คราวก่อนผมได้พูดถึง Smart Thailand in Action ตามแนวทางยุทธศาสตร์ประเทศ เพื่อเป้าหมายหลักคือสร้างรายได้ ลดรายจ่าย และขยายโอกาสการเข้าถึง ICT ซึ่งปี 2555 ที่ผ่านมา อัตราการเข้าถึง ICT ของคนไทยมีแนวโน้มที่สูงขึ้น และในปี 2556 นี้ ถือว่าเป็นปีที่ดีของ ICT เนื่องจากมีการพัฒนาของเทคโนโลยีมากขึ้น ราคาที่ปรับตัวต่ำลงทั้งราคาค่าบริการและราคาของอุปกรณ์รวมถึงการบริหาร จัดการ การออกใบอนุญาตคลื่นความถี่เป็นต้น
นอกจากนี้ ในปี 2556 กระทรวงไอซีทียังมุ่งดำเนินโครงการอื่นๆ เพื่อทำให้ ICT เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ และทำให้ประเทศก้าวไปสู่การเป็น Smart Thailand อาทิ โครงการบริการระบบคลาวด์ภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลได้มีแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐ ทุกหน่วยกำหนดความต้องการด้าน ICT ร่วมกันแบบบูรณาการ และมอบหมายให้กระทรวงไอซีที และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)หรือ สรอ. เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาและแบ่งปันระบบลงบนเทคโนโลยีที่เรียกว่า “Cloud Services” ซึ่งจะเป็นการลดการลงทุนด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ของหน่วยงานภาครัฐลงไปมาก จะทำให้ประหยัดงบประมาณไปได้ถึง 40-50%
โดยปี 2556 นี้ ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะให้มีการขยายการให้บริการด้าน “Software as a Services” มากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของหน่วยงานต่างๆ ให้สามารถวางระบบได้เร็วขึ้นจาก 2 ปีเป็น 2 สัปดาห์
เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีคลาวด์แล้ว ประเด็นสำคัญที่ควรคำนึงถึงก็คือ ความรู้ความเข้าใจ ความเชื่อมั่น และการยอมรับในเทคโนโลยีคลาวด์ การนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจังนั้น ผู้ใช้บ้านเรายังต้องการความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีนี้อยู่
หลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสิงคโปร์ ก็ประกาศใช้ระบบคลาวด์ พร้อมกับเดินหน้านโยบายให้องค์กรของรัฐเปลี่ยนไปใช้บริการคลาวด์ รวมทั้งยังมีโปรแกรมสนับสนุนให้หน่วยงานเอกชนหันไปใช้บริการคลาวด์กันด้วย อย่างไรก็ดี เรื่องของคลาวด์เราไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ เราเป็นประเทศต้นๆ ในอาเซียนที่ใช้คลาวด์มีคำถามว่ากลยุทธ์ด้านคลาวด์ (Cloud Strategy) และแนวทางการขับเคลื่อน Cloud Computing ในประเทศไทยควรจะเป็นอย่างไร
อันที่จริง การขับเคลื่อน Cloud Computing ฝั่งภาคเอกชนในประเทศไทยก็ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยเริ่มจากการมี Cloud Operator รายแรกในปี พ.ศ. 2551 และต่อมามีการผลักดันให้มี Cloud Services ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 โดยที่ ในปีพ.ศ. 2555 มีความร่วมมือในรูปแบบของโครงการ Cloud Thailand Alliance ซึ่งประกอบไปด้วย เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการ ทั้งประเภท Cloud Operator (Infrastructure as a Service) และ Cloud Service Provider (Software as a Service)
สำหรับในส่วนภาครัฐ ช่วงต้นปี พ.ศ. 2554 รัฐบาลไทยได้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2 หน่วยงาน นั่นคือ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ.ต่อมาในเดือน เมษายน พ.ศ. 2555 สรอ. ก็ได้ประกาศโครงการ Government Cloud Services (G-Cloud) นับเป็นการผลักดันที่สำคัญในการพลิกรูปแบบกระบวนการของดำเนินงานด้านไอซีที ของภาครัฐในส่วน สพธอ.ก็เริ่มเดินหน้าปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องมารองรับทิศทางการ ดำเนินงานได้ถูกจัดวางและกำหนดนโยบายในการพัฒนามาตลอดปี พ.ศ. 2555
นอกจากนั้น ในการขับเคลื่อน G-Cloud ก็ดำเนินการผ่านโครงการริเริ่มต่างๆ อาทิ โครงการใช้เลขบัตรประชาชนในการบูรณการระบบงานภาครัฐ รวมถึงระบบงานสำคัญอื่นๆ ของภาครัฐดำเนินการโดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับหน่วยงานเจ้าของข้อมูลต่างๆ และเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้าน Cloud Computing ของประเทศ
สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ยังได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น NECTEC Sofware Park และ สมาคมด้านไอซีที สมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ สมาคมความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งประเทศไทย และ สมาคมสถาปนิกเทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งสถาบันการศึกษาที่สนใจ ในการจัดตั้งกลุ่มความรู้สากล และความร่วมมือเกี่ยวกับ Cloud Computing โดยเชื่อมโยงไปกับเว็บกลุ่มความรู้สากลและความร่วมมือด้านคลาวด์ที่ใหญ่ที่ สุด ชื่อ Cloud Security Alliance โดยจัดตั้งเป็น Cloud Security Alliance Thailand Chapter และร่วมกันจัดงาน ASEAN Cloud Security Alliance Summit 2013 ในระหว่างวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2556 โดยมี สรอ. เป็นแกนของกลุ่ม
อย่างไรก็ดี ทาง สรอ. และกลุ่ม Cloud Security Alliance Thailand Chapter ก็ได้เตรียมการทำวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องการเชื่อมโยงและบูรณาการใน เทคโนโลยีคลาวด์ ร่วมกับทางเนคเทคและดำเนินการยกร่างมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับ Cloud Computing ร่วมกับองค์กรรัฐที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้และยังมองไปถึงการยกระดับร่างนี้เข้า สู่อาเซียนด้วย
ทั้งหมดที่กล่าวมา อาจจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีการขับเคลื่อนในด้าน Cloud Computing ในหลายรูปแบบและเป็นระบบเนื่องจาก Cloud Computing มีความเป็นพลวัตหรือเปลี่ยนแปลงสูง อีกทั้งยังคงต้องมีการพัฒนาในอีกหลายด้านอย่างต่อเนื่องการทำวิจัยเพื่อ พัฒนา Cloud Computing ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้เกิดความยั่งยืนของการใช้งานระบบคลาวด์ของประเทศ
วันนี้เรื่องของคลาวด์ เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนของประเทศไทยต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนอย่าง จริงจัง โดยมี สรอ.ภายใต้การกำกับของกระทรวงไอซีทีเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนซึ่งอาจสรุป แนวทางการขับเคลื่อน Cloud Computing ในประเทศไทย ได้ดังนี้
1. ประกาศนโยบาย และกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนประเทศไทย
2. ทำการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบในด้านต่างๆ เพื่อรองรับการให้บริการระบบคลาวด์
3. ทำการวิจัยเพื่อติดตามและสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้าน Cloud Computing อย่างต่อเนื่อง
4. เชื่อมโยงกับฐานความรู้ และมาตรฐานสากล
5. จัดกิจกรรมวิชาการ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อน ทั้งในระดับประเทศ และอาเซียน
6. จัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับบริการใน Cloud Computing เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน
รายการอ้างอิง :
ยุทธการ ขับเคลื่อน Cloud Computing ในประเทศไทย. TELECOM JOURNAL (ICT Possible). ฉบับวันที่ 11 – 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556.– ( 237 Views)