การนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจในยุคที่ต้องแข่งขันอย่างไร้พรมแดน
อย่างเช่น สหวิริยาสตีล ที่ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงการผลิตเหล็กรีดร้อนชนิดม้วนด้วยเทคโนโลยี แสงซินโครตรอน จนสามารถแก้ปัญหาการเกิดลายไม้ในผลิตภัณฑ์เหล็กลดจากร้อยละ 10 เหลือเพียงร้อยละ 3 เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้กว่า 30 ล้านบาท“นายสุนทร วสันต์เสรีกุล” ผู้จัดการทั่วไป สำนักเทคโนโลยีกลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยีปฏิบัติการ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ เปิดเผยว่า ตามที่เอสเอสไอได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการ กับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อปี 2553 เพื่อทำการวิจัยภายใต้โครงการ “แสงซินโครตรอนกับกระบวนการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เหล็กรีดร้อน” นั้น
ผลการวิจัยร่วมประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี บริษัทสามารถลดของเสียที่ไม่สามารถส่งมอบให้ลูกค้าได้ และที่สำคัญกว่า คือการแก้ปัญหาครั้งนี้นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ เรียกว่า เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนประเภทปรับผิวและเคลือบน้ำมัน หรือ “Clean Strip” ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ทั้งแก่บริษัทและลูกค้า โดยคุณภาพของผิวแผ่นเหล็กไม่เป็นปัญหาในการใช้งานอีกต่อไป ลูกค้าสามารถนำไปใช้ได้ทันที
นายสุนทร กล่าวต่อว่า กระบวนการผลิตเหล็กรีดร้อนชนิดม้วนในปัจจุบัน มักพบปัญหาเหล็กเกิดลายคล้ายลายไม้ขึ้น ซึ่งมีผลต่อการนำเหล็กรีดร้อนนี้ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ
ทั้งนี้หลังจากร่วมมือทำวิจัยกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ทำให้ทราบคุณลักษณะเฉพาะของลายไม้และสาเหตุที่เกิดลายไม้ขึ้น นำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการผลิตเหล็กรีดร้อน จนปัญหาดังกล่าวลดลงจากที่พบร้อยละ 10 เหลือเพียงร้อยละ 3 หรือคิดเป็นมูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นได้ประมาณ 30 ล้านบาท
ด้าน “ดร.วุฒิไกร บุษยาพร” นักวิทยาศาสตร์ ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า ได้วิเคราะห์ปัญหาโดยใช้แสงซินโครตรอนด้วยเทคนิค X-PEEM ที่ระบบลำเลียงแสง 3.2b และเทคนิค PES ที่ระบบลำเลียงแสง 3.2a สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จ.นครราชสีมา
ซึ่งเทคนิคดังกล่าวเป็นการรวมเทคนิคในการดูภาพขนาดเล็กเหมือนกล้องจุลทรรศน์ อิเล็กตรอนทั่วไป กับเทคนิคการวิเคราะห์โครงสร้างของธาตุองค์ประกอบบนพื้นผิวด้วยแสงซินโค รตรอนเข้าด้วยกัน
ทีมวิจัยได้พบสาเหตุหลักของการเกิดลายไม้ มาจากความขรุขระมากกว่าปกติในบริเวณลายไม้ ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการรีดร้อน และตรวจพบการตกค้างของธาตุคาร์บอนบริเวณรอยต่อของลายไม้กับบริเวณปกติ เนื่องมาจากเหล็กรีดร้อนมีการเจือธาตุคาร์บอนเข้าไปในเนื้อเหล็กเพื่อเพิ่ม ความแข็งแกร่งของเหล็ก
เมื่อเหล็กดังกล่าวถูกรีดให้เป็นแผ่นบางที่อุณหภูมิสูง ธาตุคาร์บอนจึงเดินทางขึ้นมาอยู่ที่พื้นผิวโดยเฉพาะบริเวณรอยต่อของพื้นผิว ที่มีความขรุขระและพื้นผิวปกติ ทำให้รอยต่อของทั้งสองบริเวณนี้มีความเข้มของลายไม้จากการสังเกตด้วยตาเปล่า มากกว่าบริเวณอื่น ๆ
ดร.วุฒิไกร กล่าวอีกว่า สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ยังมีโครงการวิจัยพัฒนาเหล็กแผ่นให้มีความสามารถในการขึ้นรูปสูงกับทาง บริษัท สหวิริยาสตีลฯ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมชิ้นส่วน ขณะนี้โครงการคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 50
ปัจจุบันแสงซินโครตรอนนับเป็นเครื่องมือวิจัยทางเลือกใหม่ ที่เครื่องมืออื่น ๆ ไม่สามารถตอบโจทย์ได้
รายการอ้างอิง :
เพิ่มมูลค่าเหล็กรีดร้อนด้วยแสงซินโครตรอน. เดลินวิส์ (ไอที-ฉลาดคิด). วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556.
– ( 68 Views)