magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home ข่าววิทยาศาสตร์ 13 ธ.ค.ฝนดาวตกเจมินิดส์ส่งท้ายปี
formats

13 ธ.ค.ฝนดาวตกเจมินิดส์ส่งท้ายปี

ฝนดาวตกเจมินิดส์ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2552 ถ่ายโดย นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์อาวุโส

ฝนดาวตกเจมินิดส์ส่งท้ายปี ในวันที่ 13-14 ธ.ค.นี้ ประมาณ 120 ดวงต่อชั่วโมง สังเกตได้ด้วยตาเปล่าในพื้นที่ที่ท้องฟ้ามืดสนิท

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยข้อมูลปรากฏการณ์ฝนดาวตกส่งท้ายปี 2555 นี้ ได้แก่ ฝนดาวตกเจมินิดส์หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ (Geminids Meteor Shower) ที่จะเกิดขึ้นประมาณกลางเดือนธันวาคมของทุกปี สำหรับในปีนี้จะเกิดขึ้นมากที่สุดในวันที่ 13-14 ธันวาคม 2555

และนับเป็นโอกาสดีที่ชาวไทยจะได้ชมความสวยงามของฝนดาวตกเจมินิดส์กันอย่างเต็มอิ่ม เนื่องจากในวันดังกล่าวเป็นช่วงคืนเดือนมืด ข้างแรม 15 ค่ำ ไม่มีแสงจากดวงจันทร์มารบกวน นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าในปีนี้จะสามารถสังเกตเห็นฝนดาวตกเจมินิดส์ได้มากถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง ซึ่งจะสังเกตได้ง่ายกว่าฝนดาวตกลีโอนิดส์ เนื่องจากมีความเร็วของดาวตกไม่มากนัก ประมาณ 35 กิโลเมตรต่อวินาที

ฝนดาวตกเจมินิดส์ สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าทางทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณใกล้กับกลุ่มดาวคนคู่ซึ่งเป็นศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตกเจมินิดส์ มีลักษณะเป็นริ้วสีขาวพาดผ่านท้องฟ้า ตั้งแต่เวลา 22:00 น. ของวันที่ 13 ธันวาคม ถึงเช้ามืดประมาณ 05:00 น. ของวันที่ 14 ธันวาคม ตามเวลาในประเทศไทย ทั้งนี้นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าในปีนี้จะสามารถสังเกตเห็นฝนดาวตกเจมินิดส์ได้มากถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง

ดร.ศรัณย์ ได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “ฝนดาวตกเจมินิดส์จะสามารถสังเกตได้ง่ายว่าฝนดาวตกลีโอนิดส์ เนื่องจากมีความเร็วของดาวตกไม่มากนัก ประมาณ 35 กิโลเมตรต่อวินาที หากมีคนสังเกตเห็นก็ยังสามารถเรียกชี้ชวนกันชมได้ทัน เพิ่มความสนุกสนานในการเฝ้ารอชมฝนดาวตกเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้จากการคาดการณ์ว่าในปีนี้จะสามารถสังเกตเห็นฝนดาวตกเจมินิดส์ได้มากกว่า 120 ดวงต่อชั่วโมงนั้น เนื่องจากตามเวลาในประเทศไทยที่คาดว่าจะเห็นดาวตกมากที่สุดเป็นเวลาหลังเที่ยงคืนของคืนเดือนมืด หากรอชมฝนดาวตกในสถานที่ที่มีท้องฟ้ามืดสนิท ไม่มีแสงรบกวน หรือพื้นที่บนดอยสูงที่มีทัศนวิสัยของท้องฟ้าที่มืดสนิท อาจสังเกตดาวตกได้มากถึง 200 ดวงต่อชั่วโมงเลยทีเดียว”

ฝนดาวตกเจมินิดส์ มีศูนย์กลางการกระจายอยู่ระหว่างดาวพอลลักซ์ (Pollux) กับคาสเตอร์ (Caster) ในกลุ่มดาวคนคู่ เกิดจากสายธารเศษฝุ่น ของแข็ง และน้ำแข็งจำนวนมาก ที่ยังหลงเหลืออยู่ในวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaeton) ตัดผ่านวงโคจรของโลก ทำให้เศษฝุ่นของดาวเคราะห์น้อยเหล่านั้นเสียดสีกับชั้นบรรยากาศของโลก เกิดการเผาไหม้จนเห็นเป็นแสงสว่างวาบคล้ายลูกไฟวิ่งพาดผ่านท้องฟ้า

ดร.ศรัณย์ ยังให้ข้อแนะนำและข้อควรระวังในการชมฝนดาวตกว่า “การเลือกสถานที่เฝ้ารอชมฝนดาวตกควรเลือกสถานที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน จะสังเกตเห็นดาวตกที่มีความสว่างและสวยงามน่าตื่นตาตื่นใจมาก แต่ก็ควรระมัดระวังถึงความปลอดภัยด้วย ส่วนวิธีการชมฝนดาวตกให้สบายที่สุดนั้น เนื่องจากการชมฝนดาวตกต้องอาศัยระยะเวลานานหลายชั่วโมง และจุดศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตกจะอยู่กลางท้องฟ้า ส่วนใหญ่จึงมักใช้วิธีนอนรอชมเพื่อไม่ให้เกิดอาการเมื่อยคอ นอกจากนี้ในช่วงเดือนธันวาคมที่มีอากาศหนาว หากนอนรอชมในถุงนอนก็จะสะดวกสบายเป็นอย่างยิ่ง”

ด้านนายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์อาวุโส ผู้เชี่ยวชาญการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์กล่าวแนะนำเพิ่มเติมในการเตรียมความพร้อมสำหรับการดูดาวและฝนดาวตกว่า ก่อนเริ่มต้นกิจกรรมดูดาว ควรงดใช้ไฟฉายเพื่อให้ดวงตาปรับสภาพประมาณ 2-3 นาที ให้ม่านตาขยายเพื่อสามารถรับแสงในที่มืดได้ดีขึ้นและมองเห็นดวงดาวที่มีแสงน้อยได้ จากนั้นเริ่มทำความรู้จักกับทิศและดาวเหนือ

ทั้งนี้ควรเริ่มต้นจากการดูกลุ่มดาวที่มีลักษณะเด่นหรือมีความสว่างมาก เช่น กลุ่มดาวนายพราน กลุ่มดาวสุนัขใหญ่ กลุ่มดาวสุนัขเล็ก และสามเหลี่ยมฤดูหนาว ส่วนผู้ที่ต้องการถ่ายภาพฝนดาวตก ควรใช้กล้องที่สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้ และใช้ความไวแสงสูงๆ ตั้งแต่ ISO 1600 ขึ้นไป เพื่อให้กล้องมีความไวแสงในการบันทึกภาพฝนดาวตก รวมทั้งการตั้งกล้องบนขาตั้งกล้องที่มั่นคง ตั้งขาตั้งกล้องให้ต่ำพร้อมกับเงยหน้ากล้องขึ้นเพื่อเก็บภาพท้องฟ้าให้ได้กว้างที่สุด โดยหันหน้ากล้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศที่เป็นศูนย์กลางการเกิดของฝนดาวตก (Radiant) บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ซึ่งจะเริ่มโผล่ขึ้นจากขอบฟ้าตั้งแต่เวลาประมาณสองทุ่ม ของวันที่ 13 ธันวาคม เป็นต้นไป

รายการอ้างอิง :

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. 13 ธ.ค.ฝนดาวตกเจมินิดส์ส่งท้ายปี. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์). วันที่ 7 ธันวาคม 2555.– ( 102 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


− 2 = five

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>