สำนักข่าวไทย อสมท. นำเสนอข่าวต่างประเทศ
วอชิงตัน 6 ก.พ.-ระบบดวงตาเทียมอาร์กุสทูมีแนวโน้มจะแพร่หลายมากขึ้น หลังได้รับอนุญาตให้ใช้ในยุโรปแล้ว และคาดว่าสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐจะอนุญาตในเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นดวงตาเทียมที่ช่วยให้ผู้เป็นโรคตาบอดตอนกลางคืน (อาร์พี) มองเห็นได้ดีขึ้น
เทคโนโลยีนี้เป็นการนำขั้วไฟฟ้า 60 ขั้วฝังไว้ที่เรติน่าในลูกตา ควบคู่กับการใส่แว่นติดกล้องวิดีโอขนาดเล็ก ภาพจากกล้องจะถูกส่งไปยังขั้วไฟฟ้าที่จะแปลงแสงให้เป็นสารเคมีกระตุ้น เซลล์ประสาทการมองเห็นในสมองส่วนกลางให้แปลงสัญญาณเป็นภาพอีกครั้ง เป็นการทำหน้าที่แทนเซลล์รับแสงที่เสื่อมจากโรคอาร์พี ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมพบยาก มีผู้ป่วยโรคนี้ ในสหรัฐราว 100,000 คน
บริษัทเซคันด์ไซท์เมดดิคอลโปรดักส์ได้ใช้ดวงตาเทียมกับคนไข้แล้ว 60 คน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งอายุ 28-77 ปี และตาบอดอย่างสิ้นเชิง ผลที่ได้แตกต่างกันไป บางคนมองเห็นดีขึ้นเล็กน้อย บางคนสามารถอ่านพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ได้ และบางคนมองเห็นสีของวัตถุ จากเดิมเห็นแต่สีขาวดำ หลายประเทศในยุโรปเริ่มใช้ดวงตาเทียมนี้แล้ว ตกชุดละ 73,000 ยูโร (ราว 2.92 ล้านบาท) ส่วนในสหรัฐคาดว่าราคาจะสูงกว่านี้
ขณะเดียวกันหลายบริษัทกำลังวิจัยดวงตาเทียมเช่นกัน และจะเพิ่มความคมชัดของภาพด้วยการฝังขั้วไฟฟ้าจำนวนมากถึง 400 ขั้ว ขณะที่บางแห่งจะใช้เซลล์แสงอาทิตย์แทนขั้วไฟฟ้า ฝังเซลล์แสงอาทิตย์ 5,000 เซลล์ที่ด้านหลังของตา เพราะทางทฤษฎีแล้วจะมีความคมชัดสูงกว่า 10 เท่า และยังสามารถช่วยผู้มีปัญหาจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (เอเอ็มดี) ให้มองเห็น ได้ดีขึ้น
อ้างอิง สำนักข่าวไทย อสมท. ข่าวเต่างประเทศ
http://www.mcot.net/site/content?id=5111f1f4150ba0b86a00022e#.URH2-2dhsa8– ( 46 Views)