magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home ข่าววิทยาศาสตร์ ลุ้น 2 ดาวหางแห่งปี “แพนสตาร์ส – ไอซอน” เห็นได้ด้วยตาเปล่า
formats

ลุ้น 2 ดาวหางแห่งปี “แพนสตาร์ส – ไอซอน” เห็นได้ด้วยตาเปล่า

ลุ้น 2 ดาวหางแห่งปี “แพนสตาร์ส – ไอซอน” ปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่คนไทยไม่ได้มีโอกาสบ่อยนักที่จะได้เห็น ดาวหางที่สุกสว่างจนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

ไม่ใช่…ลางร้าย!!!

แต่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่คนไทยไม่ได้มีโอกาสบ่อยนักที่จะได้เห็น ดาวหางที่สุกสว่างจนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

แถมยังมาให้ชมถึง 2 ดวงในปี พ.ศ. 2556 นี้


นั่นก็คือ “ดาวหางแพนสตาร์ส” (Panstarrs) และ “ดาวหางไอซอน” (Ison)

“ปณัฐพงศ์ จันทรวัฒนาวณิช” เจ้าหน้าที่สมาคมดาราศาสตร์ไทย บอกว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สำคัญของปีที่นักดารา ศาสตร์ทั่วโลกรวมถึงไทยเฝ้ารอ

ทุกวันนี้แม้จะมีดาวหางซึ่งเป็นน้ำแข็งสกปรกที่ต้องแวะเวียนมาในระบบสุริยะ ชั้นในเพื่อรับพลังงานจากดวงอาทิตย์ ก่อนถูกเหวี่ยงออกไป นับ 10 ดวงในแต่ละปี แต่จะสุกสว่างจนถึงขั้นมองเห็นได้ด้วยตาเปล่านี้ในรอบ 5-10 ปี ถึงจะมีโอกาสได้เห็นเพียง 1-2 ดวงเท่านั้น

โดยดาวหางดวงแรกที่จะมาให้คนไทยได้ชม และคาดว่าจะสุกสว่างจนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าก็คือดาวหางแพนสตาร์ส ซึ่งนักดาราศาสตร์ค้นพบในภาพถ่ายเมื่อเดือนมิถุนายน 2554 มีวงโคจรเป็นรูปไฮเปอร์โบลา

ผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์หรือจะสุกสว่างมากที่สุดในวันที่ 10 มีนาคม 2556 และใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 5 มีนาคม 2556

ปณัฐพงศ์ บอกว่าขณะนี้ดาวหางแพนสตาร์ส เริ่มโคจรมาใกล้ดวงอาทิตย์แล้ว โดยปลายเดือนมกราคม หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ คาดว่าจะเริ่มสว่างจนเห็นได้ตาเปล่า เห็นได้เฉพาะในซีกโลกใต้ ไทยยังไม่สามารถสังเกตเห็นได้ เพราะดาวหางจะขึ้นและตกเกือบพร้อมกับดวงอาทิตย์

ส่วนช่วงที่ประเทศไทยสามารถจะสังเกตดาวหางได้ดีที่สุดคือช่วงที่ดาวหางเริ่ม ปรากฏบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ ระหว่างวันที่ 9-17 มีนาคม 2556 ซึ่งเป็นเวลาที่คาดว่าดาวหางสว่างที่สุด และตกลับขอบฟ้าช้าที่สุด

แต่ก็ยังถือว่าไม่นาน เพราะจะสังเกตได้หลังดวงอาทิตย์ตกไปแล้วประมาณ 30 นาที โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ดาวหางอยู่ใกล้ขอบฟ้า ทำให้อาจสังเกตได้เฉพาะส่วนหางของดาวหางที่ทอดยาวขึ้นมาเหนือขอบฟ้าได้

ส่วนดาวหางไอซอน ปณัฐพงศ์ บอกว่า เป็นดาวหางที่ถูกค้นพบเมื่อเดือนกันยายน 2555 ที่ผ่านมา เป็นดาวหางที่นักดาราศาสตร์ตื่นเต้นมาก เพราะจัดอยู่ในกลุ่มดาวหางที่เฉียดหรือใกล้ดวงอาทิตย์มาก คือห่างประมาณ 1.9 ล้านกิโลเมตร และห่างจากผิวดวงอาทิตย์เพียง 1.2 ล้านกิโลเมตร

ทำให้คาดว่าจะเป็นดาวหางที่สว่างมากสุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา หากไม่เกิดการแตกหรือสูญสลายไปเสียก่อนเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาก ๆ

จากการคำนวณของนักดาราศาสตร์ คาดว่าดาวหางไอซอน จะใกล้ดวงอาทิตย์และสว่างที่สุดในวันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2556 และอาจสุกสว่างใกล้เคียงกับดวงจันทร์เต็มดวงทีเดียว

ทั้งนี้ดาวหางไอซอนจะใกล้โลกที่สุดราววันที่ 26-27 ธันวาคม 2556 โดยห่างจากโลกประมาณ 64 ล้านกิโลเมตร

การสังเกตดาวหางดวงนี้ในประเทศไทย เจ้าหน้าที่สมาคมดาราศาสตร์ไทยบอกว่า หากความสว่างเป็นไปตามที่คาดหมาย จะเริ่มสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าบนท้องฟ้าเวลากลางคืนได้ตั้งแต่ช่วงต้น เดือนพฤศจิกายน 2556 จนถึงต้นเดือนมกราคม 2557 บนซีกฟ้าตะวันออกในเวลาเช้ามืด ยกเว้นปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม ซึ่งดาวหางจะขึ้นและตกพร้อมดวงอาทิตย์

นักดาราศาสตร์ เตือนว่า การพยากรณ์ความสว่างของดาวหางมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้เสมอ เพราะเป็นน้ำแข็ง เมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ก็มีสิทธิละลาย

แต่ก็เคยมีดาวหางหลายดวงในอดีต ที่เฉียดเข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์แล้วสามารถดีดตัวออกมาโชว์ความสวยงามได้สมกับ ที่รอคอย ซึ่งคงต้องลุ้นกันต่อไป

และมั่นใจได้ ดาวหางไม่ทำให้โลกแตกแน่นอน!!.

ต้อนรับดาวเคราะห์น้อยเฉียดโลก

มาแน่! กับดาวเคราะห์น้อยที่ชื่อว่า 2012 ดีเอ 14 (2012 DA14) ที่เพิ่งถูกค้นพบเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 โดยหอดูดาวลาซากรา ของสเปน

และปีนี้ “15 กุมภาพันธ์ 2556” จากข้อมูลในเว็บไซต์ของสถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุเวลาประมาณ 02.26 น. ตามเวลาในประเทศไทย หรือหลังวันแห่งความรักเพียง 1 วัน ดาวเคราะห์นี้จะโคจรกลับมาอีกครั้ง

และเข้าใกล้โลกชนิดที่เรียกว่าเฉียดทีเดียว เพราะห่างจากโลกเพียงแค่ 24,000 กิโลเมตร และอยู่ในเงาของโลกประมาณ 18 นาที สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยกล้องสองตา

สำหรับข้อมูลเบื้องต้น พบว่าดาวเคราะห์น้อย  2012 ดีเอ 14 มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 45 เมตร วงโคจรเป็นวงรีคล้ายโลก แต่รีกว่าเล็กน้อย

โดยวงโคจรจะใกล้เคียงกับวงโคจรของดาวเทียมสื่อสารทั่ว ๆ ไป

โคจรรอบดวงอาทิตย์ใช้เวลาประมาณ 366.24 วัน

เคยถูกนำไปโยงเข้ากับกระแสโลกแตกในปีที่ผ่านมา แต่นักดาราศาสตร์ยืนยัน คำนวณแล้วไม่พุ่งชนโลกอย่างแน่นอน

ซึ่งการประเมินความอันตรายจากดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ไว้ว่า ปัจจุบันมีค่าความเสี่ยงอยู่ที่ 0

และจะคงอยู่ที่ 0 อย่างนี้ไปอย่างน้อยจนถึงปี พ.ศ. 2625!!.

พายุสุริยะรุนแรง

“พายุสุริยะ” เป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับความสนใจอย่างมากตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 แม้จะผ่านพ้นวันที่ 21 ธันวาคม ไปแล้วกระแสนี้ก็ยังคงมีต่อเนื่อง

เพราะ…มีการคาดการณ์กันว่าแนวโน้มการเกิดพายุสุริยะที่มีความรุนแรงอาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา หรือในต้นปี พ.ศ. 2556 นี้

นายอารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย บอกว่าพายุสุริยะที่จะเกิดในปีนี้ ถือเป็นเหตุการณ์ปกติ แม้จะมีการจับตามองว่าในปี พ.ศ. 2555-2556 จะเกิดค่อนข้างมากก็ตาม

แต่อย่างไรก็ดี มองว่าปี พ.ศ. 2556 นี้ ไม่น่าจะเกิดมากกว่าปี พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา จึงไม่น่ากังวล

พร้อมทั้งยืนยันว่าเรื่องของพายุสุริยะ ไม่เคยมีองค์ความรู้ด้านวิชาการใด ๆ ระบุว่าเกี่ยวข้องหรือทำให้เกิดแผ่นดินไหว

ส่วนผลกระทบจากพายุสุริยะ ซึ่งเป็นการระเบิดเป็นครั้งคราวที่ผิวของดวงอาทิตย์นั้น ที่ผ่านมาไม่เคยทำให้เกิดภัยพิบัติ คนตายหรือบาดเจ็บ

จะกระทบบ้างก็คือประเทศที่อยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ รวมถึงด้านการสื่อสาร ดาวเทียมหรือยานอวกาศ แต่ด้วยเทคโนโลยี ที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้มีการเตรียมการรองรับโดยเฉพาะกับธุรกิจดาวเทียม ที่มีมูลค่ามหาศาล

ส่วนชาวบ้านอย่างเรา ๆ รู้ไว้ แต่ใช่ว่าจะต้องกังวล!!.

รายการอ้างอิง : ลุ้น 2 ดาวหางแห่งปี “แพนสตาร์ส – ไอซอน” เห็นได้ด้วยตาเปล่า. เดลินิวส์ (ไอที). วันพุธที่ 2 มกราคม 2556.– ( 164 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


five − = 2

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>