สวทช.จับมือนักวิจัย ม.อุบลราชธานีม.เกษตรศาสตร์ พัฒนาสายพันธุ์มะเขือเทศต้านทานไวรัส-แบคทีเรีย ตั้งเป้าเพิ่มการส่งออกเมล็ดพันธุ์จาก 300 ตันเป็น 500 ตันในอีก 2 ปีข้างหน้า ด้านบริษัทยักษ์ใหญ่เมล็ดพันธุ์รุม เตรียม นำไปพัฒนาต่อยอด
กลุ่มคลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์ สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และศูนย์วิจัยพืชผักเขตร้อน ห้องปฏิบัติการวิจัยด้านพืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ดำเนินโครงการวิจัย “การพัฒนาสายพันธุ์มะเขือเทศอุตสาหกรรมต้านทานต่อโรคใบหงิกเหลืองที่เกิดจาก เชื้อไวรัส และต้านทานต่อโรคใบเหี่ยวเขียวที่เกิดจากเชื้อ Ralstoniasolanacearum”โครงการเปิดให้บริษัทเอกชนเข้าชมแปลงปลูกทดสอบมะเขือเทศและประเมินคัดเลือก สายพันธุ์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงการค้า ในการเปิดให้เอกชนเข้าประเมินคัดเลือกสายพันธุ์ มีบริษัทเอกชนเข้าร่วมกว่า 10 ราย มีทั้งรายเล็กและ รายใหญ่ เช่น บ.อีสท์ เวสท์ ซีด, บ.เจียไต๋, บ.รีล ซีด อะโกร เป็นต้น ซึ่งบริษัทเอกชนที่เข้าประเมินสายพันธุ์ต่างก็สนใจอยาก ได้สายพันธุ์ไปต่อยอด ซึ่งแต่ละบริษัท มีทั้งสนใจสายพันธุ์เดียวกันและต่างสายพันธุ์ออกไป ทั้งนี้เพื่อความสามารถในการแข่งขันของเอกชนและเกษตรกรไทย โครงการจะถ่ายทอดเทคโนโลยี และสายพันธุ์จะให้กับบริษัทเอกชนที่ผลิต ส่งออกภายใต้แบรนด์ของประเทศไทย เท่านั้น
นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารคลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของเอกชนและเกษตรกรไทย สวทช.จึงร่วมมือกับทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชให้เอกชนนำไปต่อยอด การที่ผู้ประกอบการสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพได้ เกษตรกรก็จะได้ประโยชน์จากการใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ
นอกจากโครงการวิจัย “การพัฒนาสายพันธุ์มะเขือเทศอุตสาหกรรมต้านทานต่อโรค” ที่ร่วมมือกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีแล้ว สวทช.ยังมีความร่วมมือกับโครงการ อื่น ๆ อีก เช่น โครงการจัดการเชื้อพันธุกรรมมะเขือเทศและพัฒนาพันธุ์มะเขือเทศ รับประทานคุณภาพดี โครงการพัฒนาพันธุ์พริกให้มีผลผลิตสารเผ็ดสูง โครงการการจัดการเชื้อพันธุกรรมและพัฒนาพันธุ์ ข้าวโพด ข้าวเหนียวและข้าวโพดหวาน ซึ่งร่วมมือกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผศ.ดร.บุญส่ง เอกพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หัวหน้าคณะวิจัยโครงการวิจัยการพัฒนาสายพันธุ์มะเขือเทศ ประจำมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของการวิจัยคือเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่ต้านทานโรค เพราะที่ ผ่านมาบริษัทเมล็ดพันธุ์เจอปัญหาเรื่องไวรัส ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ลดลง ขณะนี้ไทยส่งออกเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศมูลค่า 300 ล้านบาท/ปี และตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 500 ล้านบาท/ปี ในอีก 2 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นภาควิชาการ ภาครัฐจึงต้องเข้ามาช่วยเอกชนพัฒนา
โครงการนี้ทำการวิจัยมะเขือเทศทั้งหมด 70 สายพันธุ์ การวิจัยเน้นทดลองความต้านทาน 2 โรคหลักที่พบมากคือ โรคใบหงิกเหลือง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส และโรคใบเหี่ยวเขียว ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โครงการวิจัยนี้เปิดให้เอกชนมาคัดเลือกสายพันธุ์ไปต่อยอด โครงการเป็นการทำจากฐานขึ้นมาครึ่งทาง ช่วยลดขั้นตอนอำนวยความสะดวกให้เอกชน เพราะบริษัทเล็ก ๆ ไม่มีทุนทำวิจัย แต่ขณะนี้การวิจัยยังไม่สมบูรณ์แบบ พันธุ์ที่ต้านทานโรคดีคุณภาพยังไม่ดี ส่วนพันธุ์ที่คุณภาพดียังไม่ต้านทานโรค จึงต้องมีการวิจัยพัฒนาต่อไป
ด้านนายฉัตรชัย ฤทธิไชย ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บ.ที เอส เอ จำกัด ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานในบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์อันดับต้น ๆ ทั้งอีสท์ เวสท์ ซีด และเจียไต๋ กล่าวว่า แต่ละบริษัทส่งตัวแทนมามากกว่า 1 คน เพราะความสวยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เงื่อนไขในการเลือกวัตถุประสงค์ในการคัดเลือกสายพันธุ์ต่างกัน ฝ่ายปรับปรุงพันธุ์ต้องการนำไปพัฒนาต่อยอด ฝ่ายการตลาดต้องการนำไปขายต่อ ฝ่ายการตลาดจะพิจารณาจากความแข็งแรงต้านทานโรค ความดก รูปทรง นอกจากนั้นฝ่ายการตลาดจะพิจารณาตามพื้นฐานตลาดว่าจะขายที่ไหน สภาพพื้นที่เป็นอย่างไร แหล่งนั้นปลูกเพื่ออะไร ต้องการคุณสมบัติอย่างไร
นางสาวกัญญา รอดเสียงล้ำ ผู้จัดการส่วนปรับปรุงพันธุ์พืช ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ บ.เจียไต๋ จำกัด กล่าวว่า สนใจมะเขือเทศหลายสายพันธุ์ แต่อาจารย์ผู้วิจัยยังไม่อนุญาตให้นำสายพันธุ์ไปใช้ในตอนนี้ เนื่องจากการวิจัยยังไม่นิ่ง สำหรับการเลือกสายพันธุ์เดียวกันของบริษัทคู่แข่งทางธุรกิจไม่ได้มีปัญหาแต่ อย่างใด เนื่องจากแต่ละบริษัท ไม่ได้นำสายพันธุ์ที่คัดเลือกไปใช้ผลิตจำหน่ายในทันที แต่จะนำไปผสมกับสายพันธุ์ตั้งต้นที่แต่ละบริษัทมีไม่เหมือนกัน เกิดเป็นสายพันธุ์ที่ต่างกันออกไป
รายการอ้างอิง :
ยักษ์เมล็ดพันธุ์มะเขือเทศจีบ’สวทช.’ขอต่อยอดพัฒนางานวิจัยไร้โรค-คาด 2 ปี ส่งออกพุ่ง. ประชาชาติธุรกิจ. ฉบับวันที่ 04 – 06 มีนาคม พ.ศ. 2556.– ( 479 Views)