ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า นาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology) เข้ามามีบทบาทกับสินค้าอุปโภคบริโภค มากขึ้น เนื่องด้วยนวัตกรรมของนาโนเทคโลยี นั้นได้เข้ามาช่วยเพิ่มคุณสมบัติใหม่ๆ ให้กับวัสดุและผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย ทั้งเสื้อนาโน ที่มีสมบัติกันน้ำ หรือยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้ สีนาโน ที่มีสมบัติสะท้อนน้ำทำความสะอาดตัวเองได้ ซึ่งนอกจากสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์แล้ว “นาโนเทคโนโลยี” ยังดึงดูดความสนใจผู้บริโภคได้มากทีเดียว ทว่า “ฉลากสินค้านาโน” ยังไม่มีการบังคับใช้เป็นกฎหมายชัดเจนเหมือน เครื่องหมาย อย. หรือ มอก. จึงทำให้บ่อยครั้งกลุ่ม “พ่อค้าแม่ค้า” ขายตรงอย่าง “ตลาดนัด” มักแอบอ้างสินค้าประเภท เสื้อ, ผ้าห่ม, ผ้าขนหนู ฯลฯ ว่าเป็น “สินค้านาโน” แต่ไร้ซึ่งข้อมูลทางวิชาการรองรับความเป็นนาโนของสินค้านั้นๆ
วิธีดูความเป็น “นาโน”
ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) อธิบายว่า ประเทศไทยมีสินค้าที่เป็นนาโนเทคโนโลยีจริงๆ กับ สินค้าที่แอบอ้างว่าเป็นนาโนเทคโนโลยี ซึ่งวิธีการดูสินค้าที่เป็นนาโนเทคโนโลยีนั้น ผู้บริโภคควรมีข้อมูลเบื้องต้นเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกสินค้านาโนแต่ละ ประเภทดังนี้
ประเภทสิ่งทอนาโน : ไม่ว่าจะเป็น เสื้อนาโน หรือผ้าขนหนูนาโน ส่วนใหญ่จะมีสมบัติกันน้ำ หรือ กันแบคทีเรียอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เช่น เสื้อนาโนกันน้ำ ผู้บริโภคสามารถทดสอบได้ด้วยตนเองโดยการหยดน้ำไปที่เสื้อ หากเห็นว่าน้ำกลิ้งไปกลิ้งมา น้ำไม่ซึมลงบนเนื้อผ้าทันทีแสดงว่ามีคุณสมบัติกันน้ำ ส่วนสมบัติกันแบคทีเรียหากอ้างสรรพคุณว่า “ฆ่าเชื้อโรค” ขึ้นมาลอยๆ นั่นอาจบ่งบอกถึงความไม่น่าเชื่อถือ ผู้บริโภคอาจจะต้องหาข้อมูลเชิงวิชาการที่ใช้อ้างอิง เช่น อาจมีตัวเลขระบุสมบัติการฆ่าเชื้อโรค 99.99 เปอร์เซ็นต์ ก็อาจจะต้องดูว่าตัวเลขเหล่านี้มี ผลพิสูจน์อะไรได้หรือไม่ หรือมีการอ้างอิงสถาบันใดที่ทำการทดสอบ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมี ผ้าห่มนาโน ซึ่งมีผู้ขายโฆษณาสรรพคุณว่าช่วยดูดซับความร้อนได้นานกว่าผ้าห่มปกติ ผู้ผลิตหรือผู้ขายควรต้องบอกสรรพคุณด้วยว่าผ้าห่มมีความเป็นนาโนอย่างไร และต้องอธิบายได้ว่าวิธีการหรือเทคนิคที่ทำให้ผ้าห่มเก็บความร้อนได้นานขึ้น เกิดจากเทคนิคนาโนแบบใดที่ใส่เข้าไปในผ้าห่ม หรือพูดง่ายๆคือ “ใส่นาโนแบบใดก็ต้องอธิบายต่อไปได้ว่าฤทธิ์หรือสรรพคุณที่เกิดขึ้นมานั้น เกี่ยวข้องกับนาโนอย่างไรด้วย”
ประเภทสี และสารเคลือบผิว : ผลิตภัณฑ์สีทาบ้าน นิยมใช้ไททาเนียมนาโนผสมเข้าไปเพื่อป้องกันรังสียูวี เพื่อให้มีสมบัติสะท้อนรังสีอัลตราไวโอเลตไม่ให้ผ่านเข้ามาได้ และในสีบางประเภทมีการผสมผงนาโนเทฟล่อนลงไปเพื่อทำพื้นผิวหลังการทาสีมี สมบัติไม่เปียกน้ำ เมื่อโดนน้ำก็สะท้อนน้ำหรือเป็นสีที่ทำความสะอาดตัวเองได้นั่นเอง
สำหรับกลุ่มสินค้าที่แอบอ้างว่าเป็นนาโน ดร.ณัฐพันธุ์ ระบุชัดว่า เข็มขัดนาโน หรือ สเตย์รัดหน้าท้อง ที่ผู้หญิงมักนำมาใส่ลดความอ้วน มีการแอบอ้างว่านำนาโนเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนผสมสามารถดูดรังสีอินฟราเรด เข้ามาเผาผลาญไขมันได้นั้น จริงๆ แล้วไม่เคยมีการพิสูจน์ว่าทำได้จริง
อีกตัวอย่างที่ไม่มีการพิสูจน์ความเป็นนาโน คือ น้ำหรือเครื่องทำน้ำนาโน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นนาโนแม้แต่นิดเดียว เนื่องจากเป็นการนำเอาคลื่นแม่เหล็ก คล้ายๆ กับคลื่นไมโครเวฟผ่านเข้าไปในน้ำ และปรับโครงสร้างโมเลกุลน้ำ ซึ่งนอกจากนิยามความเป็นนาโนที่นำมาแอบอ้างแบบผิดๆ แล้วยังไม่มีการพิสูจน์ความเป็นนาโน แต่เป็นความเชื่อของผู้บริโภคที่คิดว่ากินแล้วรักษาโรคได้เท่านั้น
สังเกตฉลากบังคับ-สมัครใจ
ดร.ณัฐพันธุ์ แนะนำด้วยว่า นอกจากวิธีการตรวจสอบสินค้าจากคำโฆษณาแล้ว “ฉลากบังคับ” เช่น เครื่องหมาย มอก. จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม หรือเครื่องหมาย อย. จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เป็นปราการด่านแรกที่ผู้บริโภคต้องพึ่งพาในการเลือกซื้อสินค้านาโนด้วย
แต่หากไม่มีฉลากเหล่านี้ อาจใช้วิธีการสังเกต “ฉลากสมัครใจ” เนื่องจากขณะนี้สินค้านาโน ได้มี “ฉลากนาโนคิว (NanoQ)” โดยสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย คิดฉลากนาโนคิวขึ้นมาเพื่อรับรองผลิตภัณฑ์นาโนสำเร็จรูปพร้อมใช้ที่มีส่วน ประกอบเป็นวัสดุนาโนหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้นาโนเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต เป็นการช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นกับการใช้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้า บางประเภทที่มีการใช้นาโนจริงๆ เช่น บริษัท ก. มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้นาโนฯ ต้องการให้สินค้าของตัวเองดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ก็นำสินค้ามายื่นตรวจสอบความเป็นนาโนฯตามเงื่อนไขของสมาคมฯ ดังนั้น “ฉลากนาโนคิว” ก็จะเป็นอีกเครื่องหมายหนึ่งที่ช่วยคัดกรองว่าอย่างน้อยผลิตภัณฑ์เหล่านั้น มีความเป็นนาโนอยู่จริง อย่างไรก็ดีเนื่องจากสินค้านาโนเป็นที่นิยม และมีหลากหลายผลิตภัณฑ์ ดังนั้นการจะบอกว่าสินค้าเหล่านั้นมีนาโนเทคโนโลยีแท้จริง ขนาดไหน ผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องพึ่งห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้มาตรฐานด้วยเช่นกัน
ดร.ณัฐพันธุ์ ย้ำว่า หัวใจสำคัญคือแล็บต้องมีความเข้าใจและต้องแม่นวิธีมาตรฐานที่ใช้ในการทดสอบ ผลิตภัณฑ์นาโนแต่ละประเภท เช่น วิธีที่ใช้ทดสอบฤทธิ์ต้านแบคทีเรียในสินค้าต่างๆ มีมากกว่า 20 วิธี ดังนั้นห้องแล็บต้องรู้โดยอัตโนมัติว่าสินค้าแต่ละประเภทนั้นควรต้องใช้วิธี มาตรฐานใดในการทดสอบ เช่น วิธีทดสอบที่ใช้กับสินค้าที่เป็นพลาสติก หรือสินค้าที่เป็นเสื้อผ้า เป็นต้น เพราะผู้ประกอบการส่วนมากไม่ได้ระบุว่าห้องแล็บต้องทดสอบด้วยวิธีหรือ มาตรฐานใด
ดังนั้นวิธีการที่ห้องแล็บต่างๆ ใช้เพื่อรับรองมาตรฐานทดสอบก็คือการขอรับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการ ตาม มอก. 17025:2548 ซึ่งเป็นการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการที่เป็นมาตรฐานสากล โดยห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้รับรองมาตรฐานดังกล่าวเมื่อปลายปีที่ผ่านมาใน 2 ขอบข่ายการทดสอบ คือ
ขอบข่ายการวัดขนาดอนุภาคที่มีขนาดระดับนาโนเมตรที่กระจายตัวในรูปของเหลว ด้วยเทคนิคกระเจิงแสงเลเซอร์ และ ขอบข่ายการยับยั้งแบคทีเรียบนพื้นผิวพลาสติก และวัสดุผิวเรียบ ซึ่งในแต่ละปี มีบริษัทเอกชนจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ส่งตัวอย่างจำนวนหลายร้อยตัวอย่างมาให้ทดสอบ อาทิ กล่องพลาสติกใส่อาหาร, เขียงพลาสติก, สีทาบ้าน, แผ่นกระเบื้อง เป็นต้น นั่นหมายความว่า 2 ขอบข่ายการทดสอบข้างต้น ห้องแล็บของ นาโนเทค มีความสามารถในการตรวจวัดขนาดของวัสดุนาโนและทดสอบสมบัติการยับยั้ง แบคทีเรียของผลิตภัณฑ์นาโนได้ผลถูกต้องตามค่าที่มาตรฐานสากลระบุไว้ชัดเจน ดังนั้นก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างนาโนเทคโนโลยีควรพิจารณาตามหลัก เกณฑ์เหล่านี้จะได้ไม่เป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อ
รายการอ้างอิง :
เลือกสินค้า’นาโน’อย่างฉลาด. กรุงเทพธุรกิจ (Smart life). ฉบับวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556.– ( 4299 Views)