“อีสท์เวสท์ ซีด” ตั้งเป้าปี’56 โตอย่างน้อย 20% จากมูลค่าตลาดรวมเมล็ดพันธุ์ไทย 2 พันล้าน เตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่ “เมล็ดพร้อมงอก” ในรูปแบบ “พาลเลตโค้ต” ดันยอดขายเพิ่มขึ้น พร้อมลงทุนอาร์แอนด์ดี 15% ของรายได้ต่อปี หนุนรัฐบาลดันไทยเป็น “ศูนย์กลางตลาดเมล็ดพันธุ์” ชี้เกษตรกรไทยต้องพัฒนาทักษะภาคปฏิบัติและการใช้ภาษาอังกฤษ นายเบิร์ท แวน เดอร์ เฟลท์ซ รองประธานอาวุโส กลุ่มบริษัทอีสท์เวสท์ ซีด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักเขตร้อนในภูมิภาคเอเชีย เจ้าของเมล็ดพันธุ์ตรา “ศรแดง” ในไทย เปิดเผยว่า ปี 2556 อีสท์เวสท์ ซีด ตั้งเป้าอัตราการเติบโตของยอดรายได้ตลาดเมล็ดพันธุ์อยู่ที่ประมาณ 20% เมื่อเทียบปี 2555 โดยตลาดเมล็ดพันธุ์พืชผักของไทย มีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท อีสท์เวสท์ ซีด มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณ 30-35% ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่บริษัทส่งเมล็ดพันธุ์ไป จำหน่าย อย่างในประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ประมาณ 70% ของตลาดเมล็ดพันธุ์แต่ละประเทศ บริษัทเข้ามาทำตลาดเมล็ดพันธุ์ในไทยมานานกว่า 30 ปีแล้ว ถือเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูง โดยปัจจุบันมีบริษัทที่ทำธุรกิจในตลาดนี้ประมาณ 60-70 บริษัท ทำให้การแข่งขันสูงมาก โดยอัตราการเติบโตของตลาดรวมเมล็ดพันธุ์ในไทยจะอยู่ที่ประมาณ 10-15% ต่อปี ในส่วนของตลาดส่งออกจะอยู่ที่ประมาณ 20-30%
ปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตเมล็ดพันธุ์ในไทยประมาณ 15,000 ตันต่อปี มีปริมาณการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักบุ้งสูงสุด รองลงมาเป็นข้าวโพดข้าวเหนียว ซึ่งมีมูลค่าการจำหน่ายสูงสุด โดยบริษัทมีสถาบันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (อาร์แอนด์ดี) ในประเทศหลักของภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย โดยในส่วนของไทย บริษัทใช้เงินลงทุนในส่วนของ อาร์แอนด์ดีประมาณ 15% ของรายได้ต่อปี มีการแนะนำเมล็ดพันธุ์ใหม่ออกสู่ตลาดปีละประมาณ 25 สายพันธุ์ แบ่งเป็นสายพันธุ์สำหรับไทย 10 สายพันธุ์ และตลาดนอกประเทศอีกประมาณ 15 สายพันธุ์ จากจำนวนการวิจัยในแต่ละปีมากกว่า 100 สายพันธุ์ และวัดประสิทธิภาพหลังจากออกเมล็ดพันธุ์ใหม่เทียบจากรายได้ในแต่ละปี โดย 20% ของรายได้ในแต่ละปีมาจากเมล็ดพันธุ์ใหม่
โดยล่าสุดบริษัทมีแผนนำเทคโนโลยีใหม่ออกสู่ตลาด และจะเปิดตัวเมล็ดพร้อมงอกในรูปแบบ “พาลเลตโค้ต” (Primed & Pelleted Seed) ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษในการลดการปนเปื้อนของสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราและ แมลง ส่งผลดีต่อสุขภาพ ช่วยปกป้องต้นกล้าระหว่างการงอกและส่งเสริมการเจริญเติบโตหลังงอก รวมถึงสะดวกในการหยอดเมล็ดโดยตรง หรือใช้เครื่องจักรหยอดเมล็ด โดยบริษัทมีแผนแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ เมล็ดพันธุ์แตงกวาต้านไวรัส เมล็ดพันธุ์พริกทนแล้งที่สามารถปลูกได้ในพื้นที่ไม่มีระบบชลประทานเพียงพอ
“ข้อดีของเมล็ดพร้อมงอกรวดเร็ว และมีความสม่ำเสมอของการงอกมากกว่าเมล็ดปกติ และเมล็ดเคลือบ ทำให้ต้นกล้ามีความแข็งแรง สมบูรณ์ และทนทานมากกว่า ทั้งช่วยลดปัญหาการฟักตัวของเมล็ดพันธุ์” นายเบิร์ทกล่าว
ส่วนการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและภาวะโลกร้อน นายเบิร์ทกล่าวว่า ค่อนข้างมีผลอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ของบริษัท เนื่องจากผลจากอิทธิพล ดังกล่าวจะทำให้คาดการณ์สภาพภูมิอากาศได้ ยากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในไทย เช่น ฤดูฝนค่อนข้าง แล้ง แต่ฤดูหนาวมีฝนตก เป็นต้น ในอนาคตอาจจะมีการพัฒนาพันธุ์พืชที่สามารถ ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น นอกจากนี้ จะพัฒนาพันธุ์พืช ให้สามารถปลูกในโรงเรือนได้ แม้จะมี ต้นทุนสูงขึ้น แต่เป็นทางเดียวที่ต้องทำ เพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพ อากาศ
นายเบิร์ทกล่าวด้วยว่า กรณีที่ภาครัฐมีนโยบายยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์แห่ง เอเชีย ทางบริษัทยินดีที่จะให้การสนับสนุนเพราะบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ ที่ผ่านมาบริษัทได้มีการแสดงออกถึงความพร้อมในฐานะสมาชิกของศูนย์พันธุ วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ในการจัดประชุมมะเขือเทศนานาชาติ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จัดนอกสหรัฐอเมริกา และจัดขึ้นในประเทศไทย แสดงถึงศักยภาพและความพร้อมของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ในไทย
“ไทยมีโอกาสสูงในตลาดเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากเกษตรกรมีความรู้และประสบการณ์ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ รวมถึงมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีการศึกษาที่ดี และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เรียกว่า ไทยเป็นผู้นำในอาเซียนสำหรับตลาดเมล็ดพันธุ์ก็ว่าได้ เป็นเหตุผลที่เรามีสถาบันวิจัยในไทย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น คือการเพิ่มทักษะภาคปฏิบัติให้กับบัณฑิตสายเกษตร และการใช้ภาษาอังกฤษ เนื่องจากคนไทยยังสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้น้อยเมื่อเทียบกับฟิลิปปินส์และ อินโดนีเซีย” นายเบิร์ทกล่าว
สำหรับตลาดส่งออกเมล็ดพันธุ์ทั่วโลกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มรับจ้างผลิตเมล็ดพันธุ์จากบริษัทในยุโรป สหรัฐอเมริกา เกาหลี และญี่ปุ่น โดยบริษัทในกลุ่มประเทศดังกล่าวจะนำพันธุ์ต้นแบบมาให้ เพาะเมล็ด และรับซื้อเมล็ดพันธุ์กลับไปขายให้เกษตรกรในประเทศ อีกกลุ่มเป็นการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ในไทยและส่งออก ส่วนนี้จะมีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า
รายการอ้างอิง :
‘อีสท์เวสท์ซีด’ตั้งเป้าปี’56โต20%หนุนไทยเป็นศูนย์กลางตลาดเมล็ดพันธุ์เอเชีย. ประชาชาติธุรกิจ. ฉบับวันที่ 18 – 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556.– ( 291 Views)