ของเสียและขยะจากอุตสาหกรรม ซึ่งกำจัดอย่างไรก็ไม่หมด จะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป ด้วยเทคโนโลยีและความใส่ใจต่อโลกจึงมีการนำจุลินทรีย์ที่มีเอนไซม์และสาร ประกอบทางชีวภาพ ซึ่งมีคุณสมบัติในการย่อยสลายน้ำมัน คราบน้ำมัน สิ่งสกปรก และสารอินทรีย์ต่างๆ มาใช้ในการกำจัดของเสียและขยะจากอุตสาหกรรม ถือเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง เนื่องจากราคาถูกกว่าและการกำจัดทำได้สมบูรณ์กว่า
ของเสีย คือ สิ่งที่เราไม่ต้องการใช้แล้ว ของเสียบางชนิดนำกลับมาใช้ใหม่ได้ บางอย่างย่อยสลายตามธรรมชาติ แต่บางชนิดก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆถ้าไม่กำจัด วันหนึ่งโลกอาจเต็มไปด้วยขยะเหล่านี้ ขยะในภาคอุตสาหกรรม ถ้าจัดการไม่ถูกวิธี สิ่งเหล่านี้จะย้อนกลับมาเล่นงานเรา “การเหยียบย่ำที่มนุษย์กระทำต่อสิ่งแวดล้อม ถ้าโลกร้องไห้ได้โลกของเราคงเต็มไปด้วยหยาดน้ำตา” วสันต์ อริยพุทธรัตน์ประธานผู้บริหารอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ บริษัท ไฮกริม เอ็นไวรอนเมนทอล แอนด์ รีเสิร์ช ผู้ผลิตชีวบำบัดภัณฑ์ “คีนน์” กล่าวภาพดวงตาของโลก (Earth Eye) ถูกนำมาใช้ประกอบการนำเสนอผลงานนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมบนเวทีประกวดของ สมาคมAsian Science Park Association หรือ ASPA รางวัลผลิตภัณฑ์และผลงานวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดเวทีหนึ่งของ อาเซียน ซึ่งคีนน์คว้ารางวัลชนะเลิศในปีที่ผ่านมา เฉือนชนะอิหร่านญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีที่เป็นตัวเต็ง
ผลิตภัณฑ์ของคีนน์ คือ จุลินทรีย์ที่มีเอนไซม์และสารประกอบทางชีวภาพที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลาย น้ำมัน คราบน้ำมัน สิ่งสกปรกและสารอินทรีย์ต่างๆ โดยในโลกของเสียแล้วน้ำมันคือสารอินทรีย์ที่กำจัดได้ยากที่สุด การใช้เทคโนโลยีชีวภาพหรือการใช้จุลินทรีย์กำจัดคราบน้ำมัน ถือเป็นเทรนด์ที่กำลังมา เนื่องจากราคาถูกกว่าและการกำจัดทำได้สมบูรณ์กว่า
“สารเคมีที่เราใช้กำจัดน้ำมัน ในที่สุดจะกลายเป็นของเสียอีกตัวที่เราต้องตามไปกำจัดอีกครั้ง ซ้ำซ้อนทั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายและต้นทุนสิ่งแวดล้อม” วสันต์ เล่า
เปรียบเทียบกับจุลินทรีย์ สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า การกินและย่อยอาหารของพวกมันขึ้นอยู่กับเอนไซม์ที่เฉพาะเจาะจง น้ำย่อยจะถูกส่งออกมาย่อยสารโมเลกุลใหญ่ให้เป็นสารโมเลกุลเล็ก แล้วดูดซึมเข้าสู่เซลล์ (Extracellular digestion) แบคทีเรียบางชนิดสามารถย่อยสารอินทรีย์ที่มีโครงสร้างสลับซับซ้อนได้ เช่น น้ำมัน
ในต่างประเทศ การใช้เทคโนโลยีชีวภาพเป็นแนวโน้มที่สำคัญ ยกตัวอย่างพื้นที่ลุ่มน้ำชายฝั่งรัฐลุยเซียนา ซึ่งวอยซ์ออฟอเมริการายงานว่า ถูกคุกคามจากน้ำมันดิบที่รั่วไหลจากแท่นขุดเจาะ ปัจจุบันกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์พิทักษ์ชีวิตสัตว์ป่าและสัตว์น้ำ ลุยเซียนาบนเกาะแกรนด์ไอล ใช้วิธีให้จุลินทรีย์กัดกินคราบน้ำมันที่เปื้อนปนอยู่ให้หมดไป ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการล้างคราบน้ำมันที่ตกค้างในทะเล
วสันต์ เล่าว่า จุลินทรีย์จะใช้ชีวิตอยู่กับแหล่งอาหารอาหารอยู่ที่ไหน จุลินทรีย์ก็อยู่ที่นั่น การผลิตชีวบำบัดภัณฑ์สำหรับน้ำมัน (Oil Bioremediation) จึงต้องตามติดไปยังแหล่งที่มีน้ำมัน เช่น โรงกลั่น บ่อบำบัด แท่นขุดเจาะ หรือแม้กระทั่งในมหาสมุทรที่มีน้ำมันไหลปนเปื้อนอยู่ คัดเลือกสายพันธุ์ที่กินน้ำมันได้ดีที่สุด อยู่ร่วมกันและผนึกกำลังกันเพื่อโลกที่สะอาดกว่า
“เราคัดสายพันธุ์จุลินทรีย์จาก 200 สายพันธุ์ คัดแล้วคัดอีกเพื่อเฟ้นตัวที่กินน้ำมันได้เร็วที่สุดแข็งแรงที่สุด และขยายพันธุ์ได้มากที่สุด ค้นคว้ากว่า 2 ปี จึงได้ 8 สายพันธุ์ที่ดีที่สุด หนึ่งในนั้นเป็นสายพันธุ์เดียวกันกับจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่บนกระดองปู จากใต้ทะเลลึกอันดามัน” วสันต์ เล่า
สำหรับโครงการผลิตชีวบำบัดภัณฑ์ของไฮกริมฯ เริ่มการศึกษาวิจัยที่คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นในปี 2551 ได้ร่วมทุนวิจัยกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ล่าสุดมีโครงการร่วมวิจัยกับมหาวิทยาลัยมหิดล
ดร.สมเกียรติ เตชกาญจนารักษ์นักวิจัยศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านการจัดการและใช้ ประโยชน์จากของเสียอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะที่ปรึกษาและร่วมวิจัย กล่าวว่า ในประเทศไทย น้อยครั้งที่งานวิจัยจะนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จ คีนน์ คือหนึ่งในนั้น พิสูจน์ได้จาก 9 รางวัลในปีที่ผ่านมา ซึ่งกวาดทุกเวทีในประเทศและต่างประเทศ (www.keeen.co.th)
นอกเหนือจากการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ความท้าทายของโครงการชี วบำบัดภัณฑ์ของคีนน์และความท้าทายส่วนตัว คือการผลักดันผลงานวิจัยให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จด้านการตลาด รางวัลที่ได้สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางและกระบวนทัศน์ใหม่สำหรับอุตสาหกรรมใน เอเชีย ความสอดคล้องทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลประโยชน์ซึ่งกันและกัน
“บนเวทีสิ่งแวดล้อมโลก ความสำเร็จคือการต่อยอดองค์ความรู้ที่พิสูจน์ได้ จับต้องได้ องค์ความรู้ที่เป็นต่อด้วยกลยุทธ์และวิสัยทัศน์เชิงคุณธรรมแห่งสามัญสำนึก” ดร.สมเกียรติ เล่า
ในอนาคตที่จะมาถึง เชื่อว่าจะมีวิธีใหม่ๆสำหรับมนุษย์ในการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับสิ่งแวด ล้อมมากขึ้นเรื่อยๆสำหรับผู้เขียนแล้ว นี่คือเรื่องของมุมมองพื้นฐานสิ่งที่เราทำและสิ่งที่คนอื่นทำจะตอบคำถามที่ เรารู้ว่าเพราะเหตุใดสิ่งต่างๆ ที่เราทำกับโลกจึงสำคัญนัก
รายการอ้างอิง :
วันพรรษา อภิรัฐนานนท์. ชีวบำบัดภัณฑ์เชิงนิเวศยุทธศาสตร์เพื่อสิ่งแวดล้อมในเวทีโลก. โพสต์ทูเดย์. ฉบับวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556.– ( 240 Views)