การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของไทเมอร์ ไฮเออร์ เอดูเคชั่น (Timer Higher Education) ประกาศผลว่า มหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งหลุดโผ เป็นที่วิจารณ์ว่าเป็นเพราะงบมหาวิทยาลัยวิจัยถูกตัดไปนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติหรือ วช. ซึ่งรับผิดชอบในการกำกับดูแลงานวิจัยของประเทศก็มิได้นิ่งนอนใจ
การศึกษางบประมาณเพื่อการวิจัยของประเทศในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาว่า งบประมาณเพื่อการวิจัยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553-2556 อยู่ในระดับประมาณ 0.2% ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ซึ่งจัดว่าน้อย อย่างไรก็ตามการจัดสรรงบวิจัยตั้งแต่เริ่มแผนมาจนถึงปัจจุบันงบวิจัยไม่ เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่น้อยลง ตัวเลขที่รัฐจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อการวิจัยจะอยู่ประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี
ในขณะที่ภาคเอกชนก็ลงทุนวิจัยในอัตราใกล้เคียงกันในการจัดงบประมาณวิจัยปี 2553- 2554 รัฐบาลสมัยนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ ได้เห็นชอบโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดม ศึกษาเสนอเป็นเงิน 5,000 ล้านบาทใน 3 ปี แต่เริ่มจัดสรรจริงในปีงบประมาณ 2554 เป็นเงินเต็มตามที่ระบุ
“เลขาธิการ วช. ประเมินว่ารูปแบบการบริหารจัดการกับประเภทของงบที่ถูกจัดมาให้ใช้ เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้โครงการนี้ในปีแรกไม่ราบรื่น หลายมหาวิทยาลัยขาดรายละเอียดการดำเนินงาน การเบิกจ่าย มีขั้นตอน กฎ ระเบียบ ทำให้ไม่สามารถใช้จ่ายงบได้ตามเป้า ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล การจัดสรรงบประมาณปี 2555 เลื่อนออกไปและเกิดภาวะมหาอุทกภัยในช่วงก่อนจัดสรร ทำให้รัฐบาลต้องกันเงินออกไปเพื่อแก้ปัญหานับแสนล้านบาท
แต่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ประสิทธิภาพประสิทธิผลของการทำวิจัยกับปริมาณนักวิจัยที่มีคุณภาพ มหาวิทยาลัยวิจัยบางแห่งยังพบว่า ทำงานวิจัยไม่เสร็จตามเวลา แม้ล่วงเลยกำหนดมาหลายปี เช่น ดูจากงบประมาณแผ่นดิน ปี 2551-2553 ยังคงมีงานค้างส่งเฉลี่ยมากกว่า 20% ซึ่ง วช. ได้แจ้งหน่วยงานต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นระยะไปตั้งแต่พบข้อมูลเมื่อปลายปี 2554 จนถึงบัดนี้ตัวเลขก็ยังไม่ขยับขึ้นเท่าไรนัก
การดำเนินงานของ วช. และ พันธมิตร 6 ส. ได้แก่ สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) สวก. (สำนักงานวิจัยและพัฒนาด้านเกษตร) สวทช. (สำนักงานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) สวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) สวทน. (สำนักงานคณะกรรมการแผน และนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) กับ สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) ที่ช่วยกันคัดกรองโครงการวิจัยมุ่งเป้าพบว่า หลังจากได้จัดสรรลอตแรกงบปี 2555 ไปแล้ว ในปีต่อมาพบว่า มีนักวิจัยขอน้อยลงและไม่ผ่านการพิจารณาในอัตราที่สูง แสดงว่านักวิจัยเก่ง ๆ ได้รับทุนไปหมดแล้ว อยู่ระหว่างการทำงาน รุ่นใหม่ ๆ ยังต้องพัฒนาเพิ่ม ซึ่ง 6 ส. และ วช. ก็ได้พยายามจัดมาตรการที่จะพัฒนากลุ่มใหม่นี้อยู่ คงต้องมาดูประเด็นที่มหาวิทยาลัยไทยหลุดอันดับนั้น ก็คงมาจากหลายปัจจัย งบวิจัยเป็นเพียงส่วนน้อย
อธิการบดีหลายมหาวิทยาลัยให้เหตุผลมาเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ใช่ข้อแก้ตัว เช่น การจัดอันดับเน้นที่มีผลงานตีพิมพ์ โดยเฉพาะสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาศัยข้อมูลเชิงประจักษ์มากขึ้น บางมหาวิทยาลัยที่เคยติดอันดับดี ๆ แต่โดดเด่นเรื่องของชุมชน สังคม การประเมินในรอบนี้อาจไม่ติดอันดับเพราะไม่ถูกนับคะแนนในเรื่องความยอมรับ ซึ่งเดิมอาศัยความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ ก็เปลี่ยนไปให้ไปดูข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น ถ้าเราเลือกที่จะทำวิจัยเพื่อประโยชน์แก่ประเทศ ก็อาจไม่ต้องไปกังวล รวมถึงประชาคมก็ต้องเข้าใจสถานการณ์นี้ด้วย
“เลขาธิการ วช. อยากชี้ให้ทุกฝ่ายเห็นว่า การพัฒนาประเทศหรือแก้ปัญหานั้น หากได้ใช้ข้อมูลความรู้จากการวิจัย จะช่วยให้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน การวิจัยเป็นการลงทุนและน่าจะต้องใช้เวลา
อย่างไรก็ตาม วช. ก็พยายามที่จะทำให้เกิดภาพดังที่กล่าวแล้ว โดยการเพิ่มงบวิจัย ขณะเดียวกันต้องช่วยพัฒนานักวิจัย หน่วยวิจัย รวมถึงมหาวิทยาลัยด้วยเพราะเป็นพลังที่สำคัญในปัจจุบัน.
รายการอ้างอิง :
สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ. งบวิจัยมหา’ลัย. เดลินิวส์ (กรอบบ่าย-รู้เหนือรู้ใต้). ฉบับวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2556.– ( 104 Views)