magnify
magnify

Open Knowledge for all 

formats

เร่ขายฝัน

“ใครอยากมีฝันล้อมวงตรงเข้ามา มีฝันที่ว่าแบบหรูเลือกดูกัน.”
ถ้าใครคุ้นกับเนื้อเพลงนี้ คุณก็น่าจะอายุประมาณสามสิบปลาย ๆ ถึงสี่สิบต้น ๆ (เราอายุใกล้กันครับ)
ผมเหลือบเห็นนโยบายการนำไอทีเข้ามาเสนอในการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้แล้ว เลยนึกสนุกหยิบเอาความฝันของผมมาปัดฝุ่นเร่ขายให้ว่าที่ผู้ว่าฯ เอาไปทำให้เป็นจริงเทคโนโลยีที่น่าจะเอามาใช้ในช่วงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนับแต่นี้เป็นต้นไป มีหลายอย่างมาก แต่ส่วนใหญ่แนวโน้มก็ยังคงวนเวียนอยู่กับสิ่งที่ผูกติดกับโทรศัพท์มือถือ การสื่อสารบน 3G (ก็ไม่แน่ว่า ในช่วงการดำรงตำแหน่งนี้ อาจได้เริ่มทดลองใช้ 4G ก็เป็นได้) การใช้กล้อง CCTV (ผู้สมัครหลายรายชูนโยบายนี้เป็นจุดขายเช่นกัน) และที่สำคัญ คือ เทคนิค Crowdsourcing

เริ่มแรกสุดกับการแก้ไขปัญหาจราจรซึ่งปัจจุบันเราพยายามแก้ปัญหากันอยู่ด้วย ไอทีเหมือนกัน หน่วยวิจัยในเนคเทค (www.traffy.in.th) สมาคมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ ไทย ห้องวิจัยต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยก็ทำวิจัยกันอยู่หลายเรื่อง รบกวนว่าที่ท่านผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ไปเลือกสรรแล้วนำมาบูรณาการกลายเป็นระบบแก้ไขปัญหาการจราจรกรุงเทพฯ จะยอดเยี่ยมมากครับ

ไม่ว่าจะเริ่มเอาข้อมูลการจราจรจากโซเชียลเน็ตเวิร์กมาพล็อตลงตามพิกัดใน ท้องถนน คำนวณเวลาที่ต้องใช้ในการเดินทางผ่านถนนแต่ละแยก แนะนำเส้นทางที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ใช้แต่ละเส้นทางโดยคำนึงถึงการลดภาระของ ถนนเส้นหลัก นำข้อมูลการเดินทางที่เก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือมารวมกันเพื่อหาปริมาณรถเข้า และรถออกในแต่ละเส้นทาง นำข้อมูลไปปรับปรุงการจราจรในแต่ละเส้นทาง จะได้พิจารณาการสร้างสะพานข้ามแยก

เพิ่ม/ลดจุดกลับรถ ปรับเปลี่ยนระยะเวลาการเปิดสัญญาณไฟเขียว/แดง ถ้าอยากจะได้คะแนนเสียงกรี๊ดถล่มทลายจากชาวกรุงเทพฯ ก็ลองกำหนดเป็นงานเร่งด่วนในหกเดือนแรก กำหนดพื้นที่เป้าหมายว่า รถทุกคันจะใช้เวลาผ่านพื้นที่ที่กำหนดได้ไม่เกินกี่นาที หรือกี่ชั่วโมง ในช่วงระยะเวลาใดบ้าง แล้วค่อย ๆ ขยายออกไปเรื่อย ๆ ครับ เพราะต้องเรียนว่าที่ผู้ว่าฯ ทั้งหลายว่า ระบบโครงสร้างพื้นฐานการจราจรบ้านเราดีอยู่แล้ว ตอนนี้ควรทำในขั้นปรับละเอียด เพราะข้อมูลการจราจรเหล่านี้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ปริมาณรถที่เพิ่มขึ้น การมีห้างเกิดใหม่ ร้านค้าบางร้านได้รับความนิยม ก็ทำให้สภาพการจราจรเปลี่ยนไป ความสามารถในการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว จะเป็นหัวใจสำคัญในการรับมือปัญหาจราจรในอนาคตครับ

ในเรื่องความปลอดภัยที่ปรากฏอย่างโดดเด่นในนโยบาย CCTV ของผู้สมัครหลายคน จะดูน่าสนใจขึ้น หากท่านสามารถติดระบบส่องสว่าง ไซเรน ในกรณีฉุกเฉิน นำระบบประมวลผลภาพมาเพิ่มเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติในภาพ แล้วเสนอภาพในบริเวณผิดปกตินั้นมาให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ เพื่อการแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้แล้วยังสามารถกำหนดจุดล่อแหลม กำหนดตารางเวลาที่สลับสับเปลี่ยนได้บ่อย ๆ ให้ระบบคำนวณและสั่งการให้เจ้าหน้าที่เทศกิจของกรุงเทพฯ หรือประสานงานร่วมกับตำรวจไปแวะเวียนตรวจสอบสถานที่ต่าง ๆ เหล่านั้นได้ตามเวลาที่คำนวณไว้ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่บริเวณนั้นได้ตลอด 24 ชั่วโมงเป็นต้น

นี่ยังไม่นับรวมถึงการนำโซเชียลมีเดียที่คนกรุงเทพฯ ซึ่งใช้เฟซบุ๊กมากที่สุดในโลกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ใครทำผิดกฎ ไม่ว่าจะเป็นการวางของรุกล้ำพื้นที่ทางเท้าสาธารณะ หรือแม้กระทั่งการร้องเรียนต่าง ๆ ท่านสามารถขอให้ชาวกรุงเทพฯ ถ่ายรูปขึ้นเฟซบุ๊กแล้วแจ้งให้ท่านรู้ เก็บข้อมูลไว้เป็นลิสต์ในฐานข้อมูล แก้ปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนไปทีละอย่าง ใครแจ้งมากที่สุดในรอบหนึ่งปีมารับกุญแจเมืองกรุงเทพฯ ไปเลย ก็น่าสนุกอยู่ไม่น้อย

ยังมีเรื่องราวอีกเยอะแยะมากมายที่สามารถทำได้ภายใต้อำนาจหน้าที่ของกรุงเทพ มหานครนะครับ ไม่ว่าจะเป็นช่องทีวีดิจิทัลจากโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครเพื่อเด็ก ๆ ทั่วประเทศ ระบบเรียนรู้ออนไลน์แบบให้ดีกรีกันไปเลยจากสถานศึกษาในสังกัด กทม.

ภาระหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม.คงหนักหน่วงน่าดูถ้าคิดจะทำทั้งหมดนี่ แค่ทำได้เสี้ยวหนึ่ง ก็คงจะดีไม่น้อยแล้วครับ
“รีบ รีบมาเอาฝันไป ไป ไปทำให้เห็นจริง ฝันไม่เสร็จอย่าทิ้ง.ไว้ตามริมทาง”

รายการอ้างอิง :
สุกรี สินธุภิญโญ. เร่ขายฝัน. เดลินิวส์ (กรอบบ่าย-หนึ่ง-ศูนย์-ศูนย์-หนึ่ง). ฉบับวันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2556.– ( 48 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


5 × four =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>