แอพพลิเคชั่น ‘มายาร์’ อีกช่องทางการเรียนรู้ที่จะทำให้การเสพข้อมูลไม่น่าเบื่ออีกต่อไป
ความสนใจด้านเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารของ ณครินทร์ เลิศนามวงศ์ และการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนทำให้เกิดแอพพลิเคชั่น ‘มายาร์’ ขึ้นเพื่อแชร์ส่วนแบ่งตลาด
:จากภาพนิ่งสู่ภาพเคลื่อนไหว
นายณครินทร์ เลิศนามวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินโนเวชั่น พลัส จำกัด จากศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า มายาร์ (MAYAR) เป็นแอพพลิเคชั่นที่บริษัทพัฒนาขึ้นเพื่อเชื่อมโลกแห่งความเป็นจริงและโลกเสมือนเข้าไว้ด้วยกัน โดยนำเอาหลักการของการเข้าถึงข้อมูลด้วยการสแกนคิวอาร์โคด (QR Code) มาต่อยอด เพื่อให้คนที่ใช้สมาร์ทโฟนเกิดความสนุกในการใช้งานมากกว่าที่ผ่านมาการนำคิวอาร์โคดมาใช้ในการนำเสนอข้อมูลเว็บไซต์หรือลิงก์ที่เกี่ยวข้อง แม้จะเริ่มแพร่หลายในกลุ่มคนที่ใช้สมาร์ทโฟนบ้างแล้ว แต่อีกมุมหนึ่งก็ยากแก่การเข้าใจของผู้บริโภคว่าโคดแต่ละอันก่อนจะไปสแกนนั้นคืออะไร ด้วยรูปร่างหน้าตาที่เข้าใจยาก จึงเกิดการขยายผลเป็นการประมวลผลจากภาพนิ่งขึ้นมาแทนที่
มายาร์ทำงานด้วยหลักการซ้อนทับระหว่างข้อมูลดิจิตอลกับโลกความเป็นจริง ซึ่งผู้ใช้งานเพียงนำโทรศัพท์มือถือหรือแทปเล็ตไปสแกนภาพที่มีสัญลักษณ์ MAYAR ระบบจะประมวลผลโดยเปลี่ยนสิ่งพิมพ์ที่เป็นภาพนิ่งธรรมดาให้บอกเล่าเนื้อหาเป็นภาพเคลื่อนไหว วิดีโอ เสียง หรือหน้าเว็บเพจ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าเจ้าของเนื้อหาเลือกจะสร้างสรรค์เนื้อหาให้อยู่ในรูปแบบไหนเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจง่ายในเวลาอันสั้นโดยไม่ต้องอ่าน
“การเติบโตของสมาร์ทโฟนในกลุ่มคนไทยอย่างต่อเนื่องและการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจากค่ายโทรศัพท์ต่างๆ ผ่านระบบ 3G และ Wifi ที่เพิ่มมากขึ้น เป็นโจทย์ที่ทำให้บริษัทมีแนวคิดที่อยากจะลงทุนพัฒนาแอพพลิเคชั่นมายาร์นี้ขึ้นมา เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคในการเข้าถึงข้อมูลสินค้าอุปโภคบริโภคได้อย่างรวดเร็ว”ผู้บริหารจากบริษัท อินโนเวชั่น พลัส จำกัด กล่าว
:ผู้บริโภคคือโอกาส
เขามองโอกาสทางการตลาดสำหรับแอพมายาร์ว่า มีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะตราบใดที่ยังมีคนใช้งานสมาร์ทโฟน เจ้าของธุรกิจต่างๆย่อมต้องหันมาสนใจช่องทางการนำเสนอสินค้าผ่านแอพมายาร์อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาเพื่อการศึกษา เนื้อหาเชิงโปรโมตสินค้า หรือแนะนำข้อมูลต่างๆ
ณครินทร์ กล่าวต่อว่า ผู้ที่สนใจจะใช้งานมายาร์ บริษัทฯมีทีมงานที่พร้อมให้บริการ ซึ่งโอกาสทางการตลาดมีมากน้อยแค่ไหนนั้น เห็นได้ชัดจากการสำรวจข้อมูลด้านการใช้สมาร์ทโฟนของบริษัทเอเจนซี พบว่าคนที่ใช้สมาร์ทโฟนจะหยิบมันขึ้นมาเพื่ออัพเดทข้อมูลข่าวสารมากถึง 150 ครั้งต่อวัน ซึ่งหากมีข้อมูลที่เป็นภาพเคลื่อนไหวน่าจะยิ่งกระตุ้นให้คนตื่นตัวอยากจะใช้งานมากขึ้นเอง
“มายาร์เป็นเครื่องมือที่จะกระตุ้นให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนอยากที่จะเสพข้อมูลสินค้า เพราะนอกจากได้รับเนื้อหาที่สนุกและน่าสนใจแล้ว ยังเหมือนกับการฝึกการสังเกตด้วยว่า สินค้าไหน ผลิตภัณฑ์ไหน สื่อไหน หรือบริการไหนบ้างที่มีสัญลักษณ์ MAYAR ให้ได้ลองใช้งานแอพบ้าง”ณครินทร์ กล่าวและว่า จุดเด่นของมายาร์อยู่ที่การพัฒนาขึ้นเองและจะทำให้การปรับเปลี่ยนความสามารถในการใช้งานรองรับผู้บริโภคได้ตรงความต้องการมากที่สุด
ขณะนี้แอพพลิเคชั่นมายาร์อยู่ระหว่างทดสอบใช้งานในการแนะนำตัวอย่างหนังในโรงหนัง โดยเปิดให้ดาวน์โหลดฟรีทางแอพสโตร์ แล้วนำโทรศัพท์ที่เปิดแอพส่องไปที่รูปภาพโปสเตอร์หนังซึ่งมีสัญลักษณ์ MAYAR ซึ่งหมายถึงว่าโปสเตอร์นั้นๆมีการพัฒนาเนื้อหารองรับแอพไว้แล้ว ทำให้เจ้าของโทรศัพท์เห็นเป็นภาพเคลื่อนไหว เสียง หรือตัวอย่างหนังโดยที่ไม่ต้องเสียเวลาอ่านเนื้อหาโดยตรง
กลุ่มเป้าหมายหลักของแอพนี้คือทุกคนที่ใช้สมาร์ทโฟน รวมถึงเจ้าของธุรกิจหรือกิจการที่ต้องการเข้าถึงผู้บริโภคผ่านสื่อดิจิตอลซึ่งมีอยู่ในมือของผู้บริโภคอยู่แล้ว อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆ เจ้าของผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมความงาม เป็นต้น
ทั้งนี้มายาร์เป็นแอพที่บริษัทอินโนเวชั่น พลัส จำกัด ใช้เวลาพัฒนาเพียง 3 เดือน จากประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือมาก่อน เพื่อส่งไปประกวดในงาน Seoul International Invention Fair 2012 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งมีผลงานไทยส่งไปทั้งสิ้น 32 ผลงานจาก 12 หน่วยงาน โดยแอพพลิเคชั่นมายาร์ได้รับรางวัลเหรียญทอง Special Prize จาก Korea International Trade Association (KITA) และรางวัลเหรียญทอง Gold Prize จาก Korea Invention Promotion Association (KIPA)
รายการอ้างอิง :
กานต์ดา บุญเถื่อน. ‘มายาร์’ ของเล่นใหม่บนสมาร์ทโฟน. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). วันที่ 7 มกราคม 2556.– ( 121 Views)