magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก จิตรกรรมไตรภูมิ สมัยร.9 คู่มือชีวิตสู่สุคติภูมิ
formats

จิตรกรรมไตรภูมิ สมัยร.9 คู่มือชีวิตสู่สุคติภูมิ

ปีนี้ได้รับของขวัญปีใหม่จาก กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นสมุดภาพพลิกและสมุดบันทึก จิตรกรรมไตรภูมิ สมัยรัชกาลที่ 9 มีภาพเหล่าเทวดา นางฟ้ามากมาย พร้อมจิตรกรรมไทยอันงามวิจิตร นับเป็นของที่มีคุณค่ามาก

เมื่อกล่าวถึงไตรภูมิ เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่คุ้นหู หรือไม่ค่อยรู้จักกัน จึงขอหยิบยกเรื่องนี้มาคุย เผื่อเด็กรุ่นใหม่จะอยากไปศึกษาไตรภูมิกันบ้าง

ไตรภูมิหรือไตรภูมิกถา เป็นวรรณคดีชิ้นเยี่ยมทางพระพุทธศาสนา ที่พระยาลิไท กษัตริย์พระองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์พระร่วงอาณาจักรสุโขทัย ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเมื่อพุทธศักราช 1888 โดยมีพระราชประสงค์ เพื่อเป็นธรรมทานกับบุคคลทั้งหลาย ให้รู้ถึงปรัชญาในการดำรงชีวิตตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา โดยเน้นให้รู้จักกรรมที่แต่ละบุคคลกระทำ ซึ่งจะมีผลไปในทิศทางที่แตกต่างกัน 3 ประการ คือ ความสุข ความทุกข์ และความหลุดพ้นจากกิเลสเรามาดูความหมายของไตรภูมิกันบ้าง คำว่า ไตรภูมิ มาจากภาษาบาลีว่า เตภูมิ แปลว่า ภูมิ 3 คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ซึ่งภูมิ แปลว่า ชั้น หรือพื้นเพแห่งจิต หมายถึงที่อยู่อาศัยของสัตว์โลกทั้งปวง ลองมาแยกดูแต่ละภูมิกัน เริ่มที่ กามภูมิ เป็นที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคกาม ที่ยังคงมีความรัก โลภ โกรธ หลง เดือดร้อนวุ่นวาย ยังแบ่งเป็น ทุคคติภูมิหรืออบายภูมิ 4 คือ เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน และนรก สุคติภูมิ คือ มนุษย์ สวรรค์ชั้นจตุมหาราชิกา ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวดี หรือเวลาคนเราตายไป เราก็จะชอบพูดกันว่า ขอให้ไปสู่สุคติภูมิ คือ ภพภูมิที่ดีนั่นเอง

ภูมิที่ 2 รูปภูมิ เป็นที่อยู่ของผู้ได้รูปฌาน มี 16 ชั้น คือ พรหมณ์  ปาริสัชชา พรหมปโรหิตา มหาพรหมา ปริตรตาภา อัปปมาณาภา อาภัสสรา ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา สุภกิณหา เวหัปผลา อสัญญีสัตตา อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา หรือเรียกว่า พรหมโลกภูมิที่ 3 อรูปภูมิ เป็นที่อยู่ของผู้ได้อรูปฌาน มี 4 ชั้น คือ ชั้นอากาสานัญจยตนะ  วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ และชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ ซึ่งสัตว์โลกย่อมเวียนว่ายตายเกิดจากอำนาจของกรรมหมุนเวียนไปในภูมิเหล่านี้ ไปจนกว่าจะบรรลุพระอรหันต์ตัดกิเลสได้ จึงข้ามพ้นวัฏสงสารเหล่านี้ไปได้

พอได้ความรู้เกี่ยวกับไตรภูมิกันไปบ้าง ทีนี้เรามาดูว่า จิตรกรรมไตรภูมิสมัยรัชกาลที่ 9 มีที่มาอย่างไรและมีความสำคัญเช่นไร ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการสร้างสรรค์ภาพไตรภูมิ สมัยรัชกาลที่ 9 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 ได้เล่าให้ฟังว่า  การวาดจิตรกรรมภาพไตรภูมิ สมัยรัชกาลที่ 9 นี้  วธ.ดำเนินโครงการที่สำนักช่างสิบหมู่ จ.นครปฐม เพื่อนำมาใช้เป็นภาพประกอบหนังสือไตรภูมิกถา ฉบับรัชกาลที่ 9 ขณะนี้การดำเนินงานเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยได้คัดลอกมาจากหนังสือไตรภูมิกถา หรือเป็นที่รู้จักในนามไตรภูมิพระร่วง บทพระราชนิพนธ์ของพญาลิไท กษัตริย์สมัยสุโขทัย เป็นเรื่องเกี่ยวกับบาปบุญคุณโทษ ศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรม ตลอดจนเป็นสิ่งจรรโลงสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข นับเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกด้านพุทธศาสนาเรื่องแรกของไทย และยังคงรักษาอยู่มาถึงปัจจุบัน

“สมัยก่อนมีการคัดลอกเผยแพร่ด้วยการวาด ต่อมาเมื่อมีแท่นพิมพ์จะเน้นพิมพ์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ การคัดลอกด้วยมือ ด้วยการวาดจึงลดลงเกือบจะไม่มีเลย ผมจึงเกิดความเสียดายว่าประเพณีการคัดลอกหนังสือไตรภูมิ ประกอบกับช่างในสมัยรัชกาลที่ 9 ยังไม่เคยมีใครเป็นผู้จัดการอุปถัมภ์ให้เกิดขึ้นเลย ผมจึงได้จัดโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 และเปิดโอกาสให้ศิลปินชั้นนำยุคนี้เขียนภาพไตรภูมิ อาทิ อ.ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ อ.ปัญญา วิจินธนสาร พร้อมลูกศิษย์อีกร่วม 20 ชีวิต ช่วยกันเขียนในภาพเดียวกัน และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจเยี่ยมพร้อมทั้งทรงเขียนภาพปิดในไตรภูมิพระร่วง เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 ณ สำนักช่างสิบหมู่ ศาลายา จ.นครปฐม ถือเป็นอันเสร็จสมบูรณ์” ม.ร.ว. จักรรถ กล่าว

สำหรับรูปแบบการวาดจิตรกรรมนี้ ม.ร.ว.จักรรถ บอกว่า ใช้ต้นแบบศิลปะจากภาพประกอบพระราชนิพนธ์ เรื่องพระมหาชนก ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 แบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ชั้นพรหม เขียนภาพแนวไทยประเพณี ในลักษณะอุดมคติเชิงสัญลักษณ์เหมือนภาพความฝัน ชั้นกามภูมิ เขียนตามแนวของสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ชั้นนรกภูมิ เขียนภาพลักษณะอุดมคติสร้างสรรค์เหมือนจริงแบบไทยสากล และชั้นมนุษยภูมิ เขียนภาพในลักษณะเหมือนจริงสมัยใหม่ สะท้อนชีวิตสังคมไทยปัจจุบันทั้งภาพคนดี คนชั่ว ปัญหาสังคม และภาพงานพระเมรุมาศสมัยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ร่วมสมัยไว้ด้วย

ที่หยิบเรื่องราวของไตรภูมิมาคุย ไม่เพียงอยากจะกระตุ้นให้เด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจวรรณคดีทางพระพุทธศานาเล่ม สำคัญกันแล้ว ยังอยากจะย้ำเตือนให้ทุกผู้ทุกนาม ระลึกถึงการทำความดีต่าง ๆ เมื่อเราละชีวิตไปจากโลกนี้แล้ว เราจะได้ไปสู่สุคติภูมิ ได้ไม่ลงไปสู่อบายภูมิ ให้เป็นเครื่องเตือนใจในการทำความดี ละเว้นความชั่วต่อการใช้ชีวิตตลอดปี 2556 และในวันข้างหน้าที่เราไม่รู้ว่า ความตายจะมาเยือนเมื่อใด.

รายการอ้างอิง :

จิตรกรรมไตรภูมิ สมัยร.9 คู่มือชีวิตสู่สุคติภูมิ. เดลินิวส์ (การศึกษา). วันศุกร์ที่ 4 มกราคม 2556.– ( 432 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
1 Comment  comments 

One Response

  1. mg

    โครงการส่งเสริมอาชีพ ทำให้เกิดการส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียงโดยเฉพาะศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ จุดมุ่งหมายที่สำคัญของการจัดตั้งศูนย์ เพื่อที่จะให้มีการศึกษาค้นคว้าและทดลองและวิจัย เพื่อแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาต่างๆที่เหมาสมกับสภาพแวดล้อมและการประกอบอาชีพของราษฎรในบริเวณนั้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


eight × 7 =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>