ผู้หญิงน้อยคนนัก ที่จะเลือกเดินบนเส้นทางสายวิทยาศาสตร์ให้ประสบความสำเร็จ จนได้รับเลือกให้ได้รับทุนวิจัยระดับประเทศ
ผู้หญิงน้อยคนนักที่จะเลือกเดินบนเส้นทางสายวิทยาศาสตร์ให้ประสบความสำเร็จ แต่ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป สำหรับ 2 นักวิทยาศาสตร์หญิงที่หลงไหลในเทคโนโลยีจิ๋ว จนได้รับเลือกให้ได้รับทุนวิจัยระดับประเทศ
“ปุณณมา ศิริพันธ์โน้น” จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ “อทิตยา ศิริภิญญานนท์” จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2 นักวิทยาศาสตร์หญิงที่ควงคู่กันคว้าทุนวิจัย ลอลีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ในปี 2555 ได้จุดประกายให้เด็กผู้หญิงหลายคนเลือกเดินตามรอยบนเส้นทางนักวิทย์
สิ่งที่เหมือนกันอีกอย่างหนึ่งของทั้งสองคือความสนใจในเทคโนโลยีนาโน เทคโนโลยีใหม่ที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนเรามากขึ้น ตั้งแต่เสื้อผ้าที่สวมใส่ ไปจนถึงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอย่างโทรศัพท์มือถือ
: เสน่ห์นาโน
เส้นทางสายวิทยาศาสตร์ของ อทิตยา เริ่มต้นจากนักเคมีในห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยความมุ่งมั่นทำงานวิจัยมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอก จนกระทั่งช่วง 4-5 ปีให้หลังที่นาโนเทคโนโลยีเริ่มได้รับความสนใจ เธอจึงได้หันมาศึกษาอย่างจริงจัง
อทิตยาบอกว่า นักเคมีไม่จำเป็นต้องจำกัดตัวเองอยู่เฉพาะสาขาที่เรียนมา แต่สามารถต่อยอดไปยังเรื่องราวที่สนใจ โดยเฉพาะนาโนเทคโนโลยีซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับเคมีและเป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ ยังคงต้องการองค์ความรู้พื้นฐานมาช่วยอธิบาย และหาคำตอบในสิ่งที่คนสงสัย
“หากมีการใช้นาโนเทคโนโลยีอย่างแพร่หลาย ในมุมวิทยาศาสตร์ต้องบอกได้ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงหรือเปล่า” เธออธิบาย และว่า สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือแนวทางการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของสินค้านาโนอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
นักเคมีหญิงให้มุมมองว่า ปัจจุบันในต่างประเทศได้ให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์นาโนในหลากหลายแง่มุมโดยเฉพาะความเสี่ยง ด้านการใช้งานและผลกระทบที่จะเกิดกับมนุษย์ในระยะยาว ซึ่งเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างหาคำตอบ
รวมถึงตัวเธอเอง ที่ทุ่มเทเวลาว่างจากการสอนหนังสือมาศึกษาเทคนิคการวิเคราะห์การกระจายตัวของอนุภาคในระดับนาโน เพื่อวัดขนาดอนุภาคนาโนในรูปแบบสารละลายหรือของเหลว เช่นสารซิลเวอร์นาโนในผงซักฟอก ซึ่งการวัดขนาดยังเป็นไปอย่างยากลำบาก และต้องอาศัยเครื่องมือในการวิเคราะห์เช่นกล้องจุลทรรศน์ความละเอียดสูง
แต่เธอได้คิดค้นเทคนิคการวัดในรูปแบบใหม่ โดยอาศัยเทคนิคการไหลและสนามแม่เหล็กช่วยกดอนุภาคนาโนที่มีขนาดต่างกันให้ไหลออกมาตามช่อง ซึ่งจะทำให้ทราบขนาดที่ชัดเจน โดยอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา ในส่วนของการใช้จริงนั้นอาจต้องใช้เวลาในการตีพิมพ์ผลงาน อีก 1-2 ปี เพื่อให้เทคนิคที่คิดค้นขึ้นมีความน่าเชื่อถือ เปรียบเทียบกับเทคนิคอื่นและให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ
:นาโนเพื่ออุตสาหกรรม
นอกจากงานวิจัยจะช่วยการันตีสินค้านาโนจากขนาดที่สามารถวัดได้ในห้องปฏิบัติการแล้ว งานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีของ ดร.ปุณณมา จาก สจล. ยังเป็นความหวังที่จะพลิกโฉมวงการสิ่งทอ จากการเพิ่มประสิทธิภาพเส้นใยธรรมชาติ และการลดมลพิษในแหล่งน้ำธรรมชาติจากสารเคมีที่ใช้ในการฟอกย้อม
“การแข่งขันในระดับอาเซียนต้องสู้กันที่เทคโนโลยี โดยเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ แทนการแข่นขันที่แรงงานราคาถูก โดยโจทย์วิจัยของเธอคือการนำนาโนเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเพิ่มคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียให้กับเส้นใยผ้าฝ้ายธรรมชาติ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดยุโรป ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น สามารถแข่งขันได้ในตลาดบน” เธอให้มุมมอง
นอกจากนี้ โจทย์ปัญหาที่ได้รับจากภาคเอกชน ยังนำมาสู่กระบวนการแก้ไข โดยพัฒนาสารดูดซับเพื่อจับกับสารเคมีในกระบวนการฟอกย้อม โดยที่ภาคอุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างระบบบำบัดน้ำเสียที่มีค่าใช้จ่ายสูง
“เราสามารถพัฒนาดินเหนียวให้มีรูพรุนในขนาดที่เหมาะสม เพื่อใช้ในการดูดซับและจับกับสารเคมีสารเคมีประเภทสีย้อม ซึ่งเมื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำแม้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย ก็มีผลให้น้ำเปลี่ยนเป็นสีดำ เกิดตะกอน และลดการผ่านของแสง กระทบต่อสิ่งมีชีวิต” เธอกล่าว และว่า ข้อดีของนาโนเทคโนโลยีคือสามารถสร้างสารที่มีรูพรุนขนาดเหมาะกับใช้สำหรับจับสีย้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งวัตถุดิบทำจากแร่ดินเหนียวจากแผล่งผลิตในประเทศ ทำให้ต้นทุนในการบำบัดน้ำเสียมีราคาถูกลง
: รางวัลหนุนวิจัย
อย่างไรก็ตาม การวิจัยจะประสบความสำเร็จได้หรือไม่นั้นจำเป็นต้องอาศัยเงินทุน เนื่องจากสารเคมีมีเป็นหนึ่งในวัสดุสิ้นเปลืองทางวิทยาศาสตร์ที่มีความจำเป็นต่อการวิจัยและพัฒนา
นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ บริษัท ลอลีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ริเริ่มโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” โดยคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์หญิงที่ทำงานเกี่ยวข้องกับ 3 สาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ วัสดุศาสตร์ และสาขาเคมี เพื่อรับเงินทุนสนับสนุนงานวิจัย
นางสดับพิณ คำนวณทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร และองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอลีอัล (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า ในปี 2555 ลอลีอัล (ประเทศไทย) ได้คัดเลือกนักวิทยาศาสตร์หญิงที่อุทิศตนทำงานวิจัยซึ่งเป็นประโยชน์กับประเทศ ให้รับทุนวิจัยมูลค่า 2.5 แสนบาท เพื่อต่อยอดผลงานให้เป็นประโยชน์ในวงกว้าง โดยทุนวิจัยดังกล่าว ได้จัดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 10 ปี โดยมีนักวิทยาศาสตร์หญิงอายุไม่เหิน 25-40 ปีได้รับทุนวิจัยรวม 40 คน
ดร.อทิตยา กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหาของการวิจัยในประเทศไทยคือทุนวิจัยที่มีอยู่อย่างจำกัด ตลอดจนเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ในงานวิจัยมีราคาสูง ทำให้งานวิจัยเดินหน้าไปได้ช้า ซึ่งทุนวิจัยที่ได้รับนี้จะนำไปต่อยอดพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ทดสอบและประยุกต์ใช้กับตัวอย่างต่อไป
รายการอ้างอิง :
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. ‘ของจิ๋ว’มากประโยชน์. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์). วันที่ 27 ธันวาคม 2555– ( 160 Views)