เป็นการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้เพื่อนำส่งสารสำคัญที่สกัดมาจากธรรมชาติ (โดยปกติสารสกัดจากธรรมชาติจะมีความสามารถในการละลายน้ำได้น้อย แต่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเซลล์การสร้างอสุจิได้ดี) ที่พัฒนาเพื่อใช้เป็นสารทำหมันแล้วนำส่งเข้าสู่บริเวณเซลล์ต้นกำเนิดอสุจิ ทำให้สามารถยับยั้งการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ของสัตว์ได้ ด้วยเทคโนโลยีนี้จะนำมาใช้ทดแทนการทำหมันด้วยวิธีผ่าตัด ซึ่งเป็นวิธีการหลักในปัจจุบันซึ่งจะมีผลข้างเคียงต่อสัตว์ เช่น เกิดการอักเสบและติดเชื้อในสัตว์ เป็นต้น V-HAPPY จึงเป็นเทคโนโลยีที่จะตอบโจทย์การทำหมันสัตว์ที่เป็นมิตรมากขึ้น ซึ่งในการทดลองขั้นต้นพบว่าสารทำหมันสูตรที่คิดค้นขึ้นนี้ จะช่วยลดต้นทุนการทำหมัน ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และลดระยะเวลาในการรักษาตัวของสัตว์ที่ต้องทำหมัน นอกจากนี้ยังช่วยลดระยะเวลาและจำนวนของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการผ่าตัดอีกด้วย
จุดเด่นของเทคโนโลยี
การใช้นาโนเทคโนโลยีกักเก็บสารสำคัญ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสารออกฤทธิ์ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยการกักเก็บในรูปแบบอนุภาคนาโนนี้ ช่วยเพิ่มความสามารถในการซึมผ่าน เพิ่มความคงตัวของสารสำคัญ และเพิ่มความสามารถในการละลายของสาระสำคัญที่ไม่ละลายน้ำ จึงเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ เช่น เวชภัณฑ์ในคนและสัตว์ เครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมอาหาร ฯลฯ
คุณสมบัติของต้นแบบผลิตภัณฑ์
เป็นสารทำหมันสัตว์เพศผู้โดยไม่ต้องผ่าตัด จากพืช 2 ชนิดที่มีความสามารถในการยับยั้งการสร้างอสุจิ และทำลายเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างอสุจิ ประกอบกับการใช้นาโนเทคโนโลยีมาช่วยกักเก็บสารสำคัญดังกล่าว จึงทำให้สัตว์เพศผู้ที่ได้รับการฉีดอนุภาคนาโนดังกล่าวไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ นอกจากนี้ สารสำคัญทั้งสองชนิดยังสามารถบรรเทาอาการปวดและอาการอักเสบในอัณฑะได้อีกด้วย จึงทำให้สัตว์ไม่เกิดความทรมานในขณะเข้าสู่สภาวะหยุดการสืบพันธุ์
การประยุกต์ใช้งาน
- การใช้ในภาคสังคม สามารถใช้ในการควบคุมปริมาณสุนัขและแมวจรจัดได้ โดยการฉีดสารสำคัญเข้าสู่อัณฑะนี้ สามารถทำได้รวดเร็ว ลดอาการติดเชื้อ และไม่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษของสัตวแพทย์
- การใช้ในปศุสัตว์ สามารถใช้ในฟาร์มสุกร เพื่อลดปริมาณของฮอร์โมนเพศชายของสุกรเพศผู้ โดยฮอร์โมนดังกล่าวเป็นสาเหตุหลักของกลิ่นเหม็นสาบของสุกรเพศผู้ โดยการฉีดสารสำคัญในรูปแบบนี้จะช่วยเพิ่มการส่งออกเนื้อสุกรได้มากขึ้น เนื่องจากเป็นการทำหมัน โดยไม่ทารุณกรรมสัตว์
กลุ่มลูกค้า / ผู้ใช้งานเทคโนโลยีเป้าหมาย
- คลินิกรักษา/สัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์
- หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลสัตว์จรจัด
- ฟาร์มเพาะเลี้ยงสุนัขและแมว
- ฟาร์มเลี้ยงสุกร โค สัตว์เศรษฐกิจ
กลุ่มนักลงทุนเป้าหมาย
- บริษัทเอกชนที่มีโรงงานผลิตยาเวชภัณฑ์ในสัตว์ที่ได้รับรองมาตรฐาน
- บริษัทเอกชนที่มีฟาร์มเพาะเลี้ยงสุนัข แมว ที่ต้องการกำหนดเพศ
- บริษัทเอกชนที่มีการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจหรือฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์
- นักลงทุนที่สนใจ
สถานภาพทรัพย์สินทางปัญญา
สิทธิบัตรการประดิษฐ์ เรื่อง องค์ประกอบที่มีฤทธิ์ต้านภาวะเจริญพันธุ์ คำขอเลขที่ 1701000718 วันที่ยื่นคำขอ 10 กุมภาพันธ์ 2560
สถานะการพัฒนาผลิตภัณฑ์
การทดสอบประสิทธิภาพในหนูทดลองพบว่า สามารถยับยั้งการสร้างอสุจิ ทำลายเซลล์ต้นกำเนิดอสุจิ และลดปริมาณฮอร์โมนเพศได้อย่างมีนัยสำคัญ
ภาพรวมตลาด
กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่เทคโนโลยีนาโนเอนแคปซูเลชั่น (nano-encapsulation technology) สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้คือ อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ในสัตว์ ซึ่งในโครงการนี้จะพัฒนาสารทำหมันแบบฉีดสำหรับสัตว์เพศผู้ สุนัข แมว และพัฒนาต่อไปที่จะนำไปใช้ในสัตว์เศรษฐกิจ เช่น สุกร โค และกระบือ เป็นต้น โดยมูลค่าตลาดของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมว มีมูลค่าโดยรวมประมาณปีละ 32,200 ล้านบาท (รพ.สัตว์ทองหล่อ 2561) โดยเป็นในส่วนของเวชภัณฑ์และยาและการดูแลสุขภาพ ประมาณ 32% คิดเป็นมูลค่า 10,240 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายในการทำหมันสุนัขหรือแมวนั้นค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 600-2,000 บาทต่อตัว
ผลประโยชน์ (Impact)
- เชิงวิชาการ/วิทยาศาสตร์ :
เป็นการใช้นาโนเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์ด้านเวชภัณฑ์ในสัตว์ เป็นทางเลือกเพื่อทดแทนวิธีการทำหมันวิธีดั้งเดิม ซึ่งจะช่วยลดการเจ็บปวด ลดอัตราการป่วย และการทรมานสัตว์ที่เกิดจากการผ่าตัดหรือการฉีดสารเคมีแบบเดิม
- เชิงเศรษฐกิจ/พาณิชย์ :
เป็นการนำเทคโนโลยีนาโนเอนแคปซูเลชั่นมาใช้ในอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ในสัตว์เลี้ยงและเพื่อต่อยอดสู่สัตว์เศรษฐกิจในอนาคต เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ ลดการนำเข้าสารเคมี (สารทำหมัน) จากต่างประเทศและส่งเสริมการใช้สารสกัดธรรมชาติของประเทศไทย
- เชิงสังคม/สิ่งแวดล้อม :
ช่วยลดความเสี่ยงของประชาชนที่จะเป็นโรคพิษสุนัขบ้าจากการลดจำนวนประชากรของสุนัขและแมวจรจัด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า และเป็นผลงานที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยงและสัตว์เศรษฐกิจให้ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับกระแสการใช้ประโยชน์และอยู่ร่วมกับสัตว์แบบเป็นมิตร
หมายเหตุ : โดยผลงานนี้ได้รับความร่วมมือด้านการทดลองในสัตว์ จากคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"สารทำหมันสัตว์เพศผู้แบบไม่ผ่าตัด"
ติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
นายจักรวาฬ ยศถาวรกุล
ทีมเวชศาสตร์นาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช.
โทรศัพท์ 0-2117-6500
E-mail : jakarwan@nanotec.or.th
นายภัทรพงษ์ พลเสน
ฝ่ายธุรกิจนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช.
โทรศัพท์ 0-2564-7100 ต่อ 6602
E-mail : putarapong.pol@nanotec.or.th
นางสาวจิรนันท์ บุบผามาลา
สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี สวทช.
โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1616
E-mail : jiranun.bub@nstda.or.th
ศูนย์ลงทุน
ฝ่ายบริการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยี สวทช.
โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1327, 1345
E-mail : tds-nic@nstda.or.th