สืบเนื่องจาก กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทยขึ้น ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑ และได้ดำเนินงานต่อเนื่องมาเป็นเวลา ๕ ปี แล้วนั้น โดยในความก้าวหน้าของการดำเนินงานนั้น ได้มีการจัดตั้งหอประวัติศาสตร์สุขภาพขึ้น ณ บริเวณชั้น ๑ อาคารสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นพื้นที่จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์สุขภาพไทย และได้มีพิธีเปิดในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖ โดยมีแนวคิดเริ่มต้นในการสร้าง คือ “๑๐๐ บุคคล ร้อยความคิด ร้อยสิ่งประดิษฐ์ ร้อยเรื่องราว” (100 Things past: People , Ideas, Inventions & Stories) กล่าวคือ เป็นการคัดเลือกเรื่องสำคัญๆ ในประวัติศาสตร์สุขภาพของไทยมาร้อยเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นร้อยบุคคล หรือร้อยความคิด ร้อยสิ่งประดิษฐ์ หรือร้อยเรื่องราว มาประมวลไว้ในหอประวัติศาสตร์แห่งนี้ แต่ต่อมาได้แตกความคิดนี้ออกมานำเสนอเรื่องราวที่สะท้อนแนวคิดสำคัญๆ ในการจัดแสดงในหัวข้อ ต่อไปนี้
- ความเป็นพหุลักษณ์ทางการแพทย์ (Medical Pluralism)
ค่านิยม ความคิด ความเชื่อที่แตกต่างกัน ผันแปรไปตามปริบทของวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ จึงเกิดเป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสุขภาพ - ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนกับสุขภาพ (Everyday Life)
ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์นั้นสัมพันธ์กับวิถีสุขภาพ การกลับมาหาความสมดุลพอดี ไม่เพียงแต่ทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น แต่ยังลดการแก่งแย่งและการทำลายล้างธรรมชาติอีกด้วย - การแพทย์ในสถานการณ์วิกฤต (Medicine in Critical Events)
ในสถานการณ์คับขัน การแพทย์จำเป็นต้องเข้ามามีบทบาท ไม่เพียงแต่ความรู้ทางการแพทย์ในการเยียวยารักษาผู้คนที่ได้รับบาดเจ็บเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทักษะในการจัดการสถานการณ์ที่ไม่ปกตินั้นอีกด้วย - สุขภาวะทางจิตวิญญาณ (Spiritual Health)
คำถามเชิงปรัชญาที่ปรากฏในทุกจารีตภูมิปัญญา ทุกศาสนาและวัฒนธรรม ว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นแก่นแท้ของชีวิต และจะไปสู่หนทางแห่งความหลุดพ้นได้อย่างไร - ภูมิปัญญาสุขภาพ (Wisdom of Health)
หมอไทย-ยาไทย เป็นภูมิปัญญาที่คนไทยได้สั่งสมสืบทอดผ่านประสบการณ์และบทเรียนจนกลายเป็น “ระบบความรู้” ที่สะท้อนปรัชญาความเข้าใจธรรมชาติและเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศวัฒนธรรมไทย - ความตายและวาระสุดท้ายของชีวิต (Dealth and Dying)
ไม่ว่าการแพทย์ และระบบการดูแลสุขภาพจะพัฒนาไปมากเท่่าใด ก็ไม่เคยเอาชนะความตายได้ การเตรียมตัวเพื่อเผชิญกับวาระสุดท้ายของชีวิจ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การตายเป็น “สุขคติ” อย่างแท้จริง - สุขภาพกับสังคม (Social Health)
ทิศทางและนโยบายการพัฒนาประเทศส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การสร้างสังคมสุขภาวะจะเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม - จักรวาลภายใน จักรวาลภายนอก (Internal and External Universes)
ในแต่ละสังคมได้พยายามอธิบายการดำรงอยู่ของตัวเองเข้ากับจักรวาลในความเชื่อของสังคมนั้น สะท้อนให้เห็นถึงการพยายามสร้างความกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ - รอยเวลาเส้นทางสุขภาพไทย (Thai Health Historica Timeline)
สะท้อนถึงแนวคิดและวิถีปฏิบัติเกี่ยวกับการแพทย์ในแต่ละยุคสมัย ตลอดจนพัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม
สนใจเข้าชมได้ที่ หอประวัติศาสตร์สุขภาพ (Museum of Health and Medical History) ชั้น ๑ อาคารสุขภาพแห่งชาติ ซอยสาธารณสุข ๖ กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี
นอกจากงานเปิดหอประวัติศาสตร์สุขภาพแล้วในงานนี้ ยังได้เปิดตัวหนังสือ ๒ เรื่อง คือ รอยเวลา เส้นทางประวัติศาสตร์สุขภาพ และ ภัยพิบัติความทรงจำและความหวัง : พลังน้ำใจในมหาอุทกภัย 2554
หนังสือเรื่อง “รอยเวลา เส้นทางประวัติศาสตร์สุขภาพ” เป็นเรื่องราวความเป็นมาของสาธารณสุขไทย ใช้วิธีเรียบเรียงตามลำดับเวลา หรือ กาลานุกรม แต่ด้วยเนื้อหา และเรื่องราวมีมากจึงบันทึกไว้เพียงสังเขป สั้น กระชับ แต่ประกอบด้วยรูปภาพหายากเป็นจำนวนมาก ทำให้หนังสือเรื่องนี้เป็น สมุดภาพประวัติศาสตร์สาธารณสุขไทยโดยสังเขป
ส่วนหนังสือ “ภัยพิบัติความทรงจำและความหวัง : พลังน้ำใจในมหาอุทกภัย 2554″ นั้น สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข ได้เชิญชวนช่างภาพชั้นนำของประเทศ เก็บภาพชีวิตและถ่ายทอดเรื่องราวที่ได้พบเห็นเป็นบทเรียน เป็นแรงบันดาลใจ และเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ และจากหลายหมื่นภาพถูกคัดสรรกลั่นกรองเพื่อให้ได้ภาพที่มีความงดงามทางศิลปะ มีคุณค่าทางจิตใจ และมีความหมายทางประวัติศาสตร์กว่า ๑๔๐ ภาพ จัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มนี้– ( 248 Views)