magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก ข้อเข่าขาเทียม ฝีมือไทย
formats

ข้อเข่าขาเทียม ฝีมือไทย

ฝีมือนักวิจัยไทย สร้างโอกาสคนพิการ ด้วยข้อเข่าขาเทียมแบบสี่จุดหมุนเฉลิมพระเกียรติ เดินขึ้นบันได หรือเดินในทางขรุขระได้

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการขาขาดมากกว่า 50,000 คน สาเหตุส่วนใหญ่หรือประมาณ 45% ของผู้พิการขาขาดเกิดจากอุบัติเหตุทางการจราจร 25% เกิดจากการเหยียบกับดักระเบิด อีก 20% เกิดจากแผลเรื้อรังจากโรคเบาหวาน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 10% เป็นความผิดปกติมาแต่กำเนิดและปัญหาสุขภาพอื่นๆ
                โดยคนพิการส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจน เมื่อสูญเสียขาก็ไม่มีเงินเพียงพอที่จะเข้ารับบริการทำขาเทียม  จำเป็นต้องใช้ไม้ค้ำยัน สร้างความลำบากในการใช้ชีวิต

งานวิจัยการพัฒนาข้อเข่าขาเทียมแบบสี่จุดหมุนเฉลิมพระเกียรติ จึงเกิดขึ้น โดยฝีมือนักวิจัยไทย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค)  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ร่วมด้วยศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และบริษัทแฮลเซี่ยนเมทอล จำกัด เพื่อช่วยเหลือผู้พิการให้กลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

นางสาววันทนีย์ พันธชาติ ผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ฝ่ายวิจัยประยุกต์และบริการทดสอบและประเมินเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก หนึ่งในทีมวิจัยเปิดเผยว่า ทีมวิจัยเนคเทคได้พัฒนารูปแบบและกระบวนการผลิตข้อเข่าขาเทียมแบบสี่จุดหมุนขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้พิการโดยเป็นฝีมือนักวิจัยไทยซึ่งเน้นการใช้วัสดุที่มีในประเทศมาพัฒนาผลงานดังกล่าว

มาตรฐานสากล ช่วยเหลือผู้พิการ
สำหรับการทำงานวิจัยนี้นอกจากจะมีการประสานความร่วมมือจากหลายหน่วยงานเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือผู้พิการคนไทย ทีมวิจัยจากเนคเทคยังสรรหาวัสดุที่มีราคาประหยัดแต่ได้มาตรฐานมาผลิต
หนึ่งในทีมวิจัยเนคเทค กล่าวอีกว่า “สวทช.ให้ทุนสนับสนุนการทำวิจัยขาเทียมแบบ 4 จุดหมุนนี้ร่วมกับศูนย์สิรินธรฯ และบริษัทแฮลเซี่ยนเมทอล จำกัด โดยเนคเทคทำการพัฒนารูปแบบและกระบวนการผลิตที่เน้นการใช้วัสดุในประเทศไทย เพื่อทำขาเทียมมาทดแทนตลาดต่างประเทศ ต่อมาเมื่อได้ต้นแบบที่ชัดเจนแล้วบริษัทฯจึงนำไปขึ้นรูปและศูนย์สิรินธรฯทำการทดสอบเชิงวิศวกรรมซึ่งการทดสอบจะเสมือนการเดิน 3 ล้านครั้งด้วยการเอาส้นเท้าลงและเอาปลายเท้าลง เพื่อทดสอบความแข็งแรง ฯลฯ
โดยกระบวนการนี้ยังเป็นการทดสอบขาเทียมมาตรฐานตามมาตรฐานการทดสอบกายอุปกรณ์เทียมและกายอุปกรณ์เสริม ISO 10328:2006   และนำไปทดสอบทางการแพทย์ในคนพิการขาขาดระดับเหนือเข่าระยะที่ 1 จำนวน 5 คนโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือนปรากฏว่าผู้พิการส่วนใหญ่ที่นำข้อเข่าขาเทียมนี้ไปใช้ยังได้รับความพึงพอใจ”

รวมใจ เฉลิมพระเกียรติฯ
หนึ่งในทีมวิจัยเนคเทค กล่าวว่า ต่อจากนั้นจึงได้มีการทดสอบในระยะที่ 2 ผลิตเพื่อนำไปทดสอบในผู้พิการจำนวนมากขึ้นและมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ เป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสครบรอบ 84 พรรษา
“หลังจากนั้น งานวิจัยได้ผลิตขาเทียมขึ้นมา 84 ขาเมื่อปีที่ผ่านมา (2554) และยังได้นำไปทดสอบร่วมกับโรงพยาบาล 7 แห่ง จากนั้นศูนย์สิรินธรฯได้ตามเก็บข้อมูลในระยะเวลา 3 เดือนมีผลการประเมินความพึงพอใจ เช่น ใช้วิธีจับเวลาจากเดิมใช้ขาไม้ เมื่อเดินจับเวลาไปกลับได้ 3 เมตรแต่เมื่อใส่ขาเทียมไปแล้วสามารถเดินไปกลับได้ 6 เมตร คือ เดินได้เร็วมากขึ้น ทั้งภายในอาคาร เดินพื้นผิวขรุขระ และเดินภายนอกอาคาร เป็นต้น”

ต่อมาทีมวิจัยเนคเทคยังมีการทำงานร่วมกับกรมขนส่งทางบกซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน โดยทำโครงการต่อเนื่องเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา

“โครงการดังกล่าวได้เปิดรับสมัครผู้พิการที่มีคุณสมบัติขาขาดเหนือเข่า อันเนื่องมาจากประสบอุบัติเหตุทางถนน และไม่เคยได้รับขาเทียมจากทางกรมการขนส่งทางบก เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จำนวน 80 คน โดยที่สถานีวิทยุ จส.100 ช่วยเก็บข้อมูลใครที่ได้รับบาดเจ็บอุบัติเหตุทางท้องถนนแล้ว อยากได้ขาคุณภาพที่ดีขึ้นให้ติดต่อมาที่เนคเทค เนื่องจากทีมวิจัยจะทำขาเทียมให้กับผู้พิการขาขาดจากอุบัติเหตุโดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกนั้นไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งคาดว่าจะผลิตเสร็จสิ้นภายในอีกหนึ่งปีข้างหน้า”

ทำไมต้อง 4 จุดหมุน
หนึ่งในทีมวิจัยเนคเทค อธิบายเพิ่มเติมว่า“การทำข้อเข่าขาเทียมนั้นมีหลายแบบ ตามกิจกรรมที่เดิน เช่น อย่างต่ำสุดจะเป็นข้อเข่าที่มี 1 จุดหมุน คือ สามารถเดินพับไปมาซึ่งเหมาะกับผู้พิการที่ไม่มีกิจกรรมมากนัก อาทิผู้สูงอายุ ผู้พิการที่เดินช้าๆ และแบบที่ 2 จะเป็นข้อเข่าขาเทียมที่เรียกว่ามีหลายจุดหมุน คือ มีตั้งแต่ 3-8 จุดหมุน สำหรับงานวิจัยนี้ได้เลือกผลิตข้อเข่าขาเทียมซึ่งมี 4 จุดหมุนเนื่องจากได้รับคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ว่าเหมาะสม และมีผู้พิการนิยมใช้กันมาก โดยข้อเข่าขาเทียมดังกล่าวผู้พิการยังสามารถเดินทางราบ เดินขึ้นบันได หรือเดินในทางที่ขรุขระได้สะดวก”
เทคโนโลยีข้อเข่าขาเทียมแบบ 4 จุดหมุนนี้ยังใช้ระบบสปริงช่วยเหยียดข้อเข่า และระบบปรับฝืดเมื่องอข้อเข่าเพื่อป้องกันการพับงอ ช่วยให้จังหวะในการก้าวเดินมั่นคงยิ่งขึ้นตามหลักชีวกลศาสตร์ของการเดิน พัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีภายในประเทศ เพื่อเป็นการลดการนำเข้าข้อเข่าขาเทียมจากต่างประเทศ จึงมีราคาถูกกว่าและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของคนไทย
สำหรับจุดเด่นการพัฒนาข้อเข่าขาเทียมแบบสี่จุดหมุนนี้ อาทิ  มีน้ำหนักรวม 1,900 กรัม ใช้วัสดุสแตนเลสสำหรับใช้ทางการแพทย์ สามารถปรับความหนืดของการงอขาได้สะดวกและปรับสปริงปรับการเหยียดได้สะดวก นอกจากนี้ยังงอข้อสูงสุดเข่าได้ถึง 110 องศา เหมาะสมกับผู้ใช้งานที่มีน้ำหนักตัวไม่เกิน 80กิโลกรัม ที่พิการขาขาดระดับเหนือเข่านอก จากนี้ยังมีชุดข้อเท้าเป็นแบบรองรับฝ่าเท้าเทียมชนิด SACH foot ซึ่งเป็นเท้าเทียมที่มีลักษณะเหมือนเท้า มีนิ้วเท้า และชิ้นส่วนต่างๆขึ้นรูปโดยมีการควบคุมขนาดทางวิศวกรรม สามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนแต่ละชิ้นได้ทันทีที่ต้องการ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งชุด

งบน้อย คุณภาพสูง
หนึ่งในนักวิจัยเนคเทค กล่าวอีกว่า สำหรับค่าใช้จ่ายในการผลิตข้อเข่าขาเทียมที่พัฒนาขึ้นนี้ยังนับว่ามีราคาประหยัดเนื่องจากทุกคนสามารถใช้บริการจากงบประมาณของสปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)ซึ่งหากเปรียบเทียบกับต่างประเทศข้อเข่าขาเทียมดังกล่าวจะมีราคาสูงประมาณ 60,000 บาทขึ้นไปในขณะที่ทีมวิจัยสามารถพัฒนาผลงานดังกล่าวในราคาประมาณ 30,000 บาทเท่านั้น
“การพัฒนางานวิจัยนี้พยายามหาโปรดักส์ที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ เพื่อสงวนเงินตราไม่ให้รั่วไหล มีราคาที่สมเหตุผลและทุกคนสามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้”

สานใจ พัฒนาต่อยอด
นอกจากนี้ทีมวิจัยเนคเทคยังพัฒนางานวิจัยดังกล่าวไม่หยุดยั้งร่วมกับฟีโป้(สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) โดยในอนาคตจะเป็นการพัฒนาข้อเข่าขาเทียมแบบไฮโดรดริกซึ่งจะสามารถปรับความหน่วงได้ เนื่องจากการเดินแต่ละก้าวจะมีอัตราความฝืดไม่เหมือนกัน เช่น กิจกรรมการเดินในทางราบหรือการขึ้นบันได ฯลฯ
ดังนั้น หากข้อเข่าขาเทียมสามารถปรับอัตโนมัติได้ว่ากำลังทำกิจกรรมใดก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้ใช้งาน โดยทีมวิจัยเนคเทคยังมีการทำงานเพื่อพัฒนาผลงานด้านนี้อย่างต่อเนื่อง

รายการอ้างอิง :

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. ข้อเข่าขาเทียม ฝีมือไทย. กรุงเทพธุรกิจ. (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). วันที่ 13 ตุลาคม 2555.– ( 367 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


six − 4 =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>