จากอุปกรณ์ตรวจวัดสีสารละลาย ที่ใช้องค์ความรู้ด้านแสง พัฒนาตอบโจทย์เกษตรกร ไทย จนกลายมาเป็นเครื่องมือยุคใหม่อย่างแอพพลิเคชั่นบนมือถือ
กับ 2 แอพพลิเคชั่นเพื่อเกษตรกร “ใบข้าวและคลอรีน” ผลงานของทีมวิจัยจากเนคเทค หรือ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ“ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร” ผู้อำนวยการฝ่าย หน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค บอกถึงแอพพลิเคชั่นแรกที่เรียกว่า ใบข้าว (BaiKhaoNK ) หรือ เครื่องประมาณความต้องการธาตุไนโตรเจน-โพแทสเซียมของต้นข้าวในนาโดยใช้ โทรศัพท์มือถือ ว่า เป็นการพัฒนามาจากเครื่องตรวจวัดสีสารละลาย
ต่อมาได้รับโจทย์เกี่ยวกับการดูสีของใบข้าว ที่เดิมนักวิชาการเกษตรหรือเกษตรกรจะใช้การเทียบสีด้วยสายตา ซึ่งผิดพลาดได้ง่าย จึงพัฒนามาเป็นเครื่องตรวจวัดสีของใบข้าว ที่สามารถประเมินการขาดธาตุไนโตรเจนของต้นข้าวในนาได้ว่าขาดมากน้อยแค่ไหน
และด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีบนมือถือ ทำให้ทีมวิจัยพัฒนาต่อยอดมาเป็นแอพพลิเคชั่นบนมือถือสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติ การแอนดรอยด์ มีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ
สามารถใช้อ่านสีของใบข้าวเพื่อการประเมินความต้องการธาตุอาหารไนโตรเจนของ ต้นข้าวในนา โดยไม่ต้องใช้สารเคมี และไม่ต้องทำลายใบข้าว ช่วยให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนในการเพาะปลูก
สำหรับปริมาณธาตุอาหารไนโตรเจน ได้มีการสอบเทียบและอ้างอิงปริมาณการใส่ปุ๋ยยูเรียด้วยวิธีการวัดแบบกำหนด เวลาจากแถบวัดสีใบข้าว มาตรฐานของกรมการข้าว
ผ่านการทดสอบภาคสนามที่สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ ที่ฟิลิปปินส์ พบว่าสามารถตรวจวัดสีของใบข้าวได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเพิ่มเติมสำหรับการประเมินการขาดธาตุอาหารโพแทสเซียม ของใบข้าว ซึ่งอยู่ระหว่างทำการทดสอบ
ส่วนแอพพลิเคชั่น คลอรีน (Cl) ดร.ศรัณย์ บอกว่า เป็นระบบตรวจวัดปริมาณคลอรีนในบ่อกุ้งด้วยอุปกรณ์พกพาฉลาด ใช้หลักการของการตรวจวัดค่าสี ผสมผสานกับการทำปฏิกิริยาของคลอรีนในน้ำกับสารเคมีที่ทำให้เกิดสีขึ้น
ใช้โทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ สามารถวิเคราะห์หาค่าสีที่เกิดขึ้นในระดับสีต่างๆ เทียบกับสีของวัตถุอ้างอิง ซึ่งช่วยให้สามารถหาความสัมพันธ์ระหว่างระดับสีและปริมาณความเข้มข้นของ คลอรีนได้ในช่วง 0-2 ส่วนในล้านส่วน (ppm) เมื่อใช้ร่วมกับน้ำยาโอโทลิดีน ที่ทำหน้าที่เป็นอินดิเคเตอร์
โดยผลที่ได้ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพในการนำไปใช้ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะการตรวจสอบน้ำก่อนที่จะเอาลูกกุ้งลง
ซึ่งถ้ามีคลอรีนน้อยกว่า 0.05 ppm จะแสดงผลตัวเลขเป็น 0 ppm พร้อมแสดงแถบสีเขียว แต่ถ้ามีคลอรีนมากกว่า 0.3 ppm จะแสดงผลตัวเลข > 0.3 ppm พร้อมแสดงแถบสีแดง
ทดสอบการใช้งานแล้วที่ฟาร์มกุ้งในจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ผลเป็นที่พอใจ
ทั้งสองแอพทำงานบนโทรศัพท์มือถือ ที่มีกล้องด้านหลังและใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 2.2 ขึ้นไป
จากการที่พัฒนาจนใช้งานได้ง่าย สะดวก โหลดใช้ได้ฟรี
ต่อไป ผู้วิจัยมีแผนผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายในระดับชุมชน.
รายการอ้างอิง :
นาตยา คชินทร. “ใบข้าว-คลอรีน” 2 แอพเพื่อเกษตรกร. เดลินิวส์ (ไอที). วันพุธที่ 9 มกราคม 2556.– ( 126 Views)