ร้อยแนวคิด สร้างเป็นสิ่งประดิษฐ์ได้เพียงชิ้นเดียว เรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับนักสร้างสรรค์หลายคน แต่ทว่าพวกเขาไม่เคยติดกับดัก ตราบใดที่ได้รับแรงสนับสนุนจากคนที่สนใจ
“ประเทศไทยมีกลุ่มคนที่รักในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ไม่แพ้ประเทศอื่น และถึงแม้พวกเขาจะเป็นคนกลุ่มเล็กๆ แต่พลังความคิดไม่ด้อยไปกว่าใคร” ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าว และว่า ในอดีตสิ่งประดิษฐ์อาจเป็นแค่ผลพวงมาจากแนวคิดที่แปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร แต่ปัจจุบันบรรยากาศของการประดิษฐ์คิดค้น ได้แทรกตัวเขาไปยังอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ โรงงาน ที่ต้องการดัดแปลง หรือต่อยอดชิ้นส่วนที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นการประดิษฐ์ขึ้นเองเพื่อลดต้นทุน
จากสิ่งประดิษฐ์ธรรมดา เริ่มมีการใส่เทคโนโลยีเข้าไป ทำให้สิ่งประดิษฐ์มีความน่าสนใจ และเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่พร้อมต่อยอดในเชิงพาณิชย์
“ถ้า 1 พันสิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นขึ้น มีเพียงชิ้นเดียวที่ขายได้ ก็ดูจะโหดร้ายเกิดไปสำหรับคนชั่งคิด” เขากล่าว และว่า สิ่งที่นักประดิษฐ์ต้องการคือเวทีที่จะแสดงความสามารถทางความคิด เป็นช่องทางไปสู่การลงทุนทางการตลาด การพัฒนาสินค้าเพื่อให้ขายได้ในอุตสาหกรรม
: เกาหลีโมเดล
เลขาธิการ วช. บอกว่า ประเทศไทยมีสิ่งประดิษฐ์อยู่ราว 300-400 ชิ้นต่อปี ซึ่งยังนับว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศเกาหลี ที่สามารถผลิตสิ่งประดิษฐ์ได้กว่า 1 พันชิ้น ต่อปี อีกทั้งสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นมีกระบวนการในการต่อยอดอย่างชัดเจน
ในงานแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์ของประเทศเกาหลีทุกปีจะมีโซนหนึ่งที่จัดแสดงสิ่งประดิษฐ์ที่เคยมาจัดแสดงในครั้งที่ผ่านมา แต่ที่แตกต่างคือสิ่งประดิษฐ์เหล่านั้นพร้อมขายในเชิงพาณิชย์ นั่นเป็นสิ่งที่ เลขาธิการ วช.อยากเห็นเกิดขึ้นในประเทศไทย
“นับจากนี้ไปโจทย์ของสิ่งประดิษฐ์ต้องมาจากความต้องการของผู้ใช้” เขากล่าว และว่า วช. ได้ปรับแนวทาง สร้างแรงกระตุ้นทางความคิดให้กับนักประดิษฐ์ไทย โดยกำหนดโจทย์สิ่งประดิษฐ์ที่ท้าทายความสามารถของนักคิด และเป็นโจทย์ที่ใช้ได้จริง
เขายกตัวอย่าง รถไถนาอัตโนมัติ หนึ่งในโจทย์ที่ถูกกำหนดขึ้นจากเป้าหมายการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรทำการเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งข้อจำกัดจากการใช้รถไถนาขนาดใหญ่นั้นใช้ไม่ได้ในพื้นที่จริง
โจทย์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากนักประดิษฐ์ทั่วประเทศ ที่ส่งแนวคิดเข้ามาประกวดมากกว่า 14 ชิ้นงาน กระตุ้นให้เห็นพลังสร้างสรรค์ของนักประดิษฐ์ไทย
เลขาธิการ วช. ยอมรับว่า แม้แนวคิดที่เกิดขึ้นจะยังไม่สามารถนำไปใช้ได้ทันที แต่หากได้รับการต่อยอดด้านเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญ สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้จะมีศักยภาพสูงมากในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับชาวนาไทย
: เพิ่มพลังนักคิด
สิ่งประดิษฐ์ของประเทศไทย ณ ปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่ที่การเกษตรเท่านั้น แต่ยังมีการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์หนุนอุตสาหกรรมการผลิต การแพทย์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม ที่กำลังเป็นสนใจจากภาคอุตสาหกรรม
เขามองว่า แรงกดดันจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 เป็นตัวเร่งให้ประเทศต้องพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันในทุกด้าน ซึ่งสิ่งประดิษฐ์จะเป็นกลไกหนึ่งที่นำพาประเทศให้เดินหน้าต่อได้อย่างมั่นคง
เลขาธิการ วช. ยืนยันว่า ประเทศไทยสู้ได้ หากมีการเชื่อมโยงสิ่งประดิษฐ์เข้ากับภาคอุตสาหกรรม มีการต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ในเชิงพาณิชย์ โดยไม่ได้มองว่าสิ่งประดิษฐ์เป็นเพียงของเล่นที่เกิดจากคนชั่งคิดเท่านั้น
“มีหลายคนที่ไม่เชื่อมันในผลงานคิดค้นของคนไทย แต่หารู้ไม่ว่าปัจจุบันผู้ผลิตกระดานวินเซิร์ฟ แบรนด์ดังที่ทั่วโลกยอมรับมาจากมันสมองและเทคโนโลยีของคนไทย หรือแม้แต่เซมิคอนดักเตอร์ขนาดจิ๋วในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างกล้องถ่ายรูป หรือโทรศัพท์มือถือ คนไทยมีศักยภาพในการผลิตได้ไม่แพ้ประเทศผู้นำเทคโนโลยี” เขากล่าวย้ำ
ทั้งนี้ ในวันที่ 2 ก.พ. ของทุกปี เป็นวันนักประดิษฐ์ โดยระหว่างวันที่ 2-5 ก.พ. วช. ได้เปิดเวทีให้นักประดิษฐ์ไทยได้นำเสนอผลงานสิ่งประเทศ ณ ศูนย์การประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยเปิดให้ภาคธุรกิจเอกชนและประชาชนทั่วไป ได้รับรู้ถึงศักยภาพของนักประดิษฐ์ไทย จากผลงานสิ่งประดิษฐ์กว่า 400 ผลงานที่นำมาจัดแสดง
รายการอ้างอิง :
จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา. นักประดิษฐ์ คิดตอบโจทย์ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม.) วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556.
– ( 241 Views)