magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home การแพทย์/สาธารณสุข เซรุ่มสัญชาติไทย
formats

เซรุ่มสัญชาติไทย

ความสนใจเรื่องวิทยาภูมิคุ้มกันที่เกี่ยวกับโรคติดเชื้อของ จีระพงษ์ ทะนงศักดิ์ศรีกุล มาร่วม 10 ปีทำให้วันนี้เขามีองค์ความรู้ที่จะผลิตเซรุ่มจากเลือดอูฐได้สำเร็จ รวมถึงคว้ารางวัลระดับดีเด่นสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติมาครองอย่างชื่นใจ

:วิทยานิพนธ์ตอบโจทย์

6 ปีก่อนที่เกิดเหตุการณ์การระบาดของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงโบทูลิสมในจ.น่าน โดยมีสาเหตุจากการบริโภคหน่อไม้ดองปี๊บที่มีการปนเปื้อนสารพิษต่อระบบประสาทโบทูลินัม (Botulinum neurotoxin) ที่ผลิตจากเชื้อแบคทีเรียชนิดเติบโตได้ในสภาวะไร้ออกซิเจนในสกุล คลอสตริเดียมโบทูลินัม (Clostridium botulinum) ทำให้ จีระพงษ์ ทะนงศักดิ์ศรีกุล นักวิจัยโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เลือกที่จะทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับพิษวิทยาของแบคทีเรียดังกล่าวและพัฒนาเซรุ่มต้นแบบเพื่อรองรับการระบาดในอนาคต
ดร.จีระพงษ์ ทะนงศักดิ์ศรีกุล โครงการบัณฑิตศึกษา สาขาชีวเวชศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กล่าวต่อว่า วิทยานิพนธ์เรื่องดังกล่าวเป็นการต่อยอดองค์ความรู้งานวิจัยของ ศ.ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ที่ประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์คลังฟาจที่แสดงแอนติบอดีสายเดี่ยวของมนุษย์ ซึ่งมีขนาดใหญ่และมีความหลากหลายของแอนติบอดีได้มากกว่าที่เคยมีผู้ประดิษฐ์มาก่อน

จีระพงษ์ ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาให้ลองพัฒนาเซรุ่มรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงโบทูลิสม จากเลือดของอูฐหนอกเดียว ซึ่งมีจุดเด่นในด้านขนาดโมเลกุลที่เล็กระดับนาโน และเดินทางเข้าไปยับยั้งสารพิษที่เข้าสู่เซลล์ประสาทได้ด้วย

เขาใช้เวลาศึกษาวิจัยอยู่ร่วม 3 ปี ด้วยทุนจาก สกว. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเซรุ่ม เพื่อรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงโบทูลิสมในมนุษย์ ทั้งชนิดแอนติบอดีสายเดี่ยวที่มีโมเลกุลเป็นของมนุษย์ และแอนติบอดีจิ๋วที่มีโมเลกุลเป็นของอูฐแต่ปรับแต่งให้คล้ายกับโมเลกุลของมนุษย์ เพื่อลดการพึ่งพาเซรุ่มจากต่างประเทศในราคาแพง และอาจช้าไม่ทันการเมื่อจำเป็นต้องใช้

การวิจัยดังกล่าวได้รับความอนุเคราะห์ตัวอย่างเลือดอูฐหนอกเดียวจากฟาร์มโชคชัย ทั้งยังได้รับการสนับสนุนเซลล์เม็ดเลือดขาวจากสภากาชาดไทยในการสร้างคลังแอนติบอดีต้นแบบเพื่อการวิจัย โดยนำโมเดลผลิตเซรุ่มงูมาใช้ในการผลิตเซรุ่มตุ้นแบบ ภายใต้สภาวะจำลองในหลอดแก้ว

:งานวิจัยใช้ได้จริง

ปัจจุบัน ต้นแบบเซรุ่มที่พร้อมนำไปต่อยอดเชิงคลินิกและมีการจดสิทธิบัตรคุ้มครองงานวิจัยเรียบร้อยแล้ว โดยมีบริษัทเอกชนจากสาธารณรัฐไอซ์แลนด์ สนใจโนฮาวน์ของ ศ.ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา จนเกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรเพื่อผลักดันงานวิจัยดังกล่าวสู่ระดับคลินิก โดยเริ่มจากการผลิตภูมิต้านทานพิษงูเห่าที่ทำให้เนื้อเน่าและเซลล์ตาย เพื่อเพิ่มทางเลือกในการรักษาให้กับวงการแพทย์

“ผมสนใจเรื่องวิทยาภูมิคุ้มกันที่เกี่ยวกับโรคติดเชื้อมาตั้งแต่เรียนปริญญาตรี และคิดว่าเดินมาทางนี้ถูกต้องแล้ว เพราะการที่ได้เรียนในเนื้อหาที่ตรงกับความสนใจและชอบ จะทำให้แต่ละวิชาที่เรียนไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องขยันทำการบ้านและหาความรู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มอยู่เสมอ เพื่อให้มีความรู้ใหม่ๆมาใช้ในการวิจัยและพัฒนาต่อยอดไม่รู้จบ”จีระพงษ์ กล่าวและว่า แผนวิจัยต่อไป เขาจะศึกษาสาเหตุการเกิดโรคมือเท้าปากในเด็ก เพื่อพัฒนาแอนติบอดีที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่จำเพาะต่อไป ซึ่งอยู่ระหว่างขอทุนสนับสนุนการวิจัยจาก วช.และสกว.

ด้าน ศ.ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา กล่าวว่า เทคโนโลยีคลังฟาจที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีในตอนนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตแอนติบอดีรักษาโรคที่ยังไม่มียารักษาได้อีกหลากหลาย โดยเฉพาะพิษงูเห่า พิษปลาปักเป้า โรคไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งยังไม่มียารักษาโดยตรงเช่นกัน รวมถึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่แพ้เซรุ่มที่ผลิตจากเลือดม้าอีกด้วย

“ตอนนี้ทีมวิจัยมีองค์ความรู้ที่พร้อมต่อยอดสู่เชิงคลินิก ซึ่งยังต้องใช้เวลาและขั้นตอนอีกมากกว่าจะได้เซรุ่มที่ผ่านการการรับรองจาก อย.ให้นำมาใช้ในการรักษาได้จริง อาจใช้เวลา เป็น 5-10 ปีต่อเซรุ่ม 1 ตัวแต่เชื่อว่าอนาคตประเทศไทยจะมีเซรุ่มสัญชาติไทยราคาถูกไว้ใช้อย่างแน่นอน”นักวิจัยภาควิชาปรสิตวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว

แผนวิจัยต่อไป ทีมวิจัยจะได้ทดลองนำสาหร่ายขนนกหรือเซลล์สัตว์เพาะเลี้ยงมาใช้เป็นโรงงานชีวภาพเพื่อทดแทนการใช้เชื้อแบคทีเรียในการผลิตแอนติบอดี เพื่อให้ได้แอนติบอดีที่มีความบริสุทธิ์สูง และลดต้นทุนในการผลิต เพื่อให้อนาคตคนไทยมียารักษาที่มาจากฝีมือคนไทย และมีราคาถูกเข้าถึงได้ทุกระดับ

ทั้งนี้ การผลิตแอนติบอดีเพื่อการรักษาโรคที่มีสาเหตุมาจากอาวุธชีวภาพ ได้รับรางวัลระดับดีเด่นจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2555 พร้อมเงินรางวัลจำนวน 7 หมื่นบาท

รายการอ้างอิง :

กานต์ดา บุญเถื่อน. เซรุ่มสัญชาติไทย. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์). วันที่ 25 มกราคม 2556.– ( 164 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


+ 6 = eleven

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>