…ไม่ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือสร้างความตื่นตูมกับคำว่า “โรคจากอาวุธชีวภาพ”เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นโรคที่เคยแพร่ระบาดในเมืองไทยและรู้จักกันดีในชื่อโรคพิษหน่อไม้ หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงโบทูลิสม (Botulism)
“ดร.จีระพงษ์ ทะนงศักดิ์ศรีกุล” จากสาขาชีวเวชศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เจ้าของรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ปี 2555 บอกว่า เนื่องจากเหตุการณ์เมื่อปี 2549 ที่ชาวบ้านในจังหวัดน่านรับประทานหน่อไม้ดองปี๊บและล้มป่วย เนื่องจากมีสารปนเปื้อนในหน่อไม้ดองและเป็นพิษต่อระบบประสาทโบทูลินัม (Botulinum -neurotoxins) ส่งผลให้มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ โบทูลิสม ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาจเสียชีวิตจากระบบหายใจล้มเหลวได้
ดร. จีระพงษ์ บอกว่า สารดังกล่าวจัดอยู่ในสารพิษระดับความรุนแรงสูงสุด จึงมีการพัฒนานำไปใช้เป็นอาวุธชีวภาพ ใช้ก่อการร้ายด้วยการใส่ในน้ำดื่ม อาหาร หรือการหายใจเข้าไป
การรักษาในปัจจุบันยังไม่มียารักษาที่เฉพาะเจาะจง จะมีก็แต่การฉีดเซรุ่มแก้พิษหรือแอนติทอกซิน ที่ผลิตจากการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของสัตว์ ประเภท ม้าหรือแพะ ทันทีที่สังเกตเห็นอาการ แต่การผลิตแอนติบอดีจากภูมิคุ้มกันของสัตว์ อาจทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับแอนติบอดี เกิดปฏิกิริยาตอบสนองอย่างรุนแรงเฉียบพลัน จนเกิดภาวะช็อคและเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ประเทศไทยยังขาดการสำรองเซรุ่มแก้พิษ จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาสูง และใช้เวลานาน ซึ่งมีผลต่อผู้ป่วยอาจต้องมีอาการทางระบบประสาทไปตลอดชีวิต
ผู้วิจัย บอกว่า เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยคุกคามจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โบทูลิสม จึงทำการศึกษา “การผลิตแอนติบอดีเพื่อการรักษาโรคที่มีสาเหตุมาจากอาวุธชีวภาพ”ซึ่งเป็น วิทยานิพนธ์ ขณะที่ศึกษาปริญญาเอก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
โดยใช้เทคนิคทางอณูพันธุวิศว ผลิตแอนติบอดีทั้งชนิดแอนติบอดีสายเดี่ยวที่มีโมเลกุลเป็นโปรตีนของมนุษย์ และแอนติบอดีจิ๋วที่เป็นโมเลกุลของอูฐที่ถูกปรับแต่งให้ใกล้เคียงกับโมเลกุล ของมนุษย์ ซึ่งจะมีความปลอดภัยในการรักษามากกว่าเดิมไม่เกิดอาการข้างเคียง สามารถยับยั้งและขัดขวางสารพิษภายในเซลล์ประสาทได้โดยตรง ซึ่งจะทำให้การรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ผลสำเร็จของงานวิจัยทำให้ได้คลังฟาจที่แสดงโมเลกุลแอนติบอดีชนิดโดเมน เดี่ยว และแอนติบอดีจิ๋วจากอูฐ ที่ปรับแต่ให้คล้ายโมเลกุลของมนุษย์มากกว่า 80 %รวมถึงยังมีแอนติบอดีจิ๋ว ที่ความสามารถผ่านเข้าเซลล์ประสาท เรียกว่า “ทรานสบอดี” ได้ โดยไม่เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ และสามารถลบล้างความเป็นพิษของสารโบทูลินัมได้
ผลงานเหล่านี้ถือว่าเป็นการพัฒนาการรักษาโรคโบทูลิสมแนวใหม่ในคน และสามารถพัฒนาต่อยอดใช้รักษาโรคต่าง ๆ ได้ในอนาคต.
รายการอ้างอิง :
นาตยา คชินทร. แอนติบอดีแก้โรคจากอาวุธชีวภาพ. เดลินิวส์ (ไอที). วันพุธที่ 23 มกราคม 2556
– ( 112 Views)