สวทช.ใคร่ขอรับการสนับสนุนจากท่าน/หน่วยงานของท่าน เพื่อกระจายความช่วยเหลือไปยังผู้ประสบภัย

เรียน ทุกท่าน

 จากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย สวทช.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้นำผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นผลจากการวิจัยพัฒนาและหรือความร่วมมือต่างๆ เข้าให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในการนี้ สวทช.ใคร่ขอรับการสนับสนุนจากท่าน/หน่วยงานของท่าน เพื่อกระจายความช่วยเหลือไปยังผู้ประสบภัยได้กว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไป   

[singlepic id=277 w=320 h=240 float=] 

 

เครื่องชาร์จไฟโทรศัพท์มือถือเพื่อแก้ไขปัญหาผู้ประสบภัยน้ำท่วม

จากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นส่งผลให้กระแสไฟฟ้าในพื้นที่ถูกตัด และดับเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ส่งผลให้การติดต่อสื่อสารขอรับความช่วยเหลือจากผู้ประสบภัยธรรมชาติ สู่บุคคล/องค์กรต่างๆ เป็นไปได้อย่างลำบาก สวทช. โดยเนคเทค ขอนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างง่าย โดยการนำแบตเตอรี่ ๑๒ โวลท์จากรถยนต์มาประยุกต์ใช้สร้างเป็นเครื่องชาร์จไฟโทรศัพท์ใช้กันเอง รายละเอียด

Tags: , , , , ,

บริษัทไฮกริมหนึ่งในผู้เช่าอุทยานวิทย์ฯ เปิดตัวนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ไบโอเทคโนโลยี แบรนด์ KEEEN ผลงานการร่วมวิจัยกับไบโอเทค

[singlepic id=271 w=320 h=240 float=]

ไฮกริม จับกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ออก KEEEN นวัตกรรมแห่งพลังขจัดคราบน้ำมัน และบำบัดสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนเดียวเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม ด้วยการศึกษาแนวคิดพัฒนานวัตกรรมไบโอเทคโนโลยีจากเยอรมันมาคิดค้นต่อยอด ผลสำเร็จหลังทดลองให้บริการกับอุตสาหกรรมมานานกว่า 5 ปี พร้อมทำตลาดเชิงรุก ทุ่มงบกว่า 20 ล้านบาท เปิดตัวกระตุ้นตลาด คาดยอดขาย 5,000 ล้านบาทต่อปี

 

นายวสันต์ อริยพุทธรัตน์ ผู้ก่อตั้ง และผู้บุกเบิกในอุตสาหกรรม ประธานบริหาร – นิเวศน์อุตสาหกรรม (Founder & Industry Pioneer, Chief Industrial Ecologist) บริษัท ไฮกริม เอ็นไวรอนเมนทอล แอนด์ รีเสิร์ช จำกัด กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นประเด็นที่คนทั่วโลกให้ความสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเป็นโจทย์สำคัญในการปรับกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Industry) ด้วยเหตุนี้ตนในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการระบบนิเวศน์อุตสาหกรรมในภาคอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สถาบันพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำการศึกษาวิจัยและคิดค้นด้วยเทคโนโลยีชีวภาพจนเกิดนวัตกรรมใหม่ มีชื่อเรียกว่า สารชีวบำบัดภัณฑ์ (Bioremediation Agent) ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในการบำบัดของเสียก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ บริษัทได้นำผลิตภัณฑ์ KEEEN ออกให้บริการลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมมานานกว่า 5 ปี มีลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการบอกต่อถึงประสิทธิภาพ และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ จนได้รับการยอมรับจากลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (แท่นขุดเจาะน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมัน สถานีบริการน้ำมัน) อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมโรงพยาบาล และอุตสาหกรรมโรงแรม คอนโด อพาร์ทเม้นท์ เป็นต้น ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมานานกว่า 5 ปี บริษัทจึงมีความมั่นใจในทีมงานด้านการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการ จนเกิดความพร้อมที่จะขยายฐานลูกค้าด้วยการทุ่มเม็ดเงินกว่า 20 ล้านบาททำการตลาดแบบบูรณาการ โดยตั้งเป้ายอดขาย 5,000 ล้านบาทต่อปี

โดยปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ KEEEN มี 10 สูตรที่ตรงกับความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรม จำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่าสินค้านำเข้า ขณะที่มีส่วนประกอบของจำนวนจุลินทรีย์และสารประกอบทางชีวภาพที่เข้มข้นกว่า เนื่องจากสามารถควบคุมคุณภาพเองจากโรงงานผลิต ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดแยก เพาะเลี้ยงสายพันธุ์ จนกระทั่งแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ภายในห้องปฏิบัติการอันทันสมัย โดยเป็นการร่วมวิจัยกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

 

 

ผู้ส่งข่าว             นางลัดดา หงส์ลดารมภ์

ผู้อำนวยการ ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ระดมสมอง นักฟิสิกส์ ทั่วประเทศ กำหนดแผนงานวิจัยในอนาคต กับสถาบันวิจัย CERN องค์กรชั้นนำด้านฟิสิกส์ระดับโลก ในงานประชุมวิชาการ โครงการ 1 st CERN School Thailand 2010

        [singlepic id=262 w=320 h=240 float=]

    7 ตุลาคม 2553 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ : ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดการเสวนา “โครงการ 1st CERN School Thailand 2010” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาทุกคนได้พัฒนาองค์ความรู้ด้านฟิสิกส์อนุภาคทั้งจากนักวิชาการ นักวิจัย และนักปฏิบัติ  รวมทั้งช่วยกระตุ้นให้นักศึกษา/บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ทั้งหลาย เกิดความมุ่งมั่นในการทำงานวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคทั้งในเชิงทฤษฎีและเชิงการทดลองมากขึ้น  ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทั้งจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและระหว่างผู้เข้าร่วมอบรมด้วยกัน  และนำไปสู่การสร้างและขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักฟิสิกส์ไทยด้วยกัน และระหว่างนักฟิสิกส์ไทยกับนักฟิสิกส์จาก CERN ซึ่งเป็นแหล่งรวมของนักฟิสิกส์ชั้นนำของโลก  รวมทั้งยังช่วยสนับสนุนให้นักฟิสิกส์ไทยมีโอกาสและมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนงานวิจัยร่วมกับนักฟิสิกส์ชั้นนำ  รวมทั้งเพื่อให้สถาบันหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ด้านฟิสิกส์ของไทยสามารถแสวงหาแนวทางเพื่อพัฒนาไปสู่การทำความร่วมมือเพื่อการวิจัยพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยและมวลมนุษย์ร่วมกับสถาบันฟิสิกส์ชั้นนำของโลกต่อไปในอนาคต

     [singlepic id=265 w=320 h=240 float=]

       ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รมว.วท กล่าวว่า โครงการความร่วมมือดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น หากไม่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงลงนามใน Expression of Interest in The Participation of Physicists from Universities and Research Institutes from Thailand in the CMS Experiment at the CERN LHC Accelerator  ระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และสถาบันวิจัยเซริ์น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาความร่วมมือให้นักฟิสิกส์จากประเทศไทยเข้าร่วมทำการทดลองด้านฟิสิกส์อนุภาคกับกลุ่มการทดลอง CMS  เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในงานวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคของไทย และเปิดโอกาสให้นักศึกษาและครูจากประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ CERN Summer Student Program  และ CERN  High School Physics Teacher Program  ซึ่งจัดในช่วงภาคฤดูร้อนของทุกปีเพื่อพัฒนาความรู้และเสริมสร้างประสบการณ์ด้านฟิสิกส์อนุภาค โดยนักศึกษาและครูจะได้เข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการร่วมกับนักศึกษา ครู และนักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลก

[singlepic id=268 w=320 h=240 float=]

            ซึ่งที่ผ่านมานั้น ความต้องการของนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ของสถบันวิจัยเซริ์นได้ทำการวิเคราะห์และจัดเก็บข้อมูลจำนวนมากที่เกิดขึ้นจากเครื่องเร่งอนุภาค Large Hadron (ฮา-ดรอน) Collider หรือ LHC ที่ CERN  ที่กำลังเดินเครื่องอยู่  และเชื่อมโยงเข้ากับแหล่งจัดเก็บข้อมูลในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อเป็นส่วนผลักดันสำคัญที่นำไปสู่การก่อกำเนิดและการพัฒนาระบบประมวลผลโดยเทคโนโลยี grid computing   ที่ทำให้เราสามารถใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ทั่วโลกในการจัดเก็บข้อมูลและนำข้อมูลที่ได้นำมาซึ่งเทคโนโลยีอันทรงคุณค่าต่อมนุษยชาติอย่างอเนกอนันต์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์  เครื่องเล่น DVD  โทรศัพท์มือถือ การไขรหัสพันธุกรรม  การสร้างแบบจำลองการเกิดแผ่นดินไหว  แบบจำลองสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการอาศัยองค์ความรู้ทางด้านฟิสิกส์ และเทคโนโลยีแขนงต่าง ๆ เป็นผลิตผลจากความรู้ด้านฟิสิกส์อะตอมแทบทั้งสิ้น   และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่อง MRI  การรักษามะเร็งด้วยนิวตรอน การประยุกต์ใช้รังสีในด้านต่าง ๆ เพื่อการวินิจฉัยบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ  ก็ล้วนเป็นผลิตผลที่เกิดขึ้นจากความรู้ด้านฟิสิกส์นิวเคลียร์และฟิสิกส์อนุภาค  ซึ่งหลายคนอาจจะไม่ทราบด้วยซ้ำไปว่าพลังงานปรมาณูนั้น สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์ เพื่อการรักษาชีวิตมนุษย์ได้ เป็นต้น

           

 

ผู้ส่งข่าว             นางลัดดา หงส์ลดารมภ์

โฆษกกระทรวง ฝ่ายกิจการพิเศษ

 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

กระทรวงวิทย์ฯ เปิดตัวต้นแบบเครื่องมือตรวจหาเชื้อไวรัสในกุ้ง

[singlepic id=253 w=320 h=240 float=]

อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย วันที่ 23 กันยายน 2553 : ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินหน้าติดตามผลการทำงานตามนโยบายสำคัญของกระทรวงวิทย์ฯ ในด้านการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีความสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับด้านเกษตร อาหาร และพลังงานทดแทน ล่าสุดได้เปิดตัวต้นแบบเครื่องมือตรวจหาเชื้อไวรัสในกุ้ง ที่มีราคาถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศและมีความเหมาะสมกับการใช้งาน เป็นทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง

[singlepic id=256 w=320 h=240 float=]

            ข้อมูลจากกรมประมงระบุว่า กุ้งเป็นสินค้าประมงที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย มีผลผลิตถึงปีละ 5.0-5.5 แสนตัน คิดเป็นร้อยละ 28 ของผลผลิตโลก โดยผลผลิตกว่าร้อยละ90 ของประเทศไทย เป็นการส่งออกไปยังต่างประเทศ ทั้งในรูปของกุ้งแช่เย็น แช่แข็งและกุ้งแปรรูป อุตสาหกรรมกุ้งเป็นที่จับตามองของหลายๆ ฝ่าย เนื่องจากเป็นอาชีพเกษตรกรรมที่เข้าสู่ระบบธุรกิจครบวงจร ผลดำเนินการในแต่ละปีสามารถนำเม็ดเงินเข้าประเทศปีละเหยียบแสนล้านบาท แต่ข้อจำกัดอย่างหนึ่งในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งในประเทศไทย คือการเกิดโรคระบาด ซึ่งโรคที่สำคัญและก่อให้เกิดการสูญเสียมากที่สุดคือโรคที่เกิดจากไวรัส ไม่เพียงแต่การระบาดของไวรัสในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งกุลาดำเท่านั้น แม้แต่อุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งขาวและกุ้งก้ามกรามก็ประสบกับปัญหานี้เช่นกัน ไวรัสที่สำคัญคือไวรัสโรคทอร่าและไวรัสตัวแดงดวงขาว ซึ่งสาเหตุการระบาดของไวรัสเหล่านี้เกิดจากการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ที่ติดเชื้อไวรัส การใช้ลูกกุ้งที่ติดเชื้อ และการมีพาหะที่อาศัยอยู่บริเวณบ่อเลี้ยง

[singlepic id=259 w=320 h=240 float=]

            ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทคประจำปี2553 ว่าล่าสุดกระทรวงวิทย์ฯ โดย ทีมนักวิจัยจากเนคเทคและไบโอเทค ได้ร่วมกันวิจัยพัฒนาเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ และผลิตน้ำยาสำหรับเทคนิค LAMP ซึ่งสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสในกุ้งได้ในระยะเวลา 30 นาที ตรวจวัดได้เร็วกว่าอุปกรณที่นำเข้าจากต่างประเทศ รวมราคาอุปกรณ์ทั้งหมดก็มีราคาถูกกว่า สามารถพกพาได้สะดวก ช่วยประหยัดเวลาในการทำงาน ค่าใช้จ่ายน้อย และสะดวกในการใช้ในภาคสนาม ทำให้ลดต้นทุนการผลิตและยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน  ซึ่งกระทรวงวิทย์ฯจะส่งเสริมให้ใช้ในอุตสาหกรรมกุ้งต่อไป หากมีการผลิตเครื่องมือนี้ภายในประเทศจะช่วยลดการนำเข้าเครื่องมือตรวจวัดที่มีคุณสมบัติเหมือนกันได้ประมาณ 150 ล้านบาท/ต่อปี ซึ่งคาดว่าเครื่องมือดังกล่าวจะช่วยให้ผู้เลี้ยงกุ้งสามารถตรวจพบเชื้อไวรัสในกุ้งและแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ช่วยให้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือตรวจวัดราคาแพงจากต่างประเทศ และมีทางเลือกมากขึ้น

            เทคนิค LAMP หรือ  Loop-mediated isothermal amplification เป็นเทคนิคที่สามารถเพิ่มปริมาณ DNA ที่จำเพาะ ไว และรวดเร็ว ภายใต้อุณหภูมิเดียวคือ 60-65O C   เทคนิคนี้สามารถเพิ่มปริมาณ DNA ได้ถึง 109 เท่า โดยใช้เวลาในการทำปฏิกิริยาไม่เกิน 1 ชั่วโมง  โดยความขุ่น (turbidity) ที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวชี้ให้เห็นว่ามีการเพิ่มปริมาณ DNA ในหลอดทดลอง  การสังเกตความขุ่นที่เกิดขึ้นเป็นตัวตรวจสอบคร่าวๆได้ว่ามีการติดเชื้อไวรัสที่เราสนใจอยู่ในตัวอย่างDNA ที่นำมาทดสอบหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การสังเกตความขุ่นด้วยตาเปล่ามักจะมีความลำเอียง (bias)  รวมทั้งเครื่องมือวัดความขุ่นของปฏิกิริยา LAMP ที่ผลิตขึ้นจากประเทศญี่ปุ่นก็มีราคาแพง ทำให้คณะผู้วิจัยเล็งเห็นว่าถ้าเกษตรกรจะมีเครื่องมือเล็กๆเครื่องหนึ่งที่ใช้งานได้ง่าย สามารถวัดความขุ่น และแสดงผลการตรวจหาเชื้อไวรัสในกุ้งโดยใช้หลักการวัดทางแสงร่วมกับเทคนิค LAMP ได้อย่างถูกต้องรวดเร็วก็จะเป็นประโยชน์เป็นอย่างมากต่อเกษตรกร

            การทำงานของเครื่องวัดความขุ่นสำหรับตรวจหาเชื้อไวรัสในกุ้งที่ใช้หลักการทางแสงและเทคนิค LAMP  เริ่มจากส่วนควบคุมอุณหภูมิที่สามารถกำหนดอุณหภูมิเพื่อควบคุมอุณหภูมิของสารละลายได้ตามที่ต้องการ หลังจากนั้นนำสารละลายที่มีตัวอย่าง DNA ของกุ้งที่ต้องการตรวจสอบบรรจุลงในหลอดทดลองโปร่งแสง แล้วปรับอุณหภูมิให้อยู่ที่ 63 °C เป็นเวลา 30 นาที เมื่อสารละลายอยู่ในอุณหภูมิที่ต้องการแล้ว ส่วนต่อไปก็คือส่วนตรวจวัดความขุ่นของสารละลาย ซึ่งจะทำงานโดยการยิงแสงสีแดงจากหลอด LED ซึ่งเป็นแสงที่หาซื้อง่ายและมีราคาถูก แสงจะถูกยิงผ่านสารละลายมาตกกระทบตัวรับแสงโดยปริมาณแสงที่ตกกระทบนี้จะขึ้นอยู่กับความขุ่นของสารละลาย ถ้าสารละลายมีความขุ่นเกิดขึ้นแสดงว่าตัวอย่าง DNA ที่นำมาตรวจเป็นของกุ้งติดโรค

            ทีมนักวิจัยที่ร่วมกันพัฒนาประกอบด้วย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์, นายอัศวพงษ์ ทรัพย์พัฒน์, นายถนอม โลมาส จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค รับผิดชอบในส่วนการวิจัยพัฒนาเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ และ ดร.วรรณสิกา เกียรติปฐมชัย , นายวันเสด็จ เจริญรัมย์, นางสาวธีรนาฏ พุทธวิบูลย์ จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค รับผิดชอบในส่วนผลิตน้ำยาสำหรับเทคนิค LAMP ซึงอุปกรณ์ต้นแบบชุดนี้มีราคาอยู่ที่ประมาณ 100,000 บาท

……………………………

สอบถามข้อมูลผลงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่

ดร.อดิสร เตือนตรานนท์

ผู้อำนวยการฝ่าย หน่วยปฏิบัติการวิจัยนาโนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องกลจุลภาค เนคเทค

02-5646900 adisorn.tuantranont@nectec.or.th

สวทช.ร่วมกับ คณะกรรมาธิการ ว และ ท เร่งมาตรการส่งเสริมงานวิจัยทคโนโลยี 5 ด้านหลักสู่ภาคประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

[singlepic id=244 w=320 h=240 float=]

21 กันยายน 2553 ณ อาคารรัฐสภา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดนิทรรศการแสดงผลงานความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ระหว่างวันที่ 21-30 กันยายน 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมที่มองเห็นและรับรู้ได้ชัดเจน ตลอดจนต้นแบบของความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคชนบทและเศรษฐกิจโดยรวมของไทย

[singlepic id=247 w=320 h=240 float=]

            นายพ้อง ชีวานันท์ ประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อผลักดันให้มีการนำงานวิจัยมาต่อยอดและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการนำไปประยุกต์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ซึ่งที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการฯ ได้ดำเนินการเพื่อเป็นการสนับสนุนงานวิจัย คือจัดสัมมนาเรื่อง “การส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : จากหิ้งสู่ห้าง” ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 3 กันยายน  2553 โดยร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มีภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมการสัมมนากว่า 400 คน เพื่อร่วมมือกันผลักดันให้งานวิจัยสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น โดยคณะกรรมาธิการฯ จะนำผลการสัมมนาเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้เป็นหนึ่งของยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

[singlepic id=250 w=320 h=240 float=]

สำหรับโครงการจัดนิทรรศการ “ผลงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม” คณะกรรมาธิการฯ ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและเทคโนโลยีที่พร้อมถ่ายทอดของ สวทช. ซึ่งเป็นต้นแบบของความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคชนบทและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย เช่น การปรับปรุงพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ทนน้ำท่วม การใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ เป็นต้น

 

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า  นิทรรศการที่นำมาแสดงในครั้งนี้ ประกอบด้วย 3 โซน ด้วยกันกล่าวคือ โซนที่ 1 เป็นการแนะนำสวทช. และหน่วยงานในสังกัด โซนที่ 2 เป็นงานวิจัยและพัฒนาที่ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร ดำเนินการอยู่  เช่น การปรับปรุงพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ทนน้ำท่วม การฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็มเพื่อเกษตรกร การวิจัยและพัฒนาพลาสติกคลุมโรงเรือน และงานวิจัยเพื่อพัฒนาถุงห่อผลไม้นาโน เป็นต้น ซึ่งผลสำเร็จของของงานวิจัยเหล่านี้ จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรกลุ่มสำคัญของประเทศ สำหรับโซนที่ 3 ได้จัดแสดงเทคโนโลยีที่มีการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์แล้ว เช่น เครื่องตรวจวัดกลิ่น E-nose ซึ่งจะมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สเปรย์สมุนไพรควบคุมและกำจัดไรฝุ่น ซึ่งจะแก้ปัญหาสุขภาพให้กับคนจำนวนมากซึ่งมักจะแพ้ไรฝุ่นในที่นอน เครื่องตรวจบัตรเครดิตปลอม ซึ่งเป็นประโยชน์ในวงการธุรกิจ และเทคโนโลยีการผลิตรากฟันเทียม ซึ่งนักวิจัยของสวทช. เป็นผู้วิจัยและพัฒนา โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ และได้ดำเนินการภายใต้โครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ  เพื่อผู้สูงอายุทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังนำเทคโนโลยี ที่ร่วมพัฒนากับภาคเอกชน มาจัดแสดงในโซนนี้ด้วย เช่น ผลิตภัณฑ์นม bedtime milk ที่สวทช. ได้จัดให้มีผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทำการวิจัยให้กับบริษัทแดรี่โฮม ในการวิจัยให้แม่วัวผลิตน้ำนมที่มีเมลาโตนีนสูงขึ้น ผลิตภัณฑ์เบรคไร้ใยหิน เป็นนวัตกรรมใหม่ ทดแทนการใช้ใยหินซึ่งเป็นสารที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดมะเร็ง ซึ่ง สวทช. ได้จัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านเบรคจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อนำไปใช้พัฒนาการออกแบบผ้าเบรคไร้ใยหิน เพื่อเป็นช่องทางเลือกให้กับลูกค้า และเพื่อส่งผลที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายหลัก และมีการวางจำหน่ายในท้องตลาดแล้ว

            ทั้งนี้ ผลงานกว่า 30 รายการ ที่นำมาจัดแสดงเป็นตัวอย่างในครั้งนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมที่สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร ดำเนินการ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งในภาคอุตสาหกรรม และเพื่อสาธารณประโยชน์โดยรวม สวทช. มีความคาดหวังว่าการจัดนิทรรศการผลงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ในครั้งนี้ จะนำไปการสร้างสู่ความรู้ ความเข้าใจ ในความสำคัญของวิทยาศาสตร์ต่อประเทศไทย ต่อไป ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวฯ

 

 

ผู้ส่งข่าว             นางลัดดา หงส์ลดารมภ์

ผู้อำนวยการ ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

โทรศัพท์            026448150-89  ต่อ 217,212,712

ก. เกษตร ฯ นำ นวัตกรรม ว และท ก.วิทย์ ฯ สร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรกรรม รับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย

เนื่องจาก โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของภาคเกษตรไทยยังไม่เข้มแข็งเพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่นมีค่าใช้จ่ายด้านนี้มากกว่าประเทศไทย 10 เท่าตัว ด้านนักวิจัยเกษตรของไทยมีปริมาณคงที่มาตลอด 10 ปี ดังนั้น ต้องพัฒนาความเข้มแข็งของโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยใช้กลไก “synergy” หรือ การเสริมซึ่งกันและกันจากจุดแข็งของสองกระทรวงในการร่วมกันกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเกษตรกรรมโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่จะครอบคุลมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการจัดการ ระบบข้อมูล การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนร่วมมือกันผลักดัน การขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ดังกล่าวสู่การปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในภาครัฐ เอกชน และชุมชน

ดังนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมกันผนึกกำลังในการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตรของประเทศอย่างจริงจังและเข้มแข็ง ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรกรรม โดย นายยุคล ลิ้มแหลมทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นางสาวสุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมเป็นประธานในงานดังกล่าว  จึงขอเรียนเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมทำข่าว ในวันที่ 23 กันยายน 2553 เวลา 13.00-13.45 น.ณ ห้องประชุม 123 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอก

 

โดยสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณโกเมศ, คุณสรินยา, คุณกัญรินทร์และคุณปริเยศ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โทรศัพท์ 02-6448150-89  ต่อ 217,237,212,712  หรือ 081-988-6614,  081-6881064, 084-5290006  และ 084-9100850

 

หมายเหตุ : มีรถรับ-ส่งสื่อมวลชน จอดหน้ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ออกเวลา 11.45 น. (ล้อหมุน)

สวทช อัดแคมเปญต่อเนื่อง เสิร์ฟเทคโนโลยีที่น่าสนใจให้นักลงทุน

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำทีมนักวิจัย คัดสรรผลงานเด่นทพร้อมทำเป็นธุรกิจ เปิดให้นักลงทุนช็อปปิ้ง ในงาน “NSTDA Investors’ Day ธุรกิจเทคโนโลยี ของดีสำหรับนักลงทุน” หวังให้วิทยาศาสตร์สามารถต่อยอดกับภาคอุตสาหกรรม และนำไปสู่การสร้างผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและสังคม

 

16 กันยายน 2553 ณ ห้องบอลลูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติ สิริกิตต์ ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “ธุรกิจเทคโนโลยี ของดีสำหรับนักลงทุน ”หรือ NSTDA Investors’ Day ซึ่งเป็นกิจกรรมประจำปีของ สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยจัดขึ้นในปีนี้เป็นปีแรก เพื่อเสนอผลงานวิจัยและเทคโนโลยีของ สวทช. ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่ามีศักยภาพสูงในการลงทุนผลิตเป็นสินค้าหรือให้บริการ เพื่อให้กลุ่มนักลงทุนเป้าหมายได้มีโอกาสเข้าถึงหรือเลือกซื้อผลงานวิจัยและเทคโนโลยีดังกล่าว รวมทั้งให้ความเห็นต่อการนำผลงานวิจัยที่จัดแสดงไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

      ดร.วีระชัย  วีระเมธีกุล   รมว.วท. กล่าวถึงรายละเอียดว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้กลายเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมาก เนื่องจาก วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานของการสร้างองค์ความรู้อันนำไปสู่การเป็นนวัตกรรมที่สามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ  แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าปราศจากการเชื่อมโยงงานวิจัยของภาครัฐให้เข้ากับการใช้ประโยชน์จากภาคเอกชน  เพื่อให้ผลงานวิจัยจากภาครัฐสามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับภาคเอกชนอย่างแท้จริงและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศแนวทางหรือกลยุทธ์ของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยมีหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การวิจัยเชิงรุก กลไกการสนับสนุนภาคเอกชน หรือ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้าน การวิจัยเชิงรุก และความร่วมมือในการต่อยอดเชิงพาณิชย์  จะเป็นความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ Public-Private Partnership (PPP) เป็นสิ่งที่สำคัญโดยเริ่มตั้งแต่การร่วมวิจัยและพัฒนา ที่มีการกำหนดโจทย์ที่ใช้ในการทำวิจัยร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือการต่อยอดผลงานวิจัยภาครัฐเพื่อใช้ในเชิง

                ทั้งนี้ ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล ได้กล่าวโดยสรุปว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสร้างสรรค์ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่จะเป็นพื้นฐานในการสร้างนวัตกรรมทั้งในผลิตภัณฑ์และบริการให้กับภาคอุตสาหกรรม ถึงแม้ว่าภาครัฐจะมีบทบาทที่สำคัญในการทำวิจัยและพัฒนาหรือสร้างมาตรการสนับสนุนภาคเอกชนให้ทำวิจัยและพัฒนา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือผลงานวิจัยเหล่านั้นจะไม่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมเลยถ้าปราศจากความร่วมมือจากภาคเอกชนในการนำผลงานวิจัยนั้นไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง จึงอยากเห็นงาน NSTDA investors Day เกิดขึ้นแบบนี้ทุกปี

 

        ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ  (สวทช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงาน NSTDA Investors’ Day ในปี 2553 นี้ ภายใต้Theme ของงานในปีนี้ คือ “ธุรกิจเทคโนโลยี ของดีสำหรับนักลงทุน” มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นเวทีหรือช่องทางเลือกอีกช่องทางหนึ่งที่เชื่อมโยงวงการอุตสาหกรรม การลงทุนและการเงิน เข้ากับวงการวิทยาศาสตร์ อันจะสามารถกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีที่สร้างผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและสังคมอย่างชัดเจน  โดยเป็นช่องทางของนักลงทุนในการเข้าถึงผลงานที่น่าสนใจและมีศักยภาพในการลงทุนจาก สวทช. กระทรวงวิทย์ รวมทั้ง เป็นการเปิดโอกาสให้นักวิจัยของ สวทช. ได้นำเสนอผลงานที่มีศักยภาพสำหรับการลงทุนต่อนักลงทุน เป็นเวทีให้นักวิจัยได้แสดงความสามารถในการนำเสนอผลงานต่อนักธุรกิจ และมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนทราบถึงความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการทำวิจัยและพัฒนาผลงานอื่นๆ ต่อไป  โดยผลงานเด่นในงานนี้ ได้แก่

·        ระบบหมุนเวียนน้ำแบบปิดสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำ (AquaRASD)  เป็นระบบหมุนเวียนน้ำแบบปิดที่ช่วยให้ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำในบ่อบ่อย

·        เม็ดมวลเบาสังเคราะห์ (G-Rock) ที่เมื่อนำไปผสมที่คอนกรีตแล้วจะช่วยให้คอนกรีตมีน้ำหนักเบาขึ้น แต่ยังคงความเข็งแรงเท่าเดิม ทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง

·        ระบบจำลองใบหน้าหลังจัดฟันและวางแผนการจัดฟัน (CephSmile V2) ซึ่งพัฒนาต่อยอดเป็น version 2 เพื่อเตรียมพร้อมให้บริการในรูปแบบ web service

·        น้ำยานาโนสำหรับผ้าไหม (Easy Silk Care) เพื่อทำให้ผ้าไหมมีผิวสัมผัส นุ่ม ลื่น และลดการยับ

·        ชุดตรวจโรคแพ้ยาในสุนัข (K9 Diagnostic Kit-MDR1) ที่สามารถตรวจหายีนในการแพ้ยาสุนัขได้ในเวลาอันรวดเร็ว ภายใน 90 นาที และไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่มีราคาแพง

        นอกจากนี้ยังเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยและพัฒนาของหน่วยงานพันธมิตร หรือของบริษัทที่ สวทช.กระทรวงวิทย์ ร่วมลงทุน   ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการ Commercialization cycle ของ สวทช. ที่นักวิจัยจะได้รับโจทย์หรือข้อคิดเห็นจากเอกชนตั้งแต่การเริ่มต้นพัฒนาวิจัย ไปจนถึงโอกาสในการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้กระบวนการดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยจะสามารถลดปัญหางานวิจัยที่พัฒนาขึ้นมาแล้วแต่ไม่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน  โดยหวังว่าการจัดงาน NSTDA Investors’ Day นี้จะเป็นช่องทางให้นักวิจัย นักธุรกิจ รวมถึงผู้ที่สนใจทั่วไป มาพบปะเจรจาธุรกิจ เพื่อให้ผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถออกไปสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้ธุรกิจเทคโนโลยีประสบความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อเร่งการแข่งขันในระดับสากล

 

        ในงานนี้ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้มีการบรรยายเรื่อง 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับวงการธุรกิจแห่งโลกอนาคต (10 Technologies to Watch) โดยกล่าวถึง Converging Technologies  ที่มีการหลอมรวมของเทคโนโลยีในสี่สาขาหลัก ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศ (information technology) เทคโนโลยีทางชีวภาพ (biotechnology) นาโนเทคโนโลยี (nanotechnology) และ ศาสตร์ของการรับรู้ (cognitive science) ซึ่งจะพลิกโฉมหน้าของวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทศวรรษนี้ ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของโลก จากนั้น ดร.ทวีศักดิ์ได้กล่าวถึงเทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของภาคเอกชน อันเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เช่น รถพลังงานไฟฟ้า พลังงานจากเซลล์สาหร่าย เซลล์แสงอาทิตย์ดัดได้ อิเล็กทรอนิกส์พิมพ์ได้ วัสดุอัจฉริยะ เส้นใยสังเคราะห์ผสม หุ่นยนต์จักรกลบริการ  และ Internet of Things โดยการบรรยายนี้ได้มีการกล่าวถึงเทคโนโลยีที่สามารถช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต เช่น น้ำพุแห่งชีวิต และ เภสัชพันธุศาสตร์ ซึ่งช่วยให้มวลมนุษยชาติมีอายุยืนยาวและมีสุขภาพที่ดีขึ้น ที่เรียกว่า Ten  Technology to watch ดังนี้

 

  1. Internet of Things
  2. หุ่นยนต์จักรกลบริการ
  3. เส้นใยสังเคราะห์ผสม
  4. วัสดุอัจฉริยะ
  5. อิเล็กทรอนิกส์พิมพ์ได้
  6. เซลล์แสงอาทิตย์ดัดได้
  7. พลังงานจากสาหร่าย
  8. รถพลังงานไฟฟ้า
  9. เภสัชพันธุศาสตร์
  10. น้ำพุแห่งชีวิต

ผู้ส่งข่าว                    ลัดดา หงส์ลดารมภ์  ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์

                                สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

โทรศัพท์                   026448150-89  ต่อ 217,212,712

สวทช.ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ ผุดโครงการคลีนิกเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนธุรกิจ SME พร้อมช่วยแก้ปัญหาจุดบกพร่องของภาคการผลิต ตลอดจนความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่างๆ

เรื่อง     สวทช.ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ  ผุดโครงการคลีนิกเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนธุรกิจ SME  พร้อมช่วยแก้ปัญหาจุดบกพร่องของภาคการผลิต ตลอดจนความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่างๆ

 

เรียน      บรรณาธิการข่าว/ผู้สื่อข่าว

 

ด้วย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (เอฟ ที ไอ) ร่วมมือจัดตั้ง “โครงการคลีนิกเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ระยะที่ 2” เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม,วินิจฉัยปัญหาทางเทคนิคด้านการผลิต ตลอดจนการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทย อันเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

โดยตั้งเป้าจัดกิจกรรม Road Show ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมกว่า 200 โครงการ เพื่อสนับสนุนแก่สมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ เอฟ ที ไอ ที่ประกอบธุรกิจในระดับ SMEs  ในการยกระดับเทคโนโลยีของภาคเอกชน โดยผ่านกลไก โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (โครงการ ITAP) ของ สวทช. ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการเพื่อพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการ

การนี้ จึงใคร่ขอเรียนเชิญสื่อมวลชนทุกท่านเข้าร่วมทำข่าว/สกรู๊ป ในงาน บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการคลีนิกเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ระยะที่ 2” โดยมี ฯพณฯ วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธี  พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผอ. สวทช. และนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย      ในวันจันทร์ ที่ 13 กันยายน  2553 เวลา 10.30 น. ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรุงเทพฯ

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาส่งผู้สื่อข่าวเข้าร่วมทำข่าว/รายงานพิเศษ ในวันและเวลาดังกล่าวด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง  โดยสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณโกเมศ, คุณสรินยา, คุณกัญรินทร์ และคุณปริเยศ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  โทรศัพท์ 02-644-8150-89  ต่อ 217,237,212,712  หรือ 081-668-1064,  081-988-6614, 084-529-0006  และ 084-910-0850

การส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : จากหิ้งสู่ห้าง

[singlepic id=232 w=320 h=240 float=]

วันที่ 31 สิงหาคม 2553 ณ อาคารรัฐสภา 3 นายพ้อง ชีวานันท์ ประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงาน “การส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : จากหิ้งสู่ห้าง” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  (สวทช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของประเทศไทยทราบถึงปัญหา อุปสรรค ในการนำงานวิจัยที่ทำโดยภาครัฐและเอกชนไปสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อร่วมกันหาทางออก และวิธีการแก้ไขอย่างบูรณาการ ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาทั้งภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงเงื่อนไขและมาตรการสนับสนุนที่หน่วยงานวิจัยภาครัฐและเอกชนต้องการ โดยผลสรุปจากเวทีดังกล่าวนี้จะมีการรวบรวมข้อเสนอแนะและความเห็นจากการสัมมนา เสนอต่อรัฐบาลให้ใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลัก ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป โดยนายพ้องเปิดเผยในรายละเอียดว่า

 

                   “ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ กล่าวคือจะช่วยเพิ่มความมั่งคั่งและความอยู่ดีกินดีของประชาชน และเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก

                   ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญนี้ และได้ตั้งหน่วยงานวิจัยและพัฒนางานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นมาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งหน่วยงานค้นคว้าวิจัยที่อยู่ในสถาบันอุดมศึกษา และมีสถิติแสดงถึงการตีพิมพ์งานวิจัยที่ทำสำเร็จแล้วในวารสาร เป็นจำนวนมากกว่าหมื่นเรื่องในรอบสิบปีที่ผ่านมา แต่ไม่มีสถิติแสดงว่าจำนวนงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารต่างๆ นับหมื่นเรื่อง มีจำนวนเท่าใดที่ถูกนำไปใช้เป็นประโยชน์

                   แม้ว่าประเทศไทยจะได้ลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นเวลานาน แต่ผลการจัดอันดับในเวทีโลกปี ๒๕๕๑ พบว่า ความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศไทยจัดอยู่เพียงอันดับที่ ๔๖ จาก ๑๓๔ ประเทศ และความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีเป็นอันดับที่ ๔๓ จาก ๕๕ ประเทศ และประเทศไทยยังไม่มีธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยตนเองอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นการที่จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น จะต้องเพิ่มทั้งปัจจัยด้านการลงทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการนำงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่เชิงพาณิชย์

                   ตามรายงานของดัชนีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ปี ๒๕๕๑ ประเทศไทยขาดดุลการค้าสินค้าเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี ๒๕๓๙-๒๕๔๘ เฉลี่ย ๗๐,๐๐๐-๘๐,๐๐๐ ล้านบาท/ปี และนอกจากนั้นในปี ๒๕๕๐ ประเทศไทยขาดดุลการชำระเงินทางเทคโนโลยี ๑๓๒,๖๘๙ ล้านบาท และขาดดุลค่าธรรมเนียมใบอนุญาต (Licensing fees & Loyalty fees) ประมาณ ๗๕,๐๐๐ ล้านบาท อีกทั้งรายได้ของการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีและค่าบริการทางเทคโนโลยี ที่เกิดจากธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มาจากการวิจัยและพัฒนาของเอกชนไทยนั้นยังมีสัดส่วนที่ต่ำ

                   จึงเห็นสมควรพิจารณาจัดสัมมนาเพื่อทราบถึงปัญหา อุปสรรค ทางออก และวิธีการแก้ไขอย่างบูรณาการ ในวันศุกร์ ที่ 3 กันยายน 2553 เวลา 08.00-16.30 น. ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยานศาสตร์ประเทศไทย ปทุมธานี โดยมี นายพ้อง ชีวานันท์ ประธานคณะกรรมธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน ร่วมอภิปราย  “เรื่องนโยบายส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์”  และอีกหนึ่งหัวข้อ“เงื่อนไขและมาตรการเชิงรุกในการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่ธุรกิจในเชิงพาณิชย์” กับผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับชั้นนำของประเทศ อาทิ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผอ.สวทช.,ศาสตราจารย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และคุณกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อนำข้อเสนอแนะตลอดจนมาตรการสนับสนุนที่รัฐควรจะดำเนินการที่ได้จากการสัมมนา มากำหนดทิศทางการวิจัยของประเทศ และสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน ให้เกิดการลงทุนในงานค้นคว้าวิจัย และนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติในทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

                   ทั้งนี้ผลสรุปและข้อเสนอแนะและความเห็นในการแก้ไขปัญหา ทางออก วิธีการแก้ไขอย่างบูรณาการ เงื่อนไขและมาตรการสนับสนุน จากการประชุมสัมมนาดังกล่าวจะมีการเสนอต่อรัฐบาลเพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี  และนวัตกรรม ให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลัก ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

 

ผู้ส่งข่าว ลัดดา หงส์ลดารมภ์

โฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี