จะว่าไปแล้วเมืองไทยของเรามีของดีอยู่ทั่วเมืองไทยก็ว่าได้นะครับ แถมของดีเหล่านั้น
เป็นของดีที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปตามธรรมชาตินั่นแหละครับ อยู่ที่ว่าใครจะคิดค้นหาวิธีพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติให้มีคุณค่าขึ้น มาได้
และคุณปรีชา เวชประสิทธิ์ ก็เป็นหนึ่งในคนที่นำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาพัฒนาปรับปรุงจนกลาย เป็นสินค้าฮิตติดตลาด แถมยังจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ของตัวเองอีกด้วย
ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ว่านี้ก็คือ ผลิตภัณฑ์ใยไผ่ขัดผิวนั่นเอง ชื่อก็บอกแล้วครับว่าใยไผ่ขัดผิว ก็หมายความว่า ผลิตภัณฑ์นี้ต้องทำมาจากใยไผ่ครับ ไม่ใช่เยื่อไผ่ที่นำมาต้มซุปนะครับแต่เป็นใยไผ่ที่ปอกมาจากต้นไผ่กันเลย
คุณปรีชาเล่าถึงที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์ใยไผ่ขัดผิวให้ฟังว่า แรกเริ่มเดิมทีไม่ได้มีอาชีพอะไรเกี่ยวกับต้นไผ่หรอกครับ เพราะคุณปรีชานั้นอาชีพเดิมคือ ศิลปิน นักวาดภาพฝีมือดี ที่มีร้านรวงอยู่บนห้างกลางกรุงกันเลยล่ะครับ
แต่จากพิษเศรษฐกิจสมัยต้มยำกุ้ง เมื่อปี2540 ทำเอาทุกคนได้รับความเดือดร้อนกันไปทั่ว ไม่เว้นแม้แต่คุณปรีชา ก็ต้องเจอกับพิษเศรษฐกิจ ภาพขายไม่ได้ ร้านที่มีอยู่ต้องปิดตัวลง พร้อมกับเป็นหนี้เป็นสินก้อนโต ซึ่งทางออกที่ดีที่สุดในขณะนั้นก็คือ กลับบ้านเกิดที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ทิ้งชีวิตในเมืองหลวงไว้เบื้องหลัง
และการกลับมาบ้านเกิดในครั้งนี้ของคุณปรีชาก็ได้กลายเป็นจุดพลิกผันในชีวิต ของคุณปรีชาตลอดไปแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน แม้แต่ตัวคุณปรีชาเอง
ก้าวแรกที่คุณปรีชากลับมาที่พระนครศรีอยุธยาสิ่งแรกที่คุณปรีชาเริ่มทำคือ การปลูกผักขาย แต่ไม่ใช่การปลูกผักแบบธรรมดานะครับ เป็นการปลูกแบบไฮโดรโปรนิกส์ หรือการปลูกผักในน้ำ เรียกว่าคิดทำสินค้าระดับไฮโซเลยทีเดียว เพราะเมื่อ10 กว่าปีก่อน ผักไฮโดรฯ ยังไม่เป็นที่รู้จักกันเท่าไหร่นักด้วย และก็เป็นเช่นนั้น เมื่อผักไฮโดรฯไม่เป็นที่นิยมขายไม่ได้อย่างที่ต้องการ หรือพูดกันง่ายๆ ก็คือ เจ๊งครับ
เมื่อเป็นอย่างนั้นคุณปรีชาเลยต้องมองหาอาชีพใหม่เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว ซึ่งช่วงนั้นเองก็เห็นต้นไผ่ปลูกอยู่ทั่วไปหมดทั้งหมู่บ้าน และก็เริ่มคิดว่า ต้นไผ่เองเป็นต้นไม้ที่มีคุณสมบัติมากมายและถูกนำไปใช้มาตั้งแต่โบราณ ซึ่งคุณสมบัติที่โดดเด่นของไม้ไผ่คือ “ความคม” ซึ่งหมอตำแยสมัยก่อนใช้เปลือกไม้ไผ่มาตัดรกเด็กแรกเกิด
“เปลือกไผ่มีความคมมาก ซึ่งใช้กันมานาน ผมก็เลยเห็นว่าน่าจะนำไผ่มาใช้ประโยชน์ได้ ประกอบกับในช่วงนั้นแฟนเป็นคนผิวแห้งมาก ต้องหาอะไร
มาขัดผิว ก็เลยคิดว่าจะเอาใยไผ่มาลองขัดผิวแฟนดู ปรากฏว่าได้ผลดีมาก และเริ่มทำแจกชาวบ้านแถวๆ บ้านก็ได้รับการตอบรับที่ดี ก็เลยเริ่มคิดจะทำเป็นธุรกิจ”
ใยไผ่ที่คุณปรีชานำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ขัดผิวนั้น เป็นการขูดเปลือกไผ่ออกมาเป็นขุยๆ ครับ โดยขูดลึกไปประมาณครึ่งหนึ่งของกระบอกไม้ไผ่ แล้วต้องนำมาแช่น้ำจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นสูตรที่คุณปรีชาคิดขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อกันไม่ให้เกิดราเมื่อต้องใช้ไปนานๆ แล้วก็ต้องนำไปทุบให้ใยไผ่นิ่ม นำไปตากแดดหลังจากนั้นก็นำมาเย็บรวมกันเป็นก้อนเล็กๆ แล้วก็นำไปใช้งาน
ขอบอกไว้ก่อนนะครับ ผลิตภัณฑ์ขัดผิวที่คุณปรีชาทำขึ้นมาแรกๆ นั้นรูปร่างหน้าตาไม่น่าใช้เลยครับ เหมือนก้อนอะไรก็ไม่รู้ แต่ขายได้ไม่น้อยเลยเพราะด้วยคุณสมบัติของใยไผ่ ที่เวลานำมาขัดผิวแล้วสามารถขจัดพวกเซลล์ผิวที่ตายแล้วให้ออกได้โดยง่าย ซึ่งผมลองแล้วครับ ผิวเนียนไปเลย หุหุ
เมื่อสินค้าเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆก็เริ่มประสบปัญหาในเรื่องของ การผลิตแล้วครับ เพราะเดิมผลิตแบบชาวบ้านใช้แรงงานคนทั้งหมดทุกขั้นตอนการผลิต ทำให้ไม่สามารถผลิตได้เป็นจำนวนมากๆ แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติมาช่วยสนับสนุน โดยให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ มาช่วยทำงานวิจัยเกี่ยวกับเยื่อไผ่ว่ามีประโยชน์อย่างไร สามารถนำมาขัดผิวได้จริงหรือไม่
ซึ่งหลังการวิจัยก็พบว่า ใยไผ่มีคุณสมบัติที่ใช้ขัดผิวได้เป็นอย่างดี และทางสำนักงานวิจัยฯ ก็ได้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆทั้งการออกแบบเครื่องขูดใยไผ่เครื่องทุบ ใยไผ่ และออกแบบผลิตภัณฑ์และแพ็กเกจให้ดูดีมากขึ้น และที่สำคัญยังได้ไปจดสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยความร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำให้คุณปรีชากลายเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเยื่อไผ่รายแรกของโลก
ที่น่าสนใจคือ เดี๋ยวนี้ผลิตภัณฑ์ขัดผิวเยื่อไผ่ได้รับการติดต่อให้เข้าไปขายในร้าน 7-11 ทั่วประเทศด้วย รวมถึงขายในรายการทีวีไดเร็คอีกด้วย นั่นหมายความว่า สินค้าที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ได้จากพืชท้องถิ่นจะสามารถก้าวไกลไปได้และเชื่อว่าจะก้าวไปในระดับทั่ว โลกได้ไม่ยากนัก
ถ้าภูมิปัญญาเหล่านั้นได้รับการสนับสนุนที่ดีอย่างหน่วยงานรัฐ อย่างที่ผลิตภัณฑ์ขัดผิวใยไผ่ ได้รับ
รายการอ้างอิง : ใยไผ่ขัดผิวจากภูมิปัญญาสู่โอท็อปเงินล้าน. โพสต์ทูเดย์ (ธุรกิจติดดาว). ฉบับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556.– ( 663 Views)