magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก รู้เรื่องปุ๋ยผ่านแอพ ‘ใบข้าว’
formats

รู้เรื่องปุ๋ยผ่านแอพ ‘ใบข้าว’

ดร.ลัดดาวัลย์ กรรณนุช รองอธิบดีกรมการข้าว

แอพ‘ใบข้าว’ เป็นเทคโนโลยีที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างกรมการข้าวและเนคเทค เพื่อช่วยเหลือชาวนายุคใหม่ในการบริหารจัดการปุ๋ยที่ใส่ลงแปลงนาได้อย่างมืออาชีพ

:รู้ใจนาข้าวด้วยโทรศัพท์

ยุทธนา อินทรวันณี ผู้ช่วยวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า แอพพลิเคชั่นใบข้าว ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยชาวนาในการบริหารจัดการปุ๋ยในแปลงนาอย่างมีประสิทธิภาพนักวิจัยจากเนคเทคพัฒนาแอพพลิเคชั่นใบข้าวขึ้นจากองค์ความรู้เรื่องแผ่นเทียบสีใบข้าวสำหรับจัดการปุ๋ยไนโตรเจนในนาข้าว ซึ่งกรมการข้าวได้ซื้อลิขสิทธิ์มาจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) เมื่อ 12 ปีก่อนโดยกรมการข้าวได้สร้างฐานข้อมูลแผ่นเทียบสีขึ้นใหม่ให้รองรับการใช้งานกับใบข้าวของคนไทย เพื่อให้เกษตรกรไทยใช้เป็นเกณฑ์ในการใส่ปุ๋ยลงแปลงนาในแต่ละช่วงของการเติบโต

ความชำนาญของนักวิจัยจากเนคเทคในเรื่องแสงและอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เขาใช้เวลาไม่ถึงปีก็สามารถออกแบบแอพพลิเคชั่นใบข้าวซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากแผ่นเทียบสีใบข้าวของกรมการข้าวได้สำเร็จ โดยอยู่ระหว่างการนำไปทดสอบใช้งานจริงในแปลงนาทั่วประเทศเพื่อลดปริมาณการใช้ปุ๋ยในแปลงนาเกินความต้องการของต้นข้าว

“ความสมบูรณ์ของแอพใบข้าวในตอนนี้อยู่ที่ 80% พร้อมนำไปใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในแปลงนาได้แล้ว โดยเกษตรกรเพียงมีโทรศัพท์รุ่นที่ถ่ายรูปได้ จากนั้นติดตั้งแอพใบข้าวลงในโทรศัพท์ เมื่อต้องการใช้งานก็เปิดแอพขึ้นมาและนำใบข้าวที่ต้องการจะเทียบสีมาวางในกระดาษสีขาวและทำการถ่ายภาพ ระบบจะประมวลผลอัตโนมัติว่า รูปใบข้าวที่ถ่ายมาอยู่ในภาวะใดและจะต้องเติมปุ๋ยอะไรลงไปในปริมาณเท่าไหร่”นักวิจัยเนคเทค กล่าวและว่า เทคนิคดังกล่าวจะทำให้เกษตรกรเจ้าของนาเติมปุ๋ยพอดีกับความต้องการของต้นข้าวไม่มากหรือน้อยเกินความพอดี และผลผลิตที่ได้ก็มีคุณภาพที่ดีไปด้วย

เขายังกล่าวอีกว่า องค์ความรู้ที่ได้จากแอพใบข้าวไม่เพียงเป็นประโยชน์กับชาวนาไทย แต่ทีมวิจัยยังนำไปประยุกต์ใช้กับเกษตรกรกลุ่มอื่นด้วย อาทิ การพัฒนาระบบตรวจวัดปริมาณคลอรีนในบ่อกุ้งซึ่งอยู่ระหว่างทดสอบการใช้งานร่วมกับสมาคมกุ้งตะวันออกไทย คาดว่าอีกไม่เกินปีน่าจะพร้อมนำไปขยายผลใช้งานในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้งเพื่อลดอัตราการสูญเสียผลผลิตระหว่างทาง

:ข้าวไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

“เนคเทคและกรมการข้าวหวังว่า เกษตรกรจะเข้าถึงแอพพลิเคชั่นใบข้าวจากโทรศัพท์มือถือที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และเกิดการนำไปใช้งานกันอย่างแพร่หลายยิ่งกว่าแผ่นเทียบสีซึ่งพัฒนาได้เมื่อ 10 กว่าปีก่อนแต่ไม่ได้รับความนิยมเนื่องจากแผ่นเทียบสีมีราคาแพง และหาซื้อได้ยาก”ดร.ลัดดาวัลย์ กรรณนุช รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าว

รองอธิบดีกรมการข้าวยังกล่าวอีกว่า ปัญหาที่ผ่านมาการปลูกข้าวในแปลงนาแต่ละรอบ ชาวนาต้องใช้ปุ๋ยบำรุงข้าวทั้งไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ตั้งแต่เริ่มปลูกจนกระทั่งก่อนเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ แต่บางครั้งเติมปุ๋ยถี่ไปหรือเว้นระยะห่างเกินไป ทำให้ปุ๋ยที่เติมลงนาข้าวไม่เกิดประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น จึงเป็นที่มาของความพยายามหาวิธีช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อให้การใช้ปุ๋ยในแปลงนาเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

“กรมการข้าวต้องการให้เกษตรกรไทยนำเทคโนโลยีใกล้ตัวอย่างโทรศัพท์มือถือเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการข้าวในแปลงนาให้เกิดประโยชน์ ซึ่งนอกจากแอพใบข้าวแล้ว ก่อนหน้านี้ยังมีการพัฒนาระบบผู้จัดการนาที่ใช้งานด้วยคอมพิวเตอร์พีซีจากการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เกษตรวางแผนทำนาตั้งแต่เริ่มเพาะเมล็ดไปจนกระทั่งเกี่ยวไปจำหน่ายได้อย่างเป็นระบบ รวมถึงสามารถวางแผนล่วงหน้าได้ด้วย ซึ่งถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการขยายผลใช้งานเท่าที่ควรเช่นกัน”รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าว

กรมการข้าวมีแผนจะทำการเผยแพร่แอพใบข้าวให้กับเกษตรกรทั่วประเทศได้รู้จัก ผ่านโครงการพัฒนาการใช้ระบบนิเวศวิศวกรรม ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศในพื้นที่โครงการหมู่บ้านชุมชนต้นแบบการลดต้นทุนการผลิตข้าว ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ในระยะเวลา 2 ปี

รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวอีกว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย นักวิชาการและเกษตรกรต้องตามเทคโนโลยีให้ทันและนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วย ไม่ใช่ยืดแต่วิธีการผลิตแบบเดิมๆ เพราะการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จะทำให้ในอนาคต เกษตรไทยจะมีผลผลิตที่มีคุณภาพไปต่อกรกับต่างชาติได้อย่างไม่น้อยหน้า

รายการอ้างอิง :
กานต์ดา บุญเถื่อน. รู้เรื่องปุ๋ยผ่านแอพ ‘ใบข้าว’. กรุงเทพธุรกิจ. วันที่ 13 มีนาคม 2556.– ( 178 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


4 × = twenty

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>