. จึงมอบหมายให้สถาบันฝึกอบรมเนคเทค หรือ NECTEC Academy  รับผิดชอบและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาดังกล่าว และโครงการนี้จะไม่ใช่เป็นเพียงแค่การจัดฝึกอบรมให้ผู้ประกอบการให้เข้ามารับฟังการบรรยายเท่านั้น หากยังมีกิจกรรมการทำ  workshop เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ลงมือปฏิบัติจริง และแก้โจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เมื่อผู้ประกอบการผ่านการอบรมไปแล้ว จะสามารถบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดดอทคอม จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  การอบรมจะแบ่งออกเป็น 2 หลักสูตร กล่าวคือ หลักสูตรสำหรับผู้ประกอบที่ไม่มีพื้นฐานในด้านการบริหารจัดการร้านค้าในลักษณะแบบออนไลน์ และอีกหลักสูตรหนึ่งเป็นหลักสูตรสำหรับผู้ประกอบการที่มีพื้นฐานอยู่แล้ว  ดังนั้นเราจึงเน้นให้ความรู้ในแง่ของการบริหารจัดการและการวางแผนการตลาดแบบออนไลน์ และสิ่งที่เข้าร่วมอบรมจะได้รับ คือเว็บไซต์สำเร็จรูป มูลค่า กว่า 18,000 บาท และมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ ปรึกษาในการทำธุรกิจ e-commerce  ให้ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นยอดขายในธุรกิจออนไลน์ของผู้ประกอบการ  โดยผู้ประกอบการสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันนี้ – 30  มิถุนายน 2553  

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่   http://www.tarad.com/activity/healbkk/   โทรศัพท์  02-541-4100 # 1100 – 1106  หรือ  Email : sale@tarad.com

สวทช. ร่วมมือวิชาการกับ อย. ด้านการประเมินความปลอดภัยของอาหารที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ เร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคในประเทศ

[singlepic id=171 w=320 h=240 float=]

5 เมษายน 2553 ณ อาคารศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย รังสิต ปทุมธานี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ด้านการประเมินความปลอดภัยของอาหารที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ โดยมี ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย นายแพทย์นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นประธานในพิธี   การบันทึกข้อตกลงดังกล่าวระหว่างสองหน่วยงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะร่วมสนับสนุนงานวิชาการด้านการประเมินความปลอดภัยฯ ของประเทศไทย ทั้งในเรื่องการพัฒนาบุคลากร การพัฒนาระบบหรือมาตรการกำกับดูแล รวมถึงการพัฒนาด้านงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  และยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค ถึงแม้ว่าจะมีการประเมินความปลอดภัยมาแล้วระดับหนึ่งจากประเทศผู้ผลิต

            ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะมีนโยบายอย่างชัดเจนในการห้ามเพาะปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อการพาณิชย์ แต่มีการอนุญาตให้นำเข้าข้าวโพด และถั่วเหลืองมาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารทั้งของคนและสัตว์ ซึ่งในแต่ละปี อุตสาหกรรมในประเทศไทยมีความจำเป็นต้องนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวโพดจากต่างประเทศในปริมาณมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถั่วเหลือง ซึ่งทั่วโลกมีการปลูกถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 3 ใน 4 ของพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองทั้งหมด 562 ล้านไร่  ดังนั้นการประเมินความปลอดภัยของอาหารที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่จึงถือเป็นมาตรการหนึ่ง ที่ประเทศไทยนำมาปฏิบัติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคภายในประเทศ

และในฐานะ สวทช. เป็นหน่วยงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ และมีความพร้อมทั้งในด้านวิชาการและบุคลากร มองเห็นถึงความสำคัญในเรื่องการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการแก้ไขปัญหา ทั้งในด้านการเกษตรหรืออุตสาหกรรม รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในประเทศ จึงเห็นว่าความร่วมมือทางวิชาการกับ อย. ในเรื่องการประเมินความปลอดภัยของอาหารที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมนโยบายความปลอดภัยอาหาร และเป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศทั้งในส่วนบุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีดังกล่าว รวมถึงการกำกับดูแลที่มีระบบและมีประสิทธิภาพ

ด้าน นายแพทย์นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยกำกับดูแลความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพที่จำหน่ายในประเทศ ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ อย. กำกับดูแลรวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย พัฒนากฎหมาย และกฎระเบียบให้ทันสมัย มีการเฝ้าระวังกำกับและตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ สถานประกอบการ และการโฆษณา ให้มีความถูกต้อง รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาผู้บริโภคให้มีศักยภาพ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สุขภาพมีความปลอดภัย  แต่ปัจจุบันมีปัจจัยที่มีความหลากหลาย  ส่งผลต่อความปลอดภัยด้านอาหาร ทั้งในเรื่องของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีการพัฒนารุดหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอาหารที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ซึ่งต้องมีมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยที่เข้มงวด มีความโปร่งใส สอดคล้องและทัดเทียมกับสากล และต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหลายสาขาในการพิจารณาความปลอดภัย

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีการสร้างภาคีเครือข่ายทางวิชาการกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อร่วมมือในการคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างฐานความรู้ การดำเนินการ ที่ผ่านมาสำหรับการดูแลความปลอดภัยสำหรับอาหารที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ นั้น อย.ได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับสวทช.มาโดยตลอด ดังนั้นจึงเห็นควรให้มีความร่วมมือทางวิชาการในการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการให้คำปรึกษาสำหรับการประเมินความปลอดภัยของอาหารที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ระหว่าง 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างความเข้มแข็งในการคุ้มครองผู้บริโภคในการกำกับดูแลความปลอดภัยของอาหารที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่    เพื่อให้การพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในการประเมินความปลอดภัยของอาหารที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ของประเทศไทยให้เข้มแข็ง ทั้งด้านบุคคลากร การบริหารจัดการความเสี่ยง การศึกษาวิจัยรองรับความปลอดภัยอาหารที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่

สวทช. สนับสนุนทุนกว่า 1 ล้าน แก่ สำนักระบาดวิทยา และสวนดุสิตโพล วิจัยสำรวจการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่

[singlepic id=168 w=320 h=240 float=]

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม  2553  ณ อาคารพระจอมเกล้า ชั้น 6  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) ร่วมกับสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค  สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดแถลงข่าว แบบสำรวจช่วยบอกสถานการณ์และแนวโน้มการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 เป้าหมายเพื่อการสำรวจและค้นหาผู้ที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ (Influenza-like  illness : ILI) ที่อยู่ในชุมชนและไม่ได้รับการรักษาในระบบสาธารณสุข ซึ่งผลการสำรวจได้ออกแบบควบคู่กับการเจาะเลือดเพื่อตรวดวัดระดับภูมิคุ้มกัน (antybody) ต่อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 2009

[singlepic id=169 w=320 h=240 float=]

เนื่องจากปัจจุบัน โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A H1N1 ในประเทศไทย มีการแพร่กระจายไปอย่างมาก นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2552  และยังพบผู้ป่วยอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันการติดเชื้อมากกว่า 3 หมื่นราย และเสียชีวิต 218 ราย (ข้อมูล : วันที่ 10 มีนาคม 2553 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค) พบว่าผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ดังกล่าว มีระดับความรุนแรงของโรคที่แตกต่างกันไป  โดยพบทั้งผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง และผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ และอาการปอดอักเสบจนถึงขั้นเสียชีวิต

 [singlepic id=170 w=320 h=240 float=]

      สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนให้มีการนำเอาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปช่วยในการแก้ไขปัญหาต่างๆ    เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวจึงให้การสนับสนุนทุน 1.3 ล้านบาท  ทำโครงการวิจัยการสำรวจอัตราป่วยและแนวโน้มการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ชนิด A (H1N1) และอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย มีระยะเวลา 6 เดือน (ก.ย.2552 – มี.ค.2553) โดยมีทีมงาน  นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ และนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ภายใต้การนำของ นพ.ภาสกร อัครเสวี จากสำนักระบาดวิทยา  ร่วมกับทีมงาน รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ จากสวนดุสิตโพล  และศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล และ ศ.ดร.พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล   โดยเป้าหมายเพื่อการสำรวจและค้นหาผู้ที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ (Influenza-like illness; ILI) ที่อยู่ในชุมชน (community based survey)  ซึ่งอาจไม่ได้เข้ารับการรักษาในระบบสาธารณสุข  ซึ่งผลการสำรวจดังกล่าวจะถูกเชื่อมโยงกับผลการเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกัน (antibody) ต่อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 2009 เพื่อให้ทราบสถานการณ์การระบาดที่แท้จริงในพื้นที่ประเทศไทย และหากผลสำรวจเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับข้อมูลทางระบาดวิทยา ก็จะสามารถพัฒนาให้เป็นระบบการเฝ้าระวังจากการสำรวจแบบใหม่ต่อไปในอนาคต

               รศ.นพ.ประสิทธิ์   ผลิตผลการพิมพ์  รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า  สภาวการณ์ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีวัคซีนและยารักษาโรคอยู่บ้างแล้ว แต่เป็นทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด และไม่เพียงพอสำหรับประชากรทั้งประเทศ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทราบสถานการณ์การระบาดของโรคอย่างแท้จริง และจากการสำรวจของสำนักระบาดวิทยา พบว่า มีกลุ่มประชากรจำนวนหนึ่งที่ได้รับเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง จึงไม่ได้ไปโรงพยาบาล และไม่มีข้อมูลบันทึกในระบบสาธารณสุข จึงเป็นที่มาของคำถามว่า ทำอย่างไรจึงจะทราบข้อมูลการระบาดที่เป็นปัจจุบัน เพื่อการประเมินสถานการณ์ และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ทันท่วงที

รศ.นพ.ประสิทธิ์   กล่าวอีกว่า สวทช. จึงได้ทาบทาม สวนดุสิตโพล และสำนักระบาดวิทยา ร่วมมือกันทำวิจัยเพื่อการสำรวจอัตราป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ และการตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในประชากรไทยขึ้น โดยหลักคือสำนักระบาดวิทยาเป็นผู้ออกแบบแบบสำรวจ สวนดุสิตโพล ดำเนินการสำรวจด้วยการสัมภาษณ์ ควบคู่กับบุคลากรจากสำนักระบาดวิทยา และการเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่ A H1N1 2009 ณ ห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล   โดยทีมผู้วิจัยได้วางแผนการสำรวจในภูมิภาคต่างๆ 4 จังหวัด ในเขต 8 อำเภอ  ได้แก่ เขตกรุงเทพฯ  จ.เชียงใหม่ จ.นครราชสีมา และ จ.นครศรีธรรมราช  เป็นการลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์จำนวน 3 ครั้ง ร่วมกับการสุ่มเจาะเลือด ทั้งนี้เพื่อเป็นการยืนยันอัตราการติดเชื้อที่แท้จริง    จากผลการดำเนินโครงการ คณะผู้วิจัยได้พบข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ที่มีความสัมพันธ์กับจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009  ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเฝ้าระวังโรค และนับเป็นนวัตกรรมใหม่ของการสำรวจโรค โดยทีมงานที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อความคล่องตัวและรวดเร็ว และอาจใช้เป็นแนวทางในการสำรวจค้นหาโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อื่นๆ ต่อไปในอนาคต และข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยนี้ ยังสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการทำนายผลกระทบอันเกิดจากการใช้มาตรการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ และช่วยในการตัดสินใจเพื่อให้สามารถใช้มาตรการควบคุมการระบาดได้อย่างเหมาะสม รวมทั้ง ทำให้สามารถบริหารจัดการเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการใช้งานอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด 

สวทช. เปิดงาน การประชุมวิชาการประจำปี 2553 วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสังคมและโลก นำผลงานเทคโนโลยี CAR Talk , จมูกอิเล็กทรอนิกส์ ไร้สาย และระบบ จักรยานไฟฟ้าครบวงจร ฯลฯ โชว์ศักยภาพผลงานนักวิจัยไทย

[singlepic id=161 w=320 h=240 float=]

สวทช.  เปิดงาน การประชุมวิชาการประจำปี 2553  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เพื่อสังคมและโลก   นำผลงานเทคโนโลยี   CAR  Talk   , จมูกอิเล็กทรอนิกส์ ไร้สาย  และระบบ จักรยานไฟฟ้าครบวงจร  ฯลฯ โชว์ศักยภาพผลงานนักวิจัยไทย

 

รศ  . ดร.  ศักรินทร์ ภูมิรัตน  ผอ. สวทช. กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  หรือ สวทช.  ได้จัดงานประชุมประจำปีขึ้นทุกปี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่วิทยาการความก้าวหน้าของผลงานวิจัย ของศูนย์แห่งชาติ ทั้ง 5 ศูนย์ อาทิ เนคเทค , ไบโอเทค ,เ อ็มเทค , นาโนเทค ,  ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (  TMC ) และ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านต่างๆ ของประเทศไทย และต่างประเทศให้กับนักวิชาการ และผู้ประกอบการธุรกิจ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างนักวิจัย นักวิชาการ นักอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มองค์ความรู้ สร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายงานวิจัย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการต่อยอดผลงานวิจัย รวมทั้งยังเป็นแหล่งข้อมูลให้กับผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อที่จะสามารถนำผลงานวิจัยเหล่านั้นไปขยายผลให้เกิดประโยชน์เป็นรูปธรรมต่อประเทศชาติได้มากขึ้น   สำหรับ Theme  ของปีนี้ เราตั้งไว้ว่า “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสังคมและโลก”  เนื่องด้วยภาวะปัจจุบัน โลกประสบปัญหาวิกฤตการณ์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิกฤตภาวะโลกร้อน  ดังนั้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเป็นกลไกส่วนสำคัญที่มีส่วนช่วยแก้ไขและหาแนวทางป้องกันในการเกิดปัญหาดังกล่าว

[singlepic id=162 w=320 h=240 float=]

ทั้งนี้ ภายใต้หัวข้อที่จัดขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและผลงานการวิจัยและพัฒนา ที่ สวทช. สนับสนุนและดำเนินการ โดยมีทั้งการสัมมนาทางวิชาการเพื่อเป็นเวทีสำหรับการนำเสนอความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาขาต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม   โดยรายละเอียดของงาน ประกอบด้วย  2 ส่วนหลักๆ คือ

การสัมมนาทางวิชาการ เป็นการนำเสนอความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาต่างๆ ที่มีผลต่อการช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยมีการบรรยายทางวิชาการ ทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีโลหะวัสดุ กับวิทยากร และผู้เชี่ยวชาญ อาทิ ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   ในหัวข้อบรรยายเรื่อง “ การรับมือกับภาวะโลกร้อน :  นโยบายประเทศไทย” ดร. อารีย์ วัฒนา ทุมมาเกิด ในหัวข้อเรื่อง “ Topic to be announced ” และวิทยากรจาก EU Pro. Eicke R. Weber ในหัวข้อเรื่อง  “ Green energy  the key to the future of our planet ”  เป็นต้น  

[singlepic id=163 w=320 h=240 float=]

นอกจากนี้ยังมีในส่วนของนิทรรศการ  การแสดงผลงาน   และการเจรจาธุรกิจ  เป็นการเผยแพร่ผลงานที่ สวทช. สนับสนุนและดำเนินการ ที่พร้อมจะถ่ายทอดสู่ผู้ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ ทั้งในเชิงสาธารณประโยชน์และเชิงพาณิชย์  โดยเป็นการนำเสนอในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โปสเตอร์นิทรรศการ และชมตัวอย่างของผลงาน โดยมีไฮไลต์ผลงาน อาทิเช่น

   นิทรรศการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย ในโครงการในพระราชดำริ  เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรไทย โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนา เรื่องข้าว ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ  ดังเช่น การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าว ทนภัยแล้ง  การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์  การผลิตและการแปรรูปที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  การควบคุมคุณภาพ การพื้นฟูพื้นที่ดินเค็ม การช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน  และโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของโรงเรียนในชนบทและเพื่อคนพิการ ที่สามารถคิดค้นช่วยเหลือคนพิการ ด้วยอุปกรณ์ข้อเข่าเทียมสามารถหมุนได้โดยรอบ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการได้มากยิ่งขึ้น

[singlepic id=164 w=320 h=240 float=]

    นิทรรศการการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเจรจาธุรกิจ พบกับไฮไลต์ งานวิจัย อาทิเช่น   ระบบสื่อสารระหว่างยานพาหนะ ( Vehicle to vehicie communication Car Talk )  เป็นระบบสื่อสารระหว่างรถกับรถ  เน้นด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน โดยมีกล่องดำเป็นตัวเชื่อมต่อสัญญาณให้รถสามารถสื่อสารถึงกันได้โดยผ่านสัญญาณคลื่นวิทยุ   อีกทั้งยังเป็นเทคโนโลยีในอนาคตที่จะสามารถส่งต่อข้อมูลการจราจร การเกิดอุบัติเหตุ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อแจ้งเหตุบนท้องถนน   นอกจากนี้ยังมีผลงานในส่วนของ ระบบจักรยานไฟฟ้าครบวงจร  โดยเป็นจักรยานไฟฟ้าที่เพิ่มเทคโนโลยีการดึงพลังงานคืนกลับสู่แบตเตอรี่ในขณะที่เบรกและยังสามารถปรับเป็นจักรยานออกกำลังกาย  ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกสำหรับผู้ห่วงใยสุขภาพและรักษ์สิ่งแวดล้อม  เนื่องจากพลังงานจากการปั่นจะถูกเก็บไว้ในชุดแบตเตอรี่ ทำให้ประหยัดพลังงานและไม่ต้องนำไปชาร์ตกับไฟฟ้าที่บ้าน  ซึ่งจะแตกต่างกับจักรยานไฟฟ้าทั่วไป   ผลงานที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นแค่ผลงานบางส่วนเท่านั้น ที่นำมาแสดงในงานดังกล่าว

ในส่วนของการเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการและหน่วยบริการ  จะมีการเปิดห้องปฏิบัติการ ให้แก่ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม แล็บของการเพิ่มมูลค่าจากของเหลือของทิ้งนำมาใช้เป็นตัวเร่งให้เกิดพลังงาน  โดยประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีกับการจัดการกากอุตสาหกรรมในประเทศไทย ซึ่งการเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการจะเปิดให้เยี่ยมชมเพียงแค่ 1 วัน คือในวันที่  31 มีนาคม 2553  เท่านั้น

และสำหรับรายละเอียดของงานในวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม 2553 เวลา 17.00 -20.00 น.  ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน  และในส่วนของระหว่างวันที่ 29 – 31 มีนาคม 2553 เวลา 9.00 -16.00 น.  เปิดให้นักวิชาการ ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ตลอดจจประชาชนทั่วไป   เข้าร่วมงาน ซึ่งในงานจะประกอบไปด้วยการ บรรยาย อภิปราย ตลอดจนนิทรรศการแสดงความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนา ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว 

ดังนั้น จึงขอเรียนเชิญทุกท่าน ร่วมงาน การประชุมวิชาการประจำปี 2553  ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย  จ.ปทุมธานี      

สวทช. แถลงเชิดชูผลงาน 2 นักวิจัยทุนแกนนำ ด้วยผลงาน การพัฒนากระบวนการอบแห้งขั้นสูงสำหรับอาหารและวัสดุชีวภาพ และผลงานระบาดวิทยาเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพภาคใต้ พร้อมรับเงิน 20 ล้าน ไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง

สวทช. แถลงเชิดชูผลงาน 2 นักวิจัยทุนแกนนำ ด้วยผลงาน  การพัฒนากระบวนการอบแห้งขั้นสูงสำหรับอาหารและวัสดุชีวภาพ  และผลงานระบาดวิทยาเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพภาคใต้    พร้อมรับเงิน 20 ล้าน  ไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง 

 

วันที่  19   มีนาคม   2553  ณ  ห้องกมลทิพย์  1  โรงแรมสยามซิตี้   สวทช. จัดให้มีพิธีมอบทุนนักวิจัยแกนนำ ประจำปี  2553  แก่  ศ.ดร.สมชาติ  โสภณรณฤทธิ์  นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ด้วยผลงาน การพัฒนากระบวนการอบแห้งขั้นสูงสำหรับอาหารและวัสดุชีวภาพ  และ ศ.นพ.วีระศักดิ์  จงสู่วิวัฒน์วงศ์  นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ด้วยผลงานระบาดวิทยาเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพภาคใต้   โดยมี คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เป็นประธานในการมอบทุนดังกล่าว

คุณหญิงกัลยา  กล่าวว่า “  กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำการแสวงหากลไก และนโยบาย เพื่อเอื้ออำนวยให้นักวิจัยได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถนำไปต่อยอดก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และโครงการทุนนักวิจัยแกนนำ เป็นทุนขนาดใหญ่ ส่งผลให้งานวิจัยได้ดำเนินต่อไปอย่างประสบความสำเร็จ มีความคล่องตัวในการทำงาน และทีมงานวิจัยสามารถทำวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

ด้าน รศ.ดร.ศักรินทร์  ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสวทช. กล่าวว่า “ สวทช.ได้รับข้อเสนอโครงการผลงานจากนักวิจัยชั้นนำและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์จากหลากหลายสถาบันทั่วประเทศ  ซึ่งทุกโครงการจะผ่านเกณฑ์การพิจารณา 3 ขั้นตอน จากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ  ซึ่งขั้นตอนสุดท้ายคณะกรรมการทุนนักวิจัยแกนนำ จะพิจาณาจากคุณสมบัติของหัวหน้าโครงการและศักยภาพที่จะนำทีมวิจัยให้บรรลุจุดมุ่งหมาย  ทั้งในด้านการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม การพัฒนากำลังคน รวมไปถึงมีศักยภาพในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านวิชาการเข้ากับภาคการผลิตและบริการ โดยสามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีอยู่นำไปพัฒนาต่อยอด จนมีศักยภาพเพียงพอที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณประโยชน์หรือเชิงพาณิชย์ได้”

สำหรับทุนนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2553  ท่านแรก  ศ.ดร.สมชาติ  โสภณรณฤทธิ์  จากผลงานการพัฒนากระบวนการอบแห้งขั้นสูงสำหรับอาหารและวัสดุชีวภาพ   สังกัดคณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  ได้รับทุนสนับสนุนเป็นเงินจำนวน  20 ล้านบาท  ทุนระยะเวลา 5 ปี  ศ.ดร.สมชาติ โสภณรณฤทธิ์ เป็นผู้มีประสบการณ์ มีความรู้ ความสามารถ ในด้านการวิจัยและพัฒนาการอบแห้งอาหารและวัสดุชีวภาพ ที่มีศักยภาพสูงสุดของประเทศไทย  โดยมีวัตถุประสงค์จะพัฒนาด้านการอบแห้งอาหารและวัสดุชีวภาพชนิดต่างๆ ทั้งในแง่ของความสามารถในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง และในแง่ของการใช้พลังงาน  อาทิ  การพัฒนาขนมขบเคี้ยวไร้น้ำมัน กระบวนการผลิตข้าวนึ่ง การอบแห้งผลไม้ เป็นต้น  ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการเพิ่มมูลค่าให้กับอาหารและผลิตผลทางการเกษตรของประเทศ อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผลิตผลดังกล่าวในระดับนานาชาติได้รวมไปถึงการผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงและสามารถตีพิมพ์เผยแพร่ได้ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ตลอดจนผลิตบัณฑิตทั้งในระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตที่มีคุณภาพสูง และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศต่อไป

ท่านที่สอง  ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์  สังกัดคณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ผลงานวิจัยเรื่อง ระบาดวิทยาเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพภาคใต้ โดยได้รับเงินทุนสนับสนุน   20 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 5 ปี เช่นกัน  ศ.นพ.วีระศักดิ์  จงสู่วิวัฒน์วงศ์  เป็นนักระบาดวิทยาที่อุทิศตนเองอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนาระบบสุขภาพทางด้านสังคม เศรษฐกิจและเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ภาคใต้ โดยในโครงการวิจัยนี้จะเน้นการแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้ อาทิ ระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากเหตุความรุนแรง ปัญหาแม่และเด็ก ยาเสพติด ยาสูบ ฟันผุ และขนาดปัญหาของโรคมะเร็ง  โดยหวังว่าผลงานวิจัยจะสามารถสนับสนุนการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ได้ในระยะยาว  อีกทั้งยังจะเป็นการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัย ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนด้านการพัฒนาสุขภาพของประเทศและของทวีปเอเชียในอนาคต

ด้าน รศ.นพ.ประสิทธิ์  ผลิตผลการพิมพ์  รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเสริมว่า  “โครงการทุนนักวิจัยแกนนำ  เป็นการให้ทุนแก่กลุ่มวิจัยที่ทำงานในขอบเขตเทคโนโลยีชีวภาพ มีระยะเวลาการดำเนินโครงการ 5 ปี  มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนกลุ่มนักวิจัยที่มีความรู้ความสามารถให้ได้ทุ่มเวลาและสติปัญญาในการทำงานวิจัย และพัฒนาในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพได้อย่างเต็มที่ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อมุ่งหวังให้เกิดเครือข่ายงานวิจัยที่เข้มแข็ง มีความเชื่อมโยง และความคล่องตัวในการทำวิจัย ส่งเสริมการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เข้าสู่การ การวิจัยและพัฒนาของประเทศ พร้อมทั้งเป็นการสร้างแรงจูงใจและความภาคภูมิใจในเส้นทางสายอาชีพนักวิจัย  ซึ่งที่ผ่านมา สวทช.ได้สนับสนุนไปแล้วกว่า  13 โครงการ ได้ผลิตภัณฑ์  5 ต้นแบบ มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติมากกว่า 200 เรื่อง จดสิทธิบัตรกว่า   11 เรื่อง และสามารถผลิตบุคลากรในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และหลังปริญญาเอก อีกกว่า 100 คน  นอกจากยังมีการนำผลงานวิจัยไปเผยแพร่สู่สาธารณชน และมีการต่อยอดสู่การใช้งานในเชิงพาณิชย์อีกหลายผลงาน”

สวทช. เปิดตัวผลงานเด็กไทยที่ผ่านการคัดเลือก ร่วมท่องอวกาศ กับสถานีอวกาศนานาชาติ JAXA พร้อมส่งทดลอง ในเดือน มี.ค. ศกนี้

             [singlepic id=148 w=320 h=240 float=]

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2553 ณ อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรุงเทพฯ :  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานแถลงข่าว  เปิดตัวผลงานเด็กไทยที่ผ่านการคัดเลือก ร่วมท่องอวกาศ กับสถานีอวกาศนานาชาติ JAXA ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  และ  Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA)  ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้โครงการ Thailand Zero-Gravity Experiment  ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2549  มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้นักวิจัย นักเรียน และนักศึกษา  ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอวกาศของไทย  โดยเปิดโอกาสให้ร่วมส่งงานวิจัยขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ   และขึ้นทำการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำบนเที่ยวบินพาราโบลิก

[singlepic id=147 w=320 h=240 float=]

ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เป็นมิติใหม่ของวงการวิทยาศาสตร์ ที่เปิดโอกาสให้เยาวชน นักวิจัยไทย  มีส่วนร่วมทำกิจกรรมทดลองวิจัย ในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ ในยานอวกาศ “คิโบ” ขององค์กรสำรวจอวกาศของญี่ปุ่น (JAXA) ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำระดับประเทศ ในการพัฒนาขีดความสามารถด้านการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์และจักรวาลวิทยา, ศาสตร์เกี่ยวกับสภาวะไร้น้ำหนัก, ธรณีวิทยาและการสังเกตโลก, Life Science, เทคโนโลยีอวกาศที่มีมนุษย์เข้าร่วม เป็นต้น

ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช..) กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าว ทาง สวทช.ได้ร่วมกับองค์กรสำรวจอวกาศ (JAXA) เป็นระยะเวลากว่า 4 ปี ซึ่งที่ผ่านมา มีโครงการวิจัยต่างๆ เข้าร่วมทดลองมากมาย อาทิ  โครงการศึกษาสภาวะแวดล้อมในสภาพอวกาศจำลองต่อการเจริญและพัฒนาของข้าวพันธุ์ไทยภายใต้ระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช  ขณะนี้อยู่ในขั้นการศึกษาสภาวะปกติบนพื้นโลก ,โครงการ Medical drug dispersion under microgravit y,โครงการ A study of water flow by heating under microgravity condition  และโครงการ Spaceflight results in reflective of body-wall muscle in paramyosin mutant of Caenorhabditis elegans เป็นต้น

และใน ปี 2552 ที่ผ่านมา โครงการที่ได้รับคัดเลือก เพื่อไปร่วมทดลองบนเที่ยวบินพาราโบลิกเป็นโครงการของเยาวชนไทยจาก ผลงานเรื่อง A Study of Water Drops Spreading in Textiles Under Microgravity Condition โดย นายวเรศ จันทร์เจริญ นายจักรภพ วงศ์วิวัฒน์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนายวศิน ตู้จินดา จากโรงเรียนดรุณสิกขาลัย ซึ่ง ทีมเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือก จะได้รับการสนับสนุนทุนในการพัฒนาชุดการทดลอง และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำการทดลองที่ประเทศญี่ปุ่นจาก สวทช. อีกด้วย

นอกจากนี้ สวทช. จะเปิดรับสมัครนักเรียน นักศึกษาที่สนใจส่งข้อเสนอโครงการเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมการทดลอง ในปี 2553 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 นี้  ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2553  เพื่อให้คณะกรรมการคัดเลือกโครงการที่เหมาะสมเพียง 1 โครงการ  โดยผู้ร่วมโครงการจะได้ขึ้นทำการทดลองบนเครื่องบินที่ทำการบินแบบพาลาโบลา  ที่ประเทศญี่ปุ่นในเดือนธันวาคม 2553 หรือมีนาคม 2554  ผู้ที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี    สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  โทรศัพท์  0 2564 7000 ต่อ 1400,1403  ศ.ดร.มรกตฯ กล่าว.

สวทช. นำวิทย์ ฯ เทคโน บูรณาการงานวิจัยพันธุกรรมนกเงือกสำเร็จ พร้อมขยายผลสู่โครงการต่างๆ/ชุมชนท้องถิ่น หวังอนุรักษ์นกเงือกอย่างยั่งยืน

[singlepic id=144 w=320 h=240 float=]

          22 มกราคม 2552 ณ ห้องโถง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในงานแถลงข่าว “นกเงือกจะสูญพันธุ์หรือไม่ งานวิจัยพันธุกรรมนกเงือก จะมีส่วนช่วยอนุรักษ์นกเงือกได้อย่างไร” ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ให้การสนับสนุน ทุนส่งเสริมกลุ่มนักวิจัยอาชีพ ประจำปี 2545” เรื่อง “ลักษณะพันธุกรรมประชากร และสถานภาพถิ่นที่อยู่อาศัยของนกเงือกในพื้นที่ผืนป่า และหย่อมป่าในประเทศไทย” ซึ่งมี ศ.ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าโครงการ

[singlepic id=146 w=320 h=240 float=]

          คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เป็นที่น่ายิ่งดีอย่างยิ่ง ที่มีนักวิทยาศาสตร์เห็นถึงความสำคัญในการศึกษาโครงสร้างทางพันธุกรรมและสภาพทางนิเวศถิ่นอาศัยของประชากรนกเงือก เนื่องจากว่า นกเงือกเป็นสัตว์ ที่มีบทบาทเด่นเป็นอย่างมากในระบบนิเวศป่า คือ เป็นตัวช่วยกระจายพันธุ์ไม้ (Seed disperser) ที่ช่วยรักษาความหลากหลายของพืช และได้นำเอาวิทยาศาสตร์เข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยด้านความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพ ไม่เพียงแต่นกเงือกเท่านั้น ยังรวมไปถึง พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ข้อมูลเหล่านี้ จะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการต่อยอดงานวิจัยเพื่อนำประโยชน์จากทรัพยากรดังกล่าวมาใช้ ตลอดจนการจัดการ และการฟื้นฟูทรัพยากร เป็นต้น 

[singlepic id=145 w=320 h=240 float=]

          นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังนำความรู้ที่ได้มาร่วมคิดร่วมทำกับชุมชนท้องถิ่น เพื่อก่อให้เกิด กลุ่มร่วมอนุรักษ์นกเงือกในชุมชน อีกทั้งยังได้เปิดโอกาสให้คนเมืองที่อยู่ห่างไกลป่า มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์นกเงือก ภายใต้ “โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก” อีกด้วย ผลจากงานวิจัยภายใต้โครงการวิจัยนี้ ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับโครงการวิจัยอื่นๆ  ตลอดจนใช้เป็นเครื่องมือในการรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้เป็นอย่างดี คุณหญิงกัลยาฯ กล่าว

          รศ.นพ.ประสิทธิ์  ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า สวทช. ได้ให้การสนับสนุนสนับงานวิจัยดังกล่าว ภายใต้ทุนสนับสนุน “ทุนส่งเสริมกลุ่มนักวิจัยอาชีพ ประจำปี 2545” มีระยะเวลา 5 ปี ด้วยงบประมาณสนับสนุนกว่า 15ล้านบาท ซึ่งมี ศ.ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าโครงการ  ทั้งนี้งานวิจัยได้นำเทคโนโลยีการศึกษาวิจัยทรัพยากรชีวภาพทั้งในด้านพันธุกรรม  นิเวศวิทยา  การสำรวจระยะไกล  และระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ มาบูรณาการในการ ศึกษานกเงือกในถิ่นอาศัยหลักที่มีสภาพเป็นผืนป่า และหย่อมป่าทั่วประเทศ จนสามารถสร้างความเข้าใจของสถานภาพและอนาคตของนกเงือกในประเทศไทย ตั้งแต่ระดับพันธุกรรม  ประชากร  จนกระทั่งถึงระดับระบบนิเวศ อาทิ การเปรียบเทียบความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของนกเงือก การสร้างเครื่องหมายโมเลกุลของนกเงือกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และการวางระบบนับนกเงือกอย่างจริงจัง เพื่อใช้ทำนายสถานภาพถิ่นที่อยู่อาศัย และความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เป็นต้น

          ทั้งนี้ จากการบูรณาการของโครงการวิจัย ตั้งแต่การนำเทคนิคหรือเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์ มาวิเคราะห์จนก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ไปสู่การฝึกอบรมชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ในเขตพื้นที่ ศ.ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ และคณะ ได้ขยายผลให้เกิดโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนกเงือก อีกหลากหลายโครงการ อาทิ โครงการค่ายอนุรักษ์ธรรมชาติ โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก โครงการปรับปรุงรังนก โครงการสร้างโพรงเทียมสำหรับนกเงือก ซึ่งจะนำไปสู่การอนุรักษ์  ฟื้นฟู นกเงือกและถิ่นอาศัยอย่างเป็นระบบต่อไป 

o————————————————-o