magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home วิทยาศาสตร์ เปิดมุมมองสร้างนวัตกรรม
formats

เปิดมุมมองสร้างนวัตกรรม

บทบาทใหม่ของอุทยานวิทย์ นอกจากทำหน้าที่จับคู่งานวิจัยกับภาคธุรกิจแล้ว ยังต้องส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมแบบเปิดขึ้นในองค์กรด้วย

10 ปี แห่งการบ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทย กว่า 60 บริษัท ที่ลุกขึ้นยืนและเดินหน้าต่อได้ด้วยสินค้าที่มาจากเทคโนโลยีและการวิจัย นั่นคือความสำเร็จของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย หรือไซน์พาร์ค กับก้าวต่อไปในฐานะผู้สร้างและขยายแนวคิด “นวัตกรรมแบบเปิด” (OPEN INNOVATION)
: ขยายแนวคิด
“ความพยายามในการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเข้ากับการวิจัยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาทต่อปี ในขณะที่ภาคมหาวิทยาลัยเกิดองค์ความรู้ใหม่ ผลักดันให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมในระดับอาเซียน” ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าว

แต่ ณ วันนี้ บทบาทของอุทยานวิทยาศาสตร์กำลังจะเปลี่ยนไป โดยนอกจากทำหน้าที่จับคู่งานวิจัยกับภาคธุรกิจแล้ว การส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมแบบเปิดขึ้นในองค์กร กลายเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ท้าทาย เพราะการถ่ายทอดแนวคิดใหม่ให้กับองค์กร ไม่ใช่เรื่องง่าย

ทวีศักดิ์ บอกว่า หัวใจสำคัญของการทำนวัตกรรมแบบเปิด คือการเปิดรับองค์ความรู้จากภายนอก และส่งต่อความรู้นั้นให้กับพนักงานภายในองค์กร ซึ่งเป้นแนวทางที่เกิดขึ้นจริงแล้วในบริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็น ไอบีเอ็ม ไฟเซอร์ หรือแม้แต่ พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (P&G) จากสหรัฐ

การทำนวัตกรมแบบเปิดไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นที่งานวิจัย พัฒนา และผลักดันนวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์ด้วยตนเองทั้งหมด แต่เป็นการนำองค์ความรู้จากภายนอกมาผสมผสานกับสิ่งที่มีอยู่แล้วภายในองค์กร เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นและสามารถออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว

: ต้นแบบความสำเร็จ
กระแสนวัตกรรมแบบเปิดไม่ได้มีแนวโน้มที่ได้รับความสนใจแต่เฉพาะในบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ในบริษัทขนาดกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอี ต่างเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น

แม้การทำนวัตกรรมแบบเปิดยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่หนึ่งในต้นแบบความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริงในองค์กรแล้วนั้น คงต้องยกให้กับ “วนัส แต้ไพสิฐพงษ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร ที่ย้ำว่า “เบทาโกรมุ่งมั่นในการสร้างนวัตกรรมมากกว่า 7 ปี จนกระทั่งมีสิทธิบัตรจากผลงานวิจัย และขยายความสำเร็จออกไปยังภาคธุรกิจ ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่หลากหลาย”

หรือแม้แต่ไฮกริมเอง ซึ่งเป็นบริษัทขนาดเล็กที่เริ่มต้นธุรกิจจากการเปิดรับนวัตกรรม จนได้เป็นนวัตกรรมขจัดคราบจากเทคโนโลยีชีวิภาพ ภายใต้แบรนด์ “KEEEN” ออกจำหน่าย

วสันต์ อริยพุทธรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮกริม แอนด์ เอ็นไวรอนเมนทอล รีเสิร์ช จำกัด ยอมรับว่า ในอดีตจากที่เคยนำการตลาดมานำการวิจัย แต่วันนี้ทั้ง 2 ส่วนได้เดินหน้าไปพร้อมกัน พร้อมทั้งเปิดรับงานวิจัยจากภายนอก งานวิจัยจากต่างประเทศ รับฟังปัญหาและนำมาแก้ไข และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าต่อได้อย่างมั่นคง

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลากหลายความสำเร็จที่เริ่มต้นจากการเปิดมุมมองสร้างนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็น สารชีวบำบัดภัณฑ์บำบัดน้ำเสียในโรงงานอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมนาโนสำหรับดูแลร่างกายและครัวเรือน เซรั่มน้ำมันรำข้าวบำรุงหนังศีรษะ ช่วยให้เส้นผมแข็งแรงขึ้น 17% เทคนิคการจำแนกชนิดเนื้อสัตว์และจุล ชีวะ และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมกลูต้าไธโอน รูปแบบ Liquid capsule

: กลไกพร้อมหนุน
วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บอกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอุทยานวิทยาศาสตร์ตั้งอยู่บนพื้นที่ 200 ไร่ เป็นโมเดลนิคมวิจัย และนิคมธุรกิจวิทยาศาสตร์ มีโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องไม้เครื่องมือที่รองรับการทำวิจัยและให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ ให้เอกชนเข้ามาใช้บริการ หรือขอรับคำปรึกษาทางเทคนิค โดยที่บริษัทเอกชนสามารถเข้ามาทำอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีได้ตลอด ทั้ง Value Chain

การสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษี ค่าเช่า ค่าบริการ และเงินสนับสนุนเรื่องวิจัยพัฒนา ซึ่งโมเดลลักษณะนี้เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศในเอเชีย เช่น Technology Park ในเกาหลี Science Park ที่ไต้หวัน หรือ Hi-Tech Park ที่เวียดนาม ซึ่งผลผลิตที่ได้จากกลไกเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน

“บรรยากาศของไซน์พาร์ค มีวัฒนธรรมการวิจัยแบบ Open Innovation ซึ่งเป็นกระบวนการวิจัยพัฒนาที่เปิดรับเทคโนโลยีจากภายนอก มีการแลกเปลี่ยนความรู้ และแบ่งปันเทคโนโลยีที่ไม่ใช่ Core Business ระหว่างกัน ซึ่งถ้าเรามีเครือข่ายที่ใหญ่มากพอ จะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว”

รายการอ้างอิง :

จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา. เปิดมุมมองสร้างนวัตกรรม. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). วันที่ 11 ธันวาคม 2555.

 – ( 194 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


eight − = 1

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>