การตรวจวัดคุณภาพน้ำกลายเป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้น เมื่อผลกระทบจากการปนเปื้อนของน้ำเสีย อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาวะ ไปจนถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจต่อธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่หัวใจสำคัญคือน้ำสะอาดที่ปราศจากการปนเปื้อน
น้ำสะอาด หมายถึงน้ำที่มีค่าออกซิเจนตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยวัดได้จากค่าออกซิเจนละลายที่ในน้ำ (Dissolved Oxygen) หรือ DO ซึ่งหากผลลัพธ์ที่วัดได้ต่ำกว่า 2 แสดงว่าเป็นน้ำเสีย สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ได้มีแต่จุลินทรีย์เท่านั้นดร.สรวง สมานหมู่ นักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยทรัพยากรชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวิภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันความต้องการใช้งานชุดทดสอบออกซิเจนในน้ำมีมากขึ้น โดยส่วนใหญ่ใช้เพื่อทดสอบน้ำที่เห็นว่าใส อันที่จริงแล้วเป็นน้ำดีหรือน้ำเสีย
ชุดทดสอบที่จำหน่ายในท้องตลาดส่วนใหญ่จะใช้วิธีการวิเคราะห์แบบไตรเตรชั่น หรือการหยด นับ และนำมาคำนวณ 15 ขั้นตอน โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที ซึ่งต้องทำโดยเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเคมีโดยเฉพาะ
ต้นทุนของชุดทดสอบดังกล่าวอยู่ที่ 4,000-5,000 บาท เป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับข้อจำกัดในการใช้งาน เป็นเหตุผลให้ทีมวิจัยไบโอเทคตัดสินใจเดินหน้าพัฒนาชุดทดสอบออกซิเจนละลายน้ำแบบพกพา (DO-DEE) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการใช้ชุดทดสอบวัดค่าออกซิเจนในน้ำ ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียน มหาวิทยาลัย อุตสาหกรรมผลิตสัตว์น้ำ เกษตรกร หรือใช้ในภารกิจของกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
นักวิจัยบอกว่า การพัฒนาชุดทดสอบออกซิเจนละลายน้ำแบบพกพา เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 โดยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอาศัยเทคนิคการเทียบแถบสี ซึ่งมีข้อดีคือสามารถอ่านค่าได้ง่าย ได้ผลวิเคราะห์รวดเร็วภายใน 3 นาที อีกทั้งพกพาสะดวก ใช้ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม
ชุดทดสอบ DO-DEE นี้ มีราคาจำหน่ายอยู่ที่ 1,500-1,800 ต่อ 50 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นราคาที่ผู้บริโภคยอมรับ เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีชุดตรวจที่ใกล้เคียงกัน มีราคาขายอยู่ที่ 8,000-10,000 บาทต่อ 25 ตัวอย่าง
“ทันทีที่หยดตัวอย่างน้ำที่ต้องการทดสอบลงในส่วนผสมของสารเคมี จะเกิดปฏิกิริยาทำให้น้ำเปลี่ยนสี โดยความเข้มของสีที่ปรากฏจะแสดงถึงปริมาณของออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ ซึ่งสามารถนำมาเปรียบเทียบกับแถบสีที่แนบมากับคู่มือภายในกล่อง” เขาอธิบาย
ความสำเร็จของเทคโลยีดังกล่าว ทำให้บริษัทเอกชนผู้ผลิตชุดทดสอบมีความสนใจที่จะต่อยอดเทคโนโลยีไปสู่การจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันมูลค่าทางการตลาดชุดทดสอบมีมหาศาล แม้จะไม่มีการรวบรวมตัวเลขเอาไว้ แต่ที่เท่าที่ผ่านมาชุดทดสอบที่ใช้งานอยู่ในประเทศต้องนำเข้าทั้งหมด
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้คิดต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีชุดตรวจให้มีความหลากหลายเหมาะกับความต้องการใช้งานในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ ชุดน้ำยาที่เคยต้องใช้ถึง 3 ขวด โดยพัฒนาให้เหลือเพียงขวดเดียว และใช้วิธีการเขย่าเพื่อวัดผล ทำให้การตรวจวิเคราะห์ได้ผลเร็วยิ่งขึ้น
“การต่อยอดเทคโนโลยีไม่ยุ่งยาก แต่ขึ้นอยู่กับการออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่น้ำยาเคมี โดยต้องทดสอบประสิทธิภาพเพิ่มเติมเพื่อความแม่นยำ ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีให้ชุดตรวจสามารถอ่านค่า DO ในเครื่องวิเคราะห์ผลได้ละเอียดในระดับพีพีเอ็ม หรือหนึ่งส่วนในล้านส่วน ซึ่งมากกว่าการอ่านค่าด้วยแถบสีเพียงอย่างเดียว” นักวิจัยกล่าว และให้ข้อมูลว่า
สถาบันการศึกษาที่มีความต้องการใช้งานชุดตรวจวัดออกซิเจนในน้ำสำหรับการเรียนการสอน วัดค่าสิ่งแวดล้อมในภาคสนาม ขณะที่เกษตรกรประมงชายฝั่งต้องการใช้ชุดทดสอบเพื่อวัดคุณภาพน้ำทะเล เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำในการหล่อเย็น เนื่องจากปริมาณออกซิเจนสูงมีผลต่อความเป็นกรดของน้ำที่กัดกร่อนโลหะทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้รับความเสียหาย
ในขณะที่บริษัทเอกชนมีความต้องการผลิตภัณฑ์ชุดทดสอบที่มีความหลากหลาย โดยสามารถจำหน่ายในท้องตลาดด้วยราคาที่แตกต่างกัน ตอบสนองความต้องการของตลาดที่ต้องการผลวิเคราะห์ที่สะดวก รวดเร็ว ช่วยคัดกรองในเบื้องต้น และชุดตรวจที่ให้ผลวิเคราะห์ที่แม่นยำสูง เพื่อใช้ยืนยันกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
สำหรับขั้นตอนการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชน ดร.สรวง บอกว่า ทีมวิจัยจะเลือกบริษัทที่มีศักยภาพในการผลิตและจำหน่ายในท้องตลาด โดยไม่จำกัดจำนวนบริษัท เพื่อมอบสูตร และกระบวนการผลิต ด้วยต้นทุนเพียง 200,000 บาท สามารถคืนทุนได้ใน 6 เดือน
”แนวคิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับหลายบริษัทจะช่วยลดความเสี่ยงในกรณีที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งไม่ประสบความสำเร็จด้านการตลาด เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นจะได้ไม่สูญหาย และมีการใช้งานอย่างแพร่หลายต่อไป” นักวิจัยกล่าว และย้ำว่าความร่วมมือกับภาคเอกชน จะทำให้ได้มูลค่าตลาดที่แท้จริงของชุดทดสอบวัดค่าออกซิเจนในน้ำ พร้อมทั้งได้ข้อมูลทางการตลาดเพิ่มเติมด้วย
รายการอ้างอิง :
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. “น้ำใส” บอกได้ด้วยค่าออกซิเจน. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์). วันที่ 8 ธันวาคม 2555.– ( 115 Views)