กระทรวงวิทย์ฯ ดันข้าวสายพันธุ์ทนแล้ง เข้าครม. เตรียมขยายผลสู่เกษตรกรสู้ภัยแล้ง…ต่อไป

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล เปิดเผยว่า ปัจจุบันภัยแล้งเป็นปัญหาสำคัญของพื้นที่การเกษตรที่อาศัยน้ำฝนโดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งแต่ละปีมักประสบปัญหาความไม่แน่นอนของปริมาณและการกระจายตัวของฝนจึงเกิดสภาพ แล้งและน้ำท่วมเป็นประจำ ความแห้งแล้งจะเกิดได้ทุกระยะการปลูก คือ ต้นฤดูฝน กลางฤดู หรือปลายฤดูฝน ถ้าปีไหนแล้งจัดก็อาจจะแห้งแล้งทั้งต้นและปลายฤดูปลูก เป็นต้น ซึ่งการเกิดสภาพแล้งในระยะที่ข้าวกำลังออกรวงนั้นทำให้ผลผลิตข้าวลดลงอย่างมาก ซึ่งในปีที่แล้งจัดเกษตรกรอาจจะไม่ได้ผลผลิตข้าวเลย ทั้งนี้ ได้เร่งให้ สวทช.ซึ่งมีองค์ความรู้เรื่องพันธุกรรมข้าวหลายด้านเร่งเสนอมาตรการและแนวทางที่จะช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยขณะนี้ สวทช.โดยศูนย์ไบโอเทคได้ร่วมมือกับ สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พัฒนาข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข6 ให้ทนแล้งได้สำเร็จโดยยังคงคุณภาพเหมือน กข6 และพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เดิม โดยใช้วิธีปรับปรุงพันธุ์แบบมาตรฐาน (conventional breeding) และใช้ดีเอ็นเอเครื่องหมายที่เกี่ยวข้องกับลักษณะทนแล้งและคุณภาพหุงต้มช่วยในการคัดเลือก ซึ่งการปรับปรุงพันธุ์ให้ทนแล้งอาจจะยากกว่าในลักษณะอื่นๆ เนื่องจากความทนแล้งมีระยะเวลาแตกต่างไม่เหมือนกัน เช่น ภาวะแล้งอาจจะมาในระยะต้น ระยะกลางหรือในระยะปลาย ซึ่งลักษณะข้าวที่จะทนแล้งแต่ละระยะที่จะพัฒนาก็จะไม่เหมือนกัน คณะนักวิจัยจึงเน้นพัฒนาพันธุ์ข้าวทนแล้งที่ระยะออกดอกให้ผลผลิตเนื่องจากเป็นระยะที่มีผลมากสุด โดยคณะนักวิจัยได้ทำการสืบหาตำแหน่งของยีน และพัฒนาเป็นดีเอ็นเอเครื่องหมาย เพื่อนำมาใช้ในการคัดเลือกพันธุ์ข้าวทนแล้ง ปัจจุบันสามารถพัฒนาสายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ทนแล้ง ที่ยังคงคุณภาพการหุงตุ้มใกล้เคียงกับพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เดิม จากการปลูกประเมินในสภาพแล้ง สามารถคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวที่ปลูกในสภาพแล้งที่ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เดิม ซึ่งจะนำไปปลูกทดสอบด้านผลผลิตและการปรับตัวในแปลงเกษตรกรต่อไป และได้พัฒนาสายพันธุ์กข6 ทนแล้ง ที่ยังคงคุณภาพการหุงตุ้มใกล้เคียงกับพันธุ์ กข6 เดิม ขณะนี้ อยู่ระหว่างการปลูกทดสอบผลผลิตระหว่างสถานี นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาข้าวพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสงที่มีความสามารถในการทนน้ำท่วมและทนแล้ง ขณะนี้ อยู่ระหว่างการปลูกทดสอบผลผลิตระหว่างสถานี และจะปลูกทดสอบด้านผลผลิตและการปรับตัวในแปลงเกษตรกรต่อไป ทั้งนี้จะได้นำเข้ารายงานที่ประชุม ครม.เพื่อหาแนวทางขยายผลต่อไป ดร.วีระชัยกล่าว

ดร.วีระชัย รมว.วท เร่งเครื่อง ผลักดันชุมพร เป็นเมืองไบโอเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก แห่งแรกของประเทศ ให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณ 53

วันที่ 23 มิถุนายน 2553 ณ ศูนย์บริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและดาราศาสตร์ โครงการพระราชดำริพื้นที่หนองใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะผู้บริหารและหน่วยงานภายใต้สังกัด ตรวจพื้นที่เพื่อดูความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการนำร่องจังหวัดชุมพรด้านไบโอเทคโนโลยีพร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการโครงการพระราชดำริหนองใหญ่
ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้กำหนดให้โครงการนำร่องจังหวัดชุมพรด้านไบโอเทคโนโลยี เป็นแผนงานหนึ่งที่จะดำเนินการ ในปีงบประมาณ 2553 ซึ่งจะเน้นการนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ ไปพัฒนาจังหวัดชุมพรให้เป็นเมืองไบโอเทคโนโลยี โดยประยุกต์ให้สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน และเพื่อให้เป็นต้นแบบของการดำเนินการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเชิงพื้นที่ (Area Based) ต่อไป
สำหรับการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปพัฒนาจังหวัดชุมพร มีวัตถุประสงค์ เพื่อ (1) สร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่เกินจากความต้องการของตลาด (2)พัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้า ผลิตภัณฑ์ และบริการ (3) พัฒนาสินค้าและบริการของจังหวัดชุมพรสู่มาตรฐานสากล และ(4) เพื่อพัฒนาชุมชน กลุ่มผู้ประกอบการให้ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในภาคการผลิต
ดร.วีระชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับความต้องการสนับสนุนเทคโนโลยีด้านการเกษตรและการแปรรูปโดยเร่งด่วนนั้น เรื่องขอรับการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบสกัดน้ำมันปาล์มแบบไม่ใช้ไอน้ำขนาด 1 ตัน ได้มอบหมายให้ สวทช. รับไปดำเนินการถ่ายทอด ซึ่งมีความสำเร็จจากโรงงานผลิตไปโอดีเซลล์สำหรับชุมชนแบบครบวงจรเฉลิมพระเกียรติ 60 ปี ที่จังหวัดสระบุรีเป็นต้นแบบ ส่วนการผลิตไบโอดีเซลจะใช้เทคโนโลยีแผงโซล่าร์หรือเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อการผลิตไบโอดีเซล มาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิต เป็นระบบผลิตๆไฟฟ้าและน้ำร้อน โดยไฟฟ้าจะนำไปใช้กับเครื่องผลิตไบโอดีเซล ส่วนน้ำร้อนจะนำไปใช้อุ่นถังปฏิกิริยาการผลิตไบโอดีเซล เป็นต้น รวมไปถึงการสนับสนุนชุดทดสอบไบโอดีเซลล์แบบง่ายเพื่อใช้ทดสอบมาตรฐานของน้ำมันที่ผลิตได้ในชุมชนด้วย
นอกจากนั้น ยังมีมาตรการสนับสนุนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น การแปรรูปมังคุดให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น ผลิตภัณฑ์มังคุดแช่เยือกแข็งแบบแยกชิ้น ผลิตภัณฑ์เนื้อมังคุดในน้ำเชื่อมบรรจุกระป๋อง และผลิตภัณฑ์มังคุดกึ่งแห้ง ฯลฯ โดยมอบหมายให้ สวทช. ประสานงานความร่วมมือกับสมาคมชาวสวนมังคุดในการสร้างโรงงานผลิตให้มีมาตรฐานสากล ทั้งนี้ สวทช.จะให้คำปรึกษา และส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าช่วยเหลือด้านกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ส่วนในเรื่องของการลดการใช้พลังงานของเตาอบยางแผ่นรมควันนั้น ในขณะนี้ สวทช.ได้ประสานงานเครือข่ายโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (iTAP) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อนำผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา แก่บริษัทที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงเตาอบที่มีอยู่ให้ประหยัดพลังงานมากขึ้นและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ดร.วีระชัยฯ รมว.วท กล่าว.

วิทย์ไขได้ : ปันน้ำใจ ร้านค้าไทย พ้นวิกฤติ เนคเทค/กระทรวงวิทย์ ร่วมตลาดดอทคอม เปิดหน้าร้านออนไลน์ ช่วยเหลือร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม พร้อมเปิดพื้นที่ในกระทรวงฯ กว่า 300 ร้าน เพื่อจำหน่ายสินค้าฟรี!

[singlepic id=179 w=320 h=240 float=] 

        26 พฤษภาคม 2553 ณ ห้องโถง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดให้มีงานแถลงข่าว โครงการ “วิทย์ไขได้ : ปันน้ำใจ ร้านค้าไทย พ้นวิกฤติ” เป็นมาตรการช่วยเหลือร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงการชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการห้างร้านได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองเป็นจำนวนมาก  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติหรือเนคเทค  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมกับ บริษัท ตลาดดอทคอม จำกัด ผู้นำด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Commerce ของไทย ดำเนินโครงการวิทย์ไขได้ : ปันน้ำใจ ร้านค้าไทย พ้นวิกฤติ เพื่อร่วมเยียวยาผู้ประกอบการห้างร้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเปิดอบรมและสอนการทำธุรกิจออนไลน์ จากผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจออนไลน์  สำหรับทุกคนที่สนใจโดยไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์หรือพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่องกับระบบ e-Commerce ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางในการจำหน่ายสินค้าผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่ทำได้ทุกที่ทุกเวลา   สามารถเข้าถึงนักท่องหรือนักช็อปทางอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนก็สามารถเลือกซื้อได้ตามต้องการ

[singlepic id=180 w=320 h=240 float=]

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า โครงการ “วิทย์ไขได้ : ปันน้ำใจ ร้านค้าไทย พ้นวิกฤติ” ถือว่าเป็นโครงการตามดำริของท่านนายกรัฐมนตรีที่ให้ทุกกระทรวงช่วยกันเร่งหามาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง และถือว่าเป็นโครงการในลักษณะบูรณาการความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน คือ  เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมไทย ให้กลับสู่ภาวะปกติ  และบรรเทาความบอบช้ำของผู้ประกอบการร้านค้า ให้ได้มากที่สุด และเร็วที่สุดด้วย ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก เนคเทค/ สวทช. และบริษัทตลาดดอทคอม จำกัด  โดย เนคเทค อคาเดมี (NECTEC Academy)  และตลาดดอทคอม  จะเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการก่อนเข้าสู่ e-Commerce  โดยจัดฝึกอบรมพื้นฐานด้าน e-Marketing และ e-Commerce ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งตลาดดอทคอมจะยกเว้นค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ เป็นเวลา 12 เดือน เริ่มประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2553 นี้  โดยตั้งเป้าหมายจำนวนผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 120 ห้างร้าน และคาดหวังว่าจะสร้างกระแสเงินหมุนเวียนได้เฉลี่ยกว่า 150,000 บาทต่อ 1 ห้างร้าน ในระยะเวลา 3 เดือน 

[singlepic id=178 w=320 h=240 float=]

คุณหญิงกัลยาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการจัดกิจกรรมโครงการวิทย์ไขได้: ปันน้ำใจ ร้านค้าไทย พ้นวิกฤติ แล้ว กระทรวงวิทย์ฯยังจัดสรรพื้นที่บริเวณหน้ากระทรวงฯ กว่า 300 ร้านค้าเพื่อรองรับการจำหน่ายสินค้า โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น  พร้อมกันนี้ยังมีโครงต่อเนื่อง ลงพื้นที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือแก่ชุมนุมที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ดังกล่าวในเร็วๆ นี้อีกด้วย

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า โครงการ “วิทย์ไขได้: ปันน้ำใจ ร้านค้าไทย พ้นวิกฤต”  เนคเทค/สวทช. มีนโยบาย คือเน้นการพัฒนาบุคลากรและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเป็นกลไกในการแก้โจทย์ปัญหาของประเทศ ณ เวลานี้ ดังนั้น สวทช. จึงมอบหมายให้สถาบันฝึกอบรมเนคเทค หรือ NECTEC Academy  รับผิดชอบและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาดังกล่าว และโครงการนี้จะไม่ใช่เป็นเพียงแค่การจัดฝึกอบรมให้ผู้ประกอบการให้เข้ามารับฟังการบรรยายเท่านั้น หากยังมีกิจกรรมการทำ  workshop เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ลงมือปฏิบัติจริง และแก้โจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เมื่อผู้ประกอบการผ่านการอบรมไปแล้ว จะสามารถบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดดอทคอม จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  การอบรมจะแบ่งออกเป็น 2 หลักสูตร กล่าวคือ หลักสูตรสำหรับผู้ประกอบที่ไม่มีพื้นฐานในด้านการบริหารจัดการร้านค้าในลักษณะแบบออนไลน์ และอีกหลักสูตรหนึ่งเป็นหลักสูตรสำหรับผู้ประกอบการที่มีพื้นฐานอยู่แล้ว  ดังนั้นเราจึงเน้นให้ความรู้ในแง่ของการบริหารจัดการและการวางแผนการตลาดแบบออนไลน์ และสิ่งที่เข้าร่วมอบรมจะได้รับ คือเว็บไซต์สำเร็จรูป มูลค่า กว่า 18,000 บาท และมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ ปรึกษาในการทำธุรกิจ e-commerce  ให้ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นยอดขายในธุรกิจออนไลน์ของผู้ประกอบการ  โดยผู้ประกอบการสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันนี้ – 30  มิถุนายน 2553  

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่   http://www.tarad.com/activity/healbkk/   โทรศัพท์  02-541-4100 # 1100 – 1106  หรือ  Email : sale@tarad.com

สวทช. ร่วมมือวิชาการกับ อย. ด้านการประเมินความปลอดภัยของอาหารที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ เร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคในประเทศ

[singlepic id=171 w=320 h=240 float=]

5 เมษายน 2553 ณ อาคารศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย รังสิต ปทุมธานี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ด้านการประเมินความปลอดภัยของอาหารที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ โดยมี ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย นายแพทย์นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นประธานในพิธี   การบันทึกข้อตกลงดังกล่าวระหว่างสองหน่วยงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะร่วมสนับสนุนงานวิชาการด้านการประเมินความปลอดภัยฯ ของประเทศไทย ทั้งในเรื่องการพัฒนาบุคลากร การพัฒนาระบบหรือมาตรการกำกับดูแล รวมถึงการพัฒนาด้านงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  และยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค ถึงแม้ว่าจะมีการประเมินความปลอดภัยมาแล้วระดับหนึ่งจากประเทศผู้ผลิต

            ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะมีนโยบายอย่างชัดเจนในการห้ามเพาะปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อการพาณิชย์ แต่มีการอนุญาตให้นำเข้าข้าวโพด และถั่วเหลืองมาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารทั้งของคนและสัตว์ ซึ่งในแต่ละปี อุตสาหกรรมในประเทศไทยมีความจำเป็นต้องนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวโพดจากต่างประเทศในปริมาณมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถั่วเหลือง ซึ่งทั่วโลกมีการปลูกถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 3 ใน 4 ของพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองทั้งหมด 562 ล้านไร่  ดังนั้นการประเมินความปลอดภัยของอาหารที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่จึงถือเป็นมาตรการหนึ่ง ที่ประเทศไทยนำมาปฏิบัติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคภายในประเทศ

และในฐานะ สวทช. เป็นหน่วยงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ และมีความพร้อมทั้งในด้านวิชาการและบุคลากร มองเห็นถึงความสำคัญในเรื่องการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการแก้ไขปัญหา ทั้งในด้านการเกษตรหรืออุตสาหกรรม รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในประเทศ จึงเห็นว่าความร่วมมือทางวิชาการกับ อย. ในเรื่องการประเมินความปลอดภัยของอาหารที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมนโยบายความปลอดภัยอาหาร และเป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศทั้งในส่วนบุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีดังกล่าว รวมถึงการกำกับดูแลที่มีระบบและมีประสิทธิภาพ

ด้าน นายแพทย์นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยกำกับดูแลความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพที่จำหน่ายในประเทศ ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ อย. กำกับดูแลรวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย พัฒนากฎหมาย และกฎระเบียบให้ทันสมัย มีการเฝ้าระวังกำกับและตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ สถานประกอบการ และการโฆษณา ให้มีความถูกต้อง รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาผู้บริโภคให้มีศักยภาพ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สุขภาพมีความปลอดภัย  แต่ปัจจุบันมีปัจจัยที่มีความหลากหลาย  ส่งผลต่อความปลอดภัยด้านอาหาร ทั้งในเรื่องของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีการพัฒนารุดหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอาหารที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ซึ่งต้องมีมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยที่เข้มงวด มีความโปร่งใส สอดคล้องและทัดเทียมกับสากล และต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหลายสาขาในการพิจารณาความปลอดภัย

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีการสร้างภาคีเครือข่ายทางวิชาการกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อร่วมมือในการคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างฐานความรู้ การดำเนินการ ที่ผ่านมาสำหรับการดูแลความปลอดภัยสำหรับอาหารที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ นั้น อย.ได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับสวทช.มาโดยตลอด ดังนั้นจึงเห็นควรให้มีความร่วมมือทางวิชาการในการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการให้คำปรึกษาสำหรับการประเมินความปลอดภัยของอาหารที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ระหว่าง 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างความเข้มแข็งในการคุ้มครองผู้บริโภคในการกำกับดูแลความปลอดภัยของอาหารที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่    เพื่อให้การพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในการประเมินความปลอดภัยของอาหารที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ของประเทศไทยให้เข้มแข็ง ทั้งด้านบุคคลากร การบริหารจัดการความเสี่ยง การศึกษาวิจัยรองรับความปลอดภัยอาหารที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่

สารคดีหนึ่งในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่องโนเบลกับมวลมนุษยชาติฯ

      ตามที่ สวทช.ได้รับสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระประสงค์ให้นิสิตนักศึกษานักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ของไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา เพื่อเปิดโลกทัศน์ทางวิชาการ อีกทั้งได้มีโอกาสเรียนรู้ความก้าวหน้าทางวิทยาการใหม่ๆ จากประสบการณ์จริงของนักวิจัย และหรือนักวิทยาศาสตร์ผู้เคยได้รับรางวัลโนเบลในอดีตจำนวนมาก 
 
     การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นโดยมูลนิธิผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา (Foundation Lindau Nobelprizewinners Meeting at Lake Constance) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ได้รับรางวัลโนเบลกับเยาวชนและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ งานดังกล่าวจัดขึ้นทุกปีในช่วงระหว่างปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ณ เมืองลินเดา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในปีที่ผ่านมา เป็นการประชุมของนักวิทยาศาสตร์โนเบลในสาขาเคมี ซึ่งสวทช.ได้ดำเนินการประกาศแจ้งการรับสมัครและคัดเลือกนิสิต นักศึกษา นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์เข้าร่วมกิจกรรมร่วมกับผู้แทนสมาชิกคณะผู้ก่อตั้งการประชุม และนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัยในขั้นตอนสุดท้าย
 
     ทั้งนี้ สวทช.โดยการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต และบริษัทพาโนรามา ได้จัดทำสารคดี หนึ่งในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่องโนเบลกับมวลมนุษยชาติและประเทศไทย โดยเก็บเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจอย่างยิ่งจากนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลในการประชุมครั้งที่ผ่านมา มาจัดทำสารคดีนำเผยแพร่ออกอากาศทางช่อง 9 โดยออกอากาศหลังรายการ “เช้าข่าวข้น” เวลา 8.00-8.15 น. วันที่ 1,2,5,7,8 เมษายน และจะนำออกre-run ทาง True Vision ช่อง 98

โครงการ การทำเกษตรกรรมเชิงการค้าเกี่ยวกับวัตถุดิบการผลิตอาหาร ที่เกี่ยวเนื่องกับ GM (Genetically Modified)

งานแถลงข่าว : โครงการ การทำเกษตรกรรมเชิงการค้าเกี่ยวกับวัตถุดิบการผลิตอาหาร ที่เกี่ยวเนื่องกับ GM (Genetically Modified) ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 ในวันพุธ ที่ 31 มีนาคม 2553 เวลา 10.00 -12.00 น. ณ ห้องนนทรี2 ชั้น 4 KU HOME ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จตุจักร กรุงเทพฯ

สวทช.ร่วมกับเครือข่ายการ์ตูนไทยประกาศผลรางวัลชนะเลิศการประกวดการ์ตูนไทยไซไฟ รับเงินรางวัล พร้อมผลงานตีพิมพ์โชว์สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 38 นี้ด้วย

เรื่อง  สวทช.ร่วมกับเครือข่ายการ์ตูนไทยประกาศผลรางวัลชนะเลิศการประกวดการ์ตูนไทยไซไฟ รับเงินรางวัล พร้อมผลงานตีพิมพ์โชว์สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 38 นี้ด้วย

 

เรียน   บรรณาธิการข่าว

สืบเนื่องจาก    สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ    (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมากล สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก และสมาคมการ์ตูนไทย และเครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม  ได้ร่วมจัด โครงการประกวด การ์ตูนไซไฟไทย ก้าวไกลสู่สากล ครั้งแรก  เพื่อให้เยาวชน  ที่มีความสามารถและสนใจในเชิงสร้างสรรค์   ส่งผลงานการเขียนการ์ตูนเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์หรือไซไฟ เพื่อเป็นสื่อที่ใช้จินตนาการและความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์    เข้าร่วมประกวด    ครั้งนั้นมีผลงานที่ส่งเข้าร่วมประกวดกว่า 150 ผลงาน

การนี้ สวทช. จึงได้มีการประกาศผลงานชนะเลิศ  ที่ได้รับเงินรางวัล  15,000 บาท และรางวัลอื่นๆ โดยผลงานทั้งหมดที่ได้รับรางวัลจะได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือ และเปิดตัวครั้งแรกในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 38 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ครั้งนี้ด้วย

 

ในวันจันทร์ที่  29  มีนาคม  2553  เวลา 13.00 น. ณ  เวทีกลาง งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 38 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์   การนี้  ศ.ดร.ยงยุทธ  ยุทธวงศ์  นักวิจัยอาวุโส  ให้เกียรติเป็นประธานและมอบรางวัลครั้งนี้ด้วย

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาส่งผู้สื่อข่าวเข้าร่วมทำข่าว/รายงานพิเศษ ในวันและเวลาดังกล่าวด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง  โดยสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณโกเมศ, คุณสรินยา, คุณกัญรินทร์และคุณปริเยศ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โทรศัพท์ 02-6448150-89  ต่อ 217,237,212,712  หรือ 081-6681064,  081-9886614, 084-5290006  และ 084-9100850

สวทช. สนับสนุนทุนกว่า 1 ล้าน แก่ สำนักระบาดวิทยา และสวนดุสิตโพล วิจัยสำรวจการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่

[singlepic id=168 w=320 h=240 float=]

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม  2553  ณ อาคารพระจอมเกล้า ชั้น 6  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) ร่วมกับสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค  สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดแถลงข่าว แบบสำรวจช่วยบอกสถานการณ์และแนวโน้มการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 เป้าหมายเพื่อการสำรวจและค้นหาผู้ที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ (Influenza-like  illness : ILI) ที่อยู่ในชุมชนและไม่ได้รับการรักษาในระบบสาธารณสุข ซึ่งผลการสำรวจได้ออกแบบควบคู่กับการเจาะเลือดเพื่อตรวดวัดระดับภูมิคุ้มกัน (antybody) ต่อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 2009

[singlepic id=169 w=320 h=240 float=]

เนื่องจากปัจจุบัน โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A H1N1 ในประเทศไทย มีการแพร่กระจายไปอย่างมาก นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2552  และยังพบผู้ป่วยอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันการติดเชื้อมากกว่า 3 หมื่นราย และเสียชีวิต 218 ราย (ข้อมูล : วันที่ 10 มีนาคม 2553 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค) พบว่าผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ดังกล่าว มีระดับความรุนแรงของโรคที่แตกต่างกันไป  โดยพบทั้งผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง และผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ และอาการปอดอักเสบจนถึงขั้นเสียชีวิต

 [singlepic id=170 w=320 h=240 float=]

      สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนให้มีการนำเอาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปช่วยในการแก้ไขปัญหาต่างๆ    เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวจึงให้การสนับสนุนทุน 1.3 ล้านบาท  ทำโครงการวิจัยการสำรวจอัตราป่วยและแนวโน้มการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ชนิด A (H1N1) และอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย มีระยะเวลา 6 เดือน (ก.ย.2552 – มี.ค.2553) โดยมีทีมงาน  นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ และนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ภายใต้การนำของ นพ.ภาสกร อัครเสวี จากสำนักระบาดวิทยา  ร่วมกับทีมงาน รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ จากสวนดุสิตโพล  และศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล และ ศ.ดร.พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล   โดยเป้าหมายเพื่อการสำรวจและค้นหาผู้ที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ (Influenza-like illness; ILI) ที่อยู่ในชุมชน (community based survey)  ซึ่งอาจไม่ได้เข้ารับการรักษาในระบบสาธารณสุข  ซึ่งผลการสำรวจดังกล่าวจะถูกเชื่อมโยงกับผลการเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกัน (antibody) ต่อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 2009 เพื่อให้ทราบสถานการณ์การระบาดที่แท้จริงในพื้นที่ประเทศไทย และหากผลสำรวจเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับข้อมูลทางระบาดวิทยา ก็จะสามารถพัฒนาให้เป็นระบบการเฝ้าระวังจากการสำรวจแบบใหม่ต่อไปในอนาคต

               รศ.นพ.ประสิทธิ์   ผลิตผลการพิมพ์  รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า  สภาวการณ์ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีวัคซีนและยารักษาโรคอยู่บ้างแล้ว แต่เป็นทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด และไม่เพียงพอสำหรับประชากรทั้งประเทศ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทราบสถานการณ์การระบาดของโรคอย่างแท้จริง และจากการสำรวจของสำนักระบาดวิทยา พบว่า มีกลุ่มประชากรจำนวนหนึ่งที่ได้รับเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง จึงไม่ได้ไปโรงพยาบาล และไม่มีข้อมูลบันทึกในระบบสาธารณสุข จึงเป็นที่มาของคำถามว่า ทำอย่างไรจึงจะทราบข้อมูลการระบาดที่เป็นปัจจุบัน เพื่อการประเมินสถานการณ์ และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ทันท่วงที

รศ.นพ.ประสิทธิ์   กล่าวอีกว่า สวทช. จึงได้ทาบทาม สวนดุสิตโพล และสำนักระบาดวิทยา ร่วมมือกันทำวิจัยเพื่อการสำรวจอัตราป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ และการตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในประชากรไทยขึ้น โดยหลักคือสำนักระบาดวิทยาเป็นผู้ออกแบบแบบสำรวจ สวนดุสิตโพล ดำเนินการสำรวจด้วยการสัมภาษณ์ ควบคู่กับบุคลากรจากสำนักระบาดวิทยา และการเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่ A H1N1 2009 ณ ห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล   โดยทีมผู้วิจัยได้วางแผนการสำรวจในภูมิภาคต่างๆ 4 จังหวัด ในเขต 8 อำเภอ  ได้แก่ เขตกรุงเทพฯ  จ.เชียงใหม่ จ.นครราชสีมา และ จ.นครศรีธรรมราช  เป็นการลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์จำนวน 3 ครั้ง ร่วมกับการสุ่มเจาะเลือด ทั้งนี้เพื่อเป็นการยืนยันอัตราการติดเชื้อที่แท้จริง    จากผลการดำเนินโครงการ คณะผู้วิจัยได้พบข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ที่มีความสัมพันธ์กับจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009  ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเฝ้าระวังโรค และนับเป็นนวัตกรรมใหม่ของการสำรวจโรค โดยทีมงานที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อความคล่องตัวและรวดเร็ว และอาจใช้เป็นแนวทางในการสำรวจค้นหาโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อื่นๆ ต่อไปในอนาคต และข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยนี้ ยังสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการทำนายผลกระทบอันเกิดจากการใช้มาตรการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ และช่วยในการตัดสินใจเพื่อให้สามารถใช้มาตรการควบคุมการระบาดได้อย่างเหมาะสม รวมทั้ง ทำให้สามารถบริหารจัดการเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการใช้งานอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด 

สวทช. เปิดงาน การประชุมวิชาการประจำปี 2553 วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสังคมและโลก นำผลงานเทคโนโลยี CAR Talk , จมูกอิเล็กทรอนิกส์ ไร้สาย และระบบ จักรยานไฟฟ้าครบวงจร ฯลฯ โชว์ศักยภาพผลงานนักวิจัยไทย

[singlepic id=161 w=320 h=240 float=]

สวทช.  เปิดงาน การประชุมวิชาการประจำปี 2553  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เพื่อสังคมและโลก   นำผลงานเทคโนโลยี   CAR  Talk   , จมูกอิเล็กทรอนิกส์ ไร้สาย  และระบบ จักรยานไฟฟ้าครบวงจร  ฯลฯ โชว์ศักยภาพผลงานนักวิจัยไทย

 

รศ  . ดร.  ศักรินทร์ ภูมิรัตน  ผอ. สวทช. กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  หรือ สวทช.  ได้จัดงานประชุมประจำปีขึ้นทุกปี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่วิทยาการความก้าวหน้าของผลงานวิจัย ของศูนย์แห่งชาติ ทั้ง 5 ศูนย์ อาทิ เนคเทค , ไบโอเทค ,เ อ็มเทค , นาโนเทค ,  ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (  TMC ) และ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านต่างๆ ของประเทศไทย และต่างประเทศให้กับนักวิชาการ และผู้ประกอบการธุรกิจ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างนักวิจัย นักวิชาการ นักอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มองค์ความรู้ สร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายงานวิจัย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการต่อยอดผลงานวิจัย รวมทั้งยังเป็นแหล่งข้อมูลให้กับผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อที่จะสามารถนำผลงานวิจัยเหล่านั้นไปขยายผลให้เกิดประโยชน์เป็นรูปธรรมต่อประเทศชาติได้มากขึ้น   สำหรับ Theme  ของปีนี้ เราตั้งไว้ว่า “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสังคมและโลก”  เนื่องด้วยภาวะปัจจุบัน โลกประสบปัญหาวิกฤตการณ์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิกฤตภาวะโลกร้อน  ดังนั้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเป็นกลไกส่วนสำคัญที่มีส่วนช่วยแก้ไขและหาแนวทางป้องกันในการเกิดปัญหาดังกล่าว

[singlepic id=162 w=320 h=240 float=]

ทั้งนี้ ภายใต้หัวข้อที่จัดขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและผลงานการวิจัยและพัฒนา ที่ สวทช. สนับสนุนและดำเนินการ โดยมีทั้งการสัมมนาทางวิชาการเพื่อเป็นเวทีสำหรับการนำเสนอความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาขาต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม   โดยรายละเอียดของงาน ประกอบด้วย  2 ส่วนหลักๆ คือ

การสัมมนาทางวิชาการ เป็นการนำเสนอความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาต่างๆ ที่มีผลต่อการช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยมีการบรรยายทางวิชาการ ทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีโลหะวัสดุ กับวิทยากร และผู้เชี่ยวชาญ อาทิ ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   ในหัวข้อบรรยายเรื่อง “ การรับมือกับภาวะโลกร้อน :  นโยบายประเทศไทย” ดร. อารีย์ วัฒนา ทุมมาเกิด ในหัวข้อเรื่อง “ Topic to be announced ” และวิทยากรจาก EU Pro. Eicke R. Weber ในหัวข้อเรื่อง  “ Green energy  the key to the future of our planet ”  เป็นต้น  

[singlepic id=163 w=320 h=240 float=]

นอกจากนี้ยังมีในส่วนของนิทรรศการ  การแสดงผลงาน   และการเจรจาธุรกิจ  เป็นการเผยแพร่ผลงานที่ สวทช. สนับสนุนและดำเนินการ ที่พร้อมจะถ่ายทอดสู่ผู้ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ ทั้งในเชิงสาธารณประโยชน์และเชิงพาณิชย์  โดยเป็นการนำเสนอในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โปสเตอร์นิทรรศการ และชมตัวอย่างของผลงาน โดยมีไฮไลต์ผลงาน อาทิเช่น

   นิทรรศการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย ในโครงการในพระราชดำริ  เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรไทย โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนา เรื่องข้าว ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ  ดังเช่น การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าว ทนภัยแล้ง  การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์  การผลิตและการแปรรูปที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  การควบคุมคุณภาพ การพื้นฟูพื้นที่ดินเค็ม การช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน  และโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของโรงเรียนในชนบทและเพื่อคนพิการ ที่สามารถคิดค้นช่วยเหลือคนพิการ ด้วยอุปกรณ์ข้อเข่าเทียมสามารถหมุนได้โดยรอบ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการได้มากยิ่งขึ้น

[singlepic id=164 w=320 h=240 float=]

    นิทรรศการการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเจรจาธุรกิจ พบกับไฮไลต์ งานวิจัย อาทิเช่น   ระบบสื่อสารระหว่างยานพาหนะ ( Vehicle to vehicie communication Car Talk )  เป็นระบบสื่อสารระหว่างรถกับรถ  เน้นด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน โดยมีกล่องดำเป็นตัวเชื่อมต่อสัญญาณให้รถสามารถสื่อสารถึงกันได้โดยผ่านสัญญาณคลื่นวิทยุ   อีกทั้งยังเป็นเทคโนโลยีในอนาคตที่จะสามารถส่งต่อข้อมูลการจราจร การเกิดอุบัติเหตุ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อแจ้งเหตุบนท้องถนน   นอกจากนี้ยังมีผลงานในส่วนของ ระบบจักรยานไฟฟ้าครบวงจร  โดยเป็นจักรยานไฟฟ้าที่เพิ่มเทคโนโลยีการดึงพลังงานคืนกลับสู่แบตเตอรี่ในขณะที่เบรกและยังสามารถปรับเป็นจักรยานออกกำลังกาย  ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกสำหรับผู้ห่วงใยสุขภาพและรักษ์สิ่งแวดล้อม  เนื่องจากพลังงานจากการปั่นจะถูกเก็บไว้ในชุดแบตเตอรี่ ทำให้ประหยัดพลังงานและไม่ต้องนำไปชาร์ตกับไฟฟ้าที่บ้าน  ซึ่งจะแตกต่างกับจักรยานไฟฟ้าทั่วไป   ผลงานที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นแค่ผลงานบางส่วนเท่านั้น ที่นำมาแสดงในงานดังกล่าว

ในส่วนของการเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการและหน่วยบริการ  จะมีการเปิดห้องปฏิบัติการ ให้แก่ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม แล็บของการเพิ่มมูลค่าจากของเหลือของทิ้งนำมาใช้เป็นตัวเร่งให้เกิดพลังงาน  โดยประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีกับการจัดการกากอุตสาหกรรมในประเทศไทย ซึ่งการเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการจะเปิดให้เยี่ยมชมเพียงแค่ 1 วัน คือในวันที่  31 มีนาคม 2553  เท่านั้น

และสำหรับรายละเอียดของงานในวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม 2553 เวลา 17.00 -20.00 น.  ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน  และในส่วนของระหว่างวันที่ 29 – 31 มีนาคม 2553 เวลา 9.00 -16.00 น.  เปิดให้นักวิชาการ ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ตลอดจจประชาชนทั่วไป   เข้าร่วมงาน ซึ่งในงานจะประกอบไปด้วยการ บรรยาย อภิปราย ตลอดจนนิทรรศการแสดงความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนา ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว 

ดังนั้น จึงขอเรียนเชิญทุกท่าน ร่วมงาน การประชุมวิชาการประจำปี 2553  ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย  จ.ปทุมธานี      

สวทช. /ก.วิทย์ฯ ร่วมกับ สำนักระบาดวิทยา และสวนดุสิตโพล แถลงผลสำรวจ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 พบอัตราเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น

เรื่อง    สวทช. /ก.วิทย์ฯ ร่วมกับ สำนักระบาดวิทยา และสวนดุสิตโพล แถลงผลสำรวจ

และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 พบอัตราเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น

 

เรียน   บรรณาธิการข่าว

 

จากสภาวการณ์ปัจจุบัน โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A H1N1 ในประเทศไทยยังมีการแพร่ระบาดไปในวงกว้าง นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 พบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะตามแหล่งชุมชน ซึ่งได้รับการดูแลรักษาค่อนข้างน้อย  ดังนั้น  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  จึงได้ร่วมกับสำนักงานระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รพ.ศิริราช และสวนดุสิตโพล  จัดการแถลงข่าว โครงการวิจัยการสำรวจอัตราป่วยและแนวโน้มการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009  ชนิด A(H1N1) ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ขึ้น เพื่อสำรวจและค้นหาผู้ที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ ที่อยู่ในชุมชนและไม่ได้รับการรักษา โดยการสำรวจจะออกแบบควบคู่ไปกับการเจาะเลือด ตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 2009  ซึ่งจะทำให้ทราบถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดที่แท้จริงในพื้นที่ประเทศไทย  โดยผลการสำรวจ หวังจะสามารถนำไปสู่ระบบการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่  ต่อไปในอนาคต

 

            ในวันอังคารที่ 23  มีนาคม  2553  เวลา  10.00 น. ณ ห้องโถง ชั้น 1 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ถ.พระรามที่ 6 กทม. การนี้ร่วมรับฟังการเสวนาจาก รศ.นพ.ประสิทธิ์  ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช.   ผอ.จากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค  ฯลฯ ด้วย

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาส่งผู้สื่อข่าวเข้าร่วมทำข่าว/รายงานพิเศษ ในวันและเวลาดังกล่าวด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง   โดยสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณโกเมศ, คุณสรินยา, คุณกัญรินทร์     และคุณปริเยศ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โทรศัพท์ 02-6448150-89  ต่อ 217,237,212,712  หรือ 081-6681064,  081-9886614, 084-5290006  และ 084-9100850