นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันของรัฐบาล ซึ่งมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา หลังประกาศให้มีผลบังคับใช้กับ 7 จังหวัดนำร่องทั้ง กทม. ปริมณฑล และภูเก็ต ในระยะแรกไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2555…กำลังตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า จะสร้างผลกระทบให้กับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศมากกว่าความอยู่ดีกินดี และความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของบรรดาผู้ใช้แรงงาน
ยิ่งเมื่อนโยบายดังกล่าว กลายเป็นบูมเมอแรงสะท้อนกลับให้ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต้องเลิก กิจการ ส่งผลให้แรงงานต้องตกงานกันเป็นจำนวนมาก เพราะแบกรับภาระต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดไม่ไหว รัฐบาลก็ยิ่งตกเป็นเป้าโจมตี ในขณะที่ไม่มีใครมองหาทางออกที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
ทีมเศรษฐกิจ พยายามมองหาความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากนักเศรษฐศาสตร์เพื่อร่วมกันหาทางออกให้แก่รัฐบาลผู้เป็น เจ้าของนโยบาย ผู้ใช้แรงงาน และผู้ประกอบการในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม หลังจากที่นโยบายนี้มีผลบังคับใช้ไปแล้ว และในที่สุดก็ได้ ดร.สมศจี ศิกษมัติ ผู้อำนวยการสำนักสถิติ ฝ่ายสถิติ และข้อสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้ทำบทวิจัยเรื่อง “ผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท”
ดร.เศรษฐพุฒิกับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา ที่ได้ให้ข้อเสนอแนะ เรื่อง “ทางออกของ SME ไทย…แก้ปม 300 บาท” มาให้ความรู้ ข้อคิดเห็น และแนวทางในการแก้ปัญหาตามสาระสำคัญดังต่อไปนี้
“ค่าจ้าง” สะท้อนความเหลื่อมล้ำ
ในบทวิจัย เรื่อง ผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ของ ดร.สมศจี ศิกษมัติ ระบุว่า ตลาดแรงงานไทยนั้น เป็นตลาดที่เน้นการใช้แรงงานราคาถูก เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อน จึงต้องพยายามรักษาขีดความสามารถของการแข่งขันของสินค้าไว้ โดยหันมาเน้นการกดต้นทุนการผลิตให้ต่ำจากค่าแรงราคาถูก
ประกอบกับการผลิตสินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นประเภท “รับจ้างผลิต” ตามแบบที่ลูกค้ากำหนด (Original Equipment Manufacturer หรือ OEM) สินค้าที่ผลิตออกมา จึงมีมูลค่าเพิ่มแก่คนไทยค่อนข้างน้อย และไม่ได้ช่วยพัฒนาผลิตภาพแรงงาน (Labour productivity) ตลอดจนนวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการผลิตได้มากนัก จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap)
จากการเปรียบเทียบอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของแรงงานไทยในช่วงปี 2553 ก่อนที่จะมีนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวัน เฉลี่ยทั่วประเทศ 177 บาทต่อวัน พบว่าอัตราค่าจ้างรายวันดังกล่าวต่ำมากจนแทบจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่าง มีคุณภาพ โดยเฉพาะแรงงานที่ต้องมีภาระในการเลี้ยงดูคนในครอบครัว
ที่สำคัญ แม้ประเทศไทยจะมีระบบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมาตั้งแต่ปี 2515 และพัฒนามาตามลำดับโดยมีคณะกรรมการค่าจ้างแบบไตรภาคีเป็นผู้กำหนดอัตราค่า จ้างขั้นต่ำ เพื่อดูแลผลประโยชน์ของฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างแล้วก็ตาม แต่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้ช่วยให้แรงงานไทยหลุดพ้นจากความยากจน หรือสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจได้เท่าที่ควรตามเป้าหมายของการมีระบบ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
นอกจากนี้แล้ว ยังพบด้วยว่าอัตราการขยายตัวของค่าจ้างที่แท้จริงในช่วงปี 2549-2553
ต่ำกว่าการขยายตัวของผลิตภาพแรงงานมาโดยตลอด และหากพิจารณาถึงความเป็นธรรมในแง่การจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่แรง งาน เปรียบเทียบกับอัตราการเติบโตของค่าจ้างขั้นต่ำกับอัตราการขยายตัวทาง เศรษฐกิจ พบว่าค่าจ้างขั้นต่ำมีการขยายตัวเฉลี่ยเพียง 2.2% ขณะที่เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยถึง 7.4% และหากพิจารณาที่การเปลี่ยนแปลงของอัตราค่าจ้างที่แท้จริง จะเห็นว่า
มีบางปีติดลบ (หดตัว) ทำให้ค่าเฉลี่ยของอัตราค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงในช่วงเวลาดังกล่าว หดตัวลง 0.7% ทั้งๆที่เศรษฐกิจแท้จริง (Real GDP) ขยายตัว 3.6%
สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในการแบ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และอำนาจการต่อรองของผู้ใช้แรงงานระดับล่างกับนายจ้าง
มาตรการเยียวยานายจ้าง
ดร.สมศจียังเปรียบเทียบค่าจ้างขั้นต่ำกับค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมตามอัตภาพของ มนุษย์ หรืออัตรา ที่ไม่มีเหลือพอจะใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง พักผ่อน หรือทำกิจกรรมทางสังคมได้ด้วยว่า อาจจะต้องมีการปรับขึ้นทันที 13% จากอัตราเฉลี่ย (177 บาทต่อวันทั่วประเทศ) ขณะที่หากต้องการให้เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตตามคุณภาพซึ่งสูงกว่าการใช้จ่าย ตามอัตภาพได้ ค่าจ้างขั้นต่ำก็ควรจะปรับเพิ่มทันทีในอัตรา 22%
อย่างไรก็ตาม แม้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันดังกล่าวจะส่งผลให้กลุ่มลูกจ้างได้รับประโยชน์ แต่ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อนายจ้าง หรือภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่จ้างแรงงานไร้ฝีมือจำนวนมาก และหากต้นทุนการผลิตอื่นๆปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ที่สำคัญ เมื่อยังไม่มีการรับประกันว่าคุณภาพหรือฝีมือแรงงานจะเพิ่มขึ้น และคุ้มค่าสมกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ทั้งยังไม่ได้ทำการศึกษาอย่างจริงจังถึงผลกระทบก่อนที่จะนำนโยบายดังกล่าวมา ใช้ ก็ย่อมเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องผลกระทบที่ เกิดขึ้น
ยิ่งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ เป็นไปอย่างก้าวกระโดด หรือปรับขึ้นไปสูงถึง 40% (ใช้ระดับค่าจ้างขั้นต่ำใน กทม.ที่ 215 บาทเป็นอัตราอ้างอิง) ผลกระทบในภาพรวมก็ย่อมกว้างกว่าผลกระทบต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม หากต้องการลดผลกระทบเชิงลบของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทันทีแบบก้าวกระโดดต่อ ระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง และลดอัตราการเร่งของเงินเฟ้อแล้ว ก็จำเป็นจะต้องมีนโยบายเสริม หรือเพิ่มเติมขึ้นมาควบคู่กันไป
เริ่มต้นจาก 1.วิเคราะห์ขนาดของผลกระทบที่จัดว่า ช็อก (Shock) ระบบเศรษฐกิจ และ 2.ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของผลผลิตทางเศรษฐกิจ (ผลิตภาพของแรงงาน หรือการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมของการผลิต) เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการชะลอตัวลงอย่างรุนแรงของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ รวมถึงการจ้างงานที่ลดลงโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก สิ่งทอขั้นต้น การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ป่าไม้ รองเท้า และเครื่องแต่งกาย เป็นต้น
เมื่อทราบขนาดของผลกระทบ และวิธีการที่จะลดผลกระทบแล้ว ดร.สมศจีเสนอว่า ในระยะแรกจำเป็นจะต้องหาแนวทางบรรเทา หรือเยียวยาผลกระทบในแต่ละอุตสาหกรรมให้ตรงตามข้อเท็จจริง จนกว่าระบบเศรษฐกิจไทยจะสามารถปรับสู่สมดุลใหม่ที่ค่าจ้างแรงงานปรับขึ้น เป็น 300 บาทต่อวันได้
ขณะเดียวกันก็จะต้องมีการเพิ่มผลิตภาพของแรงงานขึ้นอีก 8% จากในปัจจุบัน เช่น จากเดิมแรงงาน 1 คน สร้างจีดีพีที่แท้จริงได้ 119,110 บาทต่อปี ก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ได้ เป็น 128,640 บาทต่อปี
การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยรวมนี้ หมายถึง การใช้วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต เทคโนโลยีการผลิต ประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ให้สูงขึ้นอีก 2.5% จากปัจจุบัน หรือผสมผสานทั้งสองแนวทางเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้จีดีพีในปี 2556 ไม่ปรับตัวลดลงราว 1.7% จากกรณีนี้ หรือสามารถเพิ่มขึ้นได้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องดีต่อศักยภาพการผลิตและการแข่งขันของประเทศในระยะยาวต่อไป
ทางออก SME ไทย แก้ปม 300 บาท
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ให้ความเห็นว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องที่สมควรทำ เพราะค่าแรงของคนไทยถูกกดต่ำมานาน และหากดูในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จีดีพีของไทยโตขึ้น
50% ขณะที่ค่าจ้างที่แท้จริงแทบไม่เพิ่มขึ้นเลยเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ แต่ปัญหาคือ จะขึ้นค่าแรงอย่างไรให้เอกชนรับได้
อันที่จริงเราก็เห็นว่า รัฐบาลก็เห็นความสำคัญของปัญหาของเอกชนในเรื่องนี้ และพยายาม
ที่จะบรรเทาผลกระทบด้วยการออกมาตรการเยียวยารวม 16 มาตรการ เพื่อช่วยเหลือภาคเอกชน
ดร.สมศจีแต่จะดูกันจริงๆ มาตรการเหล่านี้เป็นเพียงความพยายามให้ยารักษาตามอาการ ไม่ได้รักษาที่ต้นเหตุ แถมยังเป็นยาครอบจักรวาล ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ SME ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงและทั่วถึง
หากมอง 16 มาตรการที่รัฐออกมา มี 6 มาตรการเป็นมาตรการด้านภาษี แต่บริษัทที่ได้ประโยชน์ก็มีแต่บริษัทที่มีกำไรเท่านั้น ส่วนบริษัทที่ขาดทุน หรือบริษัทเล็กที่มีกำไรน้อย ก็จะไม่ได้ประโยชน์ในมาตรการ ส่วนที่ยกเว้นภาษีเพิ่มเติมก็จะช่วยประหยัดภาษีไปได้เพียงรายละ 30,000 บาทเท่านั้น
ส่วนมาตรการหักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร หรือยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับนิติบุคคลที่เปลี่ยนเครื่องจักร ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ก็ต้องเป็นผู้ประกอบการที่มีความสามารถจะลงทุนเพิ่ม และโอกาสที่ผู้ประกอบการที่อยู่ภาคบริการจะลงทุนซื้อเครื่องจักรก็มีน้อย ดังนั้น จึงมีเพียงผู้ประกอบการในภาคการผลิตที่มีศักยภาพจะขยายการลงทุนเท่านั้นที่ จะได้ประโยชน์
อีก 5 มาตรการเป็นการช่วยเหลือด้านการให้สินเชื่อซึ่งก็มีความเหมาะสม เพราะต้นทุนที่สูงขึ้นอาจทำให้ SME ต้องการเสริมสภาพคล่องในระยะสั้น แต่ประเด็นที่ต้องคำนึงก็คือ กลไกของรัฐอย่าง SME Bank หรือ บสย. ไม่สามารถเข้าถึง SME ได้อย่างทั่วถึงเท่ากับธนาคารพาณิชย์ ที่ผ่านมาในปี 2555 SME Bank และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมปล่อยกู้ให้ SME เกือบ 2 แสนล้านบาท ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้ SME มากถึง 3.2 ล้านล้านบาท ดังนั้น หากรัฐจะช่วยเหลือ SME ได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น รัฐก็ควรใช้มาตรการผ่านธนาคารพาณิชย์มากขึ้นด้วย
สำหรับข้อเสนอที่ทางฝั่งเอกชนที่ร้องขอให้มีกองทุนชดเชยส่วนต่างของค่าจ้าง ที่เพิ่มขึ้นนั้น ซึ่งนอกจากจะไม่ได้เยียวยาเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบแล้วกลับจะยิ่งเป็นการ ซ้ำเติมภาระการคลังอย่างมหาศาล สมมติว่าเกิดกองทุนนี้ขึ้นมาจริงๆ จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรพบว่า มีลูกจ้างประมาณ 11 ล้านคนที่ได้ค่าแรงต่ำกว่า 300 บาท โดยเมื่อขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาท จะทำให้ค่าจ้าง เฉลี่ยทั้งประเทศเพิ่มขึ้นถึง 40% เท่ากับรัฐต้องอุดหนุนเฉลี่ย 120 บาทต่อคน ซึ่งเท่ากับว่า จะต้องใช้งบประมาณมากถึง 3.3 แสนล้านบาทต่อปี หรือเป็น 3 เท่าของงบกระทรวงสาธารณสุขปี 2556
เสนอวิธีการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา ดร.เศรษฐพุฒิเสนอว่า จะต้องวินิจฉัยโรคก่อนว่าต้นเหตุที่แท้จริงคืออะไร ซึ่งนโยบาย 300 บาทที่เป็นปัญหากันอยู่ในปัจจุบันออกมาเป็นแค่ตัวกระตุ้นให้ออกอาการป่วยไข้ เด่นชัดขึ้นเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วปัญหาของ SME ไทยคือเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน ประเทศไทยยังขาด SME ขนาดกลาง ที่จะเติบโตไปแข่งขันกับต่างประเทศได้ ในไทยมี SME ขนาดกลางเพียง 0.4%ของ SME ทั้งหมด ในขณะที่ในญี่ปุ่นมี SME ขนาดกลางถึง 10%
และวิธีการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุก็คือ เอกชนต้องเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ผ่านการฝึกอบรมเพิ่มทักษะแรงงาน สร้างนวัตกรรม ลงทุนด้าน R&D ให้เพิ่มขึ้น ต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าตัวเอง เพื่อให้สามารถขายสินค้าในราคาที่สูงขึ้น แต่เอกชนคงไม่สามารถทำที่ว่ามาทั้งหมด ข้างต้นสำเร็จได้เอง ถ้าขาดกลไกสนับสนุนจากภาครัฐและวิชาการ โดยที่รัฐควรมีส่วนช่วยวางแผน นโยบายและงบประมาณสำหรับงานวิจัย ส่วนภาควิชาการก็ควรทำหน้าที่ผลิตงานวิจัย และผลิตบุคลากรที่ตอบสนองความต้องการจากภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม หนทางแก้ปัญหาเหล่านี้ล้วนไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้สำเร็จได้ในระยะสั้น และต้องอาศัยการวางแผนยุทธ– ศาสตร์อย่างบูรณาการในระยะยาว ตัวอย่างแผนยุทธศาสตร์ที่บูรณาการอย่างเช่น หากรัฐ
ต้องการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันพร้อมๆ ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน เริ่มจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ และมีต้นทุนที่ต่ำลงก่อน จากนั้นจึงค่อยออกนโยบายขึ้นค่าแรง
ที่ผ่านมา รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยมักออกนโยบายมาก่อน แล้วค่อยมาคิดหาวิธีเยียวยาภายหลัง ทำให้มีแต่มาตรการระยะสั้นที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า “เราจึงมักเจอสถานการณ์ที่กระทรวงแรงงานประกาศขึ้นค่าแรง กระทรวงเกษตรประกาศอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร กระทรวงพาณิชย์เข้ามาควบคุมราคา และกระทรวงการคลังต้องหามาตรการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น”
ที่กล่าวมาทั้งหมด อาจเป็นมาตรการระยะยาว แน่นอนว่าทางออกในระยะสั้นก็เป็นสิ่งจำเป็น แต่ก่อนอื่นคงต้องบอกให้ได้ว่า กลุ่มไหนเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบ และสมควรได้รับการเยียวยา จากการศึกษาพบว่า มีแรงงานประมาณ 11 ล้านคนที่ได้ค่าจ้างน้อยกว่า 300 บาท ส่วนใหญ่อยู่ตาม SME ในภาคการผลิต เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เสื้อผ้า และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และมีกำไรต่ำกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปแห่งหนึ่ง ซึ่งมีต้นทุนค่าจ้างเป็นต้นทุนหลักอยู่แล้ว เมื่อมีประกาศขึ้นค่าแรงทำให้จากเดิมที่เคยมีกำไรสุทธิ 4.3% เป็นขาดทุน 3% ทันที กลุ่มนี้จึงควรได้รับการเยียวยาอย่างเร่งด่วน
ดังนั้น จึงควรมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อจัดทำแผน และมาตรการเยียวยา ที่จะมีความแตกต่างกันตามอุตสาหกรรมและตามภูมิภาค ตัวอย่างแผนการช่วยเหลืออย่างเช่น การทยอยปรับขึ้นค่าแรง (Phasing) แทนที่จะขึ้นเป็น 300 บาทพร้อมกันทันที อาจจะกำหนดเป้าหมายไว้ที่ 300 บาท แต่มีปีเป้าหมายแตกต่างกันตามอุตสาหกรรม หรือตามภาค และทยอยปรับขึ้นทุกๆปี
นอกจากนี้ รัฐควรทบทวนความจำเป็นที่จะต้องขึ้นค่าแรงเท่ากันหมดทั้งประเทศ ลองนึกดูว่า หากค่าแรงของลาวเท่ากับไทย แล้วใครจะอยากไปลงทุนในลาว ในทำนองเดียวกันกับในประเทศไทย หากต้องจ่ายค่าแรงในจังหวัดห่างไกลเท่ากับกรุงเทพฯ ก็คงไม่มีใครอยากลงทุนในจังหวัดที่ห่างไกลที่ระบบสาธารณูปโภคยังไม่ดี มีผลิตภาพต่ำ
อีกทางเลือกหนึ่งคือ จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (Border zone) อย่างเช่น มากีลาโดรา (Ma quiladora) ที่ตั้งอยู่ที่พรมแดนสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก ซึ่งอาจจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ไม่ต้องบังคับใช้ค่าแรงของไทย วิธีนี้จะทำให้เอกชนได้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน และแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่ทะลักเข้าเมือง เพราะนโยบาย 300 บาทนี้ด้วย
ท้ายที่สุด ไม่ว่านโยบายแก้ไขจะดีอย่างไร หากยังคงมีปัญหาในการนำนโยบายไปปฏิบัติใช้ก็คงไม่สามารถสำเร็จได้ ทุกวันนี้มีหน่วยงานมากมายที่ทำหน้าที่ส่งเสริม SME แต่ไม่มีการ
จับมือร่วมกันทำงาน บางครั้งก็ทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกัน ขาดการบูรณาการ และทำงานร่วมกัน เราอยากเห็น สสว. หรือสถาบันพัฒนา SME จูงมือ SME ที่มีปัญหา ไปหา สวทช. ซึ่งมีหน่วยงานที่จะช่วยให้คำแนะนำด้านเทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต จากนั้นกรมพัฒนาธุรกิจ หรือกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมรับลูกต่อ เพื่อช่วยเหลือด้านการตลาดและการบริหารจัดการ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำอย่างทุกวันนี้.
แหล่งที่มา : ค่าแรง 300 บาทเร่งรัฐบาลเยียวยาให้ถูกจุด. ไทยรัฐ. ฉบับวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556.– ( 143 Views)