3 หน่วยงาน ภายใต้กระทรวงวิทย์ฯ ผนึกกำลัง สร้างความเข้มแข็งให้งานวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ

 

        [singlepic id=511 w=320 h=240 float=]    

     สวทช./วว./อพวช. เดินหน้าความร่วมมือการจัดการข้อมูลงานวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์เร่งด่วนงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ หวังสร้างฐานข้อมูลภาพรวมงานวิจัยด้านทรัพยากรชีวภาพ มีประโยชน์ทั้งในแง่การบริหารจัดการทรัพยากร วางนโยบาย และการใช้ประโยชน์

 [singlepic id=508 w=320 h=240 float=]

เมื่อวันอังคารที่ 5 เมษายน 2554 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีพิธีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การจัดการข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพระหว่างหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ขึ้น โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงฯ ที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

 [singlepic id=505 w=320 h=240 float=]

ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า  ที่ผ่านมาหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพอย่างต่อเนื่อง วัตถุประสงค์ของความร่วมมือครั้งนี้มุ่งหวังที่จะบูรณาการข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน ตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงการใช้ประโยชน์ สร้างกลไกการทำงานร่วมกัน และจัดทำแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ นำไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในระดับชุมชน และอุตสาหกรรม พร้อมต่อยอดกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้

 [singlepic id=502 w=320 h=240 float=]

หน่วยงานทั้ง 3 แห่ง มีความเข้มแข็งในสาขาแตกต่างกันไป กล่าวคือ  สวทช. มีความโดดเด่นด้านการศึกษาวิจัยจุลินทรีย์สายพันธุ์ต่างๆ นำไปประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม รวมไปถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชีวภาพและสิ่งแวดล้อม สำหรับ วว. มีการวิจัยและพัฒนาสาหร่ายและพืช เพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตร อาหาร สุขภาพ และพลังงาน  ส่วนอพวช. มีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เป็นแหล่งเก็บรักษาตัวอย่างอ้างอิง และตัวอย่างต้นแบบที่พบครั้งแรกในโลก

 [singlepic id=499 w=320 h=240 float=]

“การบรูณาการข้อมูลทั้ง 3 หน่วยงาน จะทำให้ได้ฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของพืช สัตว์ จุลินทรีย์ไม่น้อยกว่า 100,000 ข้อมูล โดยจะมีการประเมินโครงสร้างฐานข้อมูลของแต่ละแห่ง ดึงความโดดเด่นของข้อมูลสิ่งมีชีวิตออกมา นำมาจัดกลุ่ม แบ่งประเภท  ดูสถานภาพการแพร่กระจาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก ชนิดที่หายาก ชนิดเฉพาะถิ่น และใกล้สูญพันธุ์  มีกลไกการประเมินศักยภาพ ตลอดจนการตีมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อแสดงคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ฐานข้อมูลดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2554 ” ดร.วีระชัย กล่าว

 

ผลที่ตามมาจากการทำฐานข้อมูล  จะทำให้ข้อมูลต่างๆ อยู่ในรูปแบบมาตรฐานสืบค้นได้ง่าย ข้อมูลจะถูกแบ่งลำดับชั้นการเข้าถึง  มีการกำหนดวิธีการเข้าถึงข้อมูลอย่างเหมาะสม  ข้อมูลเหล่านี้เป็นคลังความรู้ที่มีคุณค่าของประเทศ ที่จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่น เช่น สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การอนุรักษ์ และเป็นแหล่งอ้างอิงเพื่อศึกษาวิจัยต่อสำหรับนักวิชาการ ที่สำคัญ ฐานข้อมูลทำให้ประเทศมีข้อมูลอ้างอิงทางภูมิศาสตร์ สามารถยืนยันถิ่นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตของประเทศไทยในเวทีโลก

 

ด้าน ดร.พรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวว่า ความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน เป็นเรื่องที่น่ายินดี ทำให้งานด้านความหลากหลายทางชีวภาพภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน เปรียบเสมือนการเชื่อมต่อความรู้และข้อมูลตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงการใช้ประโยชน์ สามารถนำความรู้ไปบริหารจัดการ และวางนโยบายให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะประสานต่อไปยังฐานข้อมูลอื่นๆ ของประเทศในอนาคตเพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

 

ทั้งนี้ในส่วนของหน่วยงานความร่วมมือทั้ง 3 หน่วยงาน โดย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ผนึกกำลังในการสร้างความเข้มแข็งในการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพในครั้งนี้

ศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง/สวทช.ร่วมกับสถาบันทันตกรรม/กรมการแพทย์จัดโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ

[singlepic id=496 w=320 h=240 float=]

ศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง/สวทช.ร่วมกับสถาบันทันตกรรม/กรมการแพทย์จัดโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ พร้อมมอบพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เผยยอดผู้ใช้บริการรากฟันเทียมเกินเป้า เตรียมขยายผลเข้าสู่โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

วันที่ 31 มีนาคม 2554  ณ โรงแรมวีวัน จ.นครราชสีมา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โดยศาสตราจารย์พิเศษ ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ผู้อำนวยการหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นผู้แทน ในการมอบพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้กับ ดร.วีระชัย  วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อมอบให้กับตัวแทนของแต่ละจังหวัดในเขตตรวจราชการ 14 ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสุรินทร์ นำไปมอบให้กับคนไข้ในโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ ที่ได้รับการฝังรากฟันเทียมเรียบร้อยแล้วต่อไป โดย ดร.วีระชัย  วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า

[singlepic id=493 w=320 h=240 float=]

“ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีปัญหาด้านสุขภาพช่องปากและการบดเคี้ยวอาหาร ซึ่งส่งผลให้สุขภาพร่างกายเสื่อมโทรมลงและทำลายคุณภาพชีวิตที่ดี แม้ว่าการใส่ฟันเทียมทดแทนฟันธรรมชาติจะสามารถบรรเทาปัญหาการสูญเสียฟันในการบดเคี้ยวอาหารของผู้ป่วยไปได้ในระดับหนึ่งก็ตาม แต่กลับพบว่าผู้ป่วยอีกส่วนหนึ่งยังไม่สามารถใช้ฟันเทียมในการบดเคี้ยวอาหารได้ เนื่องจากมีการละลายตัวของสันกระดูกขากรรไกร ทำให้ฟันเทียมหลวม และไม่สามารถใช้ฟันเทียมในการบดเคี้ยวอาหารให้ได้ดี ดังนั้นการฝังรากฟันเทียมให้แก่ผู้สูงอายุ จึงเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว และเพื่อให้บริการแก่ผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาส ที่มีปัญหาการใส่ฟันปลอมทั้งปาก และจำเป็นต้องได้รับการฝังรากฟันเทียม โดยจะทำการฝังรากฟันเทียมจำนวน 2 ราก บริเวณขากรรไกรล่าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบดเคี้ยว 

[singlepic id=490 w=320 h=240 float=]

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดทำโครงการรากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา 80 พรรษ  5 ธันวาคม 2550 ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน มีหน่วยบริการจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั้ง 75 จังหวัดเข้าร่วม ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาเป็นหนึ่งในเครือข่ายบริการ “รากฟันเทียม” ของเขตตรวจราชการที่ 14 โดยมีเป้าหมายในการให้บริการฝังรากฟันเทียมจำนวนทั้งสิ้น 100 ราย ปัจจุบันได้ให้บริการไปแล้วจำนวน 118 ราย ผลการดำเนินงานที่เกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ และเพื่อให้การดำเนินงานสำเร็จตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิผล     ศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง สวทช.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับคณะกรรมการโครงการรากฟันเทียมระดับเขต เขต 14 กระทรวงสาธารณสุข จัดพิธีมอบพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้แก่ทันตบุคลากรและผู้รับบริการปลูกรากฟันเทียม พร้อมจัดอบรม “การผ่าตัดรากฟันเทียมระยะที่ 2 และการบำรุงรักษาช่องปากผู้ป่วยที่มีรากฟันเทียม” ขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ทำการศึกษาวิจัยระบบรากฟันเทียมนี้ขึ้นในประเทศไทย จนได้รับการับรองมาตรฐานนานาชาติ ISO 13485 และการรับรองความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ตามข้อกำหนดของกฎหมายเครื่องมือแพทย์ของกลุ่มประเทศสมาคมเศรษฐกิจร่วมยุโรป ที่ MDD 93/42/EEC จากตัวแทนกรรมาธิการด้านสาธารณสุขของสหภาพยุโรป นับเป็นความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เราควรภาคภูมิใจในความสามารถของคนไทย”

 

หากท่านใดใส่ฟันปลอมทั้งปาก และมีปัญหาเรื่องฟันปลอมหลวม สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการรากฟันเทียมฯ ได้ที่ศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โทรศัพท์ 02-564-7000 ต่อ 1638 และ 1396 หรืออสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ call center  Tel. 0 2564 8000

สวทช.กระทรวงวิทย์ฯ หนุน บริษัทคอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด สร้างนวัตกรรมผ้าเบรกไร้ใยหินสำเร็จครั้งแรกในไทย พร้อมมอบติดตั้งรถรับจ้างในพัทยา หวังสร้างกระแสให้เกิดBig Impact ด้านเทคโนโลยีเพื่อช่วยสิ่งแวดล้อมในไทย

[singlepic id=469 w=320 h=240 float=]

25 มีนาคม 2554 ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ คุณเกษม อิสระพิทักษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการบริษัทคอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด รวมทั้งคุณอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดงาน Green Pattaya by Compact Brakes และร่วมปล่อยขบวนรถรับจ้างสาธารณะปลอดใยหินซึ่งเป็นกิจกรรมรณรงค์การใช้ผ้าเบรกไร้ใยหินของสหกรณ์รถรับจ้างทั้งหมดในพัทยาที่ได้รับการสนับสนุนผ้าเบรกโดยไม่คิดมูลค่าจากบริษัทคอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด ทั้งนี้ นวัตกรรมผ้าเบรกไร้ใยหินดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีที่ บริษัทคอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด ได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีจากโครงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมไทยหรือ ITAP

[singlepic id=472 w=320 h=240 float=]

สวทช.ให้สามารถพัฒนาการออกแบบและปรับปรุงสูตรการผลิตจนสามารถผลิตจริงในโรงงาน  โดยคุณภาพของผลิตภัณฑ์อยู่ในระดับเทียบเท่าสูตรผ้าเบรกของผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ส่งโรงประกอบรถยนต์โดยตรง (Origianl Equipment Manufacturer ) หรือ OEM   ซึ่งปัจจุบันบริษัทคอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด ได้เพิ่มยอดขายในตลาดในฐานะผู้ผลิตผ้าเบรกให้กับบริษัทรถยนต์ชั้นนำ  อันเป็นเป้าหมายของบริษัทหลังจากที่สามารถเพิ่มยอดขายได้มากขึ้นในตลาดชิ้นส่วนทดแทนซึ่งเป็นฐานลูกค้าเดิมอยู่แล้ว โดย ดร.วีระชัย กล่าวในรายละเอียดว่า

[singlepic id=475 w=320 h=240 float=]

“การสนับสนุนและผลักดันให้มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปในภาคการผลิตและบริการ อันจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ เป็นนโยบายที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯให้ความสำคัญและได้ผลักดันไว้ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง โดยได้ฝากให้ สวทช.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครือข่ายการวิจัยและพัฒนา โดยเน้นการทำงานร่วมกันระหว่าง สวทช. กับหน่วยงานภาครัฐ  ภาคเอกชน  ภาควิชาการ และภาคชุมชน  ตั้งแต่ขั้นตอนของการกำหนดโจทย์การวิจัยและพัฒนา  การพัฒนานักวิจัย   และการร่วมทุนในการวิจัยพัฒนา  ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน และสนองตอบต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในภาพรวม และความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในสาขาต่าง ๆ ได้อย่างจริงจังและรวดเร็ว  กลไกในการทำงานที่สำคัญประการหนึ่งคือการอุดหนุนให้คำปรึกษาทางเทคโนโลยี เพื่อมาปรับปรุงวิธีการผลิตหรือบริการ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีคุณภาพสูง ตลอดจนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

[singlepic id=478 w=320 h=240 float=]

 ทั้งนี้ ปัจจุบัน ประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ยุโรป สหรัฐอเมริกา ได้หันมาให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อันมีสาเหตุมาจากการผลิตหรือการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างมาก เช่น มีการออกกฎหมายสำหรับวงการยานยนต์ เพื่อห้ามใช้สินค้าหรือชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีส่วนผสมของสารที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือการกำหนดมาตรการทางการตลาดต่างๆ ที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ระบุให้เลือกใช้เฉพาะวัตถุดิบที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

[singlepic id=481 w=320 h=240 float=]

สำหรับที่มาของโครงการ Green Pattaya ในวันนี้ ซึ่งมาจากความสำเร็จของการที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโครงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมไทยหรือ ITAPได้ให้การสนับสนุนบริษัทคอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผ้าเบรกชนิดไม่มีแร่ใยหิน ซึ่งได้ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยี (NON Asbestos Organic) หรือ NAO ให้กับบริษัทนำไปใช้พัฒนาการออกแบบ พร้อมกับพัฒนาปรับปรุงสูตรการผลิตจนได้คุณสมบัติตามความต้องการ และสามารถนำสูตรดังกล่าวมาผลิตจริงในโรงงานได้ อันเป็นประโยชน์กับสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นกระแสที่กำลังได้รับการกล่าวถึงอย่างมากในสังคมไทยและโลก ทั้งนี้การจัดกิจกรรมสนับสนุนผ้าเบรกไร้ใยหินเพื่อใช้กับรถรับจ้างสาธารณะในเมืองพัทยา ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศไทยที่ได้รับการกล่าวถึงไปทั่วโลก จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการลดผลกระทบด้านมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะส่งผลดีต่อธุรกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวทางนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของเมืองพัทยาต่อไป “ ดร.วีระชัยกล่าว

[singlepic id=484 w=320 h=240 float=]

ด้านนายเกษม อิสระพิทักษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทคอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า  “บริษัทฯ เป็นผู้นำในการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าเบรก ก้ามเบรก และดิสก์เบรกสำหรับรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันเราได้ค้นคว้าและพัฒนาผลิตพันธ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าพร้อมกับการสร้างความสมดุลทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันเราสามารถผลิตผ้าเบรกไร้ใยหิน Non Asbestos Organic Brake (NAO Brake) โดยได้รับรางวัล iTAP Award ด้าน Best Green Product Development จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

[singlepic id=487 w=320 h=240 float=]

        ด้วยเหตุดังกล่าวเบื้องต้นทางบริษัทฯ ได้ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและเทศบาลเมืองพัทยา จึงได้จัดโครงการ Green Pattaya by Compact ขึ้นเพื่อเป็นการร่วมรณรงค์ ปลูกจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แก่ผู้ใช้รถและประชาชนทั่วไปในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการลดมลพิษทางอากาศ  เริ่มจากสิ่งใกล้ตัว โดยหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและปลูกจิตสำนึกที่ดี ในการรับผิดชอบกับสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยมอบผลิตภัณฑ์ผ้าเบรกไร้ใยหิน  ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่บรรดารถโดยสารสาธารณะในเมืองพัทยา จำนวน  700 คัน มูลค่ารวมกว่า 4 ล้านบาท  โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยลดมลภาวะทางอากาศ ในเมืองพัทยาได้มากขึ้นสืบไป”

งาน NAC 2011 : วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ

[singlepic id=454 w=320 h=240 float=]

สวทช. โชว์ผลงาน  อุปกรณ์ช่วยหายใจขณะเพลิงไหม้และก๊าซพิษ,โคมลอยทนไฟ,พริกเผ็ดรักษาโรค,เครื่องขนย้ายผู้ป่วยฝีมือคนไทย,เทคโนโลยีต้นแบบรวดเร็วทางการแพทย์สำหรับผลิตวัสดุฝังในแก้ไขความบกพร่องของร่างกาย และ กราฟีน(GrapheneX :วัสดุแห่งอนาคต ฯลฯ ในงาน NAC 2011 :  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ

 [singlepic id=457 w=320 h=240 float=]

วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๔  ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   -สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) องค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศ ประกาศจัดงาน NAC 2011 เพื่อโชว์ผลงานวิจัยและพัฒนาที่ได้ดำเนินการร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในรอบปีที่ผ่านมา   โดยดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า      

          “มนุษย์ สภาวะแวดล้อม และภัยพิบัติ  3 ความเชื่อมโยงกับภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงของโลก เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “มนุษย์”  คือตัวการสำคัญที่ทำให้บรรยากาศของโลกต้องเปลี่ยนแปลงไปภายในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น จากสภาพของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายลงตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันได้ส่งผลย้อนกลับมาจนกลายเป็น ปัญหา “ภัยพิบัติ” ที่ทำลายชีวิตและทรัพย์สินอย่างไม่อาจประเมินค่าได้ หลายประเทศทั่วโลกต่างต้องเผชิญหน้ากับปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังจะเห็นได้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะมีเหตุการณ์ที่เป็นภัยพิบัติรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เหตุแผ่นดินไหวในเฮติ ที่ผ่านพ้นไปไม่นาน ก็เกิดขึ้นอีกครั้งที่เมืองไคร์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ จีน และญี่ปุ่นที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตตลอดจนบ้านเรือนและทรัพย์สินได้รับความเสียหายไปเป็นจำนวนมาก เมื่อย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ก็เกิดภัยพิบัติขึ้นหลายครั้ง นับตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิ ดินถล่ม ภาวะภัยแล้ง เรื่อยมาจนปีที่แล้วต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่สุดในรอบหลายสิบปี ทำให้คนไทยต่างก็เริ่มตื่นตัวและหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับปัญหาภัยพิบัติมากขึ้น จนไม่อาจปฏิเสธได้ว่าภัยพิบัติเริ่มใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกขณะจนไม่อาจเพิกเฉยอีกต่อไปได้  หลายหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนเริ่มหันมาให้ความสนใจและตระหนักต่อแนวทางการป้องกันและแก้ไขเพื่อจะบรรเทาภัยพิบัติที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็เช่นกัน เพราะผมมั่นใจว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญและมีศักยภาพสูงที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการช่วยรับมือกับปัญหาภัยพิบัติได้ หากเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติเราจะต้องเรียนรู้ เข้าใจ รับมือ ภัยธรรมชาติ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมไปถึง การพัฒนา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการรักษาความมั่นคงของประเทศ นิติวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสำหรับการเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรม การก่อการร้าย ตลอดจนการเตือนภัย การป้องกัน และการเยียวยารักษาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ” ดร.วีระชัย กล่าว

[singlepic id=460 w=320 h=240 float=]

ด้านดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถช่วยรับมือภัยพิบัติได้ และนับเป็นความท้าทายของนักวิจัย สวทช. อย่างมากในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยป้องกันและแก้ไขภัยพิบัติ ซึ่งที่ผ่านมา สวทช. ได้สร้างผลงานวิจัยและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงแล้ว อาทิ ข้าวทนน้ำท่วม ข้าวทนดินเค็ม การวิจัยและพัฒนาชุดตรวจโรคระบาดต่างๆ ทั้งในคน สัตว์และพืช ระบบสื่อสารฉุกเฉิน อุปกรณ์ตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เสื้อเกราะกันกระสุน และล่าสุดกับผลงานวัคซีนไข้เลือดออก Dengue เป็นต้น

[singlepic id=463 w=320 h=240 float=]

“การประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ในปีนี้ จึงได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ” ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๖ มีนาคม ๒๕๕๔ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อเป็นเวทีให้นักวิชาการและนักวิจัยได้นำเสนอความรู้และผลงานในการรับมือภัยพิบัติ โดยเริ่มตั้งแต่ การคาดการณ์ การเฝ้าระวัง การเตือนภัย การรับมือ และการฟื้นฟู ที่จะช่วยเตรียมพร้อมและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติได้อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการนำเสนอผลงานวิจัยใหม่ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของนักวิจัยสวทช. ตลอดจนหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ผ่านหัวข้อการประชุมกว่า ๓๐ เรื่อง และการจัดแสดงนิทรรศการผลงานกว่า ๑๐๐ ผลงาน”   ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว

[singlepic id=463 w=320 h=240 float=]

สำหรับตัวอย่างผลงานเด่นที่นำมาจัดแสดงในงานแถลงข่าวครั้งนี้ อาทิ แกรฟีน : วัสดุแห่งอนาคต ซึ่งนักวิจัยสวทช. ได้เตรียมพัฒนาเป็นเซ็นเซอร์ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานและเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดสารปนเปื้อนในอาหาร ชุดช่วยหายใจหนีไฟและก๊าซพิษ นวัตกรรมที่จะช่วยให้ผู้ประสบภัยมีอากาศหายใจเพิ่มขึ้น ในช่วงเวลาที่หาทางออกจากพื้นที่ประสบภัย รถเข็นคนพิการแบบปรับยืนได้โดยไม่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า นวัตกรรมที่จะช่วยให้ผู้พิการสามารถยืนได้และใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติ เทคโนโลยีต้นแบบรวดเร็วทางการแพทย์ (Rapid Prototyping) สำหรับออกแบบและขึ้นรูปวัสดุฝังใน เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของร่างกาย ซึ่งมีผู้ป่วยกว่า ๘๕๐ ราย ในโรงพยาบาล ๗๗ แห่งทั่วประเทศได้ใช้บริการแล้ว

[singlepic id=466 w=320 h=240 float=]

นอกจากนี้ ยังมีหัวข้อการประชุมเรื่อง Facing Climate Change Impact with Science & Technology: From Urban Flood to Forest Fire โดยProf. Xing Chen วิทยากรจากสถาบันวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก สาธารณรัฐจีน และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิของไทย รวมถึงหัวข้อที่เกี่ยวข้องเทคโนโลยีต่างๆ กับภัยพิบัติในหลากหลาย    รูปแบบ อาทิ นวัตกรรมเตือนภัยและแจ้งเหตุภัยธรรมชาติ, ยุงยุคโลกร้อน, เกราะกันกระสุน…นวัตกรรมไทยป้องกันภัยคุกคาม, ข้าวทนน้ำท่วม…ทางรอดของชาวนาไทย, รับมือภัยพิบัติลดการกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทย,  สิ่งมีชีวิตพยากรณ์…เตือนภัยสิ่งแวดล้อม, เทคโนโลยีในการจัดการปัญหาหมอกควัน ภัยใกล้ตัวชุมชนเมือง เป็นต้น

[singlepic id=439 w=320 h=240 float=]

งานประชุมและแสดงผลงานประจำปีของ สวทช. หรืองาน NAC 2011 มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงจัดแสดงผลงานและโครงการวิจัยที่ สวทช. ได้ดำเนินการ ภายในงานจะมีการสัมมนา นิทรรศการแสดงผลงาน การเจรจาธุรกิจ และเปิดให้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการในศูนย์วิจัยแห่งชาติ โดยมุ่งให้เกิดการวิจัยต่อยอดและการนำงานวิจัยไปใช้ในเชิงธุรกิจ ผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.nstda.or.th/nac2011/

[singlepic id=445 w=320 h=240 float=]

[singlepic id=448 w=320 h=240 float=]

[singlepic id=451 w=320 h=240 float=]

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ชนานันท์/ปิยพร  โทรศัพท์ ๐ ๒๕๖๔ ๗๐๐๐ ต่อ ๑๔๖๕, ๑๔๖๗

เกี่ยวกับ สวทช.

สวทช. มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยแข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรืองบนเวทีเศรษฐกิจระดับโลก โดยการนำความสามารถอันเหนือชั้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้ดี มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สวทช. ทำงานร่วมกับภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา โดยเชื่อมโยงให้นักวิทยาศาสตร์ไทยได้ทำงานใกล้ชิด และเข้าถึงความต้องการของทั้งภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร สวทช. ขับเคลื่อนด้วยนักวิจัยและเจ้าหน้าที่กว่า ๒,๐๐๐ คน โดยครึ่งหนึ่งของคนเหล่านี้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือปริญญาโท

พระราชทานพระราชวโรกาสเข้าเฝ้าฯ เพื่อน้อมเกล้า ฯ ถวายเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวต้านทานโรคไหม้ “ ธัญสิริน”

[singlepic id=433 w=320 h=240 float=]

[singlepic id=436 w=320 h=240 float=]

เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่ จ. น่าน ระหว่างวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ 2554 ดร. วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช. )   ได้ขอพระราชทานพระราชวโรกาสเข้าเฝ้าฯ เพื่อน้อมเกล้า ฯ ถวายเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวต้านทานโรคไหม้ “ ธัญสิริน” จำนวน 1,000  กิโลกรัม เพื่อพระราชทานให้แก่กลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม ที่มีพื้นที่ปลูกข้าวให้นักเรียน ( พระภิกษุและสามเณร ) นำไปทดลองปลูกเพื่อเก็บไว้บริโภค ทั้งนี้ได้ถวายข้าวเปลือกพันธุ์ “ ธัญสิริน” จำนวน  3,000  กิโลกรัม เพื่อพระราชทานให้แก่ธนาคารศูนย์ภูฟ้าพัฒนา จ. น่าน สำหรับเป็นกองทุนให้เกษตรกรได้กู้ยืมไปบริโภค ในวันพฤหัสบดีที่  24 กุมภาพันธ์ 2554  ณ โรงเรียนเชียงกลางประชาพัฒนา อ. เชียงกลาง จ.น่าน

 

ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ /สวทช. ได้นำ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปพัฒนาและปรับใช้ในพื้นที่ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ การพัฒนาอาชีพภาคการเกษตร , การถ่ายทอดเทคโนโลยีในการปลูกข้าวไร่เพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น , ไอทีเพื่อการศึกษาในกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม ที่ให้พระภิกษุสงฆ์ได้เรียนรู้และเข้าถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สวทช./กระทรวงวิทย์ฯ โชว์ “วัคซีนไข้เลือดออก” งานวิจัยไทยทำ ครั้งแรกของอาเซียน

[singlepic id=418 w=320 h=240 float=]

           วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คณะนักวิจัยซึ่งประกอบด้วย ดร.พูนสุข กีฬาแปง จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่   รศ.นพ.นพพร สิทธิสมบัติ  จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ/สวทช.  รศ.นพ.สุธี ยกส้าน จากมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันแถลงข่าวความสำเร็จการพัฒนาวัคซีนลูกผสมเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ป้องกันไข้เลือดออกครั้งแรกของโลก ตลอดจนการลงนามอนุญาตให้บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย รับสิทธิ์ในการรับไปพัฒนาต่อเป็นวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกใช้ในอนาคตอันใกล้ โดย ดร.วีระชัยเปิดเผยในรายละเอียดว่า

[singlepic id=421 w=320 h=240 float=]

          “ปัจจุบัน การพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นงานสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ตลอดจนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับประเมินความก้าวหน้าของประเทศในสายตานานาชาติ  ยิ่งถ้าเราต้องการให้ประเทศไทยพัฒนาแบบก้าวกระโดด ยิ่งจำเป็นต้องใช้งานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้สามารถไปเพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มากขึ้น ประเด็นที่สำคัญที่สุด ที่ผมได้ให้นโยบายไว้ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คือ ผมเน้นการให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพอย่างเต็มที่ อนาคตถัดจากนี้ประเทศไทยจะต้องหันมาให้ความสำคัญด้านนี้มากขึ้นเพราะจะสามารถสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศและมนุษยชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านการเกษตรและการแพทย์ ดังตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญในวันนี้คือการพัฒนาวัคซีนลูกผสมเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ป้องกันโรคไข้เลือดออก

[singlepic id=424 w=320 h=240 float=]

          สำหรับโรคไข้เลือดออกนี้ เริ่มอุบัติขึ้นมาในโลก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นได้แพร่กระจายไปทั่วแถบภูมิภาคเขตร้อน โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค และเมื่อปี 2501 ได้ระบาดเข้ามายังประเทศไทย จนปี พ.ศ. 2515 ได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศไทย ในปี 2553 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยจำนวนกว่าหนึ่งแสนราย และเฉพาะเดือนมกราคมของปี 2554 มีผู้ป่วยแล้วประมาณ 1,200 ราย  ซึ่งผมเชื่อว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงนี้ ต้องมีมากกว่าตัวเลขที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการอย่างแน่นอน รวมทั้งแนวโน้มการระบาดหรืออุบัติการณ์ของโรคน่าจะสูงขึ้นทุกปี เนื่องจากโรคนี้มีแหล่งระบาดอยู่ในเมือง ซึ่งมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นตามลำดับ การคมนาคมขนส่งที่ดีขึ้นทำให้เชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆแพร่กระจายได้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งสถานการณ์ภาวะโลกร้อนซึ่งอาจทำให้ยุงมีจำนวนมากขึ้นในหลายๆแห่ง

[singlepic id=427 w=320 h=240 float=]

โรคไข้เลือดออกมีสาเหตุสำคัญจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ ซึ่งมีถึง 4 ชนิด เมื่อคนติดเชื้อไวรัสชนิดใดจะสามารถปกป้องไวรัสเฉพาะชนิดนั้นได้ตลอดชีวิต แต่ไม่สามารถปกป้องการติดเชื้อซ้ำโดยไวรัสเด็งกี่ชนิดอื่น และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสต่างชนิดนี้ อาจทำให้โรคมีความรุนแรงมากขึ้นด้วย ข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้การพัฒนาวัคซีนป้องกันเด็งกี่เป็นไปด้วยความยากลำบาก ซึ่งนอกจากต้องสร้างวัคซีนให้ครบทุกชนิดแล้ว ยังต้องทำให้ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการได้รับวัคซีนมีระดับที่ใกล้เคียงกันด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมขณะนี้เราถึงยังไม่มีวัคซีนไข้เลือดออกใช้กัน แม้ว่าทั่วโลกจะมีความพยายามพัฒนาวัคซีนมาแล้วกว่า 30 ปี

[singlepic id=430 w=320 h=240 float=]

          สำหรับประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การนำของ ศ.นพ. ณัฐ ภมรประวัติ เป็นผู้พัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์เป็นรายแรก และต่อมามี รศ.นพ.สุธี ยกส้าน เป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์  ด้วยประสบการณ์ด้านการพัฒนาวัคซีนที่มีมานาน  และความเชี่ยวชาญของ  นพ.สุธี ที่ได้การยอมรับจากนานาชาติด้านไข้เลือดออก ร่วมกับความสามารถทางพันธุวิศวกรรมของ รศ.นพ. นพพร สิทธิสมบัติ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบกับการสนับสนุนด้านงบประมาณ รวมทั้งการบริหารจัดการและผลักดันงานวิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก่อให้เกิดวัคซีนลูกผสมทางพันธุวิศวกรรมชนิดเชื้อเป็นแต่อ่อนฤทธิ์อีกหนึ่งชุด  ที่ในวันนี้บริษัทไบโอเนท-เอเชีย ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทยได้ขอรับไปพัฒนาต่อเพื่อให้ประชาชนไทยจะได้มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกใช้ในอนาคตอันใกล้ต่อไป” ดร.วีระชัยกล่าว

          ด้านดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า “ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยก้าวหน้าขึ้นมากเมื่อเทียบกับอดีต แม้จะยังไปได้ไม่เร็วเท่าอัตราของประเทศผู้นำด้านนี้ แต่งานวิจัยของไทยหลายอย่างก็ช่วยให้เราสามารถติดตามความก้าวหน้าต่างๆได้อย่างเข้าใจมากขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของ สวทช.เองยังมองว่างานวิจัยพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ในส่วนตัวอยากเห็นการลงทุนด้านนี้แม้ว่าจะต้องใช้เวลา ความอดทนสูงและรอจังหวะที่จะนำศักยภาพผลงานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งบทบาททิศทางการดำเนินงานของ สวทช. ในปัจจุบันและอนาคตจะเน้นทั้งบทบาทวิจัยผลิตองค์ความรู้ใหม่ และพัฒนาความรู้ที่ได้ ไปสร้างเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์แก่บ้านเมือง โดยจะรักษาสมดุลระหว่างการวิจัยและพัฒนานี้ไปด้วยกัน

          สำหรับความสำเร็จของการวิจัยและอนุญาตใช้สิทธิในการพัฒนาวัคซีนลูกผสมเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ป้องกันโรคไข้เลือดออกดังกล่าว จะสำเร็จขึ้นไม่ได้หากขาดความร่วมมือจากทั้ง3 ภาคส่วน คือ สวทช. มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว เป็นการนำความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานมาร่วมกันสร้างสรรค์งานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการแพทย์และสาธารณสุข ลดอัตราการชีวิตของผู้ป่วยเด็กที่ได้รับเชื้อ   อีกทั้งยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และสาธารณสุขรวมถึงการควบคุม รักษาโรคไข้เลือดออกอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคตด้วย”  ดร.ทวีศักดิ์กล่าว

สวทช. เปิด 2 โครงการ เรียนรู้ ประดิษฐ์ สร้างสรรค์ ผลิตกล้องดูดาวจากท่อพีวีซี

สวทช. เปิด 2 โครงการ เรียนรู้ ประดิษฐ์ สร้างสรรค์ ผลิตกล้องดูดาวจากท่อพีวีซี  พร้อมส่งเสริมเยาวชนร่วมทดลองผลงานวิจัย บนสถานีอวกาศนานาชาติ ที่ประเทศญี่ปุ่น

[singlepic id=415 w=320 h=240 float=] 

วันที่ 2  กุมภาพันธ์ 2554  ณ อาคารอิมแพค เมืองทองธานี  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการกล้องดูดาวพีวีซีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามลคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ด้วยความร่วมมือระหว่าง ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา/สวทช. และบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอโครงการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และการสร้างสิ่งประดิษฐ์ให้แก่เยาวชนไทย ส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนและเยาวชนไทยได้เรียนรู้หลักทางวิศวกรรมพร้อมกับความรู้เกี่ยวกับจักรวาลและเอกภพ รวมทั้งการออกแบบและประดิษฐ์กล้องดูดาวด้วยตนเอง ผ่านกิจกรรมการออกแบบและสร้างกล้องดูดาวซึ่งใช้ท่อพีวีซีเป็นส่วนประกอบ  ที่สามารถใช้ดูดาวแกแลกซีและดูดวงอาทิตย์ได้

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างสวทช.กับ Japan Aerospace Exploration Agency (JAZA) ประเทศญี่ปุ่น  ที่เปิดโอกาสให้นักวิจัย นักเรียน และนักศึกษา ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอวกาศของไทย โดยเปิดโอกาสให้ร่วมส่งผลงานวิจัยขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ และขึ้นทำการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำบนเที่ยวบินพาราโบลิก

[singlepic id=412 w=320 h=240 float=]

นายก้องศักดิ์ ยอดมณี ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า  “โครงการกล้องดูดาวพีวีซีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ นี้ เป็นโครงการที่ส่งเสริมและพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิศวกรรมให้แก่เด็กและเยาวชนไทย  ได้มาเรียนรู้ ร่วมประดิษฐ์ ออกแบบกล้องดูดาวที่ทำมาจากท่อพีวีซี ด้วยตนเอง  ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่กำลังรุดหน้าก้าวไกล ให้เยาวชนเกิดความคิดอย่างเป็นระบบและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ อันเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดยผ่านค่ายกิจกรรมของสวทช.  และสามารถใช้กล้องดูดาวที่ประดิษฐ์ขึ้นมาได้ เป็นสื่อในการเรียนรู้ต่อไป นับว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับโรงเรียนและศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา และศูนย์การเรียนรู้ ที่จะได้รับกล้องดูดาวเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป สำหรับโครงการ JAXA เป็นที่คาดหมายได้ว่า ผลจากความร่วมมือนี้น่าจะนำไปสู่ความสำเร็จในการค้นพบผลงานวิจัยใหม่ ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ที่นอกจากจะเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความตื่นตาตื่นใจมาสู่สาธารณชนแล้ว ยังเปิดโลกแห่งการค้นคว้าวิจัย ให้กับวงการวิชาการในหลายๆสาขา  ไม่ว่าจะเป็นด้านยารักษาโรค วัสดุชนิดใหม่ รวมไปถึงการแปรเปลี่ยนยีนส์ที่ทำให้ได้พืชพันธุ์ชนิดใหม่ๆ ซึ่งการวิจัยทดลองด้านต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ได้ทั้งข้อมูลและการปรับประยุกต์ใช้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติต่อไปในอนาคต”

[singlepic id=409 w=320 h=240 float=]

ด้านดร. ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “สวทช. มีโครงการความร่วมมือที่ดีกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนด้านต่างๆ ด้วยดีเสมอมา อย่างเช่นโครงการกล้องดูดาวพีวีซีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ เป็นโครงการที่สวทช.โดยศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาได้ร่วมมือกับบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีความตั้งใจที่จะนำเสนอโครงการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และการสร้างสิ่งประดิษฐ์ให้แก่เยาวชนไทย เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ และยกย่องในอัจฉริยะภาพการทรงเป็นนักประดิษฐ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ทรงมีบทบาทในการส่งเสริมการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อการพัฒนาชุมชนในชนบทของไทย ให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนและเยาวชนไทยได้เรียนรู้หลักทางวิศวกรรมพร้อมกับความรู้เกี่ยวกับจักรวาลและเอกภพ รวมทั้งการออกแบบและประดิษฐ์กล้องดูดาวด้วยตนเอง ที่ต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และทักษะทางวิศวกรรมศาสตร์ ตั้งแต่การออกแบบและการลงมือประดิษฐ์ ทำให้เยาวชนได้มีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ ได้ลงมือปฏิบัติ เพื่อเรียนรู้การแก้ปัญหา เกิดการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ให้เกิดนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมที่นำไปพัฒนาต่อยอดจนเกิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ได้

สำหรับโครงการความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับ Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA) ประเทศญี่ปุ่น ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่เปิดโอกาสนักวิจัย นักเรียนและนักศึกษา สามารถส่งข้อเสนอโครงการเข้าร่วมประกวด. เพื่อให้คณะกรรมการตัดสิน โดยผลงานที่ผ่านการคัดเลือกพร้อมเจ้าของผลงานจะได้ขึ้นทำการทดลองบนเครื่องบินที่ทำการบินแบบพาลาโบลา  โดยสวทช.จะสนับสนุนในการพัฒนาชุดการทดลองและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำการทดลองที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย“

เปิดโลกความสามารถด้านไอซีทีเด็กไทย กับ“มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ครั้งที่ 10”

เปิดโลกความสามารถด้านไอซีทีเด็กไทย กับ“มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ครั้งที่ 10”

The Tenth Thailand ICT Contest Festival 2011

 [singlepic id=406 w=320 h=240 float=]

โดยความร่วมมือของ เนคเทค ร่วมกับซิป้า และอินเทล ส่งเสริมความสามารถเยาวชนไทยต่อเนื่องครบ 1 ทศวรรษ เนรมิตลานแสดงโชว์ผลงานและความสามารถด้านไอซีทีสุดยิ่งใหญ่ ด้วยสุดยอดผลงานนวัตกรรมต้นแบบ ผลงานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและ ไอที ซอฟต์แวร์ จากแนวคิดของเยาวชน นับร้อยผลงานจากทั่วประเทศ พร้อมกิจกรรมการแข่งขัน ประกวดผลงาน และสัมมนาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน ก่อนต่อยอดสู่การแสดงความสามารถในระดับสากล ร่วมเชียร์และสัมผัสความสามารถของเยาวชนไทยได้ตั้งแต่วันนี้ – 3 กุมภาพันธ์ ศกนี้ ที่ห้อง         ไอส์แลนด์ ฮอลล์ ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ กรุงเทพฯ

 [singlepic id=403 w=320 h=240 float=]

กรุงเทพฯ – วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2554) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ องค์การมหาชน (ซิป้า) และ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดพิธีเปิดงาน “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ครั้งที่ 10” หรือ The Tenth Thailand ICT Contest Festival 2011 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ 2554 ณ ห้องไอส์แลนด์ฮอลล์ ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ กรุงเทพมหานคร             โดยในพิธีเปิดงาน ได้รับเกียรติจาก ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน นักเรียนนักศึกษา คณะครูอาจารย์จากทั่วประเทศ พร้อมกับประชาชนที่สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

 

ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การจัดงาน  “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ครั้งที่ 10” หรือ The Tenth Thailand ICT Contest Festival 2011 เป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างมากในการแสดงออกถึงความสามารถของเยาวชน โดยถือเป็นเวทีที่ยิ่งใหญ่ที่เยาวชนจะได้แสดงถึงพลังของความคิดสร้างสรรค์ในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเยาวชนไทยมีความสามารถไม่แพ้ชาติอื่น โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เชื่อว่าหากมีการสนับสนุนด้วยดีจากทั้งภาครัฐและเอกชน ความสามารถในด้านดังกล่าวจะมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น และในอนาคตประเทศไทยจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องพึ่งต่างชาติ อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะสร้างสรรค์สู่การเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศในอนาคตได้อีกด้วย

“อยากจะขอเชิญชวนให้มาสัมผัสกับความสามารถของเยาวชนไทยในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่รับรองว่าถ้าได้เห็นแนวคิดของพวกเขาแล้ว เราจะทึ่งในความสามารถอย่างแน่นอน และเราจะได้รู้ว่า นอกจากเรื่องของการแสดง ศิลปะ หรือกีฬา เยาวชนไทยก็มีความสามารในด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านสารสนเทศเช่นกัน ซึ่งการมาเยี่ยมชมของทุกท่านจะเป็นแรงผลักดันให้ทั้งเยาวชนที่ร่วมกิจกรรมมีแรงใจที่จะพัฒนาผลงานของพวกเขา ส่วนผู้จัดโครงการและผู้สนับสนุนก็จะมีแรงใจที่จะสร้างสรรค์งานหรือกิจกรรมดีๆอย่างนี้ต่อไป”  ดร. วีระชัย กล่าว

 

ด้าน ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (NECTEC) กล่าวว่า มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในครั้งนี้ จัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 10 แล้ว โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความรู้ ความสามารถของเยาวชนไทย ให้สามารถพัฒนาผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมีศักยภาพ นำไปสู่การประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และยังเป็นการบ่มเพาะต้นทุนแห่งทรัพยากรมนุษย์ สู่การพัฒนารากฐานสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมเชิงสร้างสรรค์

“การจัดงานในครั้งที่ 10 นี้ ถือเป็นการย้ำความสำเร็จของการจัดงานที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และจะมีความยิ่งใหญ่มากขึ้นจากปีที่ผ่านๆมา พร้อมทั้งมีการต่อยอดให้เยาวชนได้แสดงความสามารถในระดับสากลอย่างที่มีผลสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดของงานนี้ คือความร่วมมือจากสถานศึกษา และเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้มาร่วมแสดงพลังสร้างสรรค์ ผ่านผลงานที่เข้าร่วมประกวดในโครงการต่างๆ ซึ่งในขณะเดียวกัน การที่ประชาชนให้ความสนใจมาเยี่ยมชม และให้กำลังใจ จะเป็นการส่งเสริม และให้กำลังใจพวกเขา เพื่อให้พัฒนาความรู้ความสามารถและแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในด้านไอซีทีของคนไทย เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทัดเทียมนานาชาติในอนาคต จึงอยากจะขอเชิญชวนให้มาร่วมงานและมาเป็นแรงใจให้กับเยาวชน ตั้งแต่ 1 – 3 กุมภาพันธ์ ศกนี้ เพียง 3 วัน เท่านั้นครับ” ดร.พันธ์ศักดิ์ กล่าว 

 

นายสันติ สุรรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ องค์การมหาชน (ซิป้า) กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุน “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ครั้งที่ 10” หรือ The Tenth Thailand ICT Contest Festival 2011 ซึ่งเป็นโครงการที่ดีอีกโครงการหนึ่งที่มีส่วนพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีของเยาวชนไทย โดยในครั้งนี้ ถือเป็นโครงการร่วมในการคัดสรรผลิตภัณฑ์ดีเด่น ที่ทางซิป้าได้มีส่วนร่วมสนับสนุนตามเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีของคนไทยให้สามารถใช้งานภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างชาติ ตลอดจนสามารถทัดเทียมกับนานาชาติได้

“ต้องยอมรับว่าบุคลากรที่มีคุณภาพในส่วนเทคโนโลยีของบ้านเรายังถือว่ามีจำนวนไม่เพียงพอ เมื่อเที่ยบกับความต้องการบุคลากรในการพัฒนาเทคโนโลยีในส่วนดังกล่าว จึงทำให้ต้องอาศัยการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศซึ่งมีต้นทุนที่สูงมาก แต่ทั้งนี้ จากการได้เห็นการพัฒนาของผลงานที่เข้าร่วมโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นแรงผลักดันให้เยาวชนที่จะก้าวสู่แวดวงเทคโนโลยีเห็นความสำคัญในฐานะที่มีเวทีให้แสดงความสามารถ รวมทั้งมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้ประเทศของเราได้บุคลากรด้านเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ พัฒนาวงการเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต”  นายสันติ กล่าว 

นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์        (ประเทศไทย) จำกัด อีกหนึ่งผู้สนับสนุนโครงการ กล่าวว่า สำหรับ “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ครั้งที่ 10” หรือ The Tenth Thailand ICT Contest Festival 2011 ทางอินเทลได้มีการสนับสนุนมาเป็นครั้งที่ 13 แล้ว โดยบทบาทสำคัญคือการผลักดันให้เยาวชนและผลงานที่ชนะเลิศจากการประกวด ได้มีโอกาสร่วมแข่งขันและแสดงความสามารถในระดับนานาชาติ ซึ่งถือเป็นอีกความสำคัญของโครงการที่ได้มีการต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรม

“เรามองเห็นถึงความสามารถของเยาวชนไทย ที่สามารถโชว์ศักยภาพในเวทีระดับโลกได้อย่างภาคภูมิ          จึงได้มีการส่งเสริมและผลักดันให้เยาวชนที่ชนะการประกวดในโครงการได้มีเวทีระดับนานาชาติเพื่อแสดงความสามารถ และในปีนี้ก็เช่นกัน ผู้ชนะการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 13 (The Thirteenth Young Scientist Competition: YSC 2011) จะได้รับการสนับสนุนให้ได้ร่วมประกวดโครงการ Intel International Science and Engineering Fair (Intel ISEF) ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งที่ผ่านมาเยาวชนไทยก็ทำผลงานได้ดี และเชื่อว่าจะสร้างผลงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน ซึ่งน่าจะเป็นการประกาศความสำเร็จของการจัดงานที่มีอย่างต่อเนื่องมาครบ 1 ทศวรรษ และจะมีความสำเร็จในเวทีระดับโลกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆอย่างแน่นอน” นายเอกรัศมิ์ กล่าวในตอนท้าย  

 

ทั้งนี้ “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ครั้งที่ 10” หรือ The Tenth Thailand ICT Contest Festival 2011 มีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย เช่น การเสนอผลงาน 150 ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ยอดเยี่ยมในสาขาต่างๆ อาทิ โปรแกรมเกม โปรแกรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ (CAI) โปรแกรมเพื่อช่วยคนพิการ โปรแกรมเพื่อประยุกต์ใช้งาน Web Contest และ Mobile Application ในการแข่งขันโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 13 (The Thirteenth National Software Contest: NSC 2011)

          ชมการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 13 (The Thirteenth Young Scientist Competition: YSC 2011) สรรหาสุดยอดตัวแทนประเทศไทยชิงชัยในงาน Intel International Science and Engineering Fair (Intel ISEF) ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา

          ร่วมให้กำลังใจนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตัวแทนค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์จาก              ทั่วประเทศในการแข่งขันประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 10 (The Tenth Youth’s Electronics Circuit Contest: YECC 2011) เพื่อชิงชัยในการประดิษฐ์และสร้างสรรค์วงจรไฟฟ้าเพื่อการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) เพื่อค้นหาสุดยอดนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์

          ชมการแข่งขันระบบปฏิบัติการลินุกซ์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 11 (The Eleventh National Linux Competition: NLC 2011) ระดับนักเรียนและประชาชนทั่วไปในการใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเพื่อใช้โปรแกรมต่างๆในลินุกซ์ทะเลและการใช้งานคอมพิวเตอร์สำหรับควบคุมและให้บริการเครือข่ายโดยใช้ระบบ ปฏิบัติการลินุกซ์ทะเล ระบบปฏิบัติการตามแนวทาง Open Source ที่ช่วยให้ท่านประหยัดค่าใช้จ่ายและใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย

พร้อมกันนี้ ในการจัดงาน ทั้ง 3 วัน ยังมีกิจกรรมอื่นๆที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมบนเวที เช่นการพูดคุยกับแขกรับเชิญ การสัมมนาเชิงปฏิบัติการสำหรับครู-อาจารย์ สาขาวิทยาศาสตร์ และกิจกรรมสัมมนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในประเด็นที่เป็นประโยชน์อีกมากมาย รวมถึงการรับฟังเทคนิคและเคล็ดลับในการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อสร้างแรงบันดันดาลใจให้กับเยาวชนไทยที่สนใจในเรื่องเทคโนโลยี เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. 02 564 6900 ต่อ 2345 หรือ 2388 – 9 หรือทางเว็บไซต์  www.nectec.or.th/fic/

รมว.วิทย์ฯ ดร.วีระชัย เปิดสถาบันวิทยาการ สวทช.ชูธงสร้างคนป้อนตลาดอุตสาหกรรมผลิตและบริการครบวงจรมาตรฐานระดับนานาชาติครั้งแรกของประเทศไทย

[singlepic id=394 w=320 h=240 float=]

27  มกราคม 2554  ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค   ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์  กออนันตกูล  ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมเป็นประธานเปิดตัวสถาบันวิทยาการ สวทช. หรือ NSTDA Academy เพื่อรองรับและตอบสนองความต้องการพัฒนากำลังคนขององค์กรทั้งระดับอุตสาหกรรมการผลิตและบริการที่ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ โดยการให้บริการของสถาบันฯ ครอบคลุมทั้งหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ อุตสาหกรรมและSMEs โดยยึดหลักให้ผู้ที่ผ่านการอบรมจากสถาบันวิทยาการ สวทช.มีความรู้จริงจากกรณีศึกษาผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริงในแต่ละองค์กรและรองรับทุกการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ อาทิ หลักสูตรการประเมินผลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ การอบรมมาตรฐานวิชาชีพขั้นสูงด้านไอทีเพื่อรองรับการเติบโตของงานด้านไอทีระดับประเทศและนานาชาติ โดย ดร.วีระชัย กล่าวในรายละเอียดว่า  

[singlepic id=397 w=320 h=240 float=]

“แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมไทยให้แข็งแกร่งและครบวงจรนั้น  จำเป็นต้องเร่งส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม  ซึ่งส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งคือ การพัฒนาบุคลากรของภาคอุตสาหกรรมให้มีความรู้ และความเข้าใจบนพื้นฐานขององค์ความรู้ (Knowledge)  ที่สามารถตอบโจทย์และประเด็นใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทันต่อเหตุการณ์  อันจะเป็นการสร้างผลิตภาพ มูลค่าเพิ่ม และความสามารถในการแข่งขัน  เพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของภาคการผลิตและบริการ  สู่เวทีการค้าที่ทัดเทียมกับนานาประเทศ ซึ่งสถาบันวิทยาการ สวทช.หรือ NSTDA Academy นั้นได้ตอบโจทย์อย่างชัดเจน และจุดที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เป็นสถาบันการอบรบที่มีความแตกต่างจากสถาบันอื่นๆ และมีความโดดเด่นในการที่จะขับเคลื่อนกลไกการพัฒนาบุคลากร ในฐานะสถาบันแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทยที่จัดตั้งมาเป็นเวลากว่า 23  ปี  ที่ได้มุ่งเน้นการยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ภาคการผลิตและบริการของไทยได้อย่างแท้จริง”

[singlepic id=400 w=320 h=240 float=]

ด้านดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า  สถาบันวิทยาการ สวทช. หรือ NSTDA Academy จะดำเนินงานภายใต้ 3 แนวทางหลัก คือ 1) ให้บริการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาทางวิชาการและเทคนิค เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของบุคลากรในภาคการผลิตและบริการของประเทศไทย 

2) ผลักดัน ส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการใช้ประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย  ผ่านกลไกการเชื่อมโยงและส่งต่องานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สวทช. ไปยังหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในภาคการผลิตและบริการ  และ 3) นำเสนอทางเลือกใหม่ให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในภาคการผลิตและบริการ เพื่อเตรียมพร้อมต่อการบริหารจัดการที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมืออาชีพ  รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและโจทย์ประเด็นทางเศรษฐกิจสังคมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

[singlepic id=391 w=320 h=240 float=]

ทั้งนี้  ในการเปิดตัวเพื่อแนะนำบริการและความเชี่ยวชาญในปี 2554 นี้  สถาบันวิทยาการ สวทช. ได้นำเสนอบริการและความเชี่ยวชาญภายใต้หลักสูตรการอบรมผ่านธงหลัก 3 ประการซึ่ง  ประกอบด้วย

1.กลุ่มหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และไอซีทีสำหรับผู้บริหาร หรือ Executive Education/ICT for Executives ซึ่งเป็นกลุ่มหลักสูตรเดียวของประเทศที่ออกแบบ เพื่อบูรณาการและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและทักษะแก่ผู้บริหารทั้งสายงาน ICT, Non ICT และ HR

2.กลุ่มหลักสูตรเพื่อสร้างความเข้าใจด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมหรือ Green Technology & Green ICT เช่น หลักสูตรเรื่อง Life Cycle Assessment เรื่อง Carbon Footprint of Products และเรื่อง Eco Design Implementation จึงเป็นกลุ่มหลักสูตรเดียวของประเทศที่ครอบคลุมและทันการณ์ต่อการรับมือกับการเผชิญปัญหาภาวะโลกร้อน

3.การเปิดอบรมและจัดการสอบรับรองมาตรฐานวิชาชีพไอที หรือ Professional Standard Assessment, Exam nation and Certification ซึ่ง สถาบันวิทยาการ สวทช.NSTDA Academy จะเป็นสถาบันเดียวที่เห็นความสำคัญในการผลักดันให้มีมาตรฐานวิชาชีพเทคโนโลยีขั้นสูงในระดับนานาชาติ อันเป็นการเตรียมความพร้อมการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การเป็นภาคีหนึ่งในประชาคมอาเซียนในปี 2558   โดยเฉพาะเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงาน 

ทั้งนี้  ในงานเปิดตัวดังกล่าวนอกเหนือจากการแนะนำบริการและความชำนาญที่เป็นเลิศแล้ว ยังมีการบรรยายพิเศษจากวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำ  และการจัดนิทรรศการแสดงผลงานและบริการของหน่วยงานพันธมิตร  พร้อมกันนี้ได้มีพิธีมอบประกาศนียบัตรผู้สอบผ่านโครงการสอบมาตรฐานวิชาชีพไอที (ITPE)  ซึ่งเป็นตัวอย่างของเมล็ดพันธุ์แห่งความรู้ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาความรู้และทักษะเชิงเทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศไทย

กระทรวงวิทย์ฯ เอ็มเทค/สวทช. พัฒนา “ซอฟต์แวร์ LCA” สำเร็จ ใช้วัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ครั้งแรกของอาเซียน

 

25 มกราคม 2554 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ: ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดตัวระบบการจัดการฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของไทย “Thai Life Cycle Inventory Data Management System (ThaiLCD)” ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปเพื่อการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกของไทย ชื่อ Thai GHGs+ Software ซึ่งเป็นระบบและซอฟต์แวร์ด้าน LCA รายแรกของประเทศและภูมิภาคอาเซียน โดยโครงการดังกล่าวเกิดจากร่วมมือระหว่างศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุและชาติ (เอ็มเทค/สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ได้รับการสนับสนุนทางเทคนิคจากประเทศญี่ปุ่น ผ่าน Japan External Trade Organization (JETRO), Bangkok

ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รมว.วท. กล่าวว่า  การพัฒนาระบบการจัดการฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิต (ThaiLCD) และซอฟต์แวร์ ดังกล่าว จะถูกนำไปใช้ในการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์นำร่อง 60 ผลิตภัณฑ์  ถือเป็นการเตรียมความพร้อมสู่ระบบเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) ที่ประเทศในสหภาพยุโรปให้ความสำคัญ อาทิ อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นต้น ทั้งนี้ ฝรั่งเศสมีกำหนดที่จะประกาศใช้ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์เป็นกฎหมายภายในเดือน กรกฎาคม 2554 ซึ่งโครงการร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากช่วยวิเคราะห์ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์แล้ว ยังช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้เกิดความตระหนักและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะฉะนั้น หากผลิตภัณฑ์ของไทยมีการใช้เครื่องหมายคาร์บอนฟุต พริ้นท์กันอย่างแพร่หลาย จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการค้าระหว่างประเทศในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น

 

 

 

นอกจากนี้ ดร.วีระชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทาง เอ็มเทค/สวทช. พร้อมเปิดรับบริการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ กว่า 60 ผลิตภัณฑ์นำร่อง เพื่อสนับสนุนการใช้ซอฟแวร์ที่ได้พัฒนาขึ้นตามมาตรฐานสากล และมีฐานข้อมูลของไทยกว่า 600 ฐานข้อมูล โดยมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการใช้ซอฟท์แวร์ต่างชาติกว่าเท่าตัว ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ ในการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สำหรับการขอรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตามหลักสากลต่อไป สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ Call Center 0 2564 8000 หรือหากท่านใดสนใจวิธีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์สามารถที่จะเข้าไปดูวิธีการประเมินได้ที่ http://thaicarbonlabel.tgo.or.th/

 

รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค/สวทช.) การจัดทำฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของวัสดุพื้นฐานและพลังงานของประเทศ และการประยุกต์ใช้ โดยเอ็มเทคได้ร่วมมือกับ 4 หน่วยงานพันธมิตรมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550  ประกอบด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจาก “ยุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันภายใต้กฎระเบียบของประเทศคู่ค้า” และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้การจัดทำฐานข้อมูลครอบคลุมวัสดุพื้นฐานและพลังงานของประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ เอ็มเทค/สวทช. ยังได้รับการสนับสนุนทางเทคนิคจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่าน Green Partnership Plan ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2545 รวมเป็นเวลากว่า 8 ปี โดยมี Japan External Trade Organization (JETRO), เป็นผู้ประสานงานหลัก  สนับสนุนการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาฐานข้อมูลฯ จัดสัมมนาและอบรมเชิงลึก ผ่าน 2 โครงการหลัก คือ Green Manufacturing Technical Assistance Program ในช่วงปีพ.ศ. 2545-2550  และ โครงการ Sustainable Manufacturing for Thailand หรือ SMThai+ ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551 ได้รับการสนับสนุนทางเทคนิคในด้านของการขยายฐานข้อมูล LCI ของประเทศ  การประยุกต์ใช้ฐานข้อมูล LCI ในอุตสาหกรรมของไทย ตลอดจนขยายความรู้สู่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ในปี 2552-2553 ที่ผ่านมา จากผลการทำงานเชิงบูรณาการทั้งในและต่างประเทศ  ปัจจุบัน ประเทศไทยมีฐานข้อมูล LCI กว่า 600 ฐานข้อมูล ครอบคลุมกว่า 30 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศ  ตามวิธีที่เป็นมาตรฐานสากล สอดคล้องกับ ISO14040 และ 14044 และอยู่ในระดับแนวหน้าของเอเชียและเป็นที่ 1 ในอาเซียน ทั้งนี้ เอ็มเทค/สวทช. ต้องการผลักดันให้อุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อมใช้ฐานข้อมูล LCI จึงได้พัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูปด้านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ชื่อ Thai GHGs+ ที่สามารถใช้รองรับการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ของผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันได้ในกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น

 

นอกจากนี้ โครงการกำลังพัฒนาอีก 1 ซอฟต์แวร์ ที่สามารถใช้ประเมินผลกระทบครอบคลุมทุกประเด็นตลอดวัฏจักรชีวิต สำหรับการออกแบบและพัฒนาศักยภาพทางนิเวศเศรษฐกิจของอุตสาหกรรม เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยสามารถพัฒนาศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่มีค่าได้อย่างยั่งยืน รศ.ดร.วีระศักดิ์ฯ กล่าว