magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเฮ! นักวิจัยไทยใช้ “แสงซินโครตรอน” วิเคราะห์ธาตุสำคัญในเส้นผมครั้งแรกของโลกพร้อมเร่งผลิตยารักษา
formats

ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเฮ! นักวิจัยไทยใช้ “แสงซินโครตรอน” วิเคราะห์ธาตุสำคัญในเส้นผมครั้งแรกของโลกพร้อมเร่งผลิตยารักษา

นครราชสีมา- ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเฮ! นักวิจัยไทยสุดยอดใช้แสงซินโครตรอน ศึกษาวิเคราะห์ธาตุสำคัญในเส้นผมครั้งแรกของโลก พบเส้นผมผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมี 3 ธาตุสำคัญสูงกว่าคนปกติ ซึ่งมีผลต่อระบบการเผาผลาญของร่างกายและการทำงานของระบบประสาท   เผยเตรียมต่อยอดงานวิจัย เพื่อเร่งหาสมุนไพรไทยผลิตยารักษาโรคสมองเสื่อมคาดใช้เวลาอีก 3-5  ปีได้ยารักษาฝีมือคนไทยแน่
ผศ.ดร.จารุวรรณ  ศิริเทพทวี อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)  เปิดเผยว่า ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) คือภาวะที่สมองทำงานลดลงกว่าเดิม ทำให้ความรอบรู้ความจำ ความคิด การติดสินใจเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพและพฤติกรรมของผู้ที่เป็นโรคดังกล่าว อาการอาจจะรุนแรงจนกระทบกระเทือนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และมักจะมีการทางจิตร่วมด้วย

โรคสมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) และภาวะสมองเสื่อมจากการชักนำโดยหลอดเลือด  เช่น ภาวะอ้วน เส้นเลือดอุดตัน หรือ Vascular Dementia นอกจากนั้นภาวะสมองเสื่อมอาจเกิดจากการสัมผัสสารเคมี หรือความไม่สมดุลของธาตุในร่างกาย

ปัจจุบันโรคสมองเสื่อมมีอุบัติการณ์สูงขึ้นในทั่วโลก หากยังไม่มีการค้นพบวิธีการรักษาโรคสมองเสื่อมได้ จากรายงานล่าสุดขององค์การ Alzheimer’s Disease International ประเมินว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมทั่วโลกประมาณ  35 ล้านคน สำหรับในประเทศไทยคาดว่ามีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมประมาณ 800,000 แสนคน  ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และปัจจุบันยังไม่มีรายงานใดระบุสาเหตุของโรคสมองเสื่อมได้แน่ชัดบางรายงานบอกว่ามาจากกรรมพันธุ์  และบางรายงานระบุว่ามาจากการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการสัมผัสสารเคมี ความเครียด เป็นต้น

ผศ.ดร.จารุวรรณ กล่าวว่า  ได้ร่วมกับทีมงานวิจัย ประกอบด้วย ดร.วันวิสา พัฒนศิริวิศวะ นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และ พ.ญ.อัญชลี   ศิริเทพทวี  แพทย์ประจำโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ร่วมกันศึกษาธาตุเจือในเส้นผมของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมด้วยแสงซินโครตรอนโดยใช้เทคนิคการดูดกลืนรังสีเอ็กซ์ (X-ray Absorption Spectroscopy)  เพื่อศึกษาโครงสร้างระดับอะตอมในการวัดหาแร่ธาตุและองค์ประกอบต่างๆที่อยู่ในเส้นผม

สำหรับการเลือกใช้เส้นผมของผู้ป่วยมาทำการวิจัยครั้งนี้เนื่องจาก เป็นตัวอย่างที่สามารถเก็บได้ง่ายมีความคงทนและมีการสะสมของธาตุอยู่มาก แร่ธาตุมีการสะสมตลอดตามช่วงอายุ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันซึ่งแตกต่างจากส่วนประกอบในเลือดและปัสสาวะรวมถึงน้ำไขสันหลัง ที่มีการปรับเปลี่ยนปริมาณธาตุในแต่ละวันไม่คงที่  ซึ่งการทดสอบจะใช้ CT แสกน ปัจจุบันยังมีราคาค่อนข้างสูง  สำหรับการวิจัยนี้เป็นการหาความไม่สมดุลของแร่ธาตุในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมชนิดต่างๆ เปรียบเทียบกับคนปกติ  โดยหลีกเลี่ยงวิธีการเจาะเลือด และคัดหลั่งต่างๆ โดยการใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนมีความแม่นยำสูง ผู้ป่วยไม่ทรมานในช่วงการเก็บตัวอย่าง

ทีมงานวิจัยได้ทำการเก็บตัวอย่างเส้นผมของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมและคนปกติ (Normal Control) รวม 30 รายที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมชนิดต่างๆ  15 รายในโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา  ประกอบด้วย  1 รายเป็นผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะสุดท้าย,1 ราย เป็นผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมร่วมกับโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease), 2 ราย เป็นผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะปานกลาง และ อีก 11รายเป็นผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมจากการชักนำโดยหลอดเลือด  เช่น ภาวะอ้วน เส้นเลือดอุดตัน หรือ Vascular Dementia ส่วนที่เหลืออีก 15 รายเป็นคนปกติทั่วไปตัวอย่างเส้นผมมีขนาดความยาว 10 ซม.กว้าง 2 มม. และเป็นเส้นผมที่ไม่ผ่านการโกรกผม ย้อมผม ทำสี การใช้น้ำยายืดผม ดัดผม โดยตัดเอาบริเวณตั้งแต่โคนผม จากนั้นนำมาทำความสะอาด แช่น้ำยา เพื่อล้างเอาไขมัน และสิ่งเจือปนออกก่อนทำการวิจัยด้วยแสงซินโครตรอน

ผลการศึกษาพบว่า ธาตุในเส้นผมจากทั้งสองกลุ่มมีธาตุสำคัญ คือ ออกซิเจน (O)  ซันเฟอร์ (S)  คลอรีน (Cl) ซิลิกอน (Si)  แมกนีเซียม (Mg) แคลเซียม (Ca) ฟอสฟอรัส (P) แต่เส้นผมของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมนั้นจะมีสัดส่วนของธาตุ  แคลเซียม (Ca) คลอรีน (Cl)  และฟอสฟอรัส (P) ในปริมาณที่สูงกว่าคนปกติ ซึ่ง  ค่าความน่าจะเป็นควรน้อยกว่า 0.05 ซึ่งธาตุดังกล่าวนี้จะมีผลต่อระบบเผาผลาญของร่างกาย (Metabolism) รวมทั้งการทำงานของระบบประสาทมนุษย์

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่สัมพันธ์กับ Alzheimer’s Disease และ Parkinson’s Disease จะมีองค์ประกอบของ ซัลเฟต (SO42-) อยู่ในระดับที่สูงกว่าผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในกลุ่ม Vascular Dementia  ผลการศึกษาวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าการวิเคราะหืหาสัดส่วนปริมาณธาติที่สำคัญในเส้นผม และองค์ประกอบของธาตุนั้น สามารถใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการบ่งชี้ภาวะโรคสมองเสื่อมได้

ด้านดร.วันวิสา  พัฒนศิริวิศวะ นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)  กล่าวว่า แสงซินโครตรอนมีลักษณะพิเศษกว่าแสงชนิดอื่นเพราะมีความคมชัดสามารถดูองค์ประกอบต่างๆ ได้ในระดับอะตอม และสามารถวัดแร่ธาตุต่างๆที่อยู่ในเส้นผมได้ โดยทีมงานได้ใช้เทคนิคการดูดกลืนรังสีเอ็กซ์ (X-ray Absorption Spectroscopy)  พบว่า เทคนิคนี้สามารถบอกองค์ประกอบของธาตุ ว่าเปลี่ยนแปลงจากซัลเฟต(SO42-) เป็นซัลเฟอร์  ทำให้เกิดการขับของเสียหรือเกิดเป็นพิษขึ้นมาในร่างกาย ซึ่งในผู้ป่วยที่ Alzheimer’s Disease และ Parkinson’s Disease จะมีซัลเฟต มากกว่าคนปกติ  ส่วนผู้ป่วย vascular dementia กับคนปกติจะไม่มีซัตเฟต สูง

“การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีประโยชน์อย่างมาก คือทำให้ทราบว่าระดับความสมดุลของแร่ธาตุระหว่างคนปกติกับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม รวมทั้งโรคสมองเสื่อมชนิดต่างๆ  มีธาตุเหล่านี้แตกต่างกัน เช่น พวกธาตุแคลเซียมจะเกี่ยวข้องกับระบบการเผาผลาญในร่างกาย รวมทั้งการสืบประสาทในร่างกาย หากมีแคลเซียมระดับต่ำ ก็จะทำให้เกิดโรคทางระบบประสาทได้หลายชนิด แต่ขณะเดียวกันจากการสืบค้นงานวิจัยอื่นๆ พบว่าถ้าแคลเซียมมีปริมาณสูงมากก็ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ เหตุที่แคลเซียมสูงจะชักนำให้เกิดการฝั่งตัวตามเนื้อเยื้อ(Tissue) ต่างๆ รวมทั้งสมองก็จะเกิดพยาธิภาพขึ้นมาได้   ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นประโยชน์ในศึกษาวิเคราะห์หาสัดส่วนปริมาณธาตุที่สำคัญในเส้นผม และองค์ประกอบของธาตุนั้น สามารถใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการบ่งชี้ภาวะโรคสมองเสื่อมและต่อยอดสืบค้นตัวยาได้  เป็นเทคนิคแรกของโลกที่ทำการศึกษาจากตัวอย่างเส้นผมของคนไข้และบทความงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ ในหนังสือ Journal of Synchrotron Radiation และได้รับทุนการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยซินโครตรอน(องค์การมหาชน) ถือว่าเป็นงานวิจัยในระดับแนวหน้าของไทยที่จะพัฒนาได้อีกต่อไป”

ดร.วันวิสา กล่าวอีกว่า ทีมงานวิจัยใช้เวลาในการทำงานวิจัยชิ้นนี้นานกว่า 1 ปี และขณะนี้ได้มีการต่อยอดงานวิจัยดังกล่าว ด้วยการสืบค้นข้อมูลในการคิดค้นตัวยามาทำการรักษาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม จากสมุนไพรพื้นบ้านของไทย ตามสาเหตุโรคสมองเสื่อมแต่ละชนิด ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบค้นข้อมูล แต่กว่าจะหาสมุนไพรได้ และทำการสกัดสารออกมา  ก่อนนำไปทดลองในผู้ป่วยคงต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน และการทำงานศึกษาวิจัยจะต้องใช้งบประมาณสนับสนุนค่อนข้างมากด้วย จึงคาดว่าภายใน 3-5 ปี น่าจะมียารักษาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจากพืชสมุนไพรพื้นบ้านของไทย โดยฝีมือนักวิจัยไทยแน่นอน

รายการอ้างอิง :

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. แสงซินโครตรอนวิเคราะห์เส้นผม. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์). วันที่ 16 ตุลาคม 2555.– ( 813 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


five − = 4

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>