สวทช. แถลงเชิดชูผลงาน 2 นักวิจัยทุนแกนนำ ด้วยผลงาน การพัฒนากระบวนการอบแห้งขั้นสูงสำหรับอาหารและวัสดุชีวภาพ และผลงานระบาดวิทยาเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพภาคใต้ พร้อมรับเงิน 20 ล้าน ไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 19 มีนาคม 2553 ณ ห้องกมลทิพย์ 1 โรงแรมสยามซิตี้ สวทช. จัดให้มีพิธีมอบทุนนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2553 แก่ ศ.ดร.สมชาติ โสภณรณฤทธิ์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ด้วยผลงาน การพัฒนากระบวนการอบแห้งขั้นสูงสำหรับอาหารและวัสดุชีวภาพ และ ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ด้วยผลงานระบาดวิทยาเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพภาคใต้ โดยมี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในการมอบทุนดังกล่าว
คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า “ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำการแสวงหากลไก และนโยบาย เพื่อเอื้ออำนวยให้นักวิจัยได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถนำไปต่อยอดก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และโครงการทุนนักวิจัยแกนนำ เป็นทุนขนาดใหญ่ ส่งผลให้งานวิจัยได้ดำเนินต่อไปอย่างประสบความสำเร็จ มีความคล่องตัวในการทำงาน และทีมงานวิจัยสามารถทำวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
ด้าน รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสวทช. กล่าวว่า “ สวทช.ได้รับข้อเสนอโครงการผลงานจากนักวิจัยชั้นนำและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์จากหลากหลายสถาบันทั่วประเทศ ซึ่งทุกโครงการจะผ่านเกณฑ์การพิจารณา 3 ขั้นตอน จากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ซึ่งขั้นตอนสุดท้ายคณะกรรมการทุนนักวิจัยแกนนำ จะพิจาณาจากคุณสมบัติของหัวหน้าโครงการและศักยภาพที่จะนำทีมวิจัยให้บรรลุจุดมุ่งหมาย ทั้งในด้านการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม การพัฒนากำลังคน รวมไปถึงมีศักยภาพในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านวิชาการเข้ากับภาคการผลิตและบริการ โดยสามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีอยู่นำไปพัฒนาต่อยอด จนมีศักยภาพเพียงพอที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณประโยชน์หรือเชิงพาณิชย์ได้”
สำหรับทุนนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2553 ท่านแรก ศ.ดร.สมชาติ โสภณรณฤทธิ์ จากผลงานการพัฒนากระบวนการอบแห้งขั้นสูงสำหรับอาหารและวัสดุชีวภาพ สังกัดคณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับทุนสนับสนุนเป็นเงินจำนวน 20 ล้านบาท ทุนระยะเวลา 5 ปี ศ.ดร.สมชาติ โสภณรณฤทธิ์ เป็นผู้มีประสบการณ์ มีความรู้ ความสามารถ ในด้านการวิจัยและพัฒนาการอบแห้งอาหารและวัสดุชีวภาพ ที่มีศักยภาพสูงสุดของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์จะพัฒนาด้านการอบแห้งอาหารและวัสดุชีวภาพชนิดต่างๆ ทั้งในแง่ของความสามารถในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง และในแง่ของการใช้พลังงาน อาทิ การพัฒนาขนมขบเคี้ยวไร้น้ำมัน กระบวนการผลิตข้าวนึ่ง การอบแห้งผลไม้ เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการเพิ่มมูลค่าให้กับอาหารและผลิตผลทางการเกษตรของประเทศ อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผลิตผลดังกล่าวในระดับนานาชาติได้รวมไปถึงการผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงและสามารถตีพิมพ์เผยแพร่ได้ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ตลอดจนผลิตบัณฑิตทั้งในระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตที่มีคุณภาพสูง และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศต่อไป
ท่านที่สอง ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ สังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลงานวิจัยเรื่อง ระบาดวิทยาเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพภาคใต้ โดยได้รับเงินทุนสนับสนุน 20 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 5 ปี เช่นกัน ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ เป็นนักระบาดวิทยาที่อุทิศตนเองอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนาระบบสุขภาพทางด้านสังคม เศรษฐกิจและเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ภาคใต้ โดยในโครงการวิจัยนี้จะเน้นการแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้ อาทิ ระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากเหตุความรุนแรง ปัญหาแม่และเด็ก ยาเสพติด ยาสูบ ฟันผุ และขนาดปัญหาของโรคมะเร็ง โดยหวังว่าผลงานวิจัยจะสามารถสนับสนุนการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ได้ในระยะยาว อีกทั้งยังจะเป็นการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัย ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนด้านการพัฒนาสุขภาพของประเทศและของทวีปเอเชียในอนาคต
ด้าน รศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเสริมว่า “โครงการทุนนักวิจัยแกนนำ เป็นการให้ทุนแก่กลุ่มวิจัยที่ทำงานในขอบเขตเทคโนโลยีชีวภาพ มีระยะเวลาการดำเนินโครงการ 5 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนกลุ่มนักวิจัยที่มีความรู้ความสามารถให้ได้ทุ่มเวลาและสติปัญญาในการทำงานวิจัย และพัฒนาในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพได้อย่างเต็มที่ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อมุ่งหวังให้เกิดเครือข่ายงานวิจัยที่เข้มแข็ง มีความเชื่อมโยง และความคล่องตัวในการทำวิจัย ส่งเสริมการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เข้าสู่การ การวิจัยและพัฒนาของประเทศ พร้อมทั้งเป็นการสร้างแรงจูงใจและความภาคภูมิใจในเส้นทางสายอาชีพนักวิจัย ซึ่งที่ผ่านมา สวทช.ได้สนับสนุนไปแล้วกว่า 13 โครงการ ได้ผลิตภัณฑ์ 5 ต้นแบบ มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติมากกว่า 200 เรื่อง จดสิทธิบัตรกว่า 11 เรื่อง และสามารถผลิตบุคลากรในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และหลังปริญญาเอก อีกกว่า 100 คน นอกจากยังมีการนำผลงานวิจัยไปเผยแพร่สู่สาธารณชน และมีการต่อยอดสู่การใช้งานในเชิงพาณิชย์อีกหลายผลงาน”