“หัวพ่นทราย” เทคโนโลยีสัญชาติไทย ผลงานวิจัยจากแล็บเซรามิกขั้นสูง สร้างทางเลือกทางรอดรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
บริษัทรับจ้างผลิตชิ้นส่วนโลหะตัดสินใจสร้าง “หัวพ่นทราย” ด้วยเทคโนโลยีสัญชาติไทย เพิ่มความเข้มแข็งและได้เปรียบให้กับภาคอุตสาหกรรมขนาดย่อม หวังสร้างทางเลือกทางรอดรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
วรพล อินทรสูตร กรรมการผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็มฟร็อฟ บริษัทรับจ้างผลิตชิ้นส่วนโลหะ กล่าวว่า โรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศมีความต้องการใช้หัวพ่นทรายเฉลี่ย 2-5 พันชิ้นต่อเดือน ซึ่งต้องนำเข้าทั้งหมด มูลค่ากว่า 4 ล้านบาทต่อเดือน เนื่องจากวัสดุที่ใช้ทำหัวพ่นทรายนั้นมาจากเซรามิกอะลูมินาบริสุทธิ์ 92% คงทนต่อการสึกหล่อและการเสียดสี ซึ่งประเทศไทยไม่สามารถผลิต
“หัวพ่นทราย” เป็นชิ้นส่วนขนาดเล็กมีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมแบบขาดไม่ได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ โรงงานผลิตล้อแม็กซ์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องพ่นทรายในการขัดและตกแต่งผิววัสดุ ไม่เว้นแม้แต่โรงงานผลิตแม่พิมพ์โลหะ โรงงานแกะสลักลวดลายกระจก
“มูลค่าการนำเข้าหัวพ่นทรายจากอเมริกา ญี่ปุ่น และจีนสูงถึง 48 ล้านบาทต่อปี ในขณะอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศรวมถึงภูมิภาคยังไม่เกิด นั่นเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย” เขาให้มุมมอง
ด้วยคุณสมบัติสารพัดประโยชน์ของหัวพ่นทรายที่ทำได้ทั้งลอกสี ขัดสนิม กัดผิว ขจัดคราบเขม่า เกล็ดผิว ประสิทธิภาพและอายุการใช้งานจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้เซรามิกขั้นสูงเข้ามาตอบโจทย์ด้วยข้อดีที่มีความแข็งแรงสูง ทนต่อการสึกหรอ และเหมาะกับการใช้งานมากกว่าหัวพ่นทรายชนิดโลหะ
ด้วยเหตุนี้ ทีมวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้เริ่มต้นพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตหัวพ่นทรายจากวัสดุเซรามิกขั้นสูง หรืออะลูมินาเซรามิกในห้องปฏิบัติการ จนกระทั่งผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรม โดยใช้เวลาประมาณ 3 ปี
รศ.วีรศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าวว่า นักวิจัยสามารถคิดค้นวิธีทำให้อลูมินา มีสมบัติและขนาดของเม็ดผงตรงตามที่ต้องการ ก่อนเข้าสู่กระบวนการอัดขึ้นรูปให้ได้หัวพ่นทรายในขนาดที่ใช้งานอยู่ในอุตสาหกรรม
ในส่วนของประสิทธิภาพการใช้งาน และการสึกหรอนั้น มีความใกล้เคียงกับหัวพ่นทรายที่ทำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้งานในประเทศ โดยเทคโนโลยีดังกล่าวได้ถูกถ่ายทอดให้กับห้างหุ่นส่วน เอ็มฟร็อฟ เพื่อนำไปผลิตและทำการตลาด จัดจำหน่ายเป็นรายแรกของไทย
แม้จะมีเทคโนโลยีที่ดีอยู่ในมือ แต่การเปิดตลาดให้กับโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีความคุ้นเคยกับสินค้าเดิมอยู่แล้วอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตีตลาด วรพลจึงเลือกใช้เทคนิคให้ลูกค้าทดลองใช้เพื่อเปรียบเทียบกับหัวพ่นทรายในแบบเดิม ด้วยความมั่นใจว่าประสิทธิภาพของหัวพ่นทรายจากงานวิจัยมีความโดดเด่นมากกว่าคู่แข่ง
“โอกาสทางการตลาดของหัวพ่นทรายยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวทางการลดปริมาณของเสียในภาคอุตสาหกรรมลงได้ 10% จากอายุการใช้งานหัวพ่นทรายที่ยาวนานขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมให้ความสนใจ” วรพลกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดของอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้หัวพ่นทรายจะมีขนาดเล็ก แต่มูลค่าตลาดกลับไม่ได้เล็กตาม ซึ่งในอนาคตผู้บริหารเอ็มฟร็อฟมองว่าตลาดในภูมิภาคเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย เมื่ออุตสาหกรรมเริ่มขยายฐานการผลิตออกไปมากขึ้น
รายการอ้างอิง :
จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา. ‘หัวพ่นทราย’สัญชาติไทย. กรุงเพทธุรกิจออนไลน์ (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์). วันที่ 4 มกราคม 2556.– ( 289 Views)