วท.เชิญชวนเด็กเก่งวิทย์ฯ คณิตฯ เข้าศึกษาต่อมัธยมปลาย ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำ กว่า 7 แห่ง โดยใช้แนวทางการเรียน/สอน ร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์เป็นต้นแบบ พร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร

2 สิงหาคม 2553 ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่การกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขอเชิญชวนนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่า ที่มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพื่อสอบคัดเลือกศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย หรือ โครงการ วมว. เพื่อคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ประจำปีการศึกษา 2554 ในโรงเรียนชั้นนำกว่า 7แห่ง ทั่วประเทศ ที่อยู่ในกำกับการดูแลของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ อันได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ,มหาวิทยาลัยสงขลานคริทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์),มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(โรงเรียนดรุณสิกขาลัย),มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย),มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาสงขลานครินทร์),มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน (โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (โรงรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) เป็นต้น ซึ่งโรงเรียนแต่ละแห่งนั้น สามารถรับนักเรียนเข้าเรียนได้แห่งละ 30 คน รวม 210 คน ทั้งนี้นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือก จะได้รับทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเรียนเช่น อุปกรณ์การเรียน,เสื้อผ้า,ที่พัก และค่าใช้จ่ายส่วนตัวบางส่วน ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จนสำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 6 และถ้าหากจบการศึกษาแล้ว จะมีโอกาสได้รับการพิจารณาให้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในคณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยของรัฐ 24 แห่ง อีกด้วย

ดร.วีระชัย รมว.วท. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าว จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนานักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากผู้มีความสามารถพิเศษให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นกำลังสำคัญในการเพิ่มผลิตภาพ สร้างนวัตกรรมในภาคการผลิตและบริการต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นการสนับสนุนและขยายฐานการศึกษา สร้างฐานกำลังนักเรียนผู้มีศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั้งนี้หลักสูตรห้องเรียนวิทยาศาสตร์ โครงการ วมว. จะใช้หลักสูตรของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน และจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โดยมีครูพี่เลี้ยงดูแลอย่างใกล้ชิด สำหรับในปีการศึกษา 2554 โครงการ วมว. จะเปิดรับสมัครในช่วงระหว่างวันที่ 1-31 สิงหาคม 2553  กระวิทยาศาสตร์ฯ ได้มอบหมายให้โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นผู้ดำเนินการรับสมัคร และคัดเลือกนักเรียนรอบแรก จากนักเรียนทั่วประเทศที่ความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสาตร์และวิทยาศาสตร์ โดยดำเนินการสอบคัดเลือกพร้อมกับการคัดเลือกนักเรียนของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และนักเรียนห้องวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง 12 แห่ง โดยใช้ข้อสอบเดียวกัน  สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ Call Center 1313 หรือ www.most.go.th

 

 

ผู้ส่งข่าว             ลัดดา หงส์ลดารมภ์

ผู้อำนวยการ ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

สวทช. ผลักดันเทคโนโลยีเส้นใยเพื่อพัฒนา สิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษ ให้กับภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในประเทศไทย

อุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่มได้พัฒนาไปมากในศตวรรษที่ผ่านมาและจากข้อตกลงการค้าเสรี การแข่งขันที่นับวันจะยิ่งรุนแรง เราไม่สามารถที่จะสู้กันด้วยเรื่องของราคาหรือแรงงานราคาถูกได้ต่อไป R&D วิจัยพัฒนาจะเป็นตัวสำคัญในการเข้าสู่เวทีการแข่งขันของโลก

อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทย ซึ่งจำเป็นต้องมีการเร่งให้เกิดการขยายตัวได้อย่างยั่งยืน ทั้งหลายทั้งปวงซึ่งต้องพึ่งการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม สวทช. ซึ่งเล็งเห็นความจำเป็นนี้ จึงได้จัดตั้งโปรแกรมคลัสเตอร์ การทำงานด้านสิ่งทอขึ้น หนึ่งในนั้นคือการวิจัยทางด้านเส้นใย ไฟเบอร์ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยี ที่สำคัญในอุตสาหกรรมด้านนี้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ไต้หวันซึ่งได้มีการลงทุนในเรื่องเส้นใยไฟเบอร์เป็นอย่างมาก ได้ผลิตสินค้าสิ่งทอคุณสมบัติพิเศษต่าง ๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ประเภทรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างมากในตลาดโลก

ทั้งนี้ สวทช.และ สถาบันวิจัยพัฒนาสิ่งทอของไต้หวัน Taiwan Textile Research Institute ( TTRI )และสถาบันสิ่งทอไทยได้ร่วมกันจัดสัมมนาเชิงปฎิบัติการ Fiber Innovation Symposium and Workshop  เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนการแลกเปลี่ยนบุคลากรรวมทั้งการฝึกอบรมเพื่อยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านนี้ของไทย  จึงขอเรียนเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมทำข่าว FIBER INNOVATION และชมผลงานวิจัยผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ในวันที่ 5-6 สิงหาคม 2553 เวลา 9.00 น. ณ ห้องกมลทิพย์บอลรูม รร. สยามซิตี้ กรุงเทพ

 

 

โดยสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณโกเมศ, คุณสรินยา, คุณกัญรินทร์และคุณปริเยศ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  โทรศัพท์ 02-6448150-89  ต่อ 217,237,712,212  หรือ 081-6681064,  081-9886614, 084-5290006 และ 084-9100850

สวทช. นำเห็ด ภาคใต้ เรียนรู้ระบบนิเวศของประเทศไทย

[singlepic id=202 w=320 h=240 float=]

จากที่ ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล  รมว.วิทย์ฯ มีนโยบาย   สนับสนุนการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชนมากขึ้น โดยเน้นกิจกรรมที่สนุก เพื่อดึงความสนใจของเด็กทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านกิจกรรมบ่มความคิดสร้างปัญญาให้กับเด็กไทย เพิ่มเติมความรู้จากที่เรียนในห้องเรียน , ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการนำ ว และ ท ลงสู่ชุมชน เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและผลิตภาพภาคการผลิต รวมถึงยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและคุณภาพบริการทางสังคม  และส่งเสริมและสนับสนุนการนำ ว และ ท ไปเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเน้นการวิจัยเชิงประยุกต์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์บริการ ฯลฯ

[singlepic id=205 w=320 h=240 float=]

ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ รักษาการรองผู้อำนวยการ  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ได้ดำเนินงานสนองตอบนโยบายของ รมว.วิทย์ฯร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และมูลนิธิสวิตา จัดการเรียนรู้ ก้าวแรกสู่การเป็นนักอนุกรมวิธานเห็ด โดยต้องการส่งเสริมให้ครูและอาจารย์ได้รู้จักบูรณาการความรู้วิทยาศาสตร์ ระบบนิเวศและชุมชนโดยใช้เห็ดในธรรมชาติเป็นตัวแทนกิจกรรม ซึ่งผู้เข้าร่วมจะเสมือนเป็นนักอนุกรมวิธาน ( การจัดหมวดหมู่ของเห็ด )  โดยสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการสอนทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ตลอดจนขยายผลองค์ความรู้ ที่ได้พัฒนาเป็นอาชีพ รวมทั้งนำความรู้ที่ได้เชื่อมโยงกับระบบนิเวศและชุมชนให้เห็นคุณค่าและตระหนักถึงประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ   นอกจากนี้ ความรู้ที่ได้จากกิจกรรมนี้ได้ถูกนำไปขยายผลเป็นบทเรียน E-learning เพื่อเปิดสอนให้แก่คณะครู และผู้ที่สนใจต่อไป

ทั้งนี้ได้กล่าวเสริมว่า  ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงประเทศหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์  ตลอดจนจุลินทรีย์ที่หลากหลาย และยังมีลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในระบบนิเวศ  แต่เนื่องด้วยสภาวการณ์ปัจจุบันทำให้โลกมีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้อัตราการสูญพันธุ์และเปลี่ยนแปลงของชนิดพันธุ์เป็นไปด้วยความรวดเร็ว นอกจากนี้ความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติค่อนข้างจำกัดเฉพาะกลุ่มของนักวิทยาศาสตร์ในสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่ทันต่อการเรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ให้ทันต่อสภาพการณ์

            โดยเห็ดในธรรมชาติถือได้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่สำคัญของระบบนิเวศของประเทศไทย เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดคุณภาพความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า เห็ด มีหน้าที่สำคัญในระบบนิเวศน์ เสมือนเทศบาลของธรรมชาติ ทำหน้าที่  ย่อยสลายซากอินทรียวัตถุ สามารถใช้เป็นสีย้อมธรรมชาติ , หรือใช้ในการแพทย์ , อุตสาหกรรม  และยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชน จากการวิจัยพบว่า ชุมชนมีการพึ่งพิงเห็ดในธรรมชาติเพื่อการบริโภคถึงร้อยละ 84  แต่เนื่องจากปัจจุบันการศึกษาอนุกรมวิธานเห็ดรา หรือผู้ที่มีความชำนาญในการจัดจำแนกชนิดเห็ดมีอยู่น้อยมาก ประกอบกับข้อมูลบ่งชี้คุณลักษณะของเห็ดแต่ละชนิดมีอยู่อย่างจำกัดและมีการกระจายของข้อมูลอย่างไม่ทั่วถึง ชุมชนยังไม่มีความรู้เรื่องเห็ดดีเท่าที่ควรทำให้เรื่องของการเก็บเห็ดพิษมารับประทานเกิดขึ้นตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เสมอ

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา โดยการสนับสนุนจากกิจกรรมพัฒนาศูนย์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STKC) สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  จัดทำโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่นักอนุกรมวิธานเห็ดวิทยารุ่นใหม่เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างความตระหนักให้กับกลุ่มครูและนักเรียน ตลอดจนบุคลากรทั่วไปในการเป็นนักอนุกรมวิธานเรื่องเห็ดเบื้องต้น หรือ สามารถจัดจำแนกชนิดของเห็ดเบื้องต้น และเป็นการขยายผลองค์ความรู้ที่ได้จัดทำเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยง่าย  เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ เห็นคุณค่าและตระหนักถึงคุณประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนเป็นการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทราบถึงบริการของหน่วยงานที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการอบรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 70  คน ได้แก่ ครูในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ได้แก่   ยะลา  นราธิวาส  ปัตตานี  เข้าร่วมอบรม จำนวน 50 คน จาก 20 โรงเรียน อาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา  จำนวน  15  คน  เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษาบรมราชินีนาถ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา  จำนวน 5 คน โดยมีกิจกรรมทั้งการอบรม สัมมนา งานอนุกรมวิธานเห็ดเบื้องต้น อาทิมีการค้นหากับการเก็บรวบรวม , การบรรยายกับการจำแนก ,การกำหนดชื่อกับการพิสูจน์ , การเก็บรักษาและการดูแล , การอนุรักษ์ , และศึกษาเรื่องเห็ดพิษ  เป็นต้น ฯลฯ

 

ผู้ส่งข่าว   :     ลัดดา หงส์ลดารมภ์

ผู้อำนวยการ ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์

ก.วิทย์ ฯ มอบนโยบายให้ สวทช. เร่งวิจัยผลงานเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

[singlepic id=199 w=320 h=240 float=]

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการแก้ปัญหาวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่อุตสาหกรรม ( Green Thailand )โดยเป็นโครงการความร่วมมือ ระหว่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงอุตสาหกรรม  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  และสมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนนาดา   โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี  เป็นประธาน   มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกภาคส่วน ร่วมมือและช่วยกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษในเขตพื้นที่อุตสาหกรรม

[singlepic id=196 w=320 h=240 float=]

ในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   โดย ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล  รมว.ก.วิทย์ ฯ ได้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและมอบหมายให้หน่วยงานภายใต้สังกัด ก.วิทย์ฯ ช่วยกันเร่งหามาตรการแก้ไข ในทุกรูปแบบ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการ แบ่งปันและแลกเปลี่ยนข้อมูล สนับสนุนทรัพยากรและบุคลากร  รวมถึงการพัฒนางานวิจัย หรือแม้แต่การจัดกิจกรรม เพื่อให้เกิดความร่วมระหว่างหน่วยงาน   ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษต่างๆ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เป็นมาตรการเร่งด่วน

[singlepic id=193 w=320 h=240 float=]

ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รับหน้าที่ดำเนินการ หาวิธีการและวิจัยพัฒนางานต่างๆ ทุกรูปแบบ ที่สามารถนำมาช่วยแก้ไข  ฟื้นฟู หรือเยียวยาสภาพสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษได้   โดยสวทช.ได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว  จึงเกิดโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานโครงการสมองไหลกลับ (สวทช.) และ ATPAC ( สมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนนาดา ) ในการดำเนินการทำวิจัยและพัฒนาในทุกรูปแบบต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและมลพิษ  เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา ฟื้นฟู หรือเยียวยาสภาพสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ   โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมต่างๆ  ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนโดยรอบ  ให้กลับมามีสภาพปกติได้ดั่งเดิมต่อไป

 

ผู้ส่งข่าว   :     ลัดดา หงส์ลดารมภ์

ผู้อำนวยการ ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอเชิญสื่อมวลชนร่วมงานมอบรางวัลสิปปนนท์ วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม 2553 เวลา 13.30 – 16.30 น. ณ วังสวนผักกาด พญาไท กรุงเทพ

เนื่องด้วย กองทุนศาสตราจารย์ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน, สทศ.) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยใน           พระบรมราชูปถัมภ์   มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์  และมูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.) ได้ร่วมกันจัดงานเพื่อมอบ “รางวัลสิปปนนท์” ให้แก่ผู้ที่ทำคะแนนสูงของประเทศในการทดสอบ O-NET สาขาวิทยาศาสตร์เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างรากฐานและความก้าวหน้าให้กับแวดวงการศึกษาและวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยโดยเป็นไปตามปณิธานของ                         ศาสตราจารย์ ดร. สิปปนนท์  เกตุทัต ขอเชิญสื่อมวลชนร่วมงาน มอบรางวัลสิปปนนท์ โดย ดร. อำพน  กิตติอำพน  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้เกียรติเป็นประธานในการมอบรางวัลและกล่าวปาฐกถาเรื่อง “การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน”

 

กำหนดการงานมอบรางวัลสิปปนนท์  และปาฐกถา เรื่อง การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม 2553 เวลา 13.30 – 16.30 น.

ณ วังสวนผักกาด พญาไท กรุงเทพ

 

13.30 น.               ลงทะเบียน

14.00 น.                 ผู้ดำเนินรายการเชิญคุณเอมิลี่ เกตุทัต กล่าวเปิดงาน ผู้ดำเนินรายการเชิญ ดร. อำพน  กิตติอำพน มอบรางวัล  

14.30 – 15.30 น.   ปาฐกถาเรื่อง “การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน”โดย       ดร. อำพน  กิตติอำพน  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

15.30 – 16.30 น.   เชิญร่วมรับประทานอาหารว่าง

สวทช. นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมความก้าวหน้าโครงการ iTAP เครือข่ายม.สุรนารี ชมโครงการเกษตรอินทรีย์ การปลูกข้าวที่ใช้น้ำน้อย ฯลฯ

เรื่อง  สวทช. นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมความก้าวหน้าโครงการ iTAP เครือข่ายม.สุรนารี ชมโครงการเกษตรอินทรีย์ การปลูกข้าวที่ใช้น้ำน้อย ฯลฯ ในระหว่างวันที่ 20-21 ก.ค.53 เวลา 09.00 น.  จ. นครราชสีมา

เรียน   บรรณาธิการข่าว

 

            ด้วย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความประสงค์จะนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมความก้าวหน้าของโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) หน่วยงานภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC ) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ณ อำเภอ ปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 20-21 กรกฎาคม 2553

สำหรับโครงการที่ สวทช.ให้การสนับสนุน เช่น โครงการสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง ที่ อ.ปักธงชัย เป็นโครงการที่ทำการเกษตรอินทรีย์ ที่มีการปลูกข้าวที่ใช้น้ำปริมาณน้อย,โครงการเกษตรอินทรีย์ ที่มีการนำมูลสัตว์เลี้ยงมาทำปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เอง ,โครงการพัฒนาโรงสีข้าวเบญจวรรณ ที่ ต.กุดจิก เป็นโรงสีข้าวที่ได้รับการปรับปรุงให้การสีข้าวอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเยี่ยมชมกระบวนการผลิตสาหร่ายเส้นแก้ว ฯลฯ

การนี้ คุณสันติ สาทิพย์พงษ์ ที่ปรึกษา รมว.วท.พร้อมคณะทำงาน รมว.วท.ร่วมเดินทางลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ สวทช. จึงใคร่ขอเรียนเชิญสื่อมวลชนทุกท่านเข้าร่วมทำข่าว/รายงานพิเศษ ในวันและเวลาดังกล่าวด้วย  จักขอบพระคุณยิ่ง    สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่   คุณโกเมศ,  คุณสรินยา,  คุณกัญรินทร์และคุณปริเยศ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  โทรศัพท์ 02-6448150-89  ต่อ 217,237,212,712  หรือ 081-6681064,  081-9886614, 084-5290006  และ 084-9100850

 

หมายเหตุ :สวทช.มีรถบริการรับ-ส่ง สื่อมวลชนทุกท่าน จอดบริเวณด้านหน้า อาคาร สวทช. โยธี  ออกเวลา 09.00 น.(ล้อหมุน)

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับการทูลเกล้าฯถวายรางวัลผู้นำการจัดการเทคโนโลยีหรือ Leadership in Technology Management Award (LTM Award)

[singlepic id=190 w=320 h=240 float=]

วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา   สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำ Prof. Dr. Dundar F. Kocaoglu, President & CEOจาก (Portland International Conference on Management of Engineering and Technology) หรือ PICMET เข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลผู้นำการจัดการเทคโนโลยีหรือ Leadership in Technology Management Award  ( LTM Award ) ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และการบริหารงานตามหลักการบริหารจัดการเทคโนโลยี  โดยในปีนี้ คณะกรรมการจัดงาน ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล LTM Award แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยเห็นว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในด้านที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์เทคโนโลยี และการบูรณาการเทคโนโลยีหลากหลายสาขาเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาชนบทและผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะในด้านการศึกษา อาหารและโภชนาการ การแพทย์และสุขภาพ  มาโดยตลอด ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนและราษฎรในชนบทห่างไกล รวมทั้งผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าวเป็นรางวัลที่จัดขึ้นโดย(Portland International Conference on Management of Engineering and Technology) หรือPICMET ซึ่งเริ่มมีขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 โดยจะมอบเป็นเกียรติแก่บุคคลที่เป็นผู้นำในด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยีตั้งแต่การสร้างวิสัยทัศน์ การจัดการกลยุทธ์และการกำหนดทิศทางตลอดจนขับดันเพื่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติเพื่อให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ โดยรางวัลดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 หมวดคือ ผู้นำเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรม, ภาคการศึกษา และภาครัฐบาล จำนวนผู้ที่ได้รับรางวัลจนถึงปัจจุบันมีทั้งสิ้น 24 ราย

อนึ่ง ระหว่างวันที่ 18-22 กรกฎาคม 2553สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับ Portland International Center for Management of Engineering and Technology (PICMET), Portland State University ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ PICMET’10 Conference ภายใต้หัวข้อ “Technology Management for Global Economic Growth”   ณ โรงแรมฮิลตัน ภูเก็ต อคาเดีย รีสอร์ท แอนด์สปา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์การบริหารจัดการเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ แก่ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งประกอบด้วยผู้บริหาร นักวิชาการ นักวิจัย คณาจารย์ และนิสิตนักศึกษา จากทั้งภาครัฐและอุตสาหกรรม ทั้งในและต่างประเทศ อันจะนำไปสู่การสร้างความรู้พื้นฐานสำหรับการนำไปพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป

 

 

ผู้ส่งข่าว             ลัดดา หงส์ลดารมภ์

ผู้อำนวยการ ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ดร.วีระชัยฯ รมว.วท. สั่ง สวทช.ปรับกลยุทธ์ เน้นนำงานวิจัย รองรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตสู่สังคม พร้อมเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจเต็มกำลัง

[singlepic id=184 w=320 h=240 float=]

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 สวทช.ได้จัดการประชุมคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) ครั้งที่ 4/2553 ขึ้น ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร สวทช. ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โดยมี ดร.วีระชัย  วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในที่ประชุม

[singlepic id=187 w=320 h=240 float=]

สรุปสาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้ต้อนรับ ดร.ทวีศักดิ์  กออนันตกูล ซึ่งเริ่มปฏิบัติงานวันแรกในฐานะผู้อำนวยการ สวทช. และมีมติเห็นชอบให้ สวทช.ปรับโครงสร้างองค์กรและระบบการทำงาน เพื่อตอบสนองนโยบายการทำงานของรัฐมนตรีที่ต้องการให้เน้นการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างสังคมให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพ

การปรับโครงสร้างครั้งนี้ สวทช.จะมุ่งเน้นการทำงานในลักษณะการเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำกับภาคการผลิต ทั้งในด้านการวิจัย พัฒนา การปรับปรุงกระบวนการผลิต สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อให้ภาคการผลิตเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงพัฒนา โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น นอกจากนี้ จะเน้นการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงไปสู่ภาคชุมชนและชนบท เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

คณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ คือ กรรมการที่กำกับดูแลนโยบาย และ การทำงานของ สวทช. ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่ข้าราชการ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประธาน

ผู้ส่งข่าว : ลัดดา  หงส์ลดารมภ์

ภาพ : อนุศิษฏ์  มูลทองชุน

สมเด็จพระเทพรัตนฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเป็นองค์ประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกMOU ณ เมืองลินเดา

[singlepic id=181 w=320 h=240 float=]
สมเด็จพระเทพรัตนฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเป็นองค์ประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกMOUระหว่างสวทชโดย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูลและมูลนิธิการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบลที่เมืองลินเดา

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระเกียรติให้ดำรงตำแหน่งวุฒิสภากิติมศักดิ์ (สภาสูง) ของมูลนิธิผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา

เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายนนี้ ณ หอประชุมอินเซลฮัลเล เมืองลินเดา ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระเกียรติให้ดำรงตำแหน่งวุฒิสภากิติมศักดิ์ (สภาสูง) ของมูลนิธิผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา ในพิธีเปิดการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองลินเดา ระหว่างวันที่ ๒๗ มิถุนายน ถึง ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ยังความปลาบปลื้มแก่พสกนิกรชาวไทยเป็นล้นพ้น การถวายตำแหน่งในวุฒิสภากิติมศักดิ์ครั้งนี้ เนื่องจากทรงได้ทำคุณประโยชน์มากมายทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ผลักดันเชื่อมโยงให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ได้ก้าวสู่เวทีวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีระดับสากล เพื่อถ่ายทอดความรู้และสามารถนำมาต่อยอดในงานด้านวิทยาศาสตร์ในอนาคต การที่มูลนิธิผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดาถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องจากเห็นว่า พระองค์ทรงทำคุณประโยชน์อย่างเด่นชัดแก่การประชุมที่ลินเดาและแก่มูลนิธิผู้ได้รับรางวัลโนบลฯ นอกเหนือจากทรงเสียสละและทุ่มเทให้กับงานทางด้านวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งทรงมีผลงานอย่างเด่นชัดและน่าชื่นชมซึ่งสามารถสรุปด้วยคำกล่าวเพียงสามคำคือ การศึกษา (Education) ความเชื่อมโยง (Communication) และทรงทำให้เกิดการบูรณาการ (Integration)

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับการยกย่องและชื่นชมอย่างมากในประเทศไทย โดยเฉพาะการทรงงานเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ทรงเป็นตัวอย่างที่ดีในการบูรณาการกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ทั้งในประเทศไทยเองและต่างประเทศ ทรงใช้ความรู้และพระปรีชาสามารถอย่างเต็มพระกำลัง ไม่ใช่เพื่อพระองค์เอง แต่เพื่อทำให้เกิดการศึกษาและวิจัยค้นคว้าที่ก้าวหน้า ทรงประยุกต์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางแก่สังคม เหนืออื่นใด ทางเมืองลินเดาได้ขอบพระทัยที่ทรงเสียสละเวลาเพื่อสนับสนุนกิจกรรมหรือพันธกิจด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ของเมืองลินเดา โดยทรงสนับสนุนเชื่อมโยงและชักนำให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จากประเทศไทยได้เข้ามาร่วมการประชุมที่จัดขึ้นทุกปี และยังทรงผลักดันและสนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จากประเทศไทย ได้เข้าสู่วงการวิทยาศาสตร์ระดับสากล มีการแลกเปลี่ยนความรู้และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

จากนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสขอบคุณแก่มูลนิธิฯ ความว่า ทรงรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งและขอรับเกียรตินี้ไว้ด้วยความยินดี การค้นพบทางวิทยาศาสตร์นั้นได้ทำให้มนุษย์มีการกินอยู่ที่ดีขึ้น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยังทำให้เกิดความก้าวหน้าทางด้านนวัตกรรม และวิทยาศาสตร์ยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญด้านสุขภาพ สาธารณสุขและยา ทำให้มนุษย์เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างผาสุกยืนยาว และมีสุขภาพที่ดี

อย่างไรก็ดีเราต้องพยายามผลักดันให้วิทยาศาสตร์มีประโยชน์แก่ประชากรโลกอย่างทั่วถึง ต้องพยายามช่วยกันยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาสในสังคมโลกโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่าง ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เชื้อชาติและศาสนา

“ปัญหาที่ท้าทายในของโลกเราในปัจจุบันเราต้องมุ่งมั่นที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาของโลกไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาวะโลกร้อน การขาดแคลนพลังงาน การจัดการทรัพยากรน้ำ ความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหาร โรคที่อุบัติขึ้นมาใหม่ และสังคมของผู้สูงวัยในอนาคต ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจที่การประชุมที่ลินเดา ได้หยิบยกปัญหาและความท้ายทายดังกล่าวให้นักวิทยาศาสตร์ได้ช่วยกันรับผิดชอบเพื่อพัฒนาสังคมโลก ให้เป็นสังคมยั่งยืน และในการประขุมครั้งนี้ควรจะทำให้วิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งเดียว และมีความยั่งยืนในโลก”

อนึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นผู้สนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของไทยได้เข้าร่วมประชุมกับบรรดานักวิทยาศาสตร์โลกที่ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา ๓ ปีแล้ว โดยทรงเป็นผู้คัดเลือกนักวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นตัวแทนจากประเทศไทยให้มาร่วมการประชุมด้วยพระองค์เอง นับเป็นน้ำพระราชหฤทัยงดงามและเปี่ยมด้วยพระเมตตาอย่างยิ่ง สำหรับในปี ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นปีสำคัญเพราะมีการจัดประชุมพร้อมกันใน ๓ สาขา ได้แก่ เคมี ฟิสิกส์และการแพทย์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงคัดเลือกตัวแทนนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จากเมืองไทยให้เดินทางมาร่วมประชุมทั้งสิ้น ๕ คน ได้แก่ ๑. นายสุธีรักษ์ ฤกษ์ดี ๒. นางสาวนิธิวดี ไทยเจริญ ๓. นายสิขริณญ์ อุปะละ ๔.นายสุรเชษฐ หลิมกำเนิด ๕. นายฉัตรชัย เหมือนประสาท

สำหรับการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา เริ่มจัดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๔ โดยมูลนิธิผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลกับเยาวชนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่รวมทั้งนักวิจัยจากทั่วโลก โดยการประชุมจะมีช่วงระหว่างปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม โดยจัดขึ้นทุกปีจนถึงปัจจุบัน หมุนเวียนไปตามสาขาได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี และสรีรวิทยาหรือแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ.๒๕๔๘ ที่ผ่านมาเป็นปีไอน์สไตน์ ซึ่งทางมูลนิธิได้จัดการประชุมขึ้นพร้อมกันทั้ง ๓ สาขา ส่วนปี พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นปีแรกที่ประเทศไทยส่งนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมในสาขาฟิสิกส์

การที่สมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงสนับสนุนและพระราชทานโอกาสแก่เยาวชนไทยในการเข้าร่วมประชุมระดับนานาชาติ ทรงเคยมีพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า เพราะทรงอ่านพบเกี่ยวกับรายละเอียดงานประชุมนี้และทรงเห็นว่ามีเยาวชนจากนานาประเทศเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก รวมทั้งตัวแทนจากเพื่อนบ้านเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย จีน แต่ไม่เคยมีเยาวชนไทย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ สวทช.. ดำเนินการประสานงานจนกระทั่งสามารถจัดส่งตัวแทนจากประเทศไทยเข้าร่วมประชุมดังกล่าว

ดูข้อมูลเพิ่มเติม http://www.lindau-nobel.org/