magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home การแพทย์/สาธารณสุข เชียงดา: จากริมรั้วสู่ยุโรป
formats

เชียงดา: จากริมรั้วสู่ยุโรป

จากผักริมรั้วที่ เด็ดไปขายเป็นกำ ๆ ผักเชียงดาถูกแปรรูปกลายเป็นชาและอาหารเสริมที่มีคุณค่าสร้างรายได้หลักแสน ต่อเดือน พร้อมต่อยอดสู่แบรนด์สากล

นางมุทิตา สุวรรณคำซาว ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสันมหาพนสมุนไพรอินทรีย์ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เผยถึงที่มาของธุรกิจผักเชียงดาว่า ตั้งแต่ไม่สบายตอนเด็ก และหายได้ด้วยผักเชียงดา จึงสนใจและคิดจะต่อยอดผักริมรั้วนี้ ในรูปของวิสาหกิจชุมชน ตากแห้งใบผักเชียงดามาทำเป็นชาผักเชียงดาเพราะเชื่อมั่นในประสิทธิภาพ แต่ก็ขายได้น้อย เพราะเป็นกิจการเล็ก ๆ ไม่มีมาตรฐานอะไรรับรอง นอกจากนี้ยังไม่มีตลาดอีกด้วย

 

 

เสริมสมุนไพรด้วยวิทย์

ผศ.สุพจน์ บุญแรง รองคณบดีฝ่ายบริหารและแผนงาน คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่กล่าวว่า มีโอกาสรู้จักกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสันมหาพนในปี 2552 และมองเห็นโอกาสที่ผักเชียงดาจะสามารถพัฒนาไปจนถึงขั้นส่งออก

ผักเชียงดาเป็นไม้เถาที่พบมากในภาคเหนือ ซึ่งพบสาร Gymnemic Acied ที่มีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายคลึงกับโมเลกุลของน้ำตาล เมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกายจะเข้าจับเซลล์ตัวรับในผนังลำไส้ ทำให้ลำไส้ไม่มีพื้นที่เพียงพอจับกับน้ำตาล จึงขับออกไป ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

“แต่ปัญหาที่พบคือ ชาวบ้านยังใช้สารเคมีในการเพราะปลูก จึงได้แนะนำให้ทำเกษตรอินทรีย์ โดยหวังผลในตลาดเกษตรอินทรีย์ที่ได้ราคาสูง รวมไปถึงตลาดต่างประเทศด้วย”

ผศ.สุพจน์เข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จากโครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตและผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทอาหารสู่มาตรฐานสากล ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน และได้ยื่นเรื่องไปที่ สวทช.ก่อนจะได้รับสนับสนุนงบประมาณพัฒนามาตรฐานและคุณภาพการผลิต

ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสันมหาพนสมุนไพรอินทรีย์กล่าวว่า ชาวบ้านต้องปรับตั้งแต่การปลูกไร่ผักเชียงดาแบบไม่ใช้สารเคมี ปรับกระบวนการเก็บเกี่ยวหลังพบว่า สารออกฤทธิ์ในผักเชียงดาจะให้ผลสูงสุดหากเก็บเกี่ยวก่อนโดนแดดแรง ก็จะเก็บใบผักไม่เกิน 10 โมงเช้า

นอกจากนี้ ยังปรับปรุงด้านการแปรรูปจนได้การรับรองมาตรฐาน อย. และฮาลาล พร้อมกับต่อยอดปรับปรุงโรงเรือนที่ใช้ในการแปรรูปให้สะอาด และถูกสุขลักษณะ จนผ่านเกณฑ์มาตรฐาน GMP และ GHP จนสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์

ปัจจุบัน ผักเชียงดาของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสันมหาพนสมุนไพรอินทรีย์มีจำหน่ายในรูปของชา และแคปซูล สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในกลุ่ม จากที่เคยทำเองขายเองได้เดือนละประมาณ 5000 บาท ก็เพิ่มมากเป็น 70,000–100,000 บาทต่อเดือน

แต่นี่ไม่ใช่ตอนจบ เพราะผักริมรั้วอย่างเชียงดา กำลังจะโกอินเตอร์ไปอยู่ในชั้นวางสินค้าของห้างดังอย่างวอลล์มาร์ทในยุโรป

อาหารเสริมจากริมรั้ว

จากประสบการณ์ที่ได้ทดลองเอง นายเสกสิทธิ์ ยุทธยง ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ออร์กานิกา จำกัด ที่ทำธุรกิจด้านสินค้าเกษตรอินทรีย์อยู่แล้วสนใจและศึกษาเชิงลึก ก่อนที่จะร่วมทุนต่อยอดผลิตภัณฑ์ผักเชียงดามาในแบรนด์ใหม่ จับตลาดไฮเอนด์ ซึ่งเริ่มมาประมาณ 2 ปีแล้ว โดยปรับกระบวนการผลิต และบรรจุให้ตรงกับความต้องการและมาตรฐานส่งออกยุโรป

นายเสกสิทธิ์ชี้ว่า การวิจัยพบว่า ผักเชียงดา หรือที่ภาษาฮินดูเรียกว่า Gurmar ถูกนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรมานานแล้ว และมีผลการวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านการดูดซึมน้ำตาลในกระแสเลือด ทำให้เป็นผลดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทำให้เกิดเป็นความต้องการในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป

“ปัจจุบัน คนทั่วโลกเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น รวมถึงมีคนอีกมาที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก และน้ำตาลในเลือด แต่เมื่อมองหาผลิตภัณฑ์ที่จะยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลโดยมากมักเป็นสารเคมีที่มีผลข้างเคียงไม่มากก็น้อยดังนั้น หากมีผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ยับยั้งการดูดซึมน้ำตาล มาจากธรรมชาติ และไร้ผลข้างเคียง ก็จะเป็นตัวเลือกแรกของผู้บริโภคทั่วโลก” ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจจากออร์กานิกาชี้

แม้ในยุโรปมีผลิตภัณฑ์จากผักเชียงดาหลายแบรนด์ แต่สมุนไพรไทยถือว่า มีสถานะที่ดี เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ในขณะเดียวกัน กระบวนการผลิตของเราก็แตกต่างด้วยการฟรีซดราย (Freeze Dry) ไม่ทำให้คุณค่าต่างๆ เสียไป ในขณะที่หลายแบรนด์เลือกใช้ความร้อนในการอบแห้ง

เขาย้ำว่า การที่เรากล้าทำตลาดในยุโรป ที่มีชาใบเชียงดาหลายแบรนด์ เนื่องจากสายพันธุ์ผักเชียงดาที่สันมหาพนทำให้ได้เปรียบ เพราะเมื่อนำมาทำชา ผักเชียงดาของไทยจะให้รสหวานมากกว่า ในขณะที่เชียงดาสายพันธุ์ต่างประเทศจะทำให้ต่อรับรสหวานเพี้ยน ทำให้ลิ้นรับรสขมแทน

จุดเด่นจึงเป็นรสชาติ ที่หากขายในรูปของชาแล้ว จะตีแบรนด์อื่นแตกเพราะรสดีกว่า ในขณะเดียวกัน ก็มีตลาดในรูปของแคปซูลผักเชียงดา ที่ออร์กานิกาก็ผลิตภัณฑ์นี้ป้อนตลาดเช่นกัน

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ผักเชียงดาภายใต้แบรนด์ ออร์กานิกาได้รับการรับรองมาตรฐาน อย. จีเอ็มพี และออร์แกนิค ไทยแลนด์ รวมถึงมาตรฐานผลิตภัณฑ์ปลอดภัย (Safety Product) ซึ่งกำลังยื่นขอมาตรฐานรับรองด้านอาหารอินทรีย์ ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์แข็งแกร่งขึ้น สามารถขายในราคาที่สูงขึ้นด้วย

“เราตั้งเป้าว่า ภายในต้นปี 2556 จะพร้อมในการผลิตและส่งออก โดยกำลังอยู่ในระหว่างเจรจากับวอลล์มาร์ทผ่านตัวแทนดิสทริบิวเตอร์ที่นำผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคของเราไปขายอยู่แล้ว และหากสำเร็จ ผักเชียงดาแบรนด์ ออร์กานิกาก็จะวางให้ลูกค้าเลือกบนชั้นวางสินค้าในวอลล์มาร์ทหลายร้อยหลายพันสาขาทั่วยุโรป” เสกสิทธิ์ทิ้งท้าย

รายการอ้างอิง :

สาลินีย์ ทับพิลา. เชียงดา: จากริมรั้วสู่ยุโรป. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). วันที่ 3 มกราคม 2556.– ( 1540 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


4 − three =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>