magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home การแพทย์/สาธารณสุข โรคอ้วน…ภัยคุกคามเด็กไทย
formats

โรคอ้วน…ภัยคุกคามเด็กไทย

ขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลม และของทอดนานาชนิด ที่มักจะวางขายอยู่หน้าโรงเรียนทุกเช้าก่อนเข้าเรียนและหลังเลิกเรียน ผู้ปกครองและครูเองต่างรู้ดีว่าอาหารเหล่านั้นไม่ได้มีประโยชน์ต่อร่างกาย ของเด็กในวัยกำลังเติบโต และอาจทำให้เกิดโรคอ้วนตามมา แต่หากลงลึกไปกว่านั้นไม่ใช่แค่ความอ้วนที่เด็กต้องเจอ

“ปัจจุบันโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มักจะเกิดจากพฤติกรรมกินอยู่ที่ไม่ถูกต้องและการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาของคนเกือบทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายและปัญหาสาธารณสุขหนึ่งในสามลำดับแรก ของไทย ซึ่งพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องนี้จะเริ่มขึ้นตั้งแต่ในวัยเด็ก เพราะสังคมไทยได้รับอิทธิพลจากประเทศตะวันตก อาหารที่บริโภคเป็นประจำจึงกลายเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง มีรสจัดทั้งหวาน มัน และเค็ม ในขณะที่อัตราการบริโภคผักและผลไม้ซึ่งให้คุณประโยชน์ต่อร่างกายกลับลดลง รวมทั้งขาดการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยวางแผนตั้งแต่วัยเด็ก”รศ.พญ. ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าคณะวิจัยระบุ ระหว่างการแถลงข่าว “ภัยคุกคามเด็กไทย เสี่ยงโรคหัวใจในอนาคต”

การสำรวจโครงการพัฒนาต้นแบบโรงเรียนเด็กไทยดูดี  มีพลานามัย หรือเรียกสั้น ๆ ว่า โครงการเด็กไทยดูดี มีพลานามัย เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 โดยพบโรคอ้วนในเด็กมีอัตราสูงสุดในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีเด็กอ้วนถึงร้อยละ 20 ขณะที่เด็กอีกร้อยละ 78 มีไขมันในเลือดสูง นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กอ้วนเหล่านั้นมีปัญหาความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง เบาหวานซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสะสมและกลายเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดใน อนาคตทั้งสิ้น

จากการดำเนินการและสร้างเครือข่ายโรงเรียนต้นแบบในช่วงแรกจนถึงปี พ.ศ.2549 โดยได้รับความร่วมมือจากครูและผู้ปกครองซึ่งได้ผลในระดับหนึ่ง หากแต่ยังพบว่ามีเด็กที่เป็นโรคอ้วนอย่างต่อเนื่อง โดยการสำรวจในปี พ.ศ.2555 ในเครือข่ายโรงเรียนรัฐ 4 แห่ง พบว่า นักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1-6 มีอัตราการเกิดโรคอ้วนร้อยละ 21 ไขมันในเลือดสูงร้อยละ 66 ซึ่งใกล้เคียงกับการสำรวจในการดำเนินโครงการช่วงแรก

รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา ยิ่งในปัจจุบันนี้มีสิ่งเร้าอยู่รอบตัวเด็กมากไปหมด การสร้างนิสัยและความรู้เท่าทันให้เด็กได้เลือกหรือตัดสินใจเองอย่างมี เหตุผลต่อสุขภาพที่ดีของตัวเองนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้การมีส่วนร่วมของผู้บริหารทุกระดับในการกำหนดนโยบาย โดยครูและผู้ปกครองมีส่วนสำคัญในการให้ความรู้และจัดหาอาหารที่เหมาะสม รวมทั้งควบคุมสิ่งแวดล้อมในและรอบโรงเรียนให้ปลอดจากอาหารที่เป็นภัยต่อ สุขภาพและผู้ใหญ่ควรเป็นต้นแบบของการบริโภคที่ดีด้วย

ขณะที่ นายสนิท แย้มเกสร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระบุว่า สพฐ.เองนอกจากจะต้องแก้ปัญหาเด็กขาดสารอาหารแล้ว ปัญหาโรคอ้วนของเด็กก็เป็นอีกเรื่องที่สพฐ.ให้ความสำคัญ โดยเริ่มต้นจากโครงการอาหารกลางวันซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก มหาวิทยาลัยมหิดลและเนคเทคโนการจัดทำโปรแกรมอาหาร ซึ่งจะมีการระบุถึงคุณค่าทางโภชนาการที่เด็กจะได้รับจากการบริโภคอาหารแต่ละ ชนิด โดยหากขาดสารอาหารประเภทใดก็จะมีการเสริมส่วนที่ขาดให้ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการออกกำลังกายไปพร้อม ๆ กันด้วย

ด้าน รศ.นพ.พิทยา จารุพูนผล คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แม้จะมีความพยายามในการควบคุมสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน แต่เมื่อออกไปข้างนอกเราก็ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเราจะต้องสร้างเครือข่ายเพื่อผลักดันให้เกิดการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ปัญหาเรื่องเด็กอ้วนเป็นปัญหาระดับสากลโดยเฉพาะในประเทศที่มีเศรษฐกิจดี พ่อแม่มักจะต้องการเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด และเน้นที่เรื่องการเรียนเป็นหลัก

ผอ.สำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. กล่าวเสริมว่า จะต้องผลักดันให้ไปสู่ระดับนโยบาย ทั้งในเรื่องการติดฉลากทางโภชนาการที่เข้าใจง่ายและชัดเจน ซึ่งในต่างประเทศก็มีการทำมาแล้วด้วยการใช้สีเป็นตัวแยกแยะ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการที่จะรับประทานมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะต้องมีการประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง เพื่อผลักดันในเรื่องนโยบายทางด้านภาษีสำหรับอาหารประเภทที่ก่อให้เกิดโรค อ้วนเหล่านั้นด้วย เพราะปัจจุบันส่วนใหญ่มักมีราคาถูกและเด็กสามารถซื้อหารับประทานได้ง่าย ซึ่งในเรื่องนี้ทาง สสส.เองก็จะมีการรณรงค์ทางด้านนี้มากขึ้น.

รายการอ้างอิง :
ทีมเดลินิวส์ 38. โรคอ้วน…ภัยคุกคามเด็กไทย. เดลินิวส์ (กรอบบ่าย- หมายเหตุประชาชน). ฉบับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556.– ( 145 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


× five = 45

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>