ไข้เลือดออก ยังเป็นภัยคุกคามชีวิตมนุษย์ ตราบใดที่โรคนี้ยังไม่มียารักษาหรือแม่แต่วัคซีนป้องกัน นั้นเป็นเหตุผลให้ “ศันสนีย น้อยสคราญ” ดอกเตอร์หญิงจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค ทุ่มเทให้กับงานวิจัยอย่างเต็มที่
เธอได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยโรคไข้เลือดออก โดยรับหน้าที่ศึกษากลไกการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ ซึ่งทำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสจากยุงลายเกิดโรคเฉียบพลัน ในขณะที่ปัจจุบันยังไม่มียารักษา“ปัญหาที่เกิดขึ้นกับโรคไข้เลือดออก คือผู้ที่ได้รับเชื้่อจะไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ไม่รุนแรง จนอาการหนัก เกิดการติดเชื้อและเสียชีวิตในที่สุด” ศันสนียกล่าว
สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พยายามค้นหา คือต้นตอของการเกิดโรค ตั้งแต่กลไกการติดเชื้อ ไปจนถึงการตอบสนองของเซลล์ที่ติดเชื้อ ซึ่งถ้ามีข้อมูลที่ดีพอจะทำให้เข้าใจพยาธิกำเนิดของโรค นำไปสู่หนทางป้องกันได้
- เริ่มต้นจากห้องทดลอง
งานวิจัยของเธอ ได้เริ่มต้นขึ้นในห้องทดลอง โดยศึกษารูปแบบการติดเชื้อกับเซลล์ของมนุษย์ ซึ่งเธออธิบายว่า ระบบเซลล์ของมนุษย์สามารถใช้เป็นแบบจำลองการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ได้
“เราสามารถนำตัวอย่างเซลล์มาใส่ในหลอดทดลอง เพื่อทดสอบการติดเชื้อ โดยจะใช้เทคนิคทางชีวเคมี และสังเกตการเปลี่ยนแปลงโปรตีน NS1 ที่เชื้อไวรัสผลิตขึ้น เพื่อดูการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส กลวิธีในการการหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกัน และการตอบสนองต่อเซลล์ติดเชื้อที่เกิดขึ้น” ศันสนียกล่าว
โปรตีน NS1 พบมากในกระแสเลือดของคนไข้ที่ติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ทำให้มีอาการรุนแรง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับโปรตีนชนิดนี้มากนัก จึงกลายเป็นโจทย์ที่เธอสนใจ
ทั้งนี้ ในปัจจุบันอุบัติการณ์ของโรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะช่วงหน้า ฝน และยังไม่มีทางป้องกัน จึงเป็นโจทย์วิจัยที่ท้าทาย ซึ่งองค์ความรู้พื้นฐานจะช่วยให้การพยากรณ์โรคทำได้ดีขึ้น
ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยสามารถนำไปพยากรณ์ความรุนแรงของโรค และนำไปสู่การพัฒนายาต้านไวรัส ตลอดจนวัคซีนป้องกันโรคในอนาคต
- เส้นทางนักวิทย์
ดร.ศันสนีย เลือกเดินบนเส้นทางสายวิทยาศาสตร์หลังจากคว้าเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ชีวิตพลิกผันเมื่อเธอได้รับทุนเรียนต่อปริญญาโทและเอกใน สาขาไวรัสวิทยาและภูมิคุ้มกัน ที่สหรัฐ โดยปัจจุบันกลับมาเป็นนักวิจัยเต็มเวลาให้กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีแห่งชาติ
ล่าสุด ดร.ศันสนีย ได้รับเลือกให้ได้รับทุนวิจัย ในโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ประจำปี 2555 จากสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้รับเงินทุนสนับสนุนงานวิจัยมูลค่า 2.5 แสนบาท เพื่อต่อยอดผลงานให้เป็นประโยชน์ในวงกว้าง
“ทุนวิจัยที่ได้รับจะช่วยเสริมให้การวิจัยพัฒนาไปได้ไกลขึ้น” นักวิจัยหญิงกล่าว และว่า คำถามที่นักวิจัยต้อการคำตอบคือกลไกการเกิดโรค การพยากรณ์โรคถึงความรุนแรงหลังจากติดเชื้อได้อย่างแม่นยำ และการป้องกันยับยั้งอุบัติการณ์การเกิดโรค ซึ่งปัจจุบันมีความพยายามในการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกแต่ก็ยังไม่ประสบผล สำเร็จ
“งานวิจัยมีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ แต่การที่เราทำสำเร็จเพียง 20% ก็สามารถต่อยอดให้ผู้อื่นได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้ต่อไปได้” ดร.ศันสนียกล่าวทิ้งท้าย
รายการอ้างอิง :
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. ยุทธการปราบไวรัส. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์). วันที่ 3 มกราคม 2556.– ( 99 Views)