magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก ม.มหิดล มหาวิทยาลัยสีเขียว อันดับ 1 ของประเทศไทยประจำปี 2012
formats

ม.มหิดล มหาวิทยาลัยสีเขียว อันดับ 1 ของประเทศไทยประจำปี 2012

ม.มหิดล ติดอันดับ 1 มหาวิทยาลัยเขียวของไทย อันดับ 36 ของโลก

จากผลสำรวจ UI Green Metric World University Ranking 2012 ที่จัดทำโดย University of Indonesia มหาวิทยาลัยในอินโดนีเซีย (UI) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ประกาศว่า มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันการศึกษาสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุดในโลก เป็นอันดับที่ 36 ของโลก อันดับที่ 11 ของเอเชีย และอันดับ 1 ของประเทศไทย จากจำนวนมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมการจัดอันดับรวมทั้งสิ้นจำนวน 215 แห่ง โดยได้คะแนนรวมที่ 6,209.39 คะแนน จากเกณฑ์การประเมิน 6 ด้าน คือ สถานที่ตั้งและระบบสาธารณูปโภค, การจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, การจัดการขยะ, การใช้น้ำ, การจัดการระบบขนส่ง และ การศึกษา
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมหิดลได้ตระหนักถึงการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็น Green Campus มาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นสมัยของท่านอธิการบดี ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่จัดทำแผนแม่บทภายใต้แนวคิด “มหาวิทยาลัยเมืองในฝัน เมืองน่าอยู่และเสริมสร้างสุขภาวะ” จากนโยบาย “A Promised Place to Live and Learn with Nature” หรือ “เราจะเรียน และเราจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ”

โดยเริ่มจากการสร้างพื้นที่ในมหาวิทยาลัยร้อยละ 70 ให้เป็นสีเขียว ทำให้น่าอยู่ร่มรื่นเป็นห้องเรียนธรรมชาติ เพื่อเสริมสร้างจินตนาการและการเรียนรู้ นอกจากนี้เรายังได้สร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นสถานที่ที่ชุมชนเพื่อนบ้านของมหาวิทยาลัยได้ร่วมใช้ประโยชน์ในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ตลอดจนเป็นต้นแบบในด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรม และโครงการต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย

ปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยได้มีการผลักดัน และสานต่อด้วยการกำหนดเป็น 1 ใน 9 ยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย คือ ยุทธศาสตร์ด้าน Harmony in Diversity โดยมีเป้าประสงค์หลักเพื่อที่จะส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็น ECO University อย่างเต็มตัวในปี 2559 โดยในปี 2556 นี้ นอกเหนือจากการโครงการ และกิจกรรมต่างๆ

อาทิ รถรางเพื่อการอนุรักษ์, จักรยานสีขาว หรือ โครงการจักก้าเซ็นเตอร์ ที่เราผลักดันให้เป็นต้นแบบของ “มหาวิทยาลัยเมืองจักรยาน” และการเปลี่ยนขยะให้เป็นรายได้ เป็นต้น นั้นคือการรณรงค์ และให้ความรู้ และความเข้าใจอย่างถูกต้องในลดการใช้ไฟฟ้า น้ำ น้ำมัน และทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการนำเอาองค์ความรู้ของคณะ สถาบัน และวิทยาลัยมาประยุกต์ใช้ในการก้าวไปสู่ ECO University อย่างเต็มตัวสมดังคำปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล คือ “ปัญญาของแผ่นดิน”

ด้าน ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีหลายโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ อาทิ โครงการปรับปรุงถนน โดยการลดพื้นที่จราจรในพื้นที่เขตการศึกษาด้านในครึ่งหนึ่ง เพื่อเปลี่ยนเป็นเส้นทางเดินเท้าและทางจักรยาน มีต้นไม้ปลูกให้ร่มเงา ทำให้เกิด Green Lifestyle, โครงการบริการรถราง เป็นรถรางที่ใช้ได้ทั้งน้ำมันเบนซิน และก๊าซ NGV เพื่อส่งเสริมการใช้รถสาธารณะลดการขับขี่รถส่วนตัวภายในมหาวิทยาลัย

โครงการจักรยานสีขาว เป็นบริการสาธารณะเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาและบุคลากร ตลอดจนผู้ที่เข้ามาภายในมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสใช้จักรยาน เพื่อร่วมลดมลพิษ, โครงการสร้างแนวรั้วสีเขียวบนเนินดินของมหาวิทยาลัยให้เป็นกำแพงดิน เพื่อสร้างทัศนียภาพที่โล่ง โปร่ง สบายตา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา รอดพ้นจากมหาอุทกภัย 2554 โครงการแปลงผักปลอดสารพิษ โดยร่วมกับเกษตรกรในชุมชมพื้นที่ศาลายา ปลูกพืชผักสวนครัว ผลไม้ แบบปลอดสารพิษ ด้วยปุ๋ยหมักที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ จำหน่ายนักศึกษา เจ้าหน้าที่ และบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัยในราคาย่อมเยา

โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล ซึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษา เจ้าหน้าที่ อาจารย์ รวมถึงประชาชนรอบมหาวิทยาลัย สามารถเปิดบัญชีธนาคารเพื่อนำขยะมาขายให้กับโครงการ เป็นการสร้างรายได้ และช่วยลดปริมาณขยะ, โครงการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ โดยใช้วัสดุธรรมชาติภายในมหาวิทยาลัยมาผลิตเป็นปุ๋ยบำรุงรักษาพันธุ์ไม้ และปลูกหญ้าให้งอกงาม และออกจำหน่ายในส่วนที่เหลือ, โครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย เพื่อลดการปล่อยน้ำเสียภายในมหาวิทยาลัยมหิดลออกสู่ภายนอก โดยมีศักยภาพบำบัดน้ำเสียได้กว่าวันละ 3 พันลูกบาศก์เมตร

อีกทั้งยังได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบบ่อบำบัดน้ำเสีย เพื่อเป็นสถานที่ออกกำลังกายอีกแห่งหนึ่งของบุคคล ทั้งภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัย, โครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพ เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะในบริเวณมหาวิทยาลัย โดยได้แจกจ่ายให้กับนักศึกษาใช้ในหอพัก รวมถึงเจ้าหน้าที่ทำความสะอาด ทดแทนการใช้สารเคมีทำความสะอาด

โครงการบ้านรักหมา เพื่อแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด โดยนำมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นสุนัขนิสัยดี พร้อมให้ผู้รักสุนัขนำไปเลี้ยงต่อไป, โครงการธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในการพระราชทานชื่อ “อุทยานธรรมชาติสิริรุกขชาติ” เป็นการจัดการพื้นที่กว่า 140 ไร่ เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ให้บุคคลภายทั้งภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัยได้มาเรียนรู้ และใช้ประโยชน์เกี่ยวกับสมุนไพร

และโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบเรือนไทย สำหรับจัดกิจกรรมด้านทำนุบำรุงรักษาศิลปวัฒนธรรมไทย รวมทั้งเป็นแหล่งอนุรักษ์ต้นสะแกทุ่ง และหมู่นกท้องถิ่น ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าเยี่ยมชมถ่ายภาพ และเป็นที่พักผ่อนบริเวณโดยรอบได้

ในส่วนของการจัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม รศ. ดร. กัมปนาท ภักดีกุล คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะฯ มีการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม จำนวน 67 รายวิชา ปริญญาโท 28 รายวิชา และ ปริญญาเอก Doctor of Philosophy in Environment and Resource Studies เรามุ่งเน้นการสนับสนุนและส่งเสริมการค้นคว้าวิจัย เพื่อให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ และการวิจัยต่อเนื่องระยะยาวควบคู่ไปกับการสร้างบัณฑิต

โดยมุ่งเน้นการศึกษาวิจัยแบบสหวิทยาการ (Multidisciplinary Research) ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ ช่วยพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน สร้างบัณฑิตที่มีความเป็นผู้นำทางวิชาการ และสามารถนำผลงานวิจัยไปประยุกต์ให้เกิดการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ นับตั้งแต่การก่อตั้งคณะฯ มากว่า 30 ปี คณะฯ ได้ดำเนินการวิจัยมากกว่า 300 โครงการ

นอกจาก มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งติดอันดับการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับ 36 ของโลกแล้ว ยังมี สถาบันอุดมศึกษาของไทยติดอันดับด้วยอีก 6 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ได้อันดับ 38 ของโลก (6,138.89 คะแนน), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับ 41 ของโลก (6,093.24 คะแนน),

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้อันดับที่ 44 ของโลก (6,003.25 คะแนน), มหาวิทยาลัยมหาสารคามอันดับ 71 ของโลก (5,471.71 คะแนน), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้อันดับที่ 175 ของโลก (3,867.24คะแนน) และมหาวิทยาลัยบูรพา ได้อันดับที่ 195 ของโลก (3,514.10 คะแนน) ตามลำดับ

สำหรับ “สุดยอดมหาวิทยาลัยสีเขียว”ของโลกประจำปี 2012 จากผลสำรวจครั้งนี้ คือ มหาวิทยาลัยคอนเนตทิคัต ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้คะแนนจากเกณฑ์การประเมินทั้ง 6 ข้อสูงที่สุดในโลกที่ 7,569.39 คะแนน

รายการอ้างอิง :

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. ม.มหิดล มหาวิทยาลัยสีเขียว อันดับ 1 ของประเทศไทยประจำปี 2012. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์). วันที่ 30 มกราคม. 2556

 – ( 193 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


3 − = zero

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>