magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก อาหารชะลอความเสื่อม
formats

อาหารชะลอความเสื่อม

ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ควรใส่ใจอาหารที่ช่วยชะลอความเสื่อมของไตเนื่องจากไตไม่สามารถขับของเสียออกจากร่างกายได้ตามปกติ

ผู้ที่บำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตทางช่องท้องนั้นสามารถมีความสุขกับการรับประทานอาหารได้ตามปกติ แต่จะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของร่างกายและปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง และรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ ข้าวแป้ง ผัก ผลไม้และไขมันดีโดยเฉพาะสารอาหารโปรตีนที่พบมากในเนื้อสัตว์ต้องรับประทานให้เพียงพอเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและเสริมภูมิต้านทานโรค
ผศ.ดร.ชนิดา ปโชติการ นายกสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องส่วนใหญ่ มักพบปัญหาในการรับประทานอาหารคือไม่สามารถรับประทานอาหารได้ครั้งละมากๆ เหมือนก่อนล้างไต เพราะความรู้สึกแน่นท้องจากการมีน้ำอยู่ในท้อง การสูญเสียโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ไปกับน้ำยาที่ใช้ในการล้างไตทางช่องท้อง ทำให้ผู้ที่ล้างไตทางช่องท้องอาจเกิดภาวะขาดสารอาหารได้ ดังนั้น ผู้ป่วยที่ทำการล้างไตทางช่องท้องต้องมีความรู้ความเข้าใจในการเลือกกินอาหารเพื่อให้ได้รับสารอาหารโปรตีนและพลังงานที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

“ควรกินอาหารหมวดเนื้อสัตว์ให้เพียงพอเพื่อป้องกันการสูญเสียกล้ามเนื้อ ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ สร้างภูมิคุ้มกันโรคเน้นบริโภคปลา เพราะเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ดีย่อยง่าย ไขมันต่ำ ควรบริโภคให้ได้4-6ช้อนโต๊ะต่อมื้อหรือเท่ากับ 3 กล่องไม้ขีดไฟกล่องเล็กหรือไพ่ 1สำรับ ”

เมนูอาหารที่นำมาบริโภคควรดัดแปลงเมนูให้เกิดหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น การนำ “ไข่ขาว” ซึ่งเป็นอาหารที่มีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยโรคไต สามารถนำมาดัดแปลงเป็นอาหารให้น่ารับประทานได้ ไม่ว่าจะเป็น ซูชิไข่ขาว ฮ่อยจ๊อไข่ขาว หรือ ไส้กรอกอีสานไข่ขาว และอื่นๆหรือการนำวุ้นเส้น มาทำเป็นเมนูต่างๆ เพื่อให้ได้พลังงานตามที่กำหนด และป้องกันภาวะทุพโภชนาการ

แต่สิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง เช่น หมูสามชั้น หนังเป็ด หนังไก่ เครื่องในสัตว์ รวมทั้งเนื้อสัตว์แปรรูปและอาหารสำเร็จรูป ได้แก่ ไส้กรอก แฮม ปลาส้ม กุนเชียง รวมถึงเนื้อสัตว์ที่มีรสเค็ม อย่าง เนื้อเค็ม ไข่เค็ม ปลาเค็ม และอาหารทะเลแช่แข็ง นอกจากนี้ควรลดการรับประทานเบเกอรี่ ขนมปัง น้ำตาลทราย และอาหารที่มีกะทิข้น เช่น แกงมัสมั่น ฉู่ฉี่ ก๋วยเตี๋ยวแขก ข้าวซอย หรือของหวานที่มีกะทิเป็นส่วนผสม เช่น ขนมปลากริมไข่เต่า ผลไม้เชื่อม หลีกเลี่ยงอาหารหมักดองและอาหารที่ย่อยยากและชิ้นใหญ่

” ไม่ควรรับประทานอาหารมื้อใหญ่ ควรแบ่งเป็นมื้อเล็กๆ หลายมื้อ ที่สำคัญหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มน้ำอัดลม งดการดื่มสุราและสูบบุหรี่รวมถึงเครื่องปรุงที่ใช้ในการปรุงรสอาหาร อาทิ เกลือ น้ำปลา น้ำตาล เพราะร่างกายไม่ต้องการ จึงต้องจำกัดปริมาณให้อยู่ในความเหมาะสมมิฉะนั้นการปรุงรสอาหารอาจเป็นส่วนที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้”

นายกสมาคมนักกำหนดอาหาร แนะนำว่า หากต้องการเพิ่มรสชาติ สามารถใช้สมุนไพรช่วยในการปรุงรส เช่น หอมแดง ใบมะกรูด กระเทียม ข่า ตะไคร้ กระชาย ผักชี ขิง ใบแมงลัก เป็นต้น ส่วนการปรุงอาหารจะต้องใช้น้ำมันที่ดีคือ มีไขมันอิ่มตัวน้อย โดยใช้น้ำมันถั่วเหลืองผสมกับน้ำมันรำข้าวในสัดส่วน 1 : 1 สำหรับอาหารประเภทผัด เพื่อลดการอุดตันของไขมันในเส้นเลือดที่จะนำไปสู่โรคหัวใจ ส่วนน้ำมันปาล์ม ใช้สำหรับอาหารประเภททอด โดยหลังทอดเสร็จแล้วควรใช้กระดาษซับเอาน้ำมันออก

รายการอ้างอิง :

กอห์นนี่. อาหารชะลอความเสื่อม. กรุงเทพธุรกิจ (Life Style : สุขภาพ). วันที่ 20 ธันวาคม 2555.

 – ( 128 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


+ 2 = ten

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>