magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก คุ้มครองสิทธิผู้โดยสาร สู่คุณภาพชีวิต-ลดอุบัติเหตุรถทัวร์
formats

คุ้มครองสิทธิผู้โดยสาร สู่คุณภาพชีวิต-ลดอุบัติเหตุรถทัวร์

เริ่มต้นศักราชปีมะเส็ง 2556 การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนโดยเฉพาะรถทัวร์สาธารณะดูจะประสบเหตุบ่อยครั้ง มากๆ ยกตัวอย่าง จาก 1 มกราคม 56 รถทัวร์ชุมพรชนรถกระบะตาย 4 ศพ ,9 มกราคม 56 รถทัวร์2 ชั้นกรุงเทพฯ-ภูเก็ต แหกโค้งเสยต้นไม้คว่ำสยองบนถนนเพชรเกษม อ.ท่าแซะ จ.ชุมพรตาย 2 ศพ เจ็บ 20 ราย, 15 กุมภาพันธ์ 56 รถทัวร์ บ.ศรีสะเกษทัวร์ ประสานงารถ 18 ล้อขาดสองท่อนที่สุรินทร์ ตาย 10 ศพ เจ็บ30 ราย,17 กุมภาพันธ์ 56 คณะทัวร์กว่า 30 คนจากชลบุรีไปทำบุญถวายพระประธานองค์ ใหญ่ที่ชัยภูมิ ขากลับเกิดอุบัติเหตุ โชคดีไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ คาดเพราะบุญกุศลที่ไปทำไว้, ล่าสุด 23 กุมภาพันธ์ 56 ทัวร์นายกอบต.ริมโขง จ.เชียงราย ประสานงารถอ้อยที่อุตรดิตถ์ ตาย 2 ศพ เป็นต้น          ขณะเดียวกันนางสาวสวนีย์ ฉ่ำเฉลียวศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เขียนรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยใช้ชื่อว่า”จาก…โครงการส่งเสริมสนับสนุนสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสาร สาธารณะ ก้าวสู่… โครงการการมีส่วนร่วมของเครือข่ายผู้บริโภค เพื่อรถโดยสารปลอดภัย จุดเริ่มต้นของคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของผู้โดยสาร “ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้บริการรถทั่วร์หรือรถโดยสาร สาธารณะ จึงนำเสนอเอาไว้ ดังต่อไปนี้

ในแต่ละปี ประชากรโลกต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากถึง 1.5 ล้านคนในทุกๆ ชั่วโมงของทุกๆวัน มีคนไทย 2 คนต้องจากไปเพราะภัยบนท้องถนน ในปี 2554 มีคนไทยมากถึง 14,000 คน สังเวยชีวิตให้กับอุบัติเหตุทางการจราจร

คนไทยหลายแสนคนได้รับบาดเจ็บหลายหมื่นคนกลายเป็นผู้พิการ เป็นภาระอย่างใหญ่หลวง ทั้งต่อครอบครัวผู้ประสบเหตุ ต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติโดยรวม ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท ซึ่งนับเป็นความสูญเสียแห่งชาติอย่างมากมายมหาศาล การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน เป็นสาเหตุที่ติดอยู่ใน 3 อันดับแรกของการเสียชีวิตของคนไทย และไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลง ทั้งที่สาเหตุของการเกิดเหตุส่วนใหญ่สามารถจะจัดการ ควบคุม และป้องกันได้ หากผู้ที่ต้องรับผิดชอบ เห็นความสำคัญและคุณค่าของชีวิตมนุษย์ และเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหา

11 พฤษภาคม 2554 องค์การสหประชาชาติ จึงประกาศให้ปี 2554-2556 เป็นปีทศวรรษแห่งความปลอดภัยบนท้องถนน เพื่อกระตุ้นให้ทุกรัฐบาล ของทุกประเทศทั่วโลกทุกภาคส่วน ทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ตระหนักเห็นความสำคัญ กำหนดนโยบาย วางแผน และดำเนินการอย่างจริงจัง

นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาในวันที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 ในหมวดความมั่นคงของชีวิตและสังคม ข้อ4.5.6 ว่า “ลดอุบัติภัยและความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจรให้เหลือน้อยที่สุด ส่งเสริมการเรียนรู้ การเดินทาง และการใช้การขนส่งอย่างปลอดภัยโดยน้อมนำหลักการแก้ไขปัญหาจราจร ตามแนวพระราชดำริไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังและถือเป็น วาระแห่งชาติ ที่ต้องดำเนินการเข้มข้นในทุกพื้นที่ของประเทศ”

ความไม่ปลอดภัยทางถนนที่ถือว่าเป็นปัญหาใกล้ตัวผู้บริโภคมากที่สุดคือ จากบริการรถโดยสารสาธารณะหรือรถโดยสารประจำทาง เพราะเป็นรถที่ประชาชนนิยมใช้กันมากที่สุด โดยเฉพาะการเดินทางไกล เนื่องจากเป็นยานพาหนะที่สะดวกและสามารถเดินทางไปได้ทั่วประเทศ บรรทุกคนได้เป็นจำนวนมากประหยัด แต่การเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะก็มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิต จากการเกิดอุบัติเหตุไม่น้อย จากสถิติตั้งแต่ ตุลาคม 2554-พฤษภาคม 2555 พบว่ามีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ประเภทรถโดยสารขนาดใหญ่ และรถตู้โดยสารประจำทาง จำนวน 5,305 ครั้ง โดย 1 ใน 3 เกิดกับรถโดยสารในต่างจังหวัด และ 2 ใน 3 เกิดกับรถในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล และเพียงแค่ครึ่งปี 2555 ข่าวที่นำเสนอตามสื่อต่างๆรายงานการเกิดเหตุรถโดยสารสาธารณะกว่า 142 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บประมาณ 890 คนและเสียชีวิตประมาณ 63 คน ความสูญเสียชีวิตมากมายเหล่านี้ไม่รวมถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่า ความเสียหาย8,000- 9,000 พันล้านบาทต่อปี และยังไม่นับรวมความสูญเสียในมิติอื่นๆ (ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ)

ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเกิดเหตุของรถโดยสารสาธารณะที่นำไปสู่การบาดเจ็บ และการเพิ่มความรุนแรงในการบาดเจ็บนั้นพบว่า สาเหตุเกือบทุกครั้งมาจากพฤติกรรมการผู้ขับขี่ที่เป็นปัจจัยหลักรองลงมาเป็น ปัจจัยด้านถนนและสิ่งแวดล้อม และยานพาหนะโครงสร้างรถ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้โดยสารไม่สามารถควบคุมได้การดำเนินโครงการเกี่ยวกับการ ส่งเสริมความปลอดภัยของผู้โดยสารจากการใช้รถโดยสารสาธารณะจึงถือเป็นกลไก หนึ่งที่จะช่วยคุ้มครองผู้บริโภคได้

วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์แรกเริ่มของการดำเนินการคือ เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีความรู้ความเข้าใจในสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสาร มีความตื่นตัวในการปกป้องพิทักษ์สิทธิของตนเอง เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีข้อมูลพื้นฐานในการตัดสินใจเลือกใช้บริการได้อย่าง ถูกต้องเหมาะสม มีส่วนร่วมในการพัฒนาและผลักดันนโยบายรวมถึงข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่จำเป็นเพื่อ ก่อให้เกิดการบริการที่มีคุณภาพปลอดภัย ราคาค่าบริการที่เป็นธรรม รวมทั้งมีช่องทางให้ความช่วยเหลือเพื่อการเยียวยาความเสียหายที่รวดเร็วและ เป็นธรรม

เมื่อผ่านการทำงานมา ในระยะแรกผ่านโครงการ ส่งเสริมสนับสนุนสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ พบว่า โครงการประสบผลสำเร็จด้านกลไกการชดเชยเยียวยาความเสียหายของผู้ประสบเหตุ ผ่านกลไกการฟ้องร้องโดยใช้พระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้ บริโภค หรือ การฟ้องร้องเป็นคดีผู้บริโภคนั่นเอง แต่พบว่าแท้จริงแล้วทำงานแบบเครือข่าย ยังเป็นคำตอบที่จะทำให้เกิดความสำเร็จในการพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภค ได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ ระยะที่ 2 ในโครงการ การมีส่วนร่วมของเครือข่ายผู้บริโภคเพื่อรถโดยสารปลอดภัยจึงกำหนดวัตถุ ประสงค์การดำเนินการดังต่อไปนี้
1.เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคในการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ
2.จัดทำและสนับสนุนการจัดทำสื่อรณรงค์และช่องทางการสื่อสารสาธารณะเพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสารธารณะ
3.เพื่อพัฒนาการกลไกการป้องกันและเฝ้าระวังความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะรวมทั้งการพัฒนาระบบร้องเรียนและระบบชดเชยเยียวยา

วิธีการดำเนินโครงการ
1.การจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคเพื่อรถโดยสาร ปลอดภัยระดับประเทศและคณะกรรมการในระดับพื้นที่( 5 ภูมิภาค)
2.เน้นกระบวนการสื่อสารกับสาธารณะเช่น จัดทำสื่อ ชุดข้อมูล การสำรวจ แถลงข่าวกับสื่อมวลชน ใช้ระบบโซเชียลมีเดีย(Facebook) เว็บไซต์
3.พัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคผ่านศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคใน 15 จังหวัดใน 5 ภูมิภาค ทั่วประเทศ กิจกรรมที่ดำเนินการ เช่น การอบรมพัฒนาศักยภาพเครือข่ายผู้บริโภคกับเจ้าหน้าที่ คนทำงาน สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดอาสาสมัครหน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย การรับเรื่องร้องเรียน แก้ไขปัญหา ดำเนินการฟ้องคดี
4.การพัฒนานโยบายและมาตรการในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ

บทเรียนที่เกิดขึ้นและพัฒนาการ
โดยที่ผ่านมาได้มีการยื่นข้อเสนอทั้งเร่งด่วน และการปรับเปลี่ยนนโยบายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งมีความคืบหน้าและผล สัมฤทธิ์ที่สำคัญคือ
1.มีการพัฒนาปรับปรุงระบบการเยียวยาความเสียหายหลังเกิดอุบัติเหตุให้ดีขึ้น
โดยโรงพยาบาลที่รับรักษาผู้ประสบภัยได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งสิทธิให้ ผู้เสียหายได้รับทราบถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้นทำให้ผู้ประสบเหตุรถโดยสาร เข้าถึงความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 และทางคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ได้ปรับค่าสินไหมและเพิ่มสิทธิประโยชน์ของประกันภัยเพิ่มขึ้น โดยประกันภัยที่เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นมา ได้ปรับค่าปลงศพจาก 100,000 บาท เป็น 200,000 บาท จ่ายค่ารักษา พยาบาลได้เต็มวงเงิน 50,000 บาท โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิด และจ่ายค่านอนโรงพยาบาลอีกวันละ 200 บาทไม่เกิน 20 วัน ขณะที่ประกันภัยเอกชนมีการปรับปรุงระบบการจ่ายเงินเยียวยาให้มีความรวดเร็ว ลดการประวิงเวลา และพิจารณาจ่ายค่าสินไหมสูงขึ้น
2.เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนต่อการกำกับดูแลด้านการบริการของรถโดยสาร สาธารณะ โดย ทางกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) ได้แต่งตั้งให้ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นอนุกรรมการ ชุด “ควบคุมมาตรฐานการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ” วาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ระหว่างปี 2554 ถึงปัจจุบัน (2 วาระติดต่อกัน) รวมทั้ง มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ.2556-2563 ของ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยในชุด อนุกรรมการยานพาหนะปลอดภัย ตั้งแต่ปี 2455 ถึง ปัจจุบัน
3.เกิดระบบอาสาสมัครเพื่อเฝ้าระวังการให้บริการของรถโดยสาร คือ “หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย” ใน 5 ภูมิภาค และมีเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจจับเฝ้าระวังคือApplication ตรวจวัดความเร็วขณะโดยสารโดยการพัฒนาจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และ คอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)และมีการพัฒนาความร่วมมือกับทางสื่อมวลชน ต่อการติดตามเฝ้าระวังแล้วนำมาเปิดเผยสู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีรถตู้โดยสารใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดบรรทุกเกิน แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร เป็นต้น
4.การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง
4.1. รถโดยสารสาธารณะทุกคัน จะต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสารทุกที่นั่ง
โดยเริ่มบังคับใช้เมื่อ วันที่ 1 เมษายนพ.ศ. 2555
4.2 เริ่มนำมาตรการติดแถบ RFID (Radio Frequency Identification) เพื่อตรวจจับ บันทึก
ความเร็ว หากขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดต้องถูกลงโทษ โดยครั้งแรกจะถูกปรับเงิน 5,000 บาท ครั้งที่ 2 ปรับ10,000 บาท พร้อมทั้งตักเตือนและจะพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตเดินรถทันที โดยเริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2555
ต่อมาพบว่าประสิทธิภาพในการทำงานของระบบ RFID ไม่สามารถตอบโจทย์ของการควบคุมความเร็วของรถโดยสารได้ ทางเครือข่ายผู้บริโภคและเครือข่ายนักวิชาการจึงได้ยื่นข้อเสนอไปยัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่าให้ทางกระทรวงคมนาคม ทบทวนนโยบายดังกล่าว และเสนอทางเลือกใหม่คือการใช้เทคโนโลยี GPS มาใช้งาน พร้อมทั้งเร่งติดตั้ง ศูนย์ควบคุมการเดินรถ 24 ชั่วโมง
1 มกราคม 2556 ทางกระทรวงคมนาคมจึงมีมติให้ใช้เทคโนโลยี GPS และจัดตั้งศูนย์ควบคุมการเดินรถ 24 ชั่วโมง ในรถทัวร์โดยสารของ บริษัทขนส่ง จำกัด จำนวน800 คัน
4.3 ไม่พกใบอนุญาตขับรถและแสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
4.5 วิ่งออกนอกเส้นทาง มีความผิดปรับคันละไม่เกิน 5,000 บาท/วัน จนกว่าจะปฏิบัติ
ให้ถูกต้อง ไม่มีชื่อเส้นทาง หรือป้ายแสดงอัตราค่าโดยสาร มีความผิดต้องระวางโทษ ปรับไม่เกิน 5,000 บาท
4.6 แก้ไขเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของตัวรถ (การเพิ่มจำนวนที่นั่ง) มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

แนวทางและข้อเสนอในอนาคต
1.การจัดตั้ง “กองทุนคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ”การมีกองทุนจะเหมือนกับ การคัดเลือกผู้ประกอบการรถโดยสาร ที่มีความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร เช่นการกำหนดแผนงานรองรับ ด้านความปลอดภัยการเดินรถสวัสดิการของ พนักงานขับรถ และการชดเชยเยียวยาความ เสียหายหลังเกิดเหตุต่อผู้โดยสารโดยมิต้องพิสูจน์ถูกผิด คล้ายคลึงกับกองทุนชดเชยเยียว ยาความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ (มาตรา 41) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้าแห่งชาติ(สปสช.) จึงมีคาดหวังว่าจะมีหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนงบประมาณของกองทุนโดยหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องคือ

กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานนี้เน้นเชิงสงเคราะห์เป็นหลักในการให้เงินกับผู้ ประสบอุบัติเหตุ การให้อุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการป้องกันก่อนเกิดเหตุจึงเหมาะสมมากกว่า

กองทุนพลังงาน เพราะมีนโยบายเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานซึ่งสอดคล้องกับการณรงค์ให้คนมา ใช้รถโดยสารที่ปลอดภัย ลดมลภาวะเป็นพิษ ใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า

กองทุนธุรกิจประกันภัย ที่ยังเน้นการทำงานจ่ายค่าชดเชยผู้ประสบปัญหาหลังเกิดอุบัติเหตุ

2. รถโดยสารสารสาธารณะต้องจัดทำประกันภัยภาคสมัครใจทุกคัน นอกเหนือจากการประกันภัยภาคบังคับ ตาม พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535

รายการอ้างอิง :
คุ้มครองสิทธิผู้โดยสาร สู่คุณภาพชีวิต-ลดอุบัติเหตุรถทัวร์. สยามรัฐ ( ประเด็นร้อน!). ฉบับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556.– ( 555 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


nine − 4 =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>