magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home การแพทย์/สาธารณสุข อย่าให้’ความเค็ม’เรียกพี่
formats

อย่าให้’ความเค็ม’เรียกพี่

คนไทยกิน เกลือมากกว่าที่ร่างกายควรได้รับถึง 2 เท่า จากสารพัดเมนูแฝงโจ๊กซอง อาหารถุง อาหารไมโครเวฟและขนมกรุบกรอบ
จากการสำรวจของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า คนไทยบริโภคเกลือและโซเดียมสูงเกินกว่าที่แนะนำ 2 เท่า หรือ 10.8 กรัม (โซเดียม 5,000 มิลลิกรัม) สูงเป็น 2 เท่าของที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน หรือไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน (โซเดียม 2,400 มิลลิกรัม) โดย 71 % มาจากการเติมเครื่องปรุงรสระหว่างการประกอบอาหาร ที่นิยมใช้มาก 5 ลำดับแรก คือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว เกลือ กะปิ และซอสหอยนางรม
เมื่อเปรียบเทียบจะพบว่าเกลือ 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 6,000 มิลลิกรัม น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,160-1,420 มิลลิกรัม ซีอิ๊ว 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 960-1,420 มิลลิกรัม ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะมีปริมาณโซเดียม 1,150 มิลลิกรัม กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 1,430-1,490 มิลลิกรัม ซอสหอยนางรม1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียม 420-490 มิลลิกรัมนอกจากนี้ยังพบว่าอาหารถุงปรุงสำเร็จ มีปริมาณโซเดียมเฉลี่ยต่อถุง 815 – 3,527 มิลลิกรัม เช่น ไข่พะโล้ แกงไตปลา คั่วกลิ้ง ส่วนอาหารจานเดียว มีปริมาณโซเดียม 1,000-2,000 มิลลิกรัมต่อ 1จาน อาทิ ข้าวหน้าเป็ด ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู และข้าวคลุกกะปิ เป็นต้น

“อาหารรสเค็มจัดจะส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และยังมีผลเสียต่อไตโดยตรง ทำให้หัวใจทำงานหนักก่อให้เกิดภาวะหัวใจวาย และความดันโลหิตสูง ความดันในสมองเพิ่มขึ้น มีโอกาสเป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาต จึงควรสร้างนิสัยการรับประทานอาหารอ่อนเค็ม เริ่มจากการการลดเค็มลงครึ่งหนึ่ง จะช่วยคนไทยห่างไกลโรค” ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าว

การลดปริมาณเกลือโซเดียมทำได้โดย หลีกเลี่ยงการใช้เกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรสต่างๆ และผงชูรส (แม้ไม่เค็มแต่มีโซเดียมสูง) ในการปรุงอาหาร หลีกเลี่ยงการเติมเครื่องปรุง เช่น ปรุงรสเพิ่มในก๋วยเตี๋ยว เติมพริกน้ำปลาในข้าวแกง หลีกเลี่ยงอาหารประเภทดองเค็ม อาหารแปรรูป เช่น ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาแดดเดียว ปลาส้มแหนม ไส้กรอก กุนเชียง หมูหยอง เป็นต้น

เลือกรับประทานอาหารที่มีหลายรสชาติ เช่น แกงส้ม ต้มยำ เพื่อทดแทนรสชาติเค็ม,น้ำซุปต่างๆ เช่น ก๋วยเตี๋ยวมักมีปริมาณโซเดียมสูง ควรรับประทานแต่น้อยหรือเทน้ำซุปออกบางส่วนแล้วเติมน้ำเพื่อเจือจาง และตรวจดูปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคบนฉลากของซอสปรุงรส อาหารสำเร็จรูป และขนมถุง เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง

ด้านนาวาอากาศเอก นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในเดือนมีนาคมของทุกปี จะมีการจัดกิจกรรมวันไตโลก ซึ่งการจัดงานสัปดาห์วันไตโลก ลดเค็มครึ่งหนึ่ง ปี 2556 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-17 มีนาคมนี้ ส่วนภูมิภาคจัดที่โรงพยาบาลภาครัฐทุกแห่งทั่วประเทศ และส่วนกลางจัดงานวันไตโลก ในวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่างๆ และการป้องกันโรคอย่างเหมาะสม

กิจกรรมภายในงาน อาทิ การให้ความรู้เรื่องโรคทั่วไป การสาธิตโภชนาการและผลิตภัณฑ์ทางด้านอาหารลดเค็มเพื่อผู้บริโภค การเปิดรับบริจาคไต การตรวจสุขภาพ การเสวนาทางการแพทย์ และการแสดงบนเวที โดยกลุ่มศิลปินนักแสดงมากมาย สามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.nephrothai.org หรือเว็บไซต์ www.lowsaltthailand.org ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ การจัดงานสัปดาห์วันไตโลก ลดเค็มครึ่งหนึ่งและงานวันไตโลก ถือเป็นความสำคัญที่ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยให้การสนับสนุนในเรื่องการรณรงค์ลดเค็มอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้คนไทยเป็นโรคต่างๆ สูงขึ้น โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง ที่มีผู้ป่วยถึง 11.5 ล้านคน โรคไต 7.6 ล้านคน โรคหัวใจขาดเลือด 7.5 แสนคน และโรคหลอดเลือดสมอง โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต 5 แสนคน โรคกลุ่มนี้เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งชื่นชอบอาหารรสชาติเค็ม ซึ่งถือเป็นภัยเงียบที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพอย่างคาดไม่ถึง

รายการอ้างอิง :
อย่าให้’ความเค็ม’เรียกพี่. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (Life Style : สุขภาพ). วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556.

– ( 248 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


four + = 6

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>