ไม้ค้างสต๊อกเนื้อดีจำนวนมาก เป็นโจทย์ท้าทายความสามารถของทายาทโรงเลื่อยจักรด่านขุนทด ที่ต้องเพิ่มค่าและราคาให้กับไม้เก่าเหล่านั้น
โรงเลื่อยจักรด่านขุนทดกำลังแตกกิ่งก้านสาขาอย่างเงียบๆ ในมือของทายาทรุ่นสองที่คลุกคลีกับเศษไม้ และซึมซับคุณค่าความสำคัญของไม้ทุกตารางนิ้ว ไม่เว้นกระทั่งไม้ค้างสต๊อก ถือเป็นเป้าหมายที่ต้องเพิ่มมูลค่าด้วยทักษะงานออกแบบ สร้างแบรนด์ใหม่จับเทรนด์ Upcycling
ไม้ค้างสต๊อกเนื้อดี ได้มาตรฐาน แต่อาจจะไม่ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการ วางค้างในโกดัง 2,000-3,000 ลูกบาศก์ฟุตเทียบได้กับรถบรรทุก 2-3 คัน ถือเป็นปัญหาใหญ่ของธุรกิจและเป็นโจทย์ท้าทายความสามารถของ “วัลลภ เพชรรัตน์” ผู้บริหารรุ่น 2 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงเลื่อยจักรด่านขุนทด กับทักษะความรู้ด้านสถาปัตย์จากไทยและนิวยอร์ค
ไอเดียจากโรงเลื่อย
วัลลภเปลี่ยนไม้ค้างสต๊อกให้เป็นเฟอร์นิเจอร์มีดีไซน์ในชื่อแบรนด์ REAL wood work creation และเปิดตัวภายในงานแสดงผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากโครงการ Waste to Wealth หรือโครงการเปลี่ยนขยะเป็นทอง : รับกระแสโลกร้อนและสร้างคุณค่าให้วัสดุเหลือใช้ เกิดจากความร่วมมือระหว่างโครงการ iTAP, ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับโครงการ Scrap Lab คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คอลเลคชันแรกคือ Upcycling ตรงกับเทรนด์ของการพัฒนาสินค้าแนวรีไซเคิล
Upcycling เป็นกระบวนการแปลงสภาพเศษวัสดุเหลือใช้ หรือวัสดุที่ไม่สามารถใช้งานตามหน้าที่เดิม ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพและมูลค่าสูงขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“วัสดุของเราไม่ใช่เศษไม้ หรือของเหลือใช้จากโรงเลื่อย แต่เป็นไม้ที่ยังไม่ถูกใช้หรือ Abandoned Wood มีต้นทุนค่าเก็บรักษาที่ต้องทำให้ถูกวิธีเพื่อรักษาคุณภาพของเนื้อไม้” วัลลภในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้ REAL กล่าว
แนวทางของ REAL wood work creation คือ ประสบการณ์ ความรู้สึกและสัมผัสของไม้จริง สร้างความรู้สึกและการรับรู้ที่แตกต่างจากวัสดุอื่นๆ ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายก็คือ ผู้ที่ชอบผลิตภัณฑ์จากไม้แท้ๆ ไม่ใช่ไม้อัดหรือไม้ผสมขี้เลื่อย
ดังนั้น คอลเลคชันแรกของเรียลคือ การแปลงสภาพออกมาเป็น Upcycling มีทั้งหมด 8 ชิ้น ทั้งม้านั่ง Walking Table หรือโต๊ะ 6 ขา ที่ให้ภาพการเคลื่อนไหว และใช้ลายไม้ที่บ่งบอกความรู้สึก เช่น Woodstock จะให้ความรู้สึกสงบนิ่ง เหมือนนั่งดูชิ้นงานศิลปะ เป็นต้น
วัลลภ มองว่า ตลาดเฟอร์นิเจอร์มีศักยภาพ แต่ขึ้นอยู่กับแนวทางหรือไอเดียในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งขั้นตอนสำคัญคือ การออกแบบและได้เข้ามาร่วมจัดแสดง ทำให้รู้ว่า แนวทางการออกแบบมาถูกทางหรือไม่ ลูกค้าสนใจจะซื้อหรือไม่
“เราเดินหน้าออกงานแฟร์ เพื่อดูตลาดและความต้องการของลูกค้า ขณะเดียวกันก็ทำแฟนเพจและขายผ่านเว็บไซต์ ซึ่งมีการสั่งซื้อและสั่งทำซ้ำอย่างต่อเนื่อง”
ประติมากรรมในบ้าน
วัลลภชี้ว่า จุดแข็งของเรียลที่สร้างความโดดเด่นได้มากคือ วัสดุที่เป็นไม้จริง และความหลากหลายของเนื้อไม้ บวกกับประสบการณ์ที่ทำให้มีความรู้เรื่องไม้เป็นอย่างดี ทำให้แบรนด์เรียล เดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง
แม้จะมีปัญหาอยู่บ้าง ในแง่ของธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่แค่ขายไม้แปรรูปอย่างเดียว บวกกับความยากของการสื่อสารงานออกแบบไปยังฝ่ายผลิต ซึ่งต้องใช้เวลาในการปรับดีไซน์ให้สามารถผลิตจริงได้ โดยยังคงคอนเซปท์ที่วางไว้
“แนวโน้มของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ยังคงเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม มีบริบทของการนำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำและการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการทำงานของบริษัท” วัลลภย้ำ
ก้าวต่อไปของแบรนด์คือ การรักษาแก่นของ REAL wood work creation นั่นคือ การใช้ไม้จริงเป็นวัสดุหลัก เพื่อให้ผู้ใช้ได้ประสบการณ์ ได้สัมผัสเนื้อไม้ คุณค่า และมูลค่าของไม้ ขณะเดียวกันก็จะพัฒนางานออกแบบ สร้างการรับรู้ว่าเรียลไม่ใช่แค่เฟอร์นิเจอร์ แต่เป็นงานประติมากรรมในบ้าน
รายการอ้างอิง :
สาลินีย์ ทับพิลา. REAL ติดแบรนด์ไม้เก่า. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). วันที่ 8 มกราคม 2556.– ( 130 Views)