magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home วิทยาศาสตร์ ไทย 1ใน13 ร่วมมือเซิร์น
formats

ไทย 1ใน13 ร่วมมือเซิร์น

ม.เทคโนโลยีสุรนารี ลงนามความร่วมมือวิจัยกับ ALICE/CERN พัฒนาขีดความสามารถและยกระดับงานวิจัยขั้นสูงของไทยสู่เวทีโลก

หน่วยประสานงาน มทส.-กทม.: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมกับ องค์กรเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป (European Organization for Nuclear Research) หรือ เซิร์น (CERN) จัดแถลงข่าวพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มทส. กับ อลิช (ALICE, A Large Ion Collider Experiment) 1 ใน 7 ห้องปฏิบัติการเครื่องตรวจหาอนุภาคของเซิร์น เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพด้านงานวิจัยขั้นสูงของนักวิจัยไทย โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการโครงการความร่วมมือด้านวิชาการและวิจัยกับเซิร์น ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มทส. ศาสตราจารย์ เอ็มมานูเอล ทเซสมีลิส (Prof. Emmanuel Tsesmelis) ผู้ประสานงานฝ่ายภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเซิร์น และ ดร.เปาโล เจียเบลลิโน (Dr.Paolo Giubellino) โฆษกของอลิช ร่วมแถลง

ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการโครงการความร่วมมือด้านวิชาการและวิจัยกับเซิร์น กล่าวถึงความเป็นมาการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า สืบเนื่องจากพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเสด็จพระราชดําเนินเยือน เซิร์น ถึง 4 ครั้ง และทรงมีพระราชดำริสนับสนุนให้นักวิจัยไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมวิจัยในโครงการของเซิร์น

โดยเมื่อครั้งเสด็จพระราชดําเนินเยือนเซิร์นเป็นครั้งที่ 3 นั้น ได้มีการลงนามในเอกสารแสดงเจตจำนงที่จะมีความร่วมมือกัน (Expression of Interest) หรืออีโอไอ (EOI) ระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และกลุ่มวิจัยสถานีตรวจวัดซีเอ็ม เอส (CMS) เพื่อให้นักฟิสิกส์จากประเทศไทยเข้าร่วมทําการทดลองด้านฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูงที่เซิร์น และพัฒนาความร่วมมือทางด้านวิชาการและงานวิจัยร่วมกับเซิร์น

ในปี 2553 ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการโครงการความร่วมมือด้านวิชาการและวิจัยกับเซิร์น เพื่อดำเนินการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ตาม EOI โดยผลของการดำเนินงานทำให้เกิดโครงการต่างๆ ตามมา อาทิ โครงการคัดเลือกนักศึกษาและครูฟิสิกส์เพื่อร่วมโปรแกรมภาคฤดูร้อนของเซิร์น โครงการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเซิร์นในประเทศไทย (CERN school Thailand) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์การคำนวณสมรรถนะภาพสูงระดับชาติ (National e-Science Infrastructure Consortium) และโครงการความร่วมมือทางวิชาการไทยเซิร์น ระหว่าง 13 หน่วยงาน ภายในประเทศไทย สำหรับ มทส. เป็นหนึ่งใน 13 หน่วยงานที่ได้พัฒนาความร่วมมือทางด้านวิชาการร่วมกับเซิร์น จนสามารถได้เข้าเป็นสมาชิกสมทบของอลิช เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2554 และได้รับการรับรองให้เป็นสมาชิกแบบเต็ม (Full member) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2555

ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวว่า มทส. มีความเชี่ยวชาญทางด้านควาร์กและไอออนหนัก จึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ อลิซ (ALICE) ซึ่งเป็น 1 ใน 7 ห้องปฏิบัติการเครื่องตรวจหาอนุภาคที่ออกแบบเฉพาะสำหรับการศึกษาการชนกันของไอออนหนักของเครื่องเร่งอนุภาค LHC ภายใต้องค์กรแห่งยุโรปเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์ หรือ เซิร์น ในการนี้มหาวิทยาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณยิ่งจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง มทส. และ อลิซ ในเวลา 18.00 น. วันที่ 13 ธันวาคม 2555 ณ วังสระปทุม

สำหรับการดำเนินการภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มทส. มีแผนจัดตั้งศูนย์การคำนวณแบบ Tier-2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ National e-Science Infrastructure Consortium โดยได้อนุมัติให้จัดตั้งระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง และจัดสรรงบประมาณ 6 ล้านบาท เพื่อจัดหาครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ประกอบในปีงบประมาณ 2556 ระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงนี้จะใช้สำหรับเชื่อมต่อกับเซิร์น เพื่อร่วมใช้ข้อมูลจากหัววัดไอออนหนัก ALICE ซึ่งเป็นหัววัดที่ถูกออกแบบมาสำหรับการศึกษาไอออนหนักที่ดีที่สุดในโลก นอกจากนี้ สาขาวิชาและหน่วยงานต่างๆ ของ มทส. จะมีส่วนร่วมกับโครงการนี้ อาทิ คณาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จะได้นำข้อมูลจากเซิร์น มาใช้ร่วมกับเทคนิคทางเทคโนโลยีสารสนเทศและวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า DataMining เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลจากเซิร์น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการศึกษาวิจัย รวมทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการวิเคราะห์ผลการทดลอง และเป็น Interface สำหรับการเข้าถึงการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ อีกด้วย

สำหรับนักวิจัยของ มทส. ที่ทำวิจัยเชิงคำนวณ สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงที่เกิดจากการเข้าเป็นสมาชิกครั้งนี้ได้โดยตรงในหลากหลายสาขาวิชา เช่น วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมโทรคมนาคม คณิตศาสตร์เชิงคำนวณ เคมีเชิงคำนวณ ฟิสิกส์เชิงคำนวณ ฐานข้อมูลระบบสาธารณสุขด้านแพทยศาสตร์และพยาบาลศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตร และเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนี้ มทส. ยังมีแผนงานวิจัยในเรื่อง การพัฒนาระบบ Inner Tracking System (ITS) เพื่อการปรับปรุงระบบการตรวจวัดอนุภาคของ ALICE ให้มีสมรรถนะสูงขึ้น ทำการผลิตและพร้อมที่จะติดตั้ง ในช่วงที่ LHC ทำการปิดเพื่อปรับปรุงในปี 2560 – 2561 โดย ITS เป็นเครื่องตรวจจับอนุภาคที่อยู่ตรงกลางภายในสุดของ ALICE ทั้งนี้การศึกษา ออกแบบ และดำเนินการผลิต ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญทั้งในส่วน วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

“ความร่วมมือในครั้งนี้จะส่งผลให้ มทส. เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยและแห่งแรกของภูมิภาคอาเซียน ที่ได้เป็นสมาชิกแบบเต็มรูปแบบของอลิช และประเทศไทยถือเป็น 1 ใน 5 ประเทศจากทวีปเอเชียซึ่งประกอบไปด้วย จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ และไทย ที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกดังกล่าว นอกจากจะส่งผลให้ มทส. สามารถร่วมใช้ข้อมูลจากหัววัดไอออนหนัก เข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้าง บำรุงรักษาหัววัด ดำเนินการทดลองและใช้ผลการทดลองของห้องปฏิบัติการอลิช รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และวิศวกรชาวไทย ได้มีส่วนร่วมในการค้นพบองค์ความรู้ใหม่ที่จะเกิดขึ้นแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยให้ก้าวไปสู่การยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ และก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของภูมิภาคอาเซียนอีกทางหนึ่งด้วย” อธิการบดี มทส. กล่าวในที่สุด

ศาสตราจารย์ เอ็มมานูเอล ทเซสมีลิส ผู้ประสานงานฝ่ายภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเซิร์น กล่าวว่า เซิร์น (CERN) เป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยด้านนิวเคลียร์ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการจัดเตรียมเครื่องเร่งอนุภาคและโครงสร้างอื่นๆที่จำเป็นต่อการวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาค ซึ่งการค้นพบที่สำคัญของโลกหลายประการได้ถูกค้นพบโดยเซิร์น เช่น การค้นพบอนุภาคสื่อแรงชนิดอ่อน การสร้าง Antihydrogen atom และการค้นพบอนุภาคฮิกซ์ เป็นต้น นอกจากเซิร์นจะเป็นศูนย์รวมความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์แล้ว ยังเป็นแหล่งรวมสรรพวิทยาและความก้าวหน้าทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของโลก อาทิ เซิร์นเป็นต้นกำเนิด world wide web (www) เป็นต้น โดยปัจจุบัน เซิร์นเป็นองค์กรวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ทางด้าน ดร.เปาโล เจียเบลลิโน โฆษกของอลิช (ALICE) กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการอลิช เป็น 1 ใน 7ห้องปฏิบัติการของเซิร์น มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาการชนกันของไอออนหนักของเครื่องเร่งอนุภาค LHC ที่เซิร์น โดยทำหน้าที่ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอันตรกิริยาอย่างแรงของสสารที่เกิดขึ้นจากการชนกันของไอออนหนัก อาทิ สถานะที่มีความหนาแน่นสูงและพลังงานสูง เรียกว่า ควาร์ก-กลูออน พลาสมา ซึ่งเป็นสถานะที่เชื่อว่าเกิดขึ้นในยุคแรกเริ่มของเอกภพ จากความร่วมมือในครั้งนี้ อลิชยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้นักศึกษาและนักวิจัยในสาขาวิชาต่างๆ ที่สนใจทำวิจัยเข้าร่วมตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-โท-เอก โดยที่ผ่านมามีนักศึกษาจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมโครงการภาคฤดูร้อนเป็นจำนวนมากและไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะสาขาวิชาฟิสิกส์เท่านั้น นอกจากนี้การเข้าร่วมโครงการปรับปรุง ระบบ Inner Tracking System (ITS) ยังเป็นประโยชน์ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ จากเซิร์น สู่ประเทศไทยได้อีกด้วย

รายการอ้างอิง :

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. ไทย 1ใน13 ร่วมมือเซิร์น. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). วันที่ 15 ธันวาคม 2555.– ( 98 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


eight + = 10

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>