magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก สังคมคุณภาพมนุษย์
formats

สังคมคุณภาพมนุษย์

สกว.ทำแผนยุทธศาสตร์การวิจัยทศวรรษหน้า เน้นสร้างคนและสังคมคุณภาพ เตรียมพร้อมรับมือประชาคมอาเซียนและการเปลี่ยนแปลงโลก

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดการประชุมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การสนับสนุนการวิจัย สกว. พ.ศ. 2557-2560 ณ โรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ จังหวัดนครปฐม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นและแนวทางในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติงานของ สกว. ต่อไปในอีกสี่ปีข้างหน้า

ในการเสวนาเรื่อง “ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศในช่วงเวลา 10 ปีข้างหน้า” นางภารณี วัฒนา ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) ได้น้อมนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศมากขึ้น โดยธรรมาภิบาลและการขับเคลื่อนในภาพรวมยุทธศาสตร์จะเน้นเรื่องการสร้างคนและ สังคมคุณภาพ
ประเด็นสำคัญคือการสร้างความเป็นธรรมในสังคม และการพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องแปลงสู่การปฏิบัติในพื้นที่ภารกิจและเน้นการมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยใช้แผนจังหวัดเป็นจุดเชื่อมกับแผนระดับชาติ

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ประเทศจะเน้น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ลดความเหลื่อมล้ำ หลุดพ้นจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีสาระสำคัญรวมทั้งสิ้น 28 ประเด็น รวมถึงการวิจัยและพัฒนาในทุกมิติ ทั้งนี้จะขับเคลื่อนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเป็นร้อยละ 1 ของ GDP ส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาครัฐไปปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรม การใช้ประโยชน์จากกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค

ขณะที่ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย 1. การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้า บริการ การค้าและการลงทุน 2. การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการคุ้มครองทางสังคม 3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ 4. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

5. การพัฒนากฎหมาย กฎและระเบียบ 6. การสร้างความรู้ ความเข้าใจและความตระหนักถึงการเป็นประชาคมอาเซียน 7. การเสริมสร้างความมั่นคง 8. การเพิ่มศักยภาพของเมืองเพื่อเชื่อมโยงโอกาสจากอาเซียน (การพัฒนาศักยภาพเมือง) ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นสมาชิกที่เข้มแข็งและสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอาเซียนร่วมกัน”

ด้าน ดร.พิเชษฐ ดุรงคเวโรจน์ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้ชี้แจงขั้นตอนและรายละเอียดของการทำแผนยุทธศาสตร์ว่าทำอย่างไรการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาจะเพิ่มขึ้นเท่ากับอารยประเทศทั้งหลาย โดยเอกชนจะต้องเป็นตัวนำมากขึ้น และต้องมีการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ทางใดทางหนึ่งไม่ใช่นอนนิ่งอยู่ในห้องปฏิบัติการ

นอกจากนี้การวิจัยยังจะเข้ามาช่วยสังคมในหลายประเด็นตั้งแต่สาธารณสุขและการศึกษา รวมทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขณะที่ ดร.ชโย ตรังอดิศัยกุล รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่าขณะนี้สิ่งที่เราต้องตื่นตัวมากที่สุดคือเรื่องอาเซียน โดยเฉพาะเสาหลักทางเศรษฐกิจ เพราะประชากรในอาเซียนมีเกือบหกร้อยล้านคนซึ่งนับว่ายิ่งใหญ่มากในมุมมองของนักธุรกิจและอุตสาหกรรม จึงต้องพูดคุยกันให้มากถึงการปรับตัวอันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวอย่างเสรีของสินค้า บริการและแรงงาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวการผลิตอย่างสูง และมองทรัพยากรชั้นสูงที่มีคุณภาพและการศึกษามากขึ้นเพื่อส่งเสริมศักยภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียน เกิดการสร้างงาน ค้นคว้าวิจัยและการต่อยอดธุรกิจอีกมาก

เราจึงต้องให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้มากขึ้น อีกเรื่องคืออุปสงค์ของอาเซียนที่เพิ่มขึ้นเป็น 600 ล้านคน สิ่งที่เป็นประเด็นคือ Economy of Scale ซึ่งหมายถึงการผลิตจำนวนมากๆ ทำให้ต้นทุนการผลิตลงดลง ต่อไปการลงทุนจะต้องคำนึงว่าคุ้มค่าหรือไม่ ด้านปริมาณต้องสามารถรองรับประชากรจำนวนมาก สินค้ามีคุณภาพและมีความแตกต่าง รวมถึงต้องมีการเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับงานวิจัยและพัฒนา มีงบวิจัยมุ่งเป้าเพื่อขยับเข้าใกล้อุตสาหกรรมมากขึ้น รวมถึงการให้ทุนระดับปริญญาโทและเอกเพื่อเสริมสร้างกำลังคนในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโครงการที่ดีมากของ สกว. และภาคเอกชนทั้ง 11 คลัสเตอร์ 42 กลุ่ม ยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

สุดท้าย นางกาญจนา ปานข่อยงาม รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงแนวคิดการสนับสนุนการวิจัยมุ่งเป้าของ 6ส และ วช. ว่าแผนวิจัยมุ่งเป้าปี 2557 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 20,000 ล้านบาท โดยมีงานวิจัยบนฐานของความพร้อมด้านองค์ความรู้ที่จะนำไปใช้ได้จริงใน 9 มิติที่ต้องดูความสอดคล้องกัน ซึ่งขณะนี้ วช.ร่วมกับทีดีอาร์ไอศึกษารูปแบบที่เป็นโมเดลเสร็จแล้ว ต่อไปในการสนับสนุนการวิจัยต่าง ๆ จะให้แต่ละหน่วยประเมินตนเองเพื่อสามารถตอบรัฐบาลได้ว่าผลการประเมินในภาพรวมเป็นอย่างไรในแต่ละด้าน การจัดสรรงบประมาณตรงกับความต้องการของประเทศหรือไม่ หรือยังขาดอะไรอยู่ เพื่อให้เกิดเป็นเหตุเป็นผลและต่อรองงบประมาณการวิจัยกับรัฐบาลได้

สำหรับการระดมความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าประเด็นที่ท้าทายสำหรับประเทศในสิบปีข้างหน้ายังคงเป็นเรื่อง “สังคมคุณภาพมนุษย์” ซึ่งต้องมีคุณธรรม จริยธรรมสูงขึ้นและมีความสามารถมากขึ้น ส่วนประเด็นที่ซ่อนเร้นแต่มีความสำคัญไม่น้อยคือ วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ซึ่งคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยให้ความสนใจ แต่จะช่วยคลี่คลายปัญหา สร้างความเข้าใจทั้งในเรื่องการกิน การอยู่ และเรื่องของความขัดแย้งชายแดน

โดยศาสตราจารย์ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติสิรินทร์ ประธานคณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า จากจุดเริ่มต้นที่ สกว. เป็นเพียงองค์กรให้การสนับสนุนการวิจัย แต่ปัจจุบันต้องทำหน้าที่ให้เข้มข้นขึ้น ภาคีเครือข่ายจึงต้องเข้มข้น สามารถมองเห็นภาพตั้งแต่ระดับชุมชน ประเทศ อาเซียน จนถึงระดับโลก

ภาคีภาคเอกชนต้องเข้มแข็ง ต้องร่วมกันสร้างกำลังคนที่มีคุณภาพ มีการติดตามประเมินไม่เฉพาะโครงการวิจัยที่ให้การสนับสนุนอย่างเดียว ต้องสามารถประเมินประสิทธิภาพภายในองค์กรให้ได้ เพื่อการพัฒนาการบริหารจัดการ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยการบริหารจัดการข้อมูลที่เป็นอยู่ ทำอย่างไรจึงจะขยายให้มากขึ้น สู่คุณภาพที่สูงขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้

ในขณะที่มีการบูรณาการกับภายนอกโดยเฉพาะที่เป็นหน่วยจัดการงานวิจัยด้วยกัน ทำอย่างไรจึงจะขยายผลให้มากขึ้นไปอีก และถึงระดับอาเซียน ที่สำคัญการเผยแพร่และการนำผลงานไปใช้ประโยชน์จะต้องเข้มข้นขึ้นด้วย สำหรับแผนยุทธศาสตร์ที่กำลังจัดทำต้องไม่ใช่แผนที่อยู่นิ่งตายตัว ควรมีการปรับและเป็นพลวัตที่สอดคล้องกับสถานการณ์ได้

รายการอ้างอิง :

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. สังคมคุณภาพมนุษย์. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์). วันที่ 6 มกราคม 2556.– ( 149 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


5 − four =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>